HomeBrand Move !!“นกสกู๊ต” ยอมขาดทุน เพื่ออนาคต! เตรียมเปิดเส้นทางบิน “ญี่ปุ่น” & “เกาหลี” แข่งราคาเต็มที่!

“นกสกู๊ต” ยอมขาดทุน เพื่ออนาคต! เตรียมเปิดเส้นทางบิน “ญี่ปุ่น” & “เกาหลี” แข่งราคาเต็มที่!

แชร์ :

หลังจากบุกธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในไทยมาได้ 4 ปี “นกสกู๊ต” สายการบินที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง “นกแอร์” กับสายการบิน “สกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดจากสิงคโปร์ โดยปัจจุบันให้บริการเที่ยวบิน 7 เส้นทาง ไปยังเมืองนานกิง, เมืองชิงเต่า, เมืองเทียนจิน, เมืองเสิ่นหยาง และต้าเหลียน ประเทศจีน, เมืองไทเป ไต้หวัน และกำลังจะเพิ่มเส้นทางบินไปยังซีอาน ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยปัจจุบันมีผู้โดยสาร 250,000 คนต่อไตรมาส และคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ มียอดผู้โดยสารรวม 1 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ภายในสิ้นปีนี้ จะเพิ่มเครื่องบินอีก 1 ลำ จากปัจจุบันมี 3 ลำ โดยเป็นเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777-200 มี 415 ที่นั่ง พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้ 5,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งทำได้ 3,900 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 100 ล้านบาท

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจในปี 2561 “คุณยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต” เผยว่าภายในครึ่งปีแรก เตรียมเปิดเส้นทางบินตรงถึง ญี่ปุ่น (สนามบินนาริตะ) และเส้นทางบินตรงถึงเกาหลีใต้ (สนามบินอินชอน) คงต้องแข่งราคา เพราะในธุรกิจสายการบิน Low-cost ไม่มีใครไม่แข่งราคา นอกจากนี้มีแผนเพิ่มเครื่องบินอีก 1 ลำ ซึ่งจะทำให้ภายในปีหน้า “นกสกู๊ต” จะมีฝูงบินทั้งหมด 5 ลำ โดยเป็นเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777-200 มี 415 ที่นั่ง

โดยคาดว่าหลังจากเปิดเส้นทางบิน และฝูงบินเพิ่มขึ้น จะผลักดันให้รายได้ของ “นกสกู๊ต” แตะระดับไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าลดผลขาดทุน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย

เจาะ 3 เทรนด์ธุรกิจการบิน

ปัจจุบันมีผู้คนเดินทางทั่วโลกมากขึ้น ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “ธุรกิจการบิน” ทั้งในระดับโลก, ระดับเอเชีย และระดับในประเทศไทย

เทรนด์ระดับโลก ประกอบด้วย 3 เทรนด์ใหญ่ คือ 1.เส้นแบ่งการดำเนินธุรกิจของทั้งสายการบินที่เป็น Full Service กับ สายการบิน Low-cost เริ่มเบลอ ไม่แบ่งชัดเจนเหมือนในอดีต กล่าวคือ สายการบิน Low-cost เริ่มนำเสนอทางเลือกมากขึ้น ที่มีความใกล้เคียงกับสายการบิน Full Service เช่น สะสมคะแนน, ที่นั่งพรีเมียม ซึ่งสินค้าและบริการเหล่านี้ในอดีตสายการบิน Low-cost ไม่มี
ขณะเดียวกันในฝั่ง Full Service บางสายการบิน ได้ลดสินค้าและบริการบางรายการ และถ้าลูกค้าต้องการสินค้า-บริการบางรายการ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทำให้มีความใกล้เคียงกับ Low-cost Airlines

2. สายการบินทั่วโลก หันไปจับมือกับ “สายการบินจีน” มากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้จีน เป็นมหาอำนาจคลื่นลูกใหม่ของโลก อีกทั้งภาครัฐของจีน มีนโยบาย One Belt, One Road คือ การเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกัน ประกอบกับด้วยจำนวนประชากรจีนกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดสูง ซึ่งภาครัฐจีนสนับสนุนให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น โดยตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 150 ล้านคนต่อปี

3. Big Data และเทคโนโลยี AI จะทวีความสำคัญกับการทำธุรกิจสายการบินมากขึ้นเรื่อยๆ

เทรนด์ระดับภูมิภาคเอเชีย เวลานี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ธุรกิจการบินมีการเติบโตมากที่สุดในโลก

เทรนด์ระดับประเทศ ธุรกิจการบินในไทยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวสายการบินใหม่ๆ ในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสมรภูมิ Low-cost Airlines ทำให้สนามนี้ยังคงแข่งขันกันรุนแรง

 


แชร์ :

You may also like