HomeBrandingทำความเข้าใจ Soft Power “นุ่มนวลมีพลังกับพรหมลิขิต”

ทำความเข้าใจ Soft Power “นุ่มนวลมีพลังกับพรหมลิขิต”

แชร์ :

บทความโดย : เขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์     

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กระแส Soft Power มาพร้อมๆ กับละคร Romantic Comedy “พรหมลิขิต” ภาคต่อจาก “บุพเพสันนิวาส” ที่ออกอากาศเมื่อกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา ก่อนการเกิดระบาดของโควิด ในขณะที่ปีนี้ รัฐบาลก็ประกาศตั้งกรรมการ Soft power แห่งชาติ และวางนโยบายส่งเสริมการเป็น Soft Power Country

ประเด็นเรื่อง Soft Power ที่คนไทยพูดกันในหลายวงการ แต่ดูประหนึ่งว่า มีคนจำนวนมากรวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย Soft Power ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ และทำความรู้จักลงลึกในความหมายและปริบทของ Soft Power ที่ชัดเจน

หลายคนบอกว่า Soft Power คือ หมูกระทะ บางคนบอกว่าก็ ลิซ่า Blackpink นั่นไง บ้างก็ว่าจัดแฟชั่น วีค ในเมืองไทย ออเจ้าหลายคน ก็บอกว่า จัดกิจกรรมเยอะๆ ให้ดึงคนมาเมืองไทย มันคือ Soft Power

หลายหน่วยงานบอกว่า อาหารไทย แหล่งท่องเที่ยว ก็คือ Soft Power สำหรับประเทศไทย หากหยิบยกสิ่งที่เรียกว่า Soft Power ที่ภาครัฐวางกำหนดขอบเขตมีสัญลักษณ์ 5F ได้แก่

1. Food อาหารไทย

2. Film ภาพยนตร์ไทย

3. Fashion การออกแบบไทย

4. Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย

5. Festival เทศกาลและประเพณีไทย

แต่กรอบแนวทางที่ตั้งมา ยังไม่มีข้อมูลที่เด่นชัดว่า อะไรคือ DNA แห่ง Soft Power  วิเคราะห์ดูจากสิ่งที่เห็น ข้อมูลวิจัยจากหลายประเทศที่สำเร็จมาแล้ว จะขอบัญญัติไว้ว่า Soft Power คือ “พลังนุ่มนิ่มที่แสดงออกอย่างนุ่มนวล มีการวางแผน เติมความคิดสร้างสรรค์ มีดำเนินการต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบและกระบวนการ โดยใช้เวลาในการสร้าง และส่งผลให้ผู้คนมีความเชื่อ ศรัทธา ยอมรับ และแปรเปลี่ยนความชอบมาเป็นการยินยอมจ่ายเงิน เพื่อให้ได้เข้าถึงสิ่งนั้น ด้วยความยินดี” 

“พลังนุ่มนวล” จะประกอบด้วยกลยุทธ์  3 อย่าง 

1. วัฒนธรรม/ประเพณี อาจจะมีมาดั้งเดิม สูญหายไป หรือสร้างขึ้นมาใหม่ 

2. Political Policy กลยุทธ์ทางการเมือง

3. International Policy ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ

ทั้งหมด ทำแบบเนียนเนียน  เนิบเนิบ นุ่มนวล  ข้อสำคัญของการทำ Soft Power ต้องมีกระบวนการในการสร้าง กระบวนการรักษา กระบวนการส่งเสริม

ที่จริงการกำเนิดของ Soft Power มาจากการคิดกลยุทธ์ที่มาทดแทน หรือ ดำเนินการควบคู่กับ Hard Power ที่เป็นยุทธการทางทหารและการขยายอาณานิคม ใน 2 ข้อหลัง เพื่อเฟ้นหาดินแดน ทรัพย์สิน แหล่งอาหาร พลังงาน และการครอบงำทางสังคม เผยแพร่ความคิด ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งในซีกโลกตะวันตกและเอเชีย

