HomeFinancialธนาคารไทยเครดิต กระเทาะ Insight รากหญ้า เปิดตัว TVC รอบ 11 ปี เพิ่มโซลูชั่นส์ทางการเงินแทนกู้นอกระบบ

ธนาคารไทยเครดิต กระเทาะ Insight รากหญ้า เปิดตัว TVC รอบ 11 ปี เพิ่มโซลูชั่นส์ทางการเงินแทนกู้นอกระบบ

แชร์ :

เปิดตัวภาพยนตร์ TVC เป็นครั้งแรก ในรอบ 11 ปี เพื่อต้องการเพิ่ม Awareness ไปสู่กลุ่มเป้าหมายหลักอย่างกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก (Micro SME & Nano Entrepreneur) เพิ่มมากขึ้น สำหรับธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย รวมทั้งต้องการตอกย้ำถึงความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าในกลุ่มที่เป็นฐานปิรามิดของประเทศ และถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงรายเดียวที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้บริการสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มนาโนไฟแนนซ์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับการสื่อสารแบรนด์ของธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ในครั้งนี้ ผ่านการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “ใครไม่เห็น เราเห็น” ผ่านคอนเซ็ปต์ “ทุกคนคือคนสำคัญ” เพื่อสะท้อนทั้ง Insight และ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นฐานปิรามิด ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือกลุ่ม Underserve Segment แต่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบพนักงานเงินเดือน ทำให้ไม่มีเอกสารรับรองทางการเงิน เพื่อขอสินเชื่อทำให้มีกว่า 60% ที่ต้องเลือกใช้วิธีกู้นอกระบบ ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยสูง และไม่สามารถหลุดพ้นภาวะหนี้สินท่วมตัวได้

คุณวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า บริษัทเริ่มกิจการมาตั้งแต่ปี 2550 และเริ่ม Restructured องค์กรเพื่อหันมาโฟกัสการให้บริการสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ SME เป็นหลักในปี 2555 จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2558 ได้เป็นผู้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่สถาบันการเงิน ในฐานะแบงก์พาณิชย์เพียงรายเดียวที่ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนเหมาะสม

“ตลอด 3 ปีที่ธนาคารฯ หันมาโฟกัสกลุ่มเป้าหมายรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมหรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ยังคงมีการเติบโตที่ดีทั้งในแง่ของจำนวนลูกค้า หรือตัวเลขผลประกอบการ โดยยังเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 15% และยังสามารถขยายสาขาต่อเนื่องกว่า 300 แห่ง ทั้งสาขาระดมเงินฝาก 21 แห่ง และสาขาเพื่อให้บริการสินเชื่อ 295 แห่ง โดยสามารถเข้าถึงตลาดสดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว่า 2,700 แห่ง จากจำนวนตลาดสดกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ แต่หากจะโฟกัสในตลาดที่มีศักยภาพจะมีอยู่ราวๆ 5 พันแห่ง ซึ่งธนาคารจะพยายามเข้าถึงให้ได้อย่างครอบคลุม ที่สำคัญหลังมีโอกาสสัมผัสลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น พบว่าส่วนใหญ่มีวินัยที่ดี และมีความรับผิดชอบในการชำระหนี้ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้เสียในอัตราที่สูงอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกังวล มองภาพว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยมี NPL อยู่ที่ 5% ตามธรรมชาติของธุรกิจทั่วไป ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวลใจแต่อย่างใด”

คุณวิญญู ไชยวรรณ CEO และ คุณรอย ออกุสตินัส กุนารา MD ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย (TCRB)

สำหรับจำนวนลูกค้าของธนาคารไทยเครดิต ปัจจุบันอยู่ที่ 174,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่ม Nano Entrepreneur 70% หรือกว่า 1.4 แสนราย ส่วนอีก 30% หรือราว 2-3 หมื่นราย เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมหรือ Micro SME และจะมีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาไม่ต่ำกว่า 5,000 รายในแต่ละเดือน โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวม 45,000 ล้านบาท และมีกำไร 531 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าการเติบโตในปีนี้ที่ประมาณ 15% ด้วยการเพิ่มยอดสินเชื่อคงค้างเป็น 5 หมื่นล้าน และมีกำไรมากกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลขยอดสินเชื่อใหม่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท โดยการเติบโตจะมาจากการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นโดยตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ครบ 500 แห่ง ภายในปี 2562 ส่วนหนี้เสียหรือ NPL เชื่อว่าจะควบคุมไว้ได้ในสัดส่วนเดิม

