HomeBrand Move !!ถอดบทเรียน “เฮียฮ้อ” ไม่ยึดติดความสำเร็จในอดีต ขยายธุรกิจจากค่ายเพลง สู่สุขภาพ-ความงาม

ถอดบทเรียน “เฮียฮ้อ” ไม่ยึดติดความสำเร็จในอดีต ขยายธุรกิจจากค่ายเพลง สู่สุขภาพ-ความงาม

แชร์ :

“ในการทำธุรกิจ เราต้องตามเทรนด์ ตามทิศทางโลกว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ในอดีต เพราะบางครั้งการอยู่กับที่เดิมๆ อยู่ใน Comfort Zone มีความเสี่ยงกว่าการเดินไปข้างหน้า เพื่อไปยังที่ๆ ใหม่ แม้ที่ใหม่นั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยมาก่อน แต่ถ้าเรามีการวิเคราะห์ธุรกิจ และประเมินความเสี่ยงของธุรกิจใหม่ที่ดี ที่ใหม่นั้น อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าการอยู่ใน Comfort Zone” “เฮียฮ้อ – สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เล่าวิธีคิดการทำธุรกิจในสไตล์ “อาร์เอส” เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เปิดอาณาจักร “อาร์เอส” จากยุคเทปคาสเซ็ท สู่ธุรกิจสื่อ และความงาม

หากย้อนกลับไปเส้นทางธุรกิจของ “เฮียฮ้อ” และอาณาจักร “อาร์เอส” อยู่กับความเปลี่ยนแปลงมาตลอดทุกยุคสมัย นับตั้งแต่ร่วมกับพี่ชาย “เฮียจั๊ว – เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์” ทำธุรกิจตู้เพลงและอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงเทป ภายใต้ตรา “ดอกกุหลาบ” ก่อนจะจัดตั้งเป็นบริษัทอย่างเต็มตัวด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท ในนาม “Rose Sound” ถือเป็นปฐมบทของอาณาจักร “อาร์เอส”

จากนั้นในปี 2525 ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจ มาทำ “ค่ายเพลง” ที่เน้นตลาดวัยรุ่น ในชื่อ “บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด” ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 2 – 3 ล้านบาท มีศิลปินในสังกัดวงแรก คือ วงอินทนิน และตามมาด้วยคีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกเซ้นต์, บรั่นดี และเรนโบว์

Photo Credit : rsfriends YouTube

ต่อมาจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ “อาร์เอส” เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ในปี 2535 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทฯ เป็น “บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด” พร้อมทั้งประกาศจุดยืนจากบริษัทเพลง มาเป็น “บริษัทบันเทิงครบวงจร” และตั้งบริษัทลูก เพื่อรุกธุรกิจบันเทิงในสาขาอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจเพลง เช่น รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์

Photo Credit : rsfriends YouTube

ในปี 2549 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ เป็น “บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)” เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการประกอบธุรกิจ พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่

จากนั้นในยุค “ทีวีดาวเทียม” บูม อาร์เอสกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน โดยเปิดสถานีของตนเอง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ช่อง 8” ที่มาจากการอยู่บนทีวีดาวเทียมก่อน และทันทีที่ กสทช. เปิดประมูล “ทีวีดิจิทัล” เมื่อปี 2556 “อาร์เอส” เข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน โดยเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) จึงได้ตัดสินใจย้าย “ช่อง 8” มาออกอากาศบนทีวีดิจิทัล

ความเปลี่ยนแปลงยังคงถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ยิ่งในยุคดิจิทัล ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อ “อุตสาหกรรมเพลง” มหาศาล นี่จึงทำให้ “กลุ่มธุรกิจเพลง” ของอาร์เอส ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

ทั้งนี้ หนึ่งในหนทางที่ “อาร์เอส” ใช้สร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างแข็งแกร่ง คือ ไม่ยึดติดอยู่แค่ในธุรกิจเดิมที่เคยทำมา หากแต่ได้ขยายออกสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่มี Market Size ใหญ่ และมีโอกาสทางการตลาดสูง นั่นคือ “ธุรกิจสุขภาพและความงาม”

ครั้งหนึ่ง “เฮียฮ้อ” เคยเล่าให้ฟังว่า ตลอดชีวิตที่ทำธุรกิจมา มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 – 4 ช่วง ช่วงแรก เริ่มต้นจากธุรกิจแผ่นเสียง เปลี่ยนมาเป็น “ยุคเทปคาสเซ็ท” หลังจากทำธุรกิจเพลงไปได้กว่า 10 ปี อุตสาหกรรมเพลงก็เปลี่ยนเข้าสู่ “ยุคซีดี” แต่นั่นยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ !

ทว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อครั้งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” นับตั้งแต่ MP3 เป็นต้นมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งไม่ใช่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพลงในไทยเท่านั้น หากแต่กระทบไปทั่วโลก ขณะเดียวกันอีกก้าวสำคัญของ “อาร์เอส” คือ การเข้าสู่ “ธุรกิจสื่อ” และ “ธุรกิจสุขภาพและความงาม”

“ไม่มีใครต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่สอนเรา คือ ความพร้อมในการปรับตัว และการยอมรับในสิ่งที่โลกเปลี่ยน ถึงแม้ในบางสถานการณ์ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องเจ็บปวด และมนุษย์ หรือแม้แต่หลายๆ องค์กร ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วจะไปเจอกับอะไร แต่ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เป็นความเชื่อส่วนตัวผมด้วยว่า ทุกครั้งเมื่อมีสัญญาณว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มันสอนเราว่า เราต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งที่กำลังจะมา มันมาแน่ๆ และคุณต้องเปลี่ยน ก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน นี่คือ สิ่งที่ทำให้ “อาร์เอส” ก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคมาได้ แม้บางช่วงจะลำบากในการเปลี่ยนผ่าน แต่พอเราผ่านช่วงนั้นมาได้ เราจะสามารถอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งในยุคต่อๆ ไป

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ “อาร์เอส” ต้องมี คือ ความพร้อมในการแข่งขัน และการมองหา “น่านน้ำใหม่” น่านน้ำไหนที่มีทรัพยากรมาก มีปลาเยอะ “อาร์เอส” จะไปที่นั่น ผมไม่เคยเชื่อเรื่อง Blue Ocean เพราะ Blue Ocean มีไม่นาน สักพักทุกคนจะวิ่งมา และกลายเป็น Red Ocean ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ เราต้องเป็นผู้ชนะใน Red Ocean”

เปลี่ยนผ่านเข้าสู่อาร์เอส ยุคธุรกิจไร้กรอบ

“ปีนี้ เป็นปีที่มีความสำคัญ และมีความหมายมากสำหรับ RS เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนของการทำธุรกิจมากว่า 35 ปี และแผนธุรกิจของอาร์เอสในปีนี้ มีความน่าท้าทาย เพราะถือเป็นการเริ่มต้น “ยุคใหม่” ของธุรกิจอาร์เอส ภายใต้ Business Model ใหม่

สำหรับปี 2018 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจของอาร์เอส เราคิดว่าหลังจากอาร์เอส Transform ธุรกิจสำเร็จ วันนี้เรามี Business model ที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เฮียฮ้อ เผยถึงการปรับ Business Model องค์กรครั้งใหญ่

Business Model ใหม่ของ “อาร์เอส” ที่ว่านี้ คือ การขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “ทำธุรกิจใหม่ไร้กรอบ” (Beyond the Limit) เพื่อเปิดโอกาสกับธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และมีโอกาสทางการตลาดสูง ขณะที่เป้าหมายรายได้ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 3,550 ล้านบาท และในปี 2018 คาดว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 5,300 ล้านบาท แบ่งเป็น

– ธุรกิจสื่อ รายได้ 2,450 ล้านบาท (46%)
– ธุรกิจสุขภาพและความงาม รายได้ 2,500 ล้านบาท (47%)
– ธุรกิจเพลง รายได้ 250 ล้านบาท (5%)
– ธุรกิจรับจ้างและผลิตกิจกรรม รายได้ 100 ล้านบาท (2%)

ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะผลักดันให้รายได้ในปี 2018 เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มาจากการโฟกัส 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อ, ธุรกิจสุขภาพและความงาม, ธุรกิจเพลง

“ช่อง 8” หัวหอกดันรายได้ธุรกิจสื่อโต

ภายใต้กลุ่มธุรกิจสื่อของอาร์เอส ประกอบด้วย ช่อง 8, ทีวีดาวเทียม, ธุรกิจวิทยุ คลื่นคูล โดยมี “ช่อง 8” เป็นหัวหอกของกลุ่มนี้ในการสร้างรายได้ โดยคาดว่าภายในปีนี้ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2018 ตั้งเป้า 2,000 ล้านบาท และภายในสิ้นปีหน้า คาดว่าจะมียอดผู้ชม 700,000 รายต่อนาที ซึ่งการเติบโตด้านรายได้ มาจากการใช้กลยุทธ์ “Primetime Focus” ทั้งช่วงเวลาเช้า 6.00 – 9.00 น. เป็นรายการข่าว และช่วงเวลาเย็น 18.00 – 22.00 น. เป็นช่วงเวลาละคร, ซีรีย์