แต่เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้น แนวทางของ Hard Power จึงแปรเปลี่ยนมาใช้พลัง Soft Power ทดแทนมากขึ้น เราจึงเห็นการสร้างวัฒนธรรมของชาติมหาอำนาจ ในด้านต่างๆ ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  ความเชื่อทางศาสนา ผลิตภัณฑ์ บริการ Software ความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางและนวัตกรรมที่ทันสมันในแต่ละยุค และใช้วาทกรรมในการเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมและเห็นด้วย

วาทกรรมในเชิงพลังทางทหารและการเมือง การต่างประเทศ  มักจะมาในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ อาทิ จักรวรรดินาซี การสร้างกระแสรักชาติของสหรัฐและญี่ปุ่น  ต่อมาจึงปรับมานำความคิดและวัฒนธรรมผ่านความบันเทิง ไปสู่กลุ่มชน สังคมไหนมีความเปราะบางหรือไม่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเข้มงวด การเผยแพร่วัฒนธรรมจากอีกซีกโลกหนึ่งไปยังสังคมนั่น ก็ง่ายดาย สังคมใดแม้เป็นประเทศเล็กๆ แต่มีศักยภาพและความเข้มข้นทางวัฒนธรรมสูง ก็สามารถรักษาอัตลักษณ์และส่งออกวัฒนธรรมไปสู่แหล่งอื่นๆ ของโลกได้ดีเช่นกัน

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบรรดาประเทศต่างๆ ในการนำ “พลังนุ่มนิ่ม” มาเป็นทัพหน้าในการเข้าถึงผู้คนอย่างละมุนละม่อม ตัวอย่างของการเป็น Soft Power ทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านวัฒนธรรม 

เป็นการง่ายในการเผยแพร่มรดกของชาติ ออกสู่สายตาชาวโลก โดยนำสิ่งที่คุ้นเคย คือ สภาพบ้านเมือง ประเพณี วัฒนธรรม มาขยายออกเป็นยุทธศาสตร์ อาทิ อียิปต์ อินเดีย เกาหลี จีน ตุรกี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ สเปน พลังนุ่มนวลที่ประเทศเหล่านี้ ดำเนินการมักต้องทำให้ผู้คนเชื่อถือ + ทำตาม +แปรเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เข้าประเทศ

– อียิปต์ นำจุดขายที่มีอยู่เดิม คือ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เช่น สฟิงซ์ สุสาน ปิรามิด และแม่น้ำไนล์ มาเป็น Soft Power และที่ส่งเสริมให้ อียิปต์ เป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ การที่ฮอลลีวูด นำเนื้อหาของอียิปต์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้คนชื่นชอบ ดูน่าค้นหา มีความขลังและอยากไปท่องเที่ยวชมอารยธรรม อาทิ The Mummy , Death of the Nile จากบทประพันธ์ของอากาธา คริสตี้ ที่มีนักสืบบัวโรต์ เป็นตัวเอก ซึ่งในฉากจะมีภาพสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามของอียิปต์ แฝงอยู่ตลอด

– อินเดีย เป็นประเทศเก่าแก่ อีกประเทศหนึ่งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย  อาทิ ทัชมาฮาล พระราชวังแห่งเมืองชัยปุระ แม่น้ำคงคา ป้อมอัครา  “บอลลีวูด” สร้าง Soft Power ที่ครอบคลุมกระบวนการทั้งสามสิ่งของอินเดีย มีทั้งบทภาพยนตร์ที่หลากหลาย ทั้งการรักชาติ คอสตูมเสื้อผ้า สถานที่ท่องเที่ยว ประเพณี และที่ขาดไม่ได้คือ Music and Dancing ดนตรี และการเต้นรำ ซึ่งบรรจุในภาพยนต์อินเดียทุกเรื่อง รวมไปถึงสายมู ประกอบศิลปวัฒนธรรม เราจึงเห็นหนังเรื่อง พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเนศ พระอุมา และอื่นๆ รวมทั้งรามเกียรติ์ ส่งออกไปทั่วโลก

Soft Power ที่น่าสนใจของอินเดียในปัจจุบันที่กำลังฮิต  คือ การท่องเที่ยวรับพลังทางพุทธศาสนาในสังเวชนียสถาน 4 แห่งในอินเดีย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธเจ้า ที่ผู้คนทั่วโลกต้องไปเที่ยวชมและอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่พาราณสี พร้อมแสวงบุญรับพลังบวกเป็นจำนวนมาก

