HomeBrand Move !!เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด : วันนั้นใต้ถุน “นิเทศจุฬา” สู่วันนี้ของ “ครูเงาะ”

เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด : วันนั้นใต้ถุน “นิเทศจุฬา” สู่วันนี้ของ “ครูเงาะ”

แชร์ :

“เด็กยุคนี้ถูกหล่อหลอมด้วยคำว่า ต้องสำเร็จ ต้องรวยเร็ว” รสสุคนธ์ กองเกตุ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ครูเงาะ ครูสอนการแสดง (Acting Coach) แถวหน้าของเมืองไทยเปรยกับผู้ให้สัมภาษณ์ วันนี้ครูเงาะมีอีกหนึ่งบทบาทในการพูดคุย นั่นคือการเป็นรุ่นพี่ของน้องๆ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตอบโจทย์คนรักกิจกรรม

ย้อนกลับไปสมัยที่ “พี่เงาะ” ยังเรียนมัธยมปลายอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อมีรุ่นพี่มาแนะแนว ก็ทำให้พี่เงาะ เลือกคณะเรียนต่อได้ในทันที โดยเลือกจากคณะที่มีคาแรคเตอร์ตรงกันกับความชอบของเธอ

“ตอนอยู่เตรียมฯ มีพี่มาแนะแนวบอกว่านิเทศฯ อ่านหนังสือน้อย แต่กิจกรรมเยอะ พี่ก็ไม่ลังเลเลย ก็เลือกคณะที่มีคาแรคเตอร์สบายๆ เด็กๆ พี่ไม่ได้คิดว่าอยากเป็นอะไร ก็อยากไปเรื่อย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่รู้ว่าชอบการแสดง ชอบพูดบนเวที เป็นพิธีกรที่โรงเรียน ก็ทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถม”

แต่ถึงแม้จะเลือกคณะได้อย่างไม่ลังเล “พี่เงาะ” เอง ก็ยังไม่แน่ใจว่า เรียนนิเทศฯแล้ว จะจบไปทำอะไร

“ก่อนเข้านิเทศฯ ไม่รู้หรอกว่าจบไปทำงานอะไร อย่างนิติฯ ก็รู้ว่าจบไปเป็นผู้พิพากษา จบวิศวะฯ ก็ไปเป็นวิศวกร แล้วจบนิเทศฯ เป็นอะไร อาชีพนิเทศฯ คืออะไร พี่ก็งงเหมือนกัน พี่รู้แค่ว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับความบันเทิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มเรียน ก็เห็นรุ่นพี่ ก็เลยเข้าใจ อ๋อ นิเทศฯ เรียนวารสาร เรียนโฆษณา ค่อยๆ มารู้ตอนที่เรียนในคณะ”

 

สายใยพี่น้อง – ความแตกต่าง – การค้นพบตัวเอง 

“เรามีกันด้วยเหรอ” พี่เงาะตอบอย่างทีเล่นทีจริงกับน้องๆ เมื่อถูกถามถึง จุดยืนของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

“ถ้าเป็นมุมมองพี่ จุดยืนมันคือพี่น้อง อย่างที่ใครๆ ก็รู้ นิเทศฯ ไม่ว่าไปที่ไหน ถ้าเราเจอกัน ก็จะถามกัน เฮ้ย รุ่นอะไร แล้วตอนนี้รุ่นไหน เราจะถามกันอย่างอัตโนมัติ คนอื่นเขาก็จะบอกว่า พวกนิเทศฯ เหนียวแน่นมาก นี่คือสิ่งที่พี่รู้สึกถึงความอบอุ่นของคณะ”

นอกจากสายใยที่เหนียวแน่นระหว่างพี่น้องนิเทศศาสตร์แล้ว จุดยืนอีกอย่างของคณะนิเทศฯ ในมุมมองของ “พี่เงาะ” ก็คือ ความหลากหลาย และการเคารพความแตกต่าง

