HomeCreativity“ปลูกป่า” ภารกิจก่อนตายของ “ต่อ-ธนญชัย” ในวันที่เปลี่ยนใจกลับมาอยู่เมือง

“ปลูกป่า” ภารกิจก่อนตายของ “ต่อ-ธนญชัย” ในวันที่เปลี่ยนใจกลับมาอยู่เมือง

แชร์ :

ชื่อของ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณาระดับโลก จากบริษัท ฟีโนมีนา จำกัด เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักโฆษณา เอเจนซี และนักการตลาด  เพราะฝากฝีมือการกำกับงานโฆษณาจนคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ มานับไม่ถ้วน  ที่สำคัญเขายังถูกจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับระดับโลก แต่ช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้เคยตัดสินใจอำลาวงการ  เลิกกำกับหนังโฆษณาเพื่อจะไปอยู่ป่า  เพราะเบื่อกับสังคมเมืองเมืองหลวง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“ตอนแรกจะเลิกทำหนังแล้ว จะไปอยู่ป่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว รู้สึกเบื่อเมือง  แต่มีคนคนหนึ่งบอกว่า  พี่ยังมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง  พี่น่าจะทำหนังดีๆ ให้คนดู”  ความในใจของ “ต่อ-ธนญชัย” ก่อนที่จะกลับมาสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาอีกครั้ง

เมื่อไม่ได้เข้าไปอยู่ในป่าแล้ว  สิ่งที่เขาทำหลังจากนั้น  คือ การคิดทบทวนก่อนตัดสินใจ ซื้อที่ดินจำนวน 6 ไร่ย่านอ่อนนุช เพื่อปลูกป่าในบริเวณบ้าน  ด้วยความเชื่อเมื่อไม่สามารถเข้าไปอยู่ป่าได้แล้ว ก็ปลูกมันซะที่บ้านเลย  และสร้างประโยชน์ต่อ  ด้วยการทำให้เป็นพื้นที่ให้ผู้อื่นได้เข้ามาใช้ประโยชน์​ได้  เข้ามาศึกษาธรรมชาติได้ด้วย

กรรมวิธีการปลูกป่าของ “ต่อ-ธนญชัย”  คือ การปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด  เพราะได้รากแก้วที่หยั่งรากลึก ได้ความยั่งยืนของต้นไม้  ด้วยอายุขัยที่ยาวนาน  ต่างจากการปลูกด้วยการล้อมต้นไม้มาปลูก  ที่โอกาสรอดชีวิตมีเพียง 50% เท่านั้น และการปลูกด้วยต้นกล้ามีต้นทุนราคาถูกเพียงต้นละ 10 บาทเท่านั้น

ไม่เพียงแค่ผืนดิน 6 ไร่ย่านอ่อนนุช  ที่ถูกสร้างเป็นป่า แต่ยังซื้อที่ดิน 150 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ มาปลูกเป็นป่าอีกด้วย  ล่าสุด เขายังควักเงินในกระเป๋าหอบไปซื้อที่ดิน 128 ไร่ ในจังหวัดนครนายกปลูกป่าเพิ่มอีกแปลง  นี่คงเป็นสิ่งที่เขาคิดไม่ผิดและเป็นภารกิจชัดเจน จะต้องทำก่อน “ตาย” เงินทุกบาททุกสตารงค์จึงถูกใช้ไปกับการซื้อที่ดินและต้นไม้

“เมื่อ 10 ปีที่แล้วเคยนั่งคิดไว้ว่าจะกำหนดทิศทางการใช้ชีวิต  ในตอนแก่หรือตอนจะตายขอเรื่องเดียว กูรู้สึกว่ากูคิดไม่ผิด  เออ กูคิดไม่ผิดที่กูทำแบบนี้ ก่อนตายไม่ควรรู้สึกว่า รู้งี้ กูทำแบบนี้ก็ดี ก็เลยพยายามหากิจกรรมอะไรที่ทำให้ก่อนตายไม่รู้สึกแย่  ก็คือ การปลูกต้นไม้ ”​ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ “ต่อ-ธนญชัย”  หันมาปลูกต้นไม้