นอกจากนี้ในปีหน้า เตรียมปรับขึ้นค่าโฆษณาเพิ่มอีก 45% จากปัจจุบันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาทต่อนาที เพิ่มเป็นนาทีละ 40,000 – 50,000 บาท

ขณะเดียวกันเร่งขยายฐานผู้ชมต่อเนื่อง ทั้งออนไลน์ ด้วยการดึงคอนเทนต์มา LIVE สดบน Facebook คู่ขนานไปกับแพลตฟอร์มหน้าจอทีวี และรุกขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับธุรกิจวิทยุ “คูลฟาเรจไฮต์” ใช้กลยุทธ์ DIGITAL TRANSFORMATION เร่งขยายฐานออนไลน์ต่อเนื่อง เจาะกลุ่ม Gen C ทุกเพศ อายุระหว่าง 20 – 44 ปี เพื่อตอกย้ำความสำเร็จหลังผันตัวเองจากการเป็น “สื่อวิทยุ” (RADIO) มาเป็น “เสียง” (AUDIO) ทำให้มีฐานผู้ฟังออนไลน์เติบโตก้าวกระโดด เคียงคู่กับฐานผู้ฟังออนแอร์ รวมทั้งเตรียมจัดอีเว้นท์ตลอดทั้งปี หวังเพิ่มมูลค่าคุ้มค่าผู้ซื้อเวลาโฆษณา

“สุขภาพ-ความงาม” ดาวรุ่งมาแรง แซงหน้าธุรกิจสื่อ

“ธุรกิจสุขภาพและความงาม” ถือเป็นการก้าวออกจากแอเรียเดิมๆ ที่ “อาร์เอส” เคยทำมา และถึงแม้จะเป็นสิ่งใหม่สำหรับ “อาร์เอส” ที่ในปีแรกของการตั้งต้นธุรกิจนี้ ทำรายได้ 280 ล้านบาท ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ขณะที่ปีต่อมา ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ส่งผลต่อรายได้ลดลง ทำได้ 220 ล้านบาท สำหรับปีนี้ คาดการณ์ว่าจะทำให้ไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท ส่วนปีหน้า ตั้งเป้ารายได้ 2,500 ล้านบาท

ตัวเลขรายได้ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าเวลานี้ “ธุรกิจสุขภาพและความงาม” กำลังเป็นว่าเป็นธุรกิจ Rising Star ดวงใหม่ ที่มาแรง มีรายได้แซงหน้าธุรกิจสื่อไปแล้ว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “อาร์เอส” ขยายมาจับธุรกิจสุขภาพและความงาม เป็นเพราะธุรกิจนี้ เป็นตลาดใหญ่ และมีศักยภาพสูง ประกอบกับประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งคนยุคนี้มี หันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเอง ทั้งภายนอกและภายในมากขึ้น ทั้งอาการการกิน การออกกำลังกาย ดูแลหุ่น ความสวยความงาม รวมทั้งการพัฒนาของวิทยาการทางแพทย์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงผลักดันให้ตลาด Health and Beauty เติบโตคู่กัน

ส่วนปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กับ “อาร์เอส” ในธุรกิจนี้ มาจากการใช้ทีมผู้บริหารชุดเดิม ไม่ได้ดึงคนจากองค์กรอื่น มาเรียนรู้แอเรียใหม่ด้วยกัน และลงมือทำในลักษณะ Learning by Doing

“วิธีคิดของเฮีย คือ การทำธุรกิจ กำไรไม่สำคัญเท่าความรู้ที่ได้ เพราะถ้าคุณได้ความรู้แล้ว คุณสามารถสร้างกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป แต่ถ้าเอาคนอื่นมาทำกำไรให้คุณ กำไรมาจากเขา ไม่ใช่มาจากเรา เพราะฉะนั้นเราใช้ทีมผู้บริหารเดิม

สำคัญที่สุด คือ สำคัญสุด คือ Mindset ของคนอาร์เอส การที่เราใช้ทีมอาร์เอสทั้งหมดทำงาน ทำให้สิ่ง เราไม่ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะคนของเรารู้จักกันมานาน เราไปเรียนรู้ธุรกิจใหม่ก็พอ ไปเรียนรู้ปัญหา แก้ปัญหา และค้นหาปัญหาให้เจอ อีกทั้งด้วยสไตล์การทำงาน ที่นี่ทำงานเร็ว และไม่ใช่ Bottom up อย่างเดียว แต่เรามีทั้งสองมิติ ทั้งข้างล่าง ขึ้นบน และข้างบน ลงล่าง ทำให้เคลื่อนไหวเร็ว เจอปัญหาเร็ว แก้เร็ว เห็นผลเร็ว”