“นิเทศฯเป็นเหมือนคลังของผู้คนที่เต็มไปด้วย Passion ในแขนงต่างๆ ที่ส่งเสริมกันและกัน คณะเรามีความหลากหลาย และรวมคนที่แตกต่างไว้ แล้วเรายอมรับความแตกต่างนั้น คือไม่จำเป็นที่ใครจะต้องเหมือนใคร เราก็มานั่งกองอยู่ที่ใต้ถุนด้วยกัน เป็นเพื่อนพี่น้องกัน เคารพในความแตกต่างของกันและกัน”

จุดยืนสำคัญที่ “พี่เงาะ” พูดถึงนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็คือโอกาสในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคณะที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำจริงจนสามารถค้นพบตัวเอง

“เราเป็น Do-er (นักปฏิบัติ) สมัยเรียน ตอนพี่อยู่ปี 1 ก็จะเห็นรุ่นพี่ เห็นเพื่อนเราทำหนัง เราก็ไปเล่นหนังเพื่อน วิ่งไปช่วยคนนั้นคนนี้ มันเต็มไปด้วยกิจกรรมที่กระตุ้น Passion และทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเอง รุ่นน้องเห็นรุ่นพี่เป็นไอดอล รุ่นพี่ก็อยากจะดันให้รุ่นน้องพัฒนาตัวเอง พี่มองว่าการที่พี่ได้ทำ Acting coach ก็เพราะรุ่นพี่เห็นความสามารถของเรา เขาก็ชวนไปทำ ถ้าถามว่านิเทศฯ เป็นโอกาสในชีวิตพี่ไหม พี่บอกเลยว่าเป็น เป็นจุดสำคัญเลยที่ทำให้พี่รู้จักและค้นพบตัวเอง”

เชื่อมวิชาชีพสู่โลกวิชาการ เติมเต็มศักยภาพนิสิต

“นิเทศฯ กำลังทำเหรอ ดีมากเลย อันนี้พี่เห็นด้วย” พี่เงาะ ตอบรับอย่างถูกใจ เมื่อน้องๆ เล่าให้ฟังถึงการปรับหลักสูตรของคณะ โดยจะเสริมสร้างประสบการณ์ให้เด็กมีความเชี่ยวชาญชำนาญในวิชาชีพมากขึ้น และจะเน้นเรื่องการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered learning) เพื่อเปิดกว้างให้นิสิตได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนมากขึ้น โดยไม่จำกัดแค่การเรียนเฉพาะรายวิชาที่เปิดสอนในภาควิชาที่นิสิตเลือกเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถเลือกเรียนวิชานอกคณะที่จะเสริมศักยภาพของนิสิตในแนวทางที่ตนเองสนใจ

“เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ว่าเราควรรู้พื้นฐานในชีวิตประจำวันปกติว่าเราใช้อะไรบ้าง ถ้าสอนลึกเกินไป ในชีวิตจริง เราก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอยู่ดี สิ่งที่ถูกต้องคือการใช้คนให้ถูกงาน แต่ถ้าอยากเก่งตรงนั้นจริงๆ ก็ให้หมั่นฝึกฝน หมั่นเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เราก็จะเก่งและถนัดในเรื่องนั้นได้ พี่ว่าเราควรเปิดกว้างให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ยกตัวอย่างเช่น การลงเลือกเรียนวิชาเลือก คนที่เรียนการเกษตร มาลงเรียนวิชา Advertising เพื่อทำการตลาดให้เป็น ถ้าอยากรู้ อยากเรียน ก็เรียนซะ อย่างน้อยที่สุดก็เรียนเพื่อให้รู้ภาพรวม”

สิ่งสำคัญที่ “พี่เงาะ” มองว่าจะช่วยส่งเสริมหลักสูตรใหม่และเติมเต็มศักยภาพของนิสิตได้ ก็คือกระบวนการช่วยเหลือที่จะทำให้ผู้เรียนค้นพบก่อนว่าความชอบของตัวเองคืออะไร

