HomeBrand Move !!อ่านเกมธุรกิจ! “ซีพี” ซื้อกิจการ “เซเว่นฯ อินโดนีเซีย” ต่อแขนขาธุรกิจค้าปลีกทั่วอาเซียน

อ่านเกมธุรกิจ! “ซีพี” ซื้อกิจการ “เซเว่นฯ อินโดนีเซีย” ต่อแขนขาธุรกิจค้าปลีกทั่วอาเซียน

แชร์ :

Credit : NIKKEI ASIAN REVIEW

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ อินโดนีเซีย” ได้เข้าซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “7-Eleven” (เซเว่นอีเลฟเว่น) ในอินโดนีเซียจาก Modern Sevel Indonesia บริษัทในเครือ Modern Internasional ด้วยมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านรูปี หรือราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น Modern Sevel Indonesia คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คาดว่าเหตุผลที่ทำให้ “ซีพี อินโดนีเซีย” ตัดสินใจซื้อ “7-Eleven” ในอินโดนีเซียจาก Modern Sevel Indonesia (ผู้ได้สิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชส์จาก 7-Eleven Inc. สหรัฐอเมริกา) เพื่อต้องการสร้างความครบวงจรทั้ง Supply Chain ของธุรกิจ

เช่นเดียวกับโมเดล “ซีพี ประเทศไทย” ที่ทุกวันนี้ธุรกิจอาหารและค้าปลีกได้ขยายครอบคลุมทั้ง “ธุรกิจต้นน้ำ” คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจเลี้ยงสัตว์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำเป็นเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เนื้อไก่ หมู ไข่สด บรรจุในแพคเกจจิ้งพร้อมจำหน่าย ตามมาด้วย “ธุรกิจกลางน้ำ” คือ เอาวัตถุดิบไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุก-อาหารพร้อมรับประทาน และ “ธุรกิจปลายน้ำ” คือ ธุรกิจค้าปลีก มีทั้งภายใต้เชน “เซเว่น อีเลฟเว่น” บริหารโดยซีพีออลล์ ได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีกว่า 9,500 สาขา และ “สยามแม็คโคร” ซีพีออลล์ซื้อกิจการมา รวมถึงเชนร้านอาหารและค้าปลีก ภายใต้การดูแลของซีพีเอฟ เช่น ธุรกิจห้าดาว, ร้านอาหารเชสเตอร์, ร้านซีพี เฟรชมาร์ท เพื่อใช้ช่องทางเหล่านี้ในการกระจายสินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ

ขณะที่การลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย “ซีพี” เข้าไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันธุรกิจส่วน “ต้นน้ำ” คือ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มกุ้ง การเลี้ยงไก่แบบครบวงจร เมล็ดพันธุ์ผักและข้าวโพด และ “ธุรกิจกลางน้ำ” คือ ผลิตสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ดังนั้น การซื้อกิจการ 7-Eleven ในอินโดนีเซีย ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ส่วนธุรกิจปลายน้ำ

อีกทั้ง “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญของกลุ่มซีพี ที่ได้เข้าไปลงทุนเกือบทุกประเทศนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โดยในบางประเทศยังอยู่ในสเตปธุรกิจต้นน้ำ ส่วนประเทศไหนที่ลงทุนทั้งธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำแล้ว เมื่อมีโอกาสและจังหวะพร้อม ก็จะขยายเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำ เหมือนอย่างกรณีการซื้อ 7-Eleven อินโดนีเซียครั้งนี้

ส่องตลาดร้านสะดวกซื้อในอินโดนีเซีย แข่งขันสูง

สาเหตุที่ Modern Internasional ตัดสินใจขายกิจการ “7-Eleven” เนื่องจากที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะขาดทุน เพราะธุรกิจร้านสะดวกซื้อในอินโดนีเซียมีการแข่งขันสูง โดยมีสองผู้เล่นรายใหญ่ คือ Alfamart และ Indomaret แต่ละรายมีสาขาไม่ต่ำกว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ

ขณะที่จำนวนสาขาของ “7-Eleven” ปัจจุบันมี 175 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในจาการ์ตา ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสองผู้นำตลาด อีกทั้งด้วยคอนเซ็ปต์ของ “7-Eleven” คือ เน้นจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม ทำให้นอกจากต้องแข่งกับเชนร้านสะดวกซื้อด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับร้านอาหารท้องถิ่นมากมายบนถนนในเมืองใหญ่ของอินโดนีเซีย

Credit : 7-Eleven Indonesia

นอกจากนี้ทางการอินโดนีเซีย ออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งร้าน 7-Eleven เข้าข่ายร้านค้าปลีกขนาดเล็กเช่นกัน ส่งผลให้สูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งไป ซึ่งยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวมของร้าน 7-Eleven

ก้าวแรกของซีพี ในสนามธุรกิจค้าปลีกอินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการแข่งขันที่มีผู้เล่นแข็งแกร่ง พฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น รวมถึงผลจากกฎหมายบางประการ แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนครั้งนี้ของซีพี ไม่ได้เป็นเพียงการมองระยะสั้น แต่เป็นการมองระยะยาว ที่ในวันหนึ่งหากสามารถขยายเครือข่ายค้าปลีกได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นั่นเท่ากับว่าซีพีจะสามารถนำสินค้า ทั้งที่ผลิตในอินโดนีเซีย และจากฐานการผลิตประเทศอื่น เข้ามาวางจำหน่ายได้อย่างเต็มที่ กระจายสินค้าเข้าถึงประชากรอินโดนีเซียกว่า 200 ล้านคน ประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจสูงอันดับต้นๆ ของอาเซียน พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การเป็นช่องทางให้บริการอื่นๆ ได้อีกมาก

 

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like