Meta โชว์ฟีเจอร์ซีเคียวริตี้โดยใช้ AI สกัดบัญชีปลอม เฉพาะไตรมาส 4 ของปี 2567 พบว่าสามารถสกัดได้ถึง 1,400 ล้านบัญชี และ 99.9% ถูกลบก่อนจะมีการรายงานเข้ามา รวมถึงสามารถลบบัญชีแก๊งมิจฉาชีพในเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฟิลิปปินส์ ไปแล้วเป็นจำนวนกว่าสองล้านบัญชี ล่าสุดประกาศจับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ยกระดับรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้ในไทยผ่านชุดเครื่องมือและฟีเจอร์ใหม่ ๆ
คุณยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะจาก Facebook (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบุคลากรราว 40,000 คนที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยและความมั่นคงทั่วโลก โดยมีการลงทุนกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาทีมงานและเทคโนโลยีในด้านนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. 68 มูลค่าความเสียหายจากปัญหาอาชญากรรมการหลอกลวงออนไลน์อยู่ที่ 7,600 ล้านบาท โดยแผนประทุษกรรมที่มีจำนวนผู้เสียหายเยอะลำดับหนึ่งคือ การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ในงานแถลงข่าว ภายใต้ความร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลางนี้ Meta ได้เปิดตัวฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงเครื่องมือใหม่ ๆ แก่ผู้ใช้ในการตรวจจับบัญชีม้าร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และอำนวยความสะดวกให้สามารถรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยบนแพลตฟอร์มได้ รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้รักษาความปลอดภัยของบัญชีได้ง่ายขึ้น เช่น การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน การแจ้งเตือนการเข้าสู่ระบบ และฟีเจอร์ Security Checkup สำหรับการอัปเดตการตั้งค่าความปลอดภัย
ใช้ฟีเจอร์จดจำใบหน้า กันนำภาพคนดังไปทำโปรไฟล์ปลอม
นอกจากนี้ Meta ยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการจดจำใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หลอกลวงใช้ภาพของบุคคลสาธารณะในโฆษณา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกู้คืนบัญชีที่ถูกแฮ็ก ไปจนถึงตรวจจับและลบบัญชีปลอมได้ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์การสื่อสารอื