“พี่ว่าเราต้องมีกระบวนการช่วยเหลือเด็กให้เขารู้ก่อนว่าเขาชอบอะไร เช่น ค้นหาตัวเองผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ทำให้เขาไม่หลงทาง พี่เชื่อว่าถ้าเรามีระบบการแนะแนวหรือกระตุ้นให้เด็กรู้จักในสิ่งที่ตัวเองชอบชัดเจนขึ้น จะช่วยเติมเต็มศักยภาพของเด็กได้ ถ้าเด็กไม่รู้จริงๆ การเรียนที่ดีจะทำให้เด็กรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร”

กระบวนการช่วยเหลือนี้ “พี่เงาะ” มองว่าขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของอาจารย์ด้วย

“ขึ้นอยู่กับอาจารย์ด้วย ถ้าอาจารย์ให้ท่อง เราก็จะเบื่อ แต่ถ้าอาจารย์เชี่ยวชาญพอ เล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่เจอมาให้เราฟัง เราอาจจะรู้ตัวว่าเราเกิดมาเพื่อทำงานในด้านนี้ ที่เราจะต้องช่วยกันคืออาจารย์ก็ต้องกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ ปรับสื่อการสอนให้น่าสนใจ มีทฤษฎี มีกรณีศึกษาเยอะๆ หรือให้เด็กได้ลงมือทำเยอะๆ เป็นต้น อาจารย์นิเทศศาสตร์เป็นอาจารย์ที่มีทัศนคติที่ดีหลายต่อหลายท่าน แล้วก็รักและจริงใจกับนักเรียน”

 

Mindset แห่งการเรียนรู้

ในวันที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกวงการ หันไปทางไหน ก็ได้ยินแต่ไทยแลนด์ 4.0 “พี่เงาะ” ให้คำแนะนำกับน้องๆ เรื่องการเปลี่ยนผ่านจาก Analog สู่ Digital ว่า ความสำคัญอยู่ที่ Mindset

“พี่ไม่รู้สึกว่า Analog หรือ Digital จะเป็นจุดพลิกอะไร พี่ว่ามันเป็นเรื่องของ Mindset ถ้าเรามี Mindset ที่บ่นและด่าทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา เราก็คงจะเรียนรู้อะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราสนุก ก็เรียนรู้ใหม่ เริ่มต้นใหม่ ลองใหม่ ถ้าคิดจะลงมือทำก็ทำได้ ไม่ยาก ต่อให้ยุคสมัยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ Mindset ที่สำคัญที่สุดคือ คุณอยากหาความรู้จริงหรือเปล่า”

เก็บส่วนที่ดีของสิ่งเก่า และรับเอาสิ่งใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือความเห็นต่อการเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลของ “พี่เงาะ”

“Digital มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สมัยก่อนพี่อยากเรียน Acting พี่ต้องไปหาตำรามาอ่าน ตอนนี้เปิด Youtube มีหมด การเข้าถึงข้อมูลรวดเร็วมาก ยุค Analog ทำให้คนซื่อสัตย์กับอาชีพ และมุ่งมั่นลงมือทำ ต่างจากยุคนี้ที่อะไรก็ง่าย เขาก็ไม่เห็นความสำคัญกับการขวนขวายหาความรู้ ข้อเสียอยู่ตรงนี้ แต่ถ้ามี Mindset ที่มุ่งมั่นและใช้เครื่องมือ Digital ให้ถูก ก็จะเป็นประโยชน์ พี่เองก็ใช้ และไม่เคยต่อต้านสิ่งใหม่ ถ้าดีก็เอามาใช้ให้สะดวกที่สุด ส่วนอะไรเก่าๆ ที่ดีก็เก็บไว้ เราก็ต้องปรับตัว ทำความเข้าใจ เพื่อตามให้ทัน”

นิเทศศาสตร์ไม่มีวันตาย

พอพูดถึงประโยคทรงอานุภาพ “ใครๆ ก็ทำงานนิเทศฯได้” ที่สร้างความปั่นป่วนทางใจให้กับเหล่านิสิต นิเทศศาสตร์มานักต่อนักว่า คณะนิเทศศาสตร์ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม “พี่เงาะ” มองว่า ข้อดีของการเรียนนิเทศศาสตร์โดยตรงคือการได้รู้ลึกในศาสตร์

