HomeMediaเจาะลึกเรตติ้ง “บุพเพสันนิวาส” ปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หวนกลับมาดู TV และขึ้นแท่นละครแห่งชาติ!

เจาะลึกเรตติ้ง “บุพเพสันนิวาส” ปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หวนกลับมาดู TV และขึ้นแท่นละครแห่งชาติ!

แชร์ :

จบลงไปแล้วสำหรับละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ ฮิตติดลมบน ทั้งในแง่ของเรตติ้งทางโทรทัศน์และติดอันดับเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทั้งประเทศไทยและระดับโลก ความน่าสนใจที่ไปไกลยิ่งกว่าความนิยมที่เรารับทราบถึงกระแสกันเป็นอย่างดีแล้ว จนส่งผลให้พระ- นาง ของละครเรื่องนี้ #งานเข้า รัวๆ ในทางที่ดี คือ ได้รับงานพรีเซนต์เตอร์โชว์ตัว ตลอดจนนักแสดงในบทบาทอื่นๆ ก็ดังไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เลย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“ปาฎิหารย์” ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนภาพของการเสพสื่อของคนไทย ซึ่งละครเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ทำให้ คนรุ่นใหม่กลับมาดูละครอีกครั้ง และเป็นละครที่ดังทั่วประเทศอย่างแท้จริง

ละครที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่

คุณกนกกาญจน์ ประจงแสงศรี กรรมการผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การลงทุน และการเรียนรู้ IPG Mediabrands อธิบายภาพของเรตติ้งที่ BrandBuffet ได้ข้อมูลมาให้ละเอียดมากขึ้น โดยเริ่มจากการ อ่านข้อมูลให้ชัดว่า

“ตัวเลขที่ช่องหรือรายการหรือที่สื่อชอบนำเสนอกัน คือ เลขในช่องแรก ซึ่งแปลว่าเป็นตัวแทนของผู้ชมทั้งประเทศ สำหรับตอนจบที่มีเรตติ้งสูงเกิน 18 ถือว่าเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราดูเฉพาะกรุงเทพ หรือ กรุงเทพกับหัวเมือง ซึ่งเรามักจะพูดกันว่า คนรุ่นใหม่ คนในเมือง Gen Z, Gen Digital ไม่ดูทีวีกันแล้ว แต่ละครเรื่องนี้ทำให้คนกลุ่มนี้กลับมาดูทีวีได้ ปกติตัวเลข Rural จะสูงกว่า เพราะคนต่างจังหวัดดูทีวีเยอะกว่า และถ้าเราดูเทียบกับละครเรื่องอื่น ละครที่มีเรตติ้งถึง 20 ในเขตหัวเมือง นี่ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว”

นั่นแปลว่า คนรุ่นใหม่ยอมทิ้งจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือว่าแท็บแล็ต กวาดสายตามาที่โทรทัศน์ในช่วงเวลาที่ละครฉาย พร้อมๆ กับมือที่ทวีตหรือตั้งสเตตัสไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนี่อาจเป็นความจงใจของช่อง 3 ที่เลือกจะฉายละครเรื่องนี้ผ่านแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ Mello ประมาณเที่ยงคืนหลังละครจบ ทั้งๆ ที่ทางช่องก็มีไฟล์ละครทั้งหมดอยู่ในมืออยู่แล้ว แต่เพื่อดันให้เรตติ้งของละครเรื่องนี้กลายเป็นละครที่เรตติ้งดีที่สุดในประวัติศาสตร์ละครยุคทีวีดิจิทัล

ยังไม่นับตลาดต่างประเทศที่ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค ถึงขนาดมีการซื้อลิขสิทธิ์ไปทำในเวอร์ชั่นจีน ซึ่งนับว่าเป็นอีกขั้นของความสำเร็จของช่อง 3 และนับเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ที่สามารถส่งออกวัฒนธรรม ทั้งเรื่องการแต่งกาย ไปจนถึงอาหาร ที่เคยยั่วน้ำลายผู้ชมคนไทยมากแล้ว คราวนี้แหละ…กุ้งเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน หมูกระทะ จะไปลุยในตลาดเมืองจีนได้สบาย

รายงานเรตติ้งละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” สำหรับตอนจบ มีเรตติ้งในกลุ่มผู้บริโภค อายุ 4 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ 18.8 เฉพาะกรุงเทพ 23.5 ส่วน กรุงเทพและหัวเมือง 23.1

เรตติ้งละครของช่อง 3 ในปี 2018

หัวใจอยู่ที่บทประพันธ์-บทโทรทัศน์

สำหรับเหตุผลที่ละครเรื่องนี้ดังและจับใจคนรุ่นใหม่ ก็มาจาก “บท” สอดคล้องกับความสำเร็จของค่ายภาพยนตร์ GDH ซึ่งภาพยนตร์บางเรื่องเขียนบทนานหลายปี และมีทีมเขียนบทที่ช่วยกันแก้ไขจนบทสมบูรณ์ที่สุดก่อนถ่ายทำ ขณะเดียวกัน ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ก็ได้ อ.แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทละครมือหนึ่งของประเทศไทย มาเป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวจากหน้าหนังสือ มาแปลงเป็นภาพให้ทีมงานและนักแสดงได้นำเสนอ โดยอาจารย์แดงใช้เวลากับเรื่องนี้นานถึง 2 ปี ตัวบทที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นสอดคล้องกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ต้องการพระเอก-นางเอก ที่เพอร์เฟคอีกต่อไปแล้ว นางเอกที่พาเอาคำพูด-การกระทำในโลกปัจจุบัน พกติดตัวไปที่อยุธยา ทำให้นางดูโก๊ะ – เปิ่น ในสายตาของสังคม พระเอกที่บทจะดุก็ปากจัด เหลือร้าย แต่พอหวานก็หยอดมุขจีบได้เหมาะเจาะ

