HomeBrand Move !!CSR ยุคใหม่ อยากเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเริ่มที่ “คน” SC Asset จับมือ Asiola สร้างความยั่งยืนให้ “เมือง”

CSR ยุคใหม่ อยากเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเริ่มที่ “คน” SC Asset จับมือ Asiola สร้างความยั่งยืนให้ “เมือง”

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากการขยายตัวของเมืองใหญ่ที่หวังตอบสนองชีวิตในทุกไลฟ์สไตล์ แต่การจัดการระบบกลับไม่มีการวางแผนที่ดีสอดคล้องกัน จนเป็นที่มาของการที่ SC Asset เล็งเห็นว่า ถ้าหากว่า “เมือง” ของประเทศไทยยังเดินหน้าไปในแนวทางนั้นอยู่ ปัญหากับสังคมมนุษย์ก็จะถูกทับถมเพิ่มขึ้นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ สาธารณูปโภค การบริหารทรัพยากรทั้งหมดที่กระจุกตัว ฯลฯ จนเป็นที่มาของแนวคิดของความต้องการที่จะพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องการสร้าง “คน” ให้เป็นคนมีคุณภาพแล้ว คนเหล่านั้นก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางขับเคลื่อน “สังคม” ที่ดีขึ้นมาเอง ด้วยการวางสเต็ปไว้แบบนี้

จึงเป็นที่มาของ ความร่วมมือระหว่าง SC Asset และ Asiola แพล็ตฟอร์มระดมทุนคราวด์ฟันดิ้งเพื่อสังคม ที่อาศัยเทคโนโลยียุคใหม่มาเป็นสื่อกลางให้คนที่สนใจกิจกรรมแบบเดียวกันมารวมตัวกันได้ เพื่อร่วมกันผลักดันไอเดียสร้างสรรค์เพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของคนไทย โดยโครงการร่วมดังกล่าว มีชื่อว่า Co-creation for Good Mornings

SC Asset ขับเคลื่อนสังคม ด้วยคอมมูนิตี้

คนขายบ้าน ขายคอนโดฯ เกี่ยวข้องอย่างไรกับโปรเจ็กท์เพื่อสังคม คงเป็นประเด็นที่มาถึงตรงนี้เราต้องตั้งคำถาม… ปัจจุบันการขายสินค้าประเภท “อสังหาริมทรัพย์” ไม่ใช่ยุคที่จะขายเพียงแค่อิฐ หิน ปูน ทราย ที่ก่อสร้างร่างแบบออกมาเป็นบ้านหรือตัวตึก เพียงแค่นั้น แต่การซื้ออสังหาริมทรัพย์ คือ การซื้อ “ไลฟ์สไตล์” ชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้น  วิสัยทัศน์ของ SC Asset จึงขอวาง Positioning ตัวเองเป็น Living Solutions Provider การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสังคมให้กับลูกบ้าน ไปจนถึงการผลักดันสังคมเมืองโดยรอบให้มีคุณภาพ จึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากสร้างบ้านให้สวย คุณภาพดี โดนใจผู้ซื้อ

คุณโฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงาน Corporate Brand บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง CSR เอาไว้ว่า “CSR หลักการคือความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนมันเกิดจากคน(People) สำหรับแบรนด์ ถ้าเราจะใส่เงินลงไป มันไปแก้ปัญหาอะไรให้กับใคร สำหรับ SC Asset เราเชื่อมั่นใน Neighborhood และ Community ซึ่ง ถ้าเราทำคนเดียวมันก็ไม่มีทางเป็น Neighborhood หรือ Community ได้เลย ดังนั้น เราจึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมและจะสามารถส่งต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้สังคมดีขึ้น โดยเริ่มจากคน”

ดังนั้นทาง SC Asset จึงมองหาความร่วมมือกับพันธมิตร ที่ 1. มองเห็นปัญหาสำคัญของสังคมเมืองได้อย่างแท้จริง 2. มีเครือข่ายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่คนรุ่นใหม่คิดเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา 3.กิจกรรมที่ดำเนินการนั่นมีประโยชน์กับชุมชนโดยรอบ เมือง รวมทั้งลูกบ้านของ SC Asset ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้

ซึ่งองค์กรที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ต่อยอดไอเดียของ SC Asset ให้เป็นจริงก็คือ Asiola แพลตฟอร์มระดมทุนคราวด์ฟันดิ้ง ที่มุ่งสนับสนุนไอเดียที่สร้าง #CreativeImpact เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในสังคม โดย แพลตฟอร์มของ Asiola จะเปิดโอกาสให้เจ้าของไอเดีย ไม่ว่าจะบุคคลหรือองค์กร ที่มีไอเดียครีเอทีฟหรือไอเดียเพื่อสังคม ได้เข้ามาสร้างแคมเปญระดมทุนออนไลน์เพื่อแชร์ไอเดียนั้นออกไปในวงกว้าง และรับการสนับสนุนจากคนที่สนใจและเชื่อมั่นในไอเดียเดียวกัน เพราะเราเชื่อว่าคนในสังคมจะสามารถช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อประเทศไทยได้