“พี่ว่าใครๆ ทำได้ก็จริง แต่ทำได้กับทำดี ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้เรามีโอกาสมากกว่าคือการได้รู้ลึกในศาสตร์ ตำราของเราผ่านคนและเวลามามาก เขาลองผิดลองถูก และกำจัดสิ่งที่ผิดออกไป เราก็ไม่ต้องลองผิดลองถูก ข้อดีของเราคือการย่นย่อความรู้ คนที่เขาไม่เคยเรียนมา ก็ต้องผ่านขั้นตอนการลองผิดลองถูก ทำให้เขาต้องเสียเวลามากกว่า”

ส่วนความกังวลว่า เมื่อหุ่นยนต์ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพใกล้เคียงกับมนุษย์แล้ว นิเทศศาสตร์ จะหายไปจากโลกหรือไม่ “พี่เงาะ” ยืนยันหนักแน่นว่า นิเทศศาสตร์ ไม่มีทางหายไปอย่างแน่นอน

“มนุษย์ต้องการ Variety (ความหลากหลาย) นิเทศศาสตร์คือศาสตร์ที่ตอบสนองด้าน Variety โดยเฉพาะ มันเป็นการตอบสนอง Basic Need ของมนุษย์  มนุษย์ประกอบด้วยสมองสองฝั่ง ตรรกะเหตุผล และอารมณ์ อย่างไรเราก็จะโหยหาความเป็นศิลปะ ความเป็นมนุษย์อยู่ดี ไม่ว่าจะมีหุ่นยนต์กี่ตัว ก็ไม่สามารถมองลงไปในตาและสัมผัสความรู้สึกของเราได้ลึกซึ้งเท่ากับมนุษย์ที่ตั้งใจและนั่งมองนั่งฟัง นิเทศศาสตร์เป็นศาสตร์ของมนุษย์ ไม่มีทางหายไปหรอก เทคโนโลยีที่เข้ามาทั้งหลาย ก็อาจจะมาช่วยในการย่นระยะ ประหยัดเวลา หรือทำงานที่ไม่ต้องใช้หัวใจ แต่ถ้างานไหนต้องใช้หัวใจ เช่น งานเขียนบท พี่ว่า AI ก็ประดิษฐ์ออกมายาก เราไม่ต้องกลัวสิ่งเหล่านี้ เราแค่ใช้เพื่อ Support งานที่เราทำอยู่ให้ง่ายขึ้น”

 

ซื่อสัตย์กับงาน และกล้าที่จะเป็นตัวเอง

ในบรรดา Acting coach ที่เกิดขึ้นมากมาย “พี่เงาะ” มองว่า ปัจจัยสำคัญที่สร้างความโดดเด่นให้กับเธอ คือการซื่อสัตย์กับงาน และความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง

“เรามักจะถามตัวเองเสมอว่า เราจะช่วยคนที่เกี่ยวข้องกับเรายังไงให้ได้มากที่สุด เช่น เป็น Acting coach ก็ต้องช่วยเหลือนักแสดง ให้เขาได้ประโยชน์สูงสุด มันเป็นหน้าที่ เราต้องรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่ออาชีพ อีกอย่างคือการเป็นตัวของตัวเอง ไม่พยายามเป็นใคร ถ้าเราเป็นแบบนี้และเราชอบ ตราบเท่าที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น ไม่เดือดร้อนตัวเองก็เป็นของเราไป กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดสิ่งที่เราคิด เรารู้สึก สิ่งนี้สำคัญ เพราะทำให้มนุษย์แตกต่างกัน”

แม้ว่าการเป็นตัวของตัวเอง จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ “พี่เงาะ” ก็ให้ข้อคิดว่า การคิดต่างไม่สำคัญเท่าการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง

“คนเราความคิด ความรู้สึกต่อเหตุการณ์หนึ่ง อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้คิดต่าง แต่เป็นความคิดของเรา ก็คิดอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเอะอะจะคิดต่าง เพื่อให้เด่น ถ้าไม่ได้มาจากความคิดเราจริงๆ มันก็ปลอม”

 

ไม่ใช่เพราะโชค ความสำเร็จคือผลของความต่อเนื่อง

ปิดท้ายด้วยคำถามที่เป็นความกังวลแห่งยุคสมัย “เราควรประสบความสำเร็จเมื่ออายุเท่าไร” พี่เงาะ บอกว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จะต้องสำเร็จเมื่อไร

“เด็กยุคนี้ถูกหล่อหลอมด้วยคำว่าต้องสำเร็จเร็ว ต้องรวยเร็ว อยากบอกเด็กๆ ว่า คนที่ประสบความสำเร็จ จะไม่มาจ้องว่าเมื่อไร เขาจ้องว่าปัจจุบันเขากำลังสนุกกับการเรียนรู้สิ่งที่จะทำให้งานของเขาพัฒนาขึ้น”

พี่เงาะ เล่าต่อว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดเพราะความโชคดี แต่ผลของการกระทำอย่างต่อเนื่อง

“พี่การันตีได้เลยว่า คนที่ประสบความสำเร็จ เขาไม่ได้ทำปีนี้แล้วสำเร็จเลย แต่ทำมาก่อนนานมาก อย่างพี่โต้ง บรรจง ทำหนังประสบความสำเร็จเป็นพันล้าน คนก็บอกว่าโชคดีจัง ถ้าย้อนกลับไป จะเห็นว่าเขาดูหนังมา 20 กว่าปี และเขาทำด้วย มันถึงออกดอกออกผลในวันนี้”

สุดท้าย พี่เงาะย้ำว่าสิ่งสำคัญของการประสบความสำเร็จคือการพัฒนาตัวเองและทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์

“อย่าให้ความอยากของเราอยู่เหนือความเพียร เราเห็นคนอายุน้อยร้อยล้าน ก็เกิดความโลภ อยากได้แบบเขา แต่ลืมสังเกตว่าคนประสบความสำเร็จเขาล้มลุกมากี่ครั้ง หน้าที่ของเราคือซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ พัฒนาตัวเองเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าของเรา เมื่อเราซื่อสัตย์กับเขา เขาก็จะซื่อสัตย์กับเรา”

 

ความสำเร็จคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่การจะได้มานั้นต้องเกิดจากการกระทำที่ต่อเนื่อง การค้นพบตัวเองคือจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนและพัฒนาที่ถูกทาง กว่า 50 ปีที่ห้องเรียนและใต้ถุนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นพื้นที่ในการค้นหาตัวตน และเติมเต็มศักยภาพของนิสิตจากรุ่นสู่รุ่น จากยุค Analog จนถึง Digital ในวันที่มนุษย์ถูกท้าทายจากเทคโนโลยีอีกครั้ง นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรที่ผสมผสานจุดเด่นของมนุษย์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนก้าวสู่โลกวิชาชีพนอกรั้วมหาวิทยาลัยในยุค Digital ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถติดตามความเคลื่อนไหว และข้อมูลเพิ่มเติมของนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทางเว็บไซต์ www.commarts.chula.ac.th  และข่าวสารต่างๆ รวมถึงการฝึกอบรมสำหรับบุคคลทั่วไปทาง Facebook www.facebook.com/commartschulaofficial

 

 

จัดทำโดย นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฐิตารี โตทวีแสนสุข

วณิศรา อำพล

ไกรพิชญ์ ชอบผล

นภสร ตั้งเศรษฐพานิช

อติกานต์ นิรามัย

ณิชชา เสริฐปัญญารุ่ง

สุพิชชา เพลินจิต

 

เรียบเรียงโดย

ปิยมน แจ่มวุฒิปรีชา

 


แชร์ :

You may also like