ซึ่งหลายๆ การกระทำของตัวละคร ก็กลายเป็น Meme ในโลกโซเชี่ยลมีเดีย ราวกับตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็น “ทำหน้ากิ๊ก สุวัจนี” หรือ บทที่พระเอกด่านางเอกยาวรัว ที่เรียกกันว่า “แร๊พอยุธยา” หรือ “แร๊พพี่หมื่น” ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับผู้ที่อ่านบทประพันธ์ต้นฉบับจะพบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นห้วงความคิดของพระเอกที่ไม่ได้พูดออกมาจริงๆ แต่ผู้เขียนบทและผู้กำกับกลับออกแบบให้พระเอกพูดออกมายาวติดต่อกัน รวมทั้งความตั้งใจในการถ่ายทำ เช่น การตั้งกล้องให้ได้มุมเหมาะเจาะ ที่หน้า “กิ๊ก-สุวัจนี” ปากคว่ำได้องศาความฮาพอดี ก็ส่งผลให้รายละเอียดเหล่านี้ ยั่วยวนให้โลกออนไลน์ตัดตอนเอาไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายความโด่งดังของละครแบบ Free Media (อ่านต่อเรื่อง สัมภาษณ์พิเศษ อ.แดงศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบท “บุพเพสันนิวาส” จนขึ้นแท่นละครแห่งชาติ คลิกที่นี่)

เมื่อผนวกกับบทประพันธ์ดั้งเดิม จาก “รอมแพง” ซึ่งเลือกห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ได้อย่างชาญฉลาด ในสมัยที่เป็น “ยุคทอง” ของประวัติศาสตร์ ย่อมมีตัวละครที่คนทั่วไป “คุ้นๆ” หรืออย่างน้อย “เคยได้ยินชื่อ” มากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ เช่น ท้าวทองกีบม้า ออกญาวิชเยนทร์” หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์(คอนแสตนติน ฟอลคอน) เจ้าพระยาโกษา(ปาน), เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ฯลฯ ขณะเดียวกัน ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์นี้ก็ “ไม่ช้ำ” หรือถูกเล่าซ้ำ จนคนไทยคุ้นชินเกินไป อย่างเช่น ช่วง เสียกรุงฯ ที่เราเคยดูกันมาตั้งแต่ “สายโลหิต” เวอร์ชั่น ศรรามกับกบ-สุวนันท์ หรือ ในระยะหลังเราก็ศึกษาเรื่องของ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยกันยาวหลายปีต่อเนื่อง

มีบางคนกล่าวไว้ว่า “คนไทยเรียนประวัติศาสตร์ ผ่านละคร” (นั่นทำให้คนไทยไม่เคยมีภาพความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการที่ทหารญี่ปุ่นยกพลมาที่ประเทศไทย เพราะมัวแต่จินตนาการถึงรักแท้ของ “โกโบริ” อยู่ไง) นั่นทำให้ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหราช จึงเป็นความลงตัวของประวัติศาสตร์ที่คนยุคนี้ต้องการ… รู้จัก – คุ้นๆ แต่ไม่ยังรู้จักดี จนไม่ลุ้นอะไรอีกแล้ว และผลักดันให้มีการศึกษาต่อ จนนำมาเล่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ ซึ่งช่วยให้ผู้ชมมีช่องทางต่อยอดองค์ความรู้มากขึ้น

นอกจากนี้ บทของการะเกด ยังมีความเชื่อมโยงกับผู้ชม ที่เมื่อเสพแล้วเราเห็นความทันสมัยของโลกปัจจุบัน เข้าไปสานกับอดีต เครื่องไม้เครื่องมือจำพวก เครื่องกรองน้ำ กระทะปิ้งหมูกระทะ ไปจนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่าง กกน. ผู้ประพันธ์ก็เลือกที่จะหยิบยกไปใส่ไว้ในเรื่อง จนคนดู “อิน” หรือเข้าถึงง่ายขึ้น

บทสรุปของละครเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีใน 2 ประเด็นสำคัญ ก็คือ 1. การให้ความสำคัญกับ “ตัวบท” มากกว่าดาราหรือโปรดักชัน น่าจะเป็น Key Success ที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ต้องใส่ใจเป็นลำดับแรก  2. “ทีวี” ยังไม่ตาย คนรุ่นใหม่ยังสนใจสื่อนี้อยู่ถ้าหากว่ามีคอนเทนท์ที่น่าสนใจมากพอ แล้วใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นตัวผสานช่วยดันให้กระแสถูกกระจายไปในสังคม

  


แชร์ :

You may also like