“เรามองหาไอเดียที่โปรโมทแตกต่าง เป็น Mission ที่อยากให้สังคมดีขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยผู้ที่เข้ามาสนับสนุนเองก็จะได้ Reward บางอย่างกลับไป เช่น ของที่ระลึก หรือการได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมนั้นๆ หรือของที่ได้กลับไปอาจจะเป็นความตั้งใจที่จะทำให้สังคมพัฒนา ที่ผ่านมาแคมเปญต่างๆ ที่เราเข้าไปช่วยมี Success Rate ที่สูงมาก ปีแรก 30 แคมเปญ แต่ปีนี้เป็นปีที่ 2 เพิ่มเป็น 30 แคมเปญ ต่อเดือน เราเข้าไปช่วยดูในรายละเอียด ช่วยดูวิธีพรีเซนต์ ทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น” คุณมณฑล จิรา ผู้ก่อตั้ง พร้อมทั้งผู้บริหารจาก Asiola เผยถึงแคมเปญที่ Asiola เข้าไปมีส่วนร่วม

Thai-SOS เพราะอาหารเป็นเรื่องเร่งด่วน

เมื่อทั้งสององค์กรมองเห็นความสำคัญในเรื่องเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่มองหาโครงการอย่างจริงจังว่าจะ ลงมือกับโปรเจคไหนประเดิมเป็นก้าวแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันที่  Co-creation for Good Mornings ที่ในช่วงนี้จะสนับสนุนไอเดียของ Thai-SOS NGOs ที่มีภารกิจหลักต้องการช่วยลด Food Waste อย่างจริงจัง ด้วยการการขับรถตระเวนเก็บอาหารจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายอาหารสด แต่มีอาหารจำนวนหนึ่งเหลือ ทั้งๆ ที่ยังรับประทานได้ แต่จากมาตรฐานการบริการทำให้พวกเขาต้องทิ้งอาหารเหล่านั้น รวมทั้งผู้ให้บริการธุรกิจ Catering, โรงแรม และร้านอาหาร  ที่มีอาหารเหลือจากงานจัดเลี้ยงหรือการขายในแต่ละวัน และพวกเขาก็มีหน้าที่คัดแยก จัดการทรัพยากร ท้ายที่สุด คือนำส่งไปยังคนที่ขาดแคลน

แต่ปัญหาก็คือ ถึงแม้ว่าองค์กรเอกชนหลายส่วนเล็งเห็นความสำคัญของ Food Waste และพร้อมจะนำอาหารที่เหลือของตัวเองมาให้กับ Thai-SOS แต่อาหารที่เหลือมีปริมาณมากขึ้น ขณะที่ทีมงานมีข้อจำกัดเรื่องของงบประมาณที่จะจัดซื้อรถเพื่อรับอาหารมาคัดแยกให้ถูกต้อง เพราะรถที่ใช้ขนส่งต้องติดตั้งตู้แช่ ให้รักษาสภาพอาหารไว้ได้ด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ จุดประสงค์หลักของ Thai-SOS อยู่ที่การกระตุ้นให้ผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ใช้ทรัพยากรอาหารอย่างคุ้มค่า เหลือทิ้งน้อยที่สุดต่างหาก ด้วยข้อจำกัดลักษณะนี้ ทำให้ทางกลุ่ม Thai-SOS เข้ามาใช้บริการของ Asiola แพล็ตฟอร์มระดมทุนแบบ Crowdfunding เพื่อสื่อสารเรื่องอาหารให้ขยายออกไปในวงกว้าง

“ดีไซน์” เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน

ซึ่งโครงการแบบนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะมีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกบ้านของ SC Asset ชนิดที่เรียกว่า ถ้าไม่ลงไปคุยกับลูกบ้าน ที่อาศัยอยู่มาสักพักหนึ่งแล้ว หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า ปัญหาของคนที่พักอาศัยอยู่ในบ้าน คอนโดมิเนียมมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ ข้าวของที่งอกเงยขึ้นมากลับเป็นปัญหาซะอย่างนั้น

“Pain Point ของลูกบ้านที่เราค้นพบจากการพูดคุยกับเขาก็คือ ขยะในตู้เย็น เสื้อผ้าในตู้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ การทำตู้เย็นใหญ่ๆ ไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อที่ลูกบ้านจะได้นำเอาของที่ตัวเองไม่ใช้แล้ว แต่ยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นอยู่มาไว้ นี่คือการใช้ดีไซน์เข้ามากำหนดพฤติกรรมคน” คุณโฉมชฎา กุลดิลก เล่า

แล้วตู้เย็นใหญ่ๆ ที่ว่า ก็คือ ตู้เย็นในโครงการที่ SC Asset ร่วมมือกับ Asiola พร้อมทั้ง Thai-SOS  ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ของ  Thai-SOS จะมาเก็บอาหารจากลูกบ้านในหมู่บ้านของ SC Asset  เพื่อนำไปให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสหรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ทีมงานก็จะเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการจัดสรรอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกฝังคนในชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากร

“สมมุติว่าลูกบ้านเราเอาอาหารหรือวัตถุดิบที่เหลือมาใส่ตู้เย็น แล้วกลายเป็นว่าอีกบ้านก็มีของที่ขาดอยู่พอดี เกิดเป็นการแมตช์ชิ่งกัน อันนี้เราก็โอเคนะ ถือว่าเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ในหมู่บ้านของเรา ตู้เย็นจะกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทรัพยกากร หรือแม้แต่ถ้าพี่ยาม, แม่บ้านในหมู่บ้านจะเป็นคนนำเอาวัตถุดิบพวกนี้ไปใช้ต่อ เราก็ยินดี เพราะวัตถุประสงค์หลัก คือการทำให้ไม่เกิด Food Waste ทาง Thai-SOS เขาก็ถือว่า นี่คือบรรลุวัตถุประสงค์เขาเช่นกัน ที่ผ่านมาเขาทำกับองค์กรเอกชน ห้าง, โรงแรม คนทำธุรกิจร้านอาหาร พนักงานของหน่วยงานเหล่านี้คือคนที่ได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้เข้าใจ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาสื่อสารโดยตรงกับ End User ซึ่งนี่แหละ คือ หน่วยประชากรที่จะเป็นคนขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แล้วเอาไปเผยแพร่ต่อ” คุณโฉมชฎา เล่าถึงเป้าหมายลึกซึ้งกว่าแค่เอาอาหารเหลือๆ มาใส่ตู้เย็น นั่นคือ สร้างจิตสำนึก(Conscious) และสร้างพฤติกรรม (Action) ต่างหาก

ในตอนนี้โครงการหมู่บ้านของ SC Asset ที่มีตู้เย็นไซส์ไจแอนท์ เหมาะที่จะรองรับอาหารในโปรเจคดังกล่าว มีเพียง 2 แห่ง โดยกำหนดจากเส้นทางหลักที่รถของ Thai-SOS วิ่งอยู่แล้วเพื่อให้ง่ายกับการขนส่ง แต่ถ้าหากว่าลูกบ้านให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งทาง Thai-SOS มีรถวิ่งรับอาหารได้มากขึ้น ทาง SC Asset ก็ยินดีจะลุยโปรเจคนี้ไปสู่โครงการอื่นๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน, คอนโดมิเนี่ยม หรือแม้แต่ Office Building

นอกจากที่จะติดตั้งตู้เย็นและอนุญาตให้ทาง Thai-SOS เข้ามาจัดเก็บอาหารแล้ว ทาง SC Asset ยังมอบเงินจำนวนหนึ่ง ให้กับ Thai-SOS ซึ่งเทียบเท่ากับอาหาร 35,000 มื้อ อย่างก็ตามนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเป้าหมายจริงๆ ของโปรเจคในเฟสนี้คือต้องการอาหาร 100,000 มื้อ สิ่งที่ SC Asset ทำต่อก็คือการขยายการรับรู้ผ่านลูกบ้าน โดยหวังให้เกิดการ Crowdfunding จากผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง รวมทั้งขยายการรับรู้เรื่องปัญหาให้ผู้คนได้มองเห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

โมเดล Crowdfunding หัวใจอยู่ที่การเรียนรู้

ในปี 2018 ทาง SC Asset ยังมองหาโปรเจคที่จะร่วมมือกับ Asiola อีก 2 ชิ้น ซึ่งยังเปิดรับไอเดียเด็ดๆ จากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลักดันให้ “เมือง” ของเราเดินไปข้างหน้าในแนวทางที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการ Co-creation for Good Mornings โดยจะมองหาทั้งโครงการที่มีอยู่แล้วใน Asiola และโครงการที่เข้ามาใหม่ แต่ขอให้ตอบโจทย์เพื่อ “เมือง” อย่างจริงจัง

“หลายคนอาจจะกลัวว่ามันจะล้มเหลว แต่ผมอยากบอกว่า มันคือ Beauty of Crowdfunding ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี หรือมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น มันคือ การเรียนรู้ เราไม่เคยคิดว่ามีไอเดียไหนล้มเหลว บางครั้งถ้ามีไอเดียที่เข้ามาแล้วใกล้เคียงหรือเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เราก็อาจจะจับคู่ให้เจ้าของไอเดีย 2 กลุ่มมาพูดคุยกัน เพื่อช่วยเหลือ ทำงานร่วมกัน ซึ่งก็แล้วแต่เขาว่าจะร่วมมือกันหรือไม่ หลายครั้งก็เกิดเป็นผลงานแคมเปญที่ดี สำเร็จได้ง่ายขึ้น บางครั้งก็ไม่ แต่ทั้งหมดก็คือประสบการณ์” ทีมผู้บริหารของ Asiola กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจโครงการ Co-creation for Good Mornings และอยากมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน หรือข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็นไอเดียนำไปต่อยอดสร้างสรรค์แคมเปญเพื่อสังคมของตัวเอง คลิก  http://bit.ly/2Ilwzqt


แชร์ :

You may also like