– ฝรั่งเศส มี Soft Power ทั้ง พระราชวังแวร์ซาย  พิพิธภัณฑ์ลูฟท์ ข้อสำคัญ น้ำหอมและไวน์ เป็นพลังความนุ่มนวล ที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้ประเทศ นอกจากนี้สิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น หอไอเฟล เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และการแข่งขันจักรยาน ตูร์เดอฟร็องส์ ก็เป็น Soft Power ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้าไปเยือนฝรั่งเศสจำนวนมากในแต่ละปี

– สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการ Soft Power โดยผสมผสานแนวทางของการเมือง การตลาด การต่างประเทศ และสร้างวัฒนธรรมสร้างชาติขึ้นมา เราจึงเห็นประธานาธิบดีทุกรุ่น มี speech ที่น่าสนใจมีการนำแนวคิดการเป็นทหารและพลเมืองดี ที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศ ร้องเพลงชาติทุกครั้ง ภาคภูมิใจในธงชาติ  และมีอิสระภาพ ทุกสีผิว

ทุกอย่างหลอมรวมออกมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ดนตรี และเทคโนโลยี มือถือไอโฟนที่เราใช้ รวมไปถึง Software ที่อยู่ข้างใน ทั้งแอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ กูเกิล คือ พลังนิ่มนวลที่เข้าถึงมนุษย์ และขยายต่อยอดให้กลายเป็น Soft Power ที่ไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมที่ต้องอาศัยห้วงเวลา แต่เข้าถึงได้ทุกเวลา  อาทิ ดีสนีย์แลนด์ ดีสนีย์เวิลด์ ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ Jurassic theme park และรวมไปถึงการสร้างค่านิยมในการศึกษา ของมหาวิทยาลัยระดับโลกในสหรัฐฯ ที่คนทั่วโลกนิยมไปศึกษา

– เกาหลีใต้ คือ ตัวอย่างในความสำเร็จของ Soft Power แม้จะมีทรัพยากรทางธรรมชาติน้อย ต่างจากจีนและญี่ปุ่น (อายุประเทศใกล้เคียงกันคือ กว่า 1,000 ปี) แต่เกาหลีกลับเรียนรู้ที่จะสร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมา โดยปรับแนวทางของโลกตะวันตกมาผสมผสานกับแนวทางของคนเอเชีย เกาหลีใต้เน้นวัฒนธรรม 2 ส่วน คือ K-pop และ K-innovation

K-pop คือ กระบวนการสร้างความนิยมให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า K-pop คือ Popular นั่นเอง เริ่มต้นจากเรียนรู้ในการสร้าง Idol การวางกระบวนการในการสร้าง Fandom การใส่ความคิดสร้างสรรค์ในงานเพลง ละคร ละครเวที กีฬา โดยมี K-Innovation ดำเนินการเคียงคู่กันไป

เราจึงเห็นความสำเร็จหลังสิ้นสุดยุคสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ได้จากธุรกิจเสริมความงาม อาหารเสริม เครื่องสำอาง ดนตรี เพลง ภาพยนตร์ เทคโนโลยี ทุกสิ่งอย่างมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ผู้คนทั่วโลกจึงอยากไปเรียนภาษาเกาหลี อยากไปเที่ยว อยากไปเสริมความงาม อยากซื้อสินค้าเกาหลี และนิยมชมชอบศิลปินเกาหลี ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องสำอางระดับโลกหันมาใช้ศิลปินเกาหลีในการเป็น Presenter และได้รับการยกย่องให้เกียรติพบปะผู้นำระดับโลกมากมาย

วง Blackpink เป็นตัวอย่าง Soft Power ที่เกาหลีมุมานะในการสร้างสรรค์ Brand นี้จนเป็นศิลปินเอเชียวงแรก ที่ได้เข้าไปเยือนพระราชวังบักกิ้งแฮม และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากกษัตริย์ชาร์ลที่ 3

– ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว และความพิถีพิถันเป็นระเบียบของคนในชาติ เป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรง แม้จะเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่วัฒนธรรมของญี่ปุ่น ยังคงแข็งแกร่งและแพร่ไปทั่วโลก ญี่ปุ่นดำเนินการสร้าง Soft Power มาก่อนเกาหลีใต้ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นหันมาใช้ “พลังนุ่มนิ่ม” ในการสร้างประเทศ มากกว่ากำลังทางทหาร โดยดึงศักยภาพรากเหง้าของตัวเองพัฒนาให้มีความทันสมัยควบคู่กับวัฒนธรรมดั้งเดิม

เราจึงเห็นคอนเทนท์ที่เป็นการ์ตูน Animation Art  การแต่งกายกิโมโน วัฒนธรรมทางอาหารราเมง ซูชิ ที่ประดิดประดอยสวยงามและคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ นวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้วิถีชีวิตดีขึ้น ในเมืองใหญ่และเมืองรองของญี่ปุ่น เรายังเห็นสาวญี่ปุ่น แต่งกิโมโนขึ้นรถไฟฟ้า ไปห้างสรรพสินค้า ไปกินอาหาร จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมเป็นวิถีชีวิตที่ชินตา

– สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นยักษ์ใหญ่ ที่เพิ่งใช้  Soft Power ควบคู่กับการเมืองระดับโลก แต่ในอดีตเมืองอุตสาหกรรม  Soft Power คือ ฮ่องกง ที่มีจุดขาย 3 ส่วน คือ ไหว้พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์บันเทิง และอาหารจีน ในขณะเดียวกัน จีนแผ่นดินใหญ่ ก็เติบโตรวดเร็วมาก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีทั้งวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว ประเพณีนิยม และล่าสุดการสร้าง  Soft Power ผ่านคนและ Applications ที่โด่งดัง อาทิ Alibaba, TikTok

นุ่มนวลมีพลังกับพรหมลิขิต

ย้อนกลับมาที่ละครพรหมลิขิต ละครเรื่องนี้นำประวัติศาสตร์มาผนวกกับความคิดสมัยใหม่ ได้อย่างลงตัวทำให้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไม่น่าเบื่อสำหรับวัยรุ่น เราจึงเห็นความคลั่งไคล้ Soft Power ไทยที่ อยุธยา เป็นโมเดล ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยาและกระทรวงวัฒนธรรม เริ่มใช้กลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่ในการต่อยอดความนิยม มาเป็นความสุข การสร้างเศรษฐกิจเติบโต โดยกรมศิลปากร ยอมให้ประดับไฟฟ้าและบรรยากาศในช่วงเย็นถึงกลางคืน ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ที่สัมผัสใจผู้คน

สิ่งที่ได้รับอานิสงส์ตามมาคือ นักท่องเที่ยวไทยมาเพิ่มขึ้น ยอดขายกุ้งเผา ปลาตะเพียนทอด โรตีสายไหม และธุรกิจเช่าชุดไทย ธุรกิจถ่ายภาพ รถโดยสาร ล้วนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และเป็น 10 เท่า จากปกติในวันเสาร์-อาทิตย์ โรงแรมที่พักในอยุธยา จากเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ก็มาเป็นการพำนักในเมืองหลวงเก่า เพิ่มอีก 1-2 วัน และจะขยายไปวัดอื่นๆในอยุธยา รวมทั้งสู่อำเภอรอบนอก เช่น บางปะอิน ภาชี และอื่นๆ รวมไปถึงเมืองโบราณที่สมุทรปราการ อันเป็นสถานที่ถ่ายทำสำคัญอีกจุดหนึ่ง

ละครพรหมลิขิต ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มาจาก Soft Power ที่เป็นองค์ประกอบตั้งแต่ 

1. บทละคร: เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และจิตใจของมนุษย์ ในยุคเก่ากับยุคใหม่

2. การแต่งกาย : ทั้งเรื่องโดยเฉพาะบรรดาตัวแสดงฝ่ายหญิง มีการแต่งกายทั้งแบบชาวบ้านและแบบชาววัง

3. อาหารไทย : มีเมนูและวิถีชีวิตถิ่นไทย พร้อมแสดงการปรุงอาหารให้เห็น

4. ประเพณีและสถานที่ : สอดแทรกด้วยคุณธรรมในการบริหารประเทศ การจัดประเพณีที่สำคัญ การเดินเรื่องโดยใช้สถานที่ต่างๆกัน แม้แต่ยานพาหนะที่เป็นเรือสมัยอยุธยา ก็ปรากฎให้เห็นทุกฉาก ส่งผลให้กิจกรรมหนึ่งที่คนต่างชาติ มาเที่ยวแล้วถามถึงคือ การแต่งชุดไทยถ่ายภาพในโลเคชั่น และพายเรือ