สำหรับกลยุทธ์ที่จะผลักดันรายได้ธุรกิจสุขภาพและความงามให้เป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้ จะมาจาก 1. เพิ่ม SKU สินค้าเป็น 70 SKU / 2. ผนึกกำลังกับพันธมิตร จากปัจจุบันมีพันธมิตรธุรกิจ 3 ราย ในปีหน้าจะเพิ่มอีก 3 ราย โดยนำสินค้ายอดนิยม เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องครัว สินค้าไลฟ์สไตล์ นำมาจำหน่ายผ่านช่องทาง Telesale 1781 ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายของอาร์เอส / 3. พัฒนาช่องทางขาย Telesale ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ Telesale โดยตั้งเป้าภายในปีหน้า จะมีเจ้าหน้าที่ขาย 500 คน จากปัจจุบันมี 300 คน

รีแบรนด์ “อาร์สยาม” ครั้งใหญ่ ไม่จำกัดแค่ค่ายเพลงลูกทุ่ง

แม้ที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมเพลง” จะได้รับผลกระทบจากการบูมของดิจิทัล อีกทั้งยังเจอปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ค่ายเพลงต่างๆ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาสังกัดใหญ่ มุ่งสร้างรายได้จากหลายทาง เช่น รายได้จากยอดดาวน์โหลด รายได้จากการจัดอีเว้นท์ เช่น คอนเสิร์ต และการบริหารศิลปิน ที่ต่อยอดไปสู่การเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า และนักแสดง

ถึงสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเพลงจะลดลง แต่ “อาร์เอส” มองว่ายังคงเป็นอีกหนึ่งขาสำคัญ ในฐานะที่เป็น “ต้นน้ำ” ต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้ จึงยังไม่มีนโยบายยุติ หรือยกเลิกทำแต่อย่างใด โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2018 อยู่ที่ 250 ล้านบาท พร้อมทั้งโฟกัสที่แบรนด์เดียว คือ “อาร์สยาม” (RSIAM) โดยวางแผนรีแบรนด์ครั้งใหญ่ โดยต่อไปจะไม่จำกัดอยู่ที่เพลงลูกทุ่งอย่างเดียว แต่จะเป็นค่ายเพลงที่ผลิตผลงานแนวดนตรีหลากหลาย ไร้กรอบ เช่น ลูกทุ่งร่วมสมัย หรือทำดนตรีแนวเต้น

ขณะที่การบริหารศิลปิน จะคัดเลือกศิลปินที่มีศักยภาพ ที่สามารถสร้างชื่อเสียง และทำเงินได้ ไม่เกิน 30 คน ในจำนวนนี้ มีทั้งศิลปินเก่าที่อยู่กับอาร์เอสมาก่อน และศิลปินใหม่ โดยคาดว่าจะออกซิงเกิ้ลไม่ต่ำกว่า 40 เพลงต่อปี

พร้อมทั้งมองศิลปินเป็นคอนเทนต์ รุกเพิ่มขีดความสามารถบริหารจัดการ เพื่อสร้างรายได้ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นรายได้งานโชว์ตัวตามคอนเสิร์ต หรืออีเวนท์ต่างๆ รวมถึงเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า การแสดงทั้งละคร และภาพยนตร์

“เราปรับกลยุทธ์ในธุรกิจเพลง ด้วยการโฟกัสเฉพาะที่เราจะทำ และตรงเป้า เพื่อทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และมีกำไรดีขึ้น เป็นผลมาจากต้นทุนลดลง ขณะที่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น”

นอกจากนี้ในปีหน้า “อาร์เอส” เตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่อีก 2 ธุรกิจ โดยยังคงเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับ Business Model ของ “อาร์เอส” ยุคใหม่

ส่วนการยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการขอย้ายหุ้นไปอยู่ในหมวดพาณิชย์ เนื่องมาจากเมื่อรายได้ และกำไรของธุรกิจสุขภาพและความงาม มากกว่าธุรกิจเดิม ตามกฎและข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้ต้องย้ายหมวด โดยคาดว่าจะยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต้นปีหน้า หลังจากจัดทำงบการเงินปี 2560 เสร็จสมบูรณ์


แชร์ :

You may also like