ทำความเข้าใจ Insight พ่อค้าแม่ค้าไทย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการในขนาดไมโครหรือนาโนในประเทศไทยนั้นมีรวมกันกว่า 3 ล้านคน โดยทางธนาคารไทยเครดิต ประเมินขนาดของตลาดในกลุ่ม Micro SME ไว้ว่ามีกว่า 2.9 ล้านราย ส่วนใหญ่จะดำเนินกิจการเป็นร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่น ร้านขายยา คลินิคขนาดเล็ก โดยรูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่จะทำกันภายในครอบครัว จึงไม่มีประวัติเครดิตที่อ้างอิงได้ชัดเจน เพราะไม่ได้ทำงบการเงินจริงจัง และมักทำธุรกิจด้วยเงินสด โดยจะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะขยายธุรกิจ

ขณะที่กลุ่ม Nano Entrepreneur มีขนาดตลาดประมาณ 1 ล้านราย กระจายไปในตลาดสดกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขายทั้งการเปิดร้านขายของชำ หรือร้านโชว์ห่วยในชมุชน หรือเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ในตลาดสดใกล้ๆ ชุมชน โดยคนกลุ่มนี้จะมีความเชี่ยวชาญในอาชีพของตัวเอง และมักจะประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ลักษณะรายได้ที่เข้ามาจะเป็นแบบวันต่อวัน หรือ “หาเช้ากินค่ำ” ทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมหรือมีบ้างแต่ไม่มาก ขณะที่บางคนแม้จะหารายได้ได้มาก แต่ก็ขาดความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการ และมักจะมีปัญหาเรื่องเงินในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือเมื่อเกิดเจ็บป่วย

คุณรอย ออกุสตินัส กุนารา MD TCRB ให้ข้อมูล Insight เกี่ยวกับตลาด Micro SME และ Nano Entrepreneur

“ลูกค้าราว  60% ของธนาคารฯ มักใช้สินเชื่อนอกระบบมาแก้ปัญหา เช่น เงินกู้รายวัน โรงรับจำนำ หรือหยิบยืมจากเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก เพราะไม่สามารถเข้าถึงสถาบันทางการเงินที่เป็นทางการได้ เป็นที่มาในการเข้ามาโฟกัสกลุ่มเป้าหมายนี้ของธนาคารไทยเครดิต เพื่อสร้างความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจ และมีตลาดที่สามารถเติบโตและแข่งขันกับแบงก์ขนาดใหญ่ได้ โดยพยายามอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยสะดวก โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีหลักแหล่งแน่นอน และเป็นที่รู้จักกันภายในชุมชน รวมทั้งที่อยู่เป็นที่ประกอบอาชีพทำให้โอกาสน้อยที่จะเบี้ยวหรือหนีหนี้ เพราะเท่ากับต้องละทิ้งรายได้ไปด้วย”

ขณะที่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธนาคารไทยเครดิต ที่ทำให้ได้รับการตอบรับและไว้วางใจมาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ

1. การประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลอย่างถูกต้องจากธนาคารแห่งประเทศไทย

2. การที่เข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากการเข้าไปตั้งสาขาในชุมชนและอยู่ใกล้ๆ กับตลาดที่พ่อค้าแม่ค้าขายของ ทำให้สะดวกในการติดต่อหรือใช้บริการ

3. การให้สินเชื่ออย่างเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต

4. การให้สินเชื่อโดยที่ไม่ต้องใช้คนหรือหลักประกันในการขอสินเชื่อ ทำให้ลดเงื่อนไขหรือกำแพงในการเข้าถึงสินเชื่อ

5. การดำเนินธุรกิจและการให้ข้อมูลด้านสินเชื่ออย่างโปร่งใส มีการอัพเดทข้อมูลสินเชื่อแก่อย่างถูกต้องแก่ลูกค้า

6. การส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกค้า เพื่อให้มีความสามารถในการบริหารจัดการและมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

7. การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้า รวมทั้งความยืดหยุ่นรูปแบบในการชำระหนี้ตามลักษณะรายได้และขีดความสามารถในการชำระของลูกค้า

8. การจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของลูกค้าอย่างเป็นระบบ และมีการติดตามหนี้สินเป็นไปตามหลักจริยธรรรม

ในส่วนของการ Educated ความรู้ ความเข้าใจทางด้านการเงินให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีความสามารถในการบริหารจัดการทางเงินและลดปัญหาหนี้สินลงได้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ได้ทำผ่านโครงการเพื่อสังคมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เรียกว่า “โครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียร รู้ขยัน รู้ออม รู้วินัย” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของธนาคารฯ มีความมั่นคงทางด้านการเงินที่ดีขึ้น เข้าใจการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในระยะยาวอีกด้วย


แชร์ :

You may also like