จุดเด่นชัดที่สุด คือ การเขียนบทที่นำความคิดสมัยใหม่ มาผสานกับประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิมอย่างลงตัวและที่เพิ่มมาคือ การใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้ดารานำเป็นแฝดเหมือน ซึ่งสร้างความแตกต่างจากละครเรื่องอื่นๆ และทำให้ต่างชาติสนใจในเนื้อหา

มีคำถามว่า “พรหมลิขิต” จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในเรื่อง Soft Power ของไทยได้มาน้อยเพียงไร แล้วเราจะก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องทำเป็นยุทธศาสตร์ภาพรวม แล้วศึกษาปัจจัยในองค์ประกอบรอบด้านดังนี้

1. วิจัยศึกษาสิ่งที่เรามี  

ประเทศไทยมีของดีมากมาย แต่ประเภทไหนที่ทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าใจ เข้าถึงได้เหมือนกัน อาทิ อาหารไทย ชุดไทย วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่สนุก สิ่งใดที่จะดึงดูดคนในประเทศ เพื่อให้เกิดความนิยม ทำตาม เหมือนที่คนทั่วโลกนิยมเปิดร้านซูชิ นิยมแช่ออนเซน นิยมแต่งชุดยูกาตะ หรือ กิโมโน

2. สร้าง Concept สิ่งใหม่ จากรากฐานและองค์ประกอบที่มีให้ชาวโลกสนใจอย่างเป็นกระบวนการ

ถามว่า full moon ที่เกาะพงัน เป็น Soft Power ระดับโลกไหม เพราะพื้นฐานมีแค่เกาะ แต่ชาวต่างประเทศนิยมมาสนุกสนานท่ามกลางพระจันทร์เต็มดวง พร้อมกิจกรรมดนตรีที่นี่ ซึ่งมีหลายเดือนใน 1 ปี, การสร้างถนนข้าวสารให้มีชีวิตชีวาเป็นวิถีของคนรุ่นใหม่, การพัฒนาตลาดน้ำ คูคลอง, การสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีเอกลักษณ์ไทย, การพัฒนาโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพระดับคลาสสิค แสดงโขนเหมือน โรงละครในอังกฤษ ที่แสดงติดต่อกันหลายปี

การสร้างความสะอาด Heritage ให้อาคาร/คูคลอง  ดังนั้นในข้อนี้ Soft Power จึงต้องเป็นอะไรที่ยั่งยืน ต้องทำได้ทุกฤดูและมีคนนิยมติดตามโดยไม่มีอายุขัย

3. Contents ที่นำเสนอ สามารถโน้มน้าวให้คนชื่นชอบและแปรเปลี่ยนความชื่นชอบเป็นรายได้ หรือ Brand 

– สิ่งปลูกสร้างทั้งยุคโบราณและร่วมสมัย ตัวอย่าง  ปิรามิด/สฟิงซ์/สุสานมัมมี่, เพตรา จอร์แดน, กำแพงเมืองจีน, กำแพงเบอร์ลิน, พระราชวังวินเซอร์, หอนาฬิกาบิ๊กเบน, หอไอเฟล, ตลาดเก่าเนเธอร์แลนด์, จัตุรัสเทียนอันเหมิน, พระราชวังต้องห้าม, ปราสาทโชกุน, นครวัด, ทัชมาฮาล, เวนิช, วัดพระแก้วพระบรมมหาราชวังของไทย, สะพานข้ามแม่น้ำแคว เหล่านี้ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีมาแต่สมัยโบราณ และเพิ่งเริ่มสร้าง แต่หากมีกระบวนการที่ส่งต่อ สร้างสรรค์ให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ ก็จะให้สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ได้

