HomeInsightพลิกวิกฤติโควิด เจาะ 4 กลยุทธ์ HELP Management เกาะเทรนด์ธุรกิจสุขภาพ  

พลิกวิกฤติโควิด เจาะ 4 กลยุทธ์ HELP Management เกาะเทรนด์ธุรกิจสุขภาพ  

แชร์ :

chula covid health business

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 หลากหลายอุตสาหกรรมกระทบหนัก จากสถานการณ์ลากยาวมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่หนึ่งในธุรกิจที่ยังไปต่อได้ คือ ธุรกิจสุขภาพ เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคใส่ใจดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงการแพร่ระบาดยังคงรุนแรง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เปิดวงเสวนาออนไลน์ในโครการ Quick MBA for SMEs กับแนวคิด Chula We2We Market จุฬาฯ แก้วิกฤติพิชิต Covid-19 “ธุรกิจสุขภาพ” ผ่านมุมมองผู้ประกอบการในธุรกิจสุขภาพหลากหลายประเภท ที่มีบทบาทสำคัญในยุคโควิด เพื่อถอดบทเรียนการปรับตัวและสร้างโอกาสจากเมกะเทรนด์ Healthcare Industry

5 ปัจจัยธุรกิจอาหารเสริม “ขาขึ้น”

เริ่มกันที่ ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน กรรมการและอดีตซีอีโอ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัดเจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพยี่ห้อ “แบรนด์” สรุปทิศทางธุรกิจสุขภาพในช่วงโควิดไว้ดังนี้

– ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ตลาดอาหารเสริมก็เติบโตมาตลอด เพราะผู้คนต้องการอายุยืน สูงวัยแบบสุขภาพดี  ปัจจุบันตลาดมีมูลค่า 80,000 ล้านบาท เติบโต 11%  แม้ในช่วงโควิดก็ยังเติบโตได้เมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มอื่นๆ

– ทำไมคนถึงสนใจอาหารเสริม เพราะปัจจุบันคนใช้ชีวิตอยู่บนความเครียด ทั้งมลภาวะและการทำงาน คนค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์เก่งขึ้น รู้วิธีที่จะทำให้ตัวเองแข็งแรง มีภูมิต้านทานจากโรคต่างๆ จึงต้องการดูแลสุขภาพด้วยอาหารเสริม

– ในช่วงโควิดทุกคนเสี่ยงติดเชื้อและมีโอกาสเสียชีวิตได้  ยิ่งเห็นความสำคัญกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพราะการพบแพทย์มีค่าใช้จ่ายสูง คนจึงหันมาป้องกันการเจ็บป่วย

food expend price

– เทรนด์ตลาดอาหารเสริมที่น่าสนใจและผลักดันการเติบโต

1.Immunity กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคในสถานการณ์โควิดระบาด เช่น วิตามินต่างๆ พบว่าช่วงที่ผ่านมาคนค้นหาวิธีเสริมภูมิคุ้มกันใน Google เพิ่มขึ้น 600% นั่นเท่ากับโอกาสมหาศาลของสินค้าดูแลสุขภาพ

2.Personalized nutrition การตรวจวิเคราะห์ผู้บริโภครายบุคคลว่าขาดภูมิต้านทานกลุ่มไหน เพื่อดูโอกาสเสี่ยงเป็นโรค และป้องกันด้วยการใช้อาหารเสริมภูมิ

3.อาหารเสริมสำหรับกลุ่มสูงวัย ปัจจุบันทั่วโลกมีคนอายุมากกว่า 65 ปี สัดส่วน 7% ปี 2050 เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 14% ประเทศไทย ปี 2030 มีกลุ่มสูงวัย 20% นั่นเท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรไทยเป็นกลุ่มสูงวัย เป็นกลุ่มที่ต้องการอาหารเสริมเฉพาะกลุ่มแบบกินง่าย

4.การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ จากแนวโน้มมีโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพมากขึ้น กลุ่มพืชสมุนไพรจากวิธีธรรมชาติ ที่ไม่ส่งผลต่อร่างกายระยะยาว จึงได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะ plant- based

5.การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม Holistic ทั้งด้านร่างกายจากโรคภัยต่างๆ และจิตใจเพื่อลดความเครียดและกังวล

กลยุทธ์บริหารธุรกิจสุขภาพให้รอดในช่วงวิกฤติ

– ธุรกิจอาหารเสริมมีผู้เล่นจำนวนมากทั้งบริษัทเล็กไปถึงขนาดใหญ่ และบริษัทข้ามชาติ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือ SMEs สิ่งที่ต้องทำให้ตัวเองรอด เริ่มจากการดูสถานะของบริษัทก่อน โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง หากมีเงินกู้ก็ต้องคุยกับธนาคารเพื่อขอยืดหนี้

– บริหารสต็อกสินค้าให้ดี ทำตลาดสินค้าที่อยู่ในความสนใจ ตามกระแสดูแลสุขภาพ เสริมภูมิ หากเป็นกลุ่มดูแลความงาม อาจต้องพักไว้ก่อนในช่วงนี้

– การบริหารองค์กร ต้องมีความยืดหยุ่น รวดเร็ว บางเรื่องไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบก่อนตัดสินใจทำ เพราะการตัดสินใจในช่วงวิกฤติต้องการความเร็ว และใช้วิธีแก้ไขระหว่างทาง

– ในสถานการณ์ไม่ปกติ การค้าขายลำบาก ต้องอดทน ใช้สมองและใจในการจัดการ ทั้งพนักงาน คู่ค้าและลูกค้า เพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้พนักงานรู้ว่า ต้องเดินไปด้วยกัน ทำงานเป็นทีม โฟกัสที่ “ลูกค้า” ว่าต้องการอะไร ไม่ใช่ว่ามีสินค้าอะไร ก็จะขายสิ่งนั้น

– ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าโควิดจะอยู่อีกนานแค่ไหน  อะไรที่ไม่จำเป็นต้องลดต้นทุนก่อน มุ่งทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้เลย อย่างการใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

– การบริโภคสื่อของลูกค้าเปลี่ยนไป ปัจจุบันสื่อทีวีมีคนดู 47%  โซเชียลมีเดีย 81%  ไลน์ 86% เฟซบุ๊ก 79%  ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนการใช้สื่อเพื่อเข้าถึงลูกค้า และปรับช่องทางสื่อสาร  รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายเมื่อลูกค้าไม่เดินห้างฯ จากมาตรการล็อกดาวน์ หรือกลัวติดเชื้อ ก็ต้องหาว่าช่องทางไหนจะเข้าถึงผู้บริโภคได้

–  ไม่ว่ายุคใดหรือสินค้าใด “การสร้างแบรนด์” เป็นเรื่องสำคัญเสมอ เมื่อมีฐานลูกค้าเก่า ที่รู้จักและไว้ใจแบรนด์ ธุรกิจก็อยู่ได้เป็น 100 ปี ส่วนลูกค้าใหม่ ก็ต้องสร้างและหาวิธีเข้าถึงกลุ่มใหม่ เก็บข้อมูลฐานลูกค้าทั้งหมด เพื่อนำเสนอสินค้าให้โดนใจอยู่ตลอดเวลา  ท้ายสุด Branding เป็นเรื่องสำคัญที่สุดทั้งลูกค้าเก่าและใหม่

–  ธุรกิจสุขภาพ ประเภท อาหารเสริม เป็นสิ่งที่ต้องกิน การสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายแล้วสินค้าต้องดี มีช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้สะดวก

“แม้วันนี้เราอยู่ในวิกฤติโควิด ที่มีแต่ความไม่แน่นอน แต่ฝนไม่สามารถตกได้ตลอดเวลา สุดท้ายฝนต้องหยุดตก และเราต้องเตรียมตัว ทั้งในช่วงที่ฝนตกและฟ้าเปิด”

Nursing Home covid

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

โอกาสธุรกิจเจาะกลุ่มสูงวัย

อีกเทรนด์ธุรกิจสุขภาพมาแรง คือ ตลาดกลุ่มสูงวัย ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจที่จับคนกลุ่มนี้ยังไปต่อได้

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล Chersery Home และนายกสมาคมการค้าและบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย สรุปสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อธุรกิจกลุ่มสูงวัยไว้ดังนี้

– สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มสูงวัยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตไปจากเดิม

1.กลัว คือ กลัวการติดเชื้อมากขึ้น กลัวป่วย เพราะเดินทางไปโรงพยาบาลลำบากในช่วงโควิดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จากมาตรการล็อกดาวน์ปิดร้านเสริมสวย กลุ่มนี้ก็กลัวตัวเองดูไม่ดี เพราะไม่สามารถไปใช้บริการได้ ดังนั้นธุรกิจที่มาตอบโจทย์เรื่องความกลัวเหล่านี้ได้ ก็ยังมีโอกาสอยู่

2.กล้า คือ มีความกล้ามากขึ้น กล้าใช้อะไรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความกลัว แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ และบริการที่น่าไว้วางใจ

3.เก่ง คือ ใช้เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้เอง แชทถามข้อมูลจากกลุ่มเพื่อน

ดังนั้นสิ่งที่มาตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) อาหารเสริมที่ช่วยดูแลร่างกายให้แข็งแรง สินค้าชะลอวัย (Anti-aging) หรือ ย้อนวัย (Reverse Aging) กลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยให้กลุ่มสูงวัยดูแลสุขภาพได้ที่บ้าน (Tele medicine  หรือ Tele consultation)

ปรับตัวหาทางรอดและโอกาสธุรกิจกลุ่มสูงวัย

สำหรับแนวโน้มธุรกิจกลุ่มสูงวัยและการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิดสรุปได้ดังนี้

–  ศูนย์ดูแลกลุ่มสูงวัย หรือ Nursing Home ในช่วงโควิด ต้องให้การดูแลอย่างเข้มงวดในมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง  ศูนย์ฯต่างๆ จึงมีกฎห้ามเยี่ยมในช่วงนี้  โดยใช้มาตรการที่เข้มงวดนี้เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่าเป็น Safe Zone สำหรับกลุ่มสูงวัย เป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจ

– การให้บริการต้องมีทั้งดูแล สุขภาพกาย (Physical Health ) สุขภาพใจ (Mental Health) และสุขภาพทางสังคม (Social Health) เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมครบทุกมิติ

ในวิกฤติโควิดหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โฟกัสสิ่งที่เป็น Core Business มี 2 เรื่องหลักที่ต้องทำ

1.ตัด คือ การค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หากธุรกิจยังไม่สามารถทำได้ในช่วงล็อกดาวน์ ก็อาจต้องปรับตัดดูจาก pain point ผู้บริโภคและเข้าไปตอบโจทย์นั้น  เช่น สถานเสริมความงามถูกปิด ก็ปรับเป็นบริการเดลิเวอรี่ที่บ้าน โดยยังคงเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ธุรกิจสปา หรือ ศูนย์ดูแลสุขภาพชะลอวัย ก็ลองทำโปรดักท์ สปา สมุนไพร น้ำมันหอมช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด ชูจุดขายเป็นสินค้าลดความเครียดแบบไม่ต้องพึ่งยา ทำเป็นโปรดักท์ครบเซ็ต ขายออนไลน์

2.เติม ช่วงเวลานี้อาจต้องเติมไอเดียใหม่เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีอยู่ เช่น หน้ากากอนามัย ที่ผู้คนต้องใช้ทุกวันและยังต้องใช้ไปอีกเป็นปี ลองศึกษาต่อว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่จะช่วยฆ่าเชื้อโรคเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค หรือ หน้ากากที่ช่วยถนอมผิว เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แตกต่าง ที่ยังมีโอกาสทำตลาดได้ในยุคโควิด

baiya chula

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

วัคซีนใบยาฯ ความหวังของคนไทย

ธุรกิจสายสุขภาพที่กำลังเป็นความหวังกอบกู้วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นบริษัทผลิตวัคซีนและยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด หนึ่งในความหวังของไทย ก็คือ ใบยา ไฟโตฟาร์ม จากรั้วจุฬาฯ (ภายใต้ CU Enterprise)

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ CEO และ Co-founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เทค สตาร์ทอัป แพลตฟอร์มผลิตยาด้านชีววัตถุ สรุปที่มาของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม และอัปเดทการผลิตวัคซีนโควิดของไทยไว้ดังนี้

– ประเทศไทยมีการบริโภคยาปีละ 2 แสนล้านบาท สัดส่วน 50% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ  ยา จึงถือเป็นปัจจัยสี่ เมื่อคนอายุยืนก็ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้น จึงมองโอกาสการพัฒนายารูปแบบใหม่ๆ

–  ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาโรคต่างๆ  เริ่มลดการใช้ยาจากสารเคมีลง และหันมาใช้ยาชีววัตถุมากขึ้น ซึ่งได้ผลดีในการรักษา แต่ปัญหาคือ ราคายาค่อนข้างแพง และไม่มีเทคโนโลยีในประเทศไทยที่ทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ใบยาฯ จึงเห็นโอกาสทางธุรกิจและต้องการให้คนไทยเข้าถึงยาเทคโนโลยีใหม่ จึงเข้ามาทำแพลตฟอร์มผลิตยาด้านชีววัตถุ

– ช่วงโควิด ก็เห็นว่า แพลตฟอร์มของใบยาฯ สามารถผลิตวัคซีนโควิดได้ จึงเริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด ด้วยเทคโนโลยี Protein Subunit จากพืช ในเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1

– วันนี้ทุกประเทศเริ่มพัฒนาวัคซีนและยารักษาโควิดของตัวเอง เพราะเห็นแล้วว่าต่อให้มีเงินก็ซื้อวัคซีนไม่ได้  การพัฒนาวัคซีนในประเทศ น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันและดีต่อผู้บริโภคในการเข้าถึงยาได้ในราคาถูกลง

– ที่ผ่านมาการพัฒนาวัคซีนโควิด ก็ไม่ได้มีเฉพาะบริษัทยาขนาดใหญ่ อย่าง Pfizer ก็ไปซื้อสตาร์ทอัป มาเช่นกัน   AstraZeneca ก็พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด   Moderna และ Novavax ก็เริ่มจากสตาร์ทอัปมาเป็น  10 ปี  จึงมองเป็นโอกาสว่าอุตสาหกรรมยาน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้วิกฤติโควิด

– ความคืบหน้าวัคซีนโควิดของ ใบยาฯ ใช้เวลา 8 เดือน สร้างโรงงานต้นแบบเสร็จแล้วเมื่อเดือน มิถุนายน ตามมาตรฐานระดับโลก เพราะยาคือความน่าเชื่อและความปลอดภัยของผู้ใช้ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดลองในมนุษย์เดือนกันยายนนี้

– ขณะเดียวกันทีมวิจัยกำลังทำวัคซีนโควิดเจนเนอเรชั่น 2 เพื่อครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น เจน 2 จะทดสอบในมนุษย์ช่วงปลายปีนี้ คาดว่าวัคซีนใบยาฯ น่าจะออกมาใช้เป็น Booster Dose เข็ม 3 และ 4 ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565

– ปกติการพัฒนาวัคซีนแต่ละโรคต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยทำได้ หากสามารถทำวัคซีนโควิดได้ภายใน 2 ปี ขณะที่สหรัฐใช้เวลา 1 ปี  ก็ถือว่าน่าพอใจ อย่างน้อยก็ถือว่าเราทำสำเร็จ

ธุรกิจสุขภาพ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง ผลิตภัณฑ์และบริการทางสุขภาพจึงต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก คือ Safety ความปลอดภัย  Efficacy  ประสิทธิภาพ และ Quality คุณภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใช้กับตัวเองและส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง

– ดังนั้นการทำธุรกิจสุขภาพต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ  สิ่งสำคัญคือการทำ Branding  เพราะเป็นความน่าเชื่อถือของธุรกิจ รวมทั้งสินค้าและบริการต้องมีประสิทธิภาพและคุณภาพด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้รับความเชื่อถือ หากไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่แบรนด์บอก ผู้บริโภคจะรู้ทันที

ธุรกิจสุขภาพในประเทศไทยยังมีโอกาสอยู่เสมอ เพราะที่สุดแล้วทุกคนอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง

Dr.Wilert CU รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

H-E-L-P Management จับเทรนด์ธุรกิจสุขภาพ พลิกวิกฤติโควิด 

บทสรุปและกลยุทธ์ธุรกิจสุขภาพ โดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ วิเคราะห์ธุรกิจสุขภาพ เป็นเรื่องที่ว่าด้วย Health Management  การจัดการสุขภาพในด้านต่างๆ ให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ หากลงลึกธุรกิจสุขภาพในมุมมองของผู้บริโภคในช่วงโควิด เป็นเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือ (Help) เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากการติดเชื้อ

สรุปเป็น 4 กลยุทธ์ธุรกิจสุขภาพ คือ H-E-L-P Management (การจัดการความช่วยเหลือ)

1. H-Healthy คนต้องการมีสุขภาพดีเป็นอันดับแรก หากเป็นสถานการณ์ปกติ (ไม่ใช่โควิด) พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มดูแลสุขภาพ จะมองทั้งด้านเรื่อง Healthy และ Beauty การบริหารจัดการทั้ง 2 เรื่องนี้ก็แตกต่างกัน แต่ในช่วงโควิด การมีสุขภาพดีจะมาก่อน เพราะวันนี้ขอให้ปลอดภัย มีชีวิตรอด ยังไม่ต้องสวย (Beauty) ก็ได้

ดังนั้นการทำตลาดสินค้าหรือบริการในกลุ่มสุขภาพ ต้องนำเสนอจุดขาย ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัยจากการติดเชื้อและทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี

2. E-Empathy การเอาใจใส่ลูกค้า ต้องแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ห่วงใย (Caring) ผู้บริโภคในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตินี้  โดยสามารถสื่อสารกับพวกเขาผ่านเทคโนโลยีและดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พูดคุยให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพและความงาม แม้ในช่วงล็อกดาวน์ที่ยังไม่สามารถมาใช้บริการได้ปกติ  อย่าง ธุรกิจฟิตเนส  ก็ให้ความรู้การออกกำลังกายที่บ้าน ร้านตัดผม มีการสอนตัดผมผ่านช่องทางออนไลน์

3. L-Lean ตัดทิ้งต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้อยู่รอดในช่วงโควิด เพราะในสถานการณ์ล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาด ทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เหมือนปกติ รายได้ลดลงไปอย่างมาก การรักษาสภาพคล่องในช่วงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยังคาดการณ์ได้ยากว่าโควิดจะคลี่คลายเมื่อใด

การ Re-business จากธุรกิจเดิมที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพื่อหาช่องทางและโอกาสจากธุรกิจใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวในช่วงนี้ วิเคราะห์ให้ได้ว่าแหล่งรายได้มาจากไหน จากนั้นทำได้ 2 ทาง คือ เพิ่มรายได้ หรือลดรายจ่าย เพื่ออยู่รอด สัญชาตญาณการเอาตัวรอดทางธุรกิจ (business instincts) เป็นสิ่งจำเป็น

4. P-Personalize การทำตลาดเฉพาะบุคคล เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีความต้องการเรื่องสุขภาพไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะเข้าใจความต้องการของแต่ละคนได้ต้องมี “ดาต้า” ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือข้อมูล ต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าว่าชอบอะไร เพื่อแก้ pain point ในแต่ละช่วงเวลา หากผู้ประกอบการสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างแม่นนำ ธุรกิจก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวและอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิดที่ยังเป็นวิกฤติขณะนี้

การอยู่รอดและไปต่อได้ของธุรกิจสุขภาพในสถานการณ์วิกฤติ ในด้านการตลาดต้อง Rethink ใส่เรื่องที่ตอบอินไซต์ผู้บริโภคโดยเฉพาะ Safety Healthy และต้องเข้าใจว่าสุขภาพแต่ละคนไม่เหมือนกันการทำ Personalize เป็นประเด็นสำคัญ หัวใจการทำตลาดจึงอยู่ที่ Data Analytic เพราะธุรกิจสุขภาพเป็นเรื่องระยะยาว จึงต้องสื่อสารสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา เมื่อวิกฤติคลี่คลาย แบรนด์ ที่ดูแลและอยู่ข้างลูกค้ายังเป็นคงเป็นตัวเลือกแรกๆ

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like