คำถามสำคัญของ “ต่อ-ธนญชัย” ในเรื่องการปลูกป่า คือ จะปลูกต้นไม้เมื่อไรให้ทันกับภาวะวิกฤตของป่าไม้ ลำพังแค่คนไทย 70 ล้านคนปลูกต้นไม้คนละต้น  ได้ต้นไม้ 70 ล้านต้น  ไม่ทันและไม่เพียงพอแล้ว  แต่ต้องปลูกกันคนละ 1,000 ต้น  จะปลูกที่ไหนก็ได้  วัด ชุมชน สถานที่ต่างๆ  เพราะปัญหาป่าไม้วิกฤตอย่างหนักแล้ว

“วัดต่างๆ ต้องตระหนักแล้วเลิกสร้างโบสถ์ วิหาร  วัดไม่ควรสร้างถาวรวัตถุเพิ่ม  เพราะเป็นการยึดติด พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในป่า  ต้นไม้ คือ วัดของพระพุทธเจ้า จึงควรตระหนักคิดในเรื่องนี้” นี่คือสิ่งที่เขาคิด

เมื่อกลับมาสร้างงานโฆษณาอีกครั้ง  เราจึงได้เห็นมุมมองเรื่องของปัญหาต้นไม้  อยู่ในชิ้นงานโฆษณาล่าสุดของ กับเรื่อง A Perfect Living Platform ของแบรนด์พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin) คอนโดมิเนียมลักชัวรี่ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่เคยมีผู้ประกอบการอสังหาฯ  ​พูดมาก่อน  คือ ฉากทำลายภูเขา ต้นไม้  แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ทำลายทรัพยากรของผู้ประกอบการ  เพื่อนำเอามาใช้พัฒนาโครงการ

เพราะมนุษย์ต้องสร้างที่อยู่ โจทย์ของเราก็คือ จะสร้างยังไง ให้เกิดคุณค่าที่สุด”  

Copy สำคัญ ในงานโฆษณาชิ้นล่าสุดของเขา

“ต่อ-ธนญชัย”  เล่าเพิ่มอีกว่า  “การตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ของบริษัทเอกชน  ที่ทำ Real Estate ถือเป็นความกล้าหาญในระดับ บ้าระห่ำ เพราะการวิพากษ์ตัวเอง การยอมรับในสิ่งที่เราทำ มองตัวเองอย่างถ่องแท้  และลึกซึ้งในมิติของเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต มันเป็นวิชั่น เป็นความกล้าหาญที่มีวิชั่น  ตอนเสนอไอเดียไป ไม่คิดว่าเขาจะซื้อ  เพราะไอเดียที่เสนอไป มันขัดกับสิ่งที่เขาทำอยู่ ไม่มีทางที่บริษัท Real Estate ซื้อไอเดียนี้อย่างเด็ดขาด ผมจะพรีเซ็นต์อย่างไร หนังผมมีระเบิดภูเขา กระชากต้นไม้ ว่าเราทำลายทรัพยากร จะมีใครบ้าทำ แต่ประเด็นคือว่า โลกในยุคหน้ามันจะต้องคิดใหม่ คำว่าคิดใหม่ ไม่ใช่คิดใหม่นะ แต่คิดให้ครบ”

คำว่า คิดให้ครบ คงหมายถึง  หากเราเป็นผู้ทำลาย เราก็ต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนกับสิ่งที่ได้ทำลายไป  เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ  ขณะเดียวกันการนำไปใช้ก็จะต้องสร้างคุณค่าและมีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

เราจะยังคงเห็นหนังโฆษณาของ “ต่อ-ธนญชัย” อย่างน้อยๆ อีก 2 เรื่องที่จะสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ Park Origin ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าชิ้นงานจะสะท้อนมุมมองอะไรออกมาให้คนไทยได้ “สำนึก” รับผิดชอบต่อสังคมแวดล้อมที่เราอยู่กันอีกบ้าง


แชร์ :

You may also like