– ธรรมชาติสร้างสรรค์  เช่น น้ำตกไนแองการ่า, ทะเลสาบลูเซิร์น, เกาะพีพี, เกาะภูเก็ต, ฮาวาย, แม่น้ำไนล์, แม่น้ำเทมส์, ซาฟารี, แสงเหนือ, กาแฟ, ใบชา, อากาศดีที่ฮาวาย  ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีการปรุงแต่ง แต่มนุษย์ต้องสร้างสิ่งรอบด้านของธรรมชาตินั่น เพื่อดึงดูดใจให้มากขึ้น อาจเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ มีส่วนร่วมในการผจญภัยค้นหาต้นกำเนิด ของธรรมชาติ นั้น

– วัฒนธรรมมรดกทางปัญญา  ผ้าไหมไทย, น้ำหอม, ไวน์, พรมเปอร์เซีย, นาฬิกาสวิส, กางเกงยีน, กระเป๋าแบรนด์หรู, อาหาร, กีฬา  หรือบางอย่างนำมารวมกัน เช่น ปราสาทสวยบนยอดเขาสูง สิ่งที่ยกตัวอย่าง หลายสิ่งกลายเป็นเส้นทางที่คนอยากเรียนรู้เข้าถึง เป็นยกระดับการเป็น Soft Power ให้เด่นชัดขึ้น เราจึงเห็นแพ็กเกจทัวร์นำชม ชาโตที่ผลิตไวน์ โรงงานผลิตน้ำหอมดั้งเดิมในเมืองเล็กๆ ของฝรั่งเศสหรืออิตาลี

– สิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่  เช่น หอไอเฟล, ดิสนีย์แลนด์, ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ, อนุสาวรีย์สันติภาพ สหรัฐฯ, เป็น Soft Power อีกประเภทหนึ่งที่ตั้งอยู่เป็น Landmark สำคัญ แล้วสร้าง Soft Power อื่นๆ ประกอบ เช่น รถม้า จักรยาน การแข่งขันมาราธอน การแสดงดนตรี เป็นการสร้างรายได้และความสุขจาก Soft Power ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว

– กิจกรรมที่ทำเป็นกิจวัตร พิธีเปลี่ยนเวรยามชายแดนอินเดียปากีสถาน, พิธีเปลี่ยนยามหน้าพระราขวังบักกิ้งแฮม, หมู่บ้านชาวเขา, พิพิธภัณฑ์ฝิ่น, พิพิธภัณฑ์ทุเรียน, เทศกาลตามเมืองต่างในญี่ปุ่น บราซิล คิวบา ฮอลแลนด์ อิตาลี ที่ผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลไปร่วม

4. เงินทุน Funding และช่องทางตลาด

5. พัฒนาคนให้มีศักยสภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ การมีระเบียบ สถานที่สะอาดปลอดภัย และใส่ใจด้านบริการ

6. กลไกของรัฐ (กฎระเบียบและเงินทุนสนับสนุน) ไม่มีประเทศใดที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Soft Power โดยรัฐไม่สนับสนุน การสนับสนุนนั้นต้องทำตั้งแต่เริ่มสร้าง ไม่ใช่มาโหนกระแสเอกชน แล้วสนับสนุนภายหลังแบบน้อยนิด 

หากจะตอกหมุดการสร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยืน รัฐบาลและกลุ่มผู้นำความคิดในภาครัฐ จะต้องไม่เกรงใจคนชอบค้าน ต้องบูรณาการบริการภาครัฐเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เป็น One Stop Service และมีกองทุนแหล่งเงินที่กลุ่มผู้ผลิตคอนเทนท์ สามารถเข้าถึงได้ ข้อสำคัญควรสร้างฐานมาตั้งแต่เยาวชนในมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตร training บ่มเพาะ เรื่อง Soft Power ในมหาวิทยาลัยเลย และควรเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้วิธีคิด Soft Power ของไทย ติดอันดับโลกให้ได้ จะได้สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศเสริมรายได้สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอื่นๆ

ยังมีเรื่องราวและประเด็นของ Soft Power อีกมาก แต่สรุปได้ว่า บางอย่างเราพัฒนาเป็นพลังได้ บางอย่างที่อ้างว่า Soft Power ที่แท้อาจเป็นหางกะทิ ไม่ใช่แก่นแท้ที่สร้าง Brand หรือรายได้ที่ยั่งยืนนะออเจ้า


แชร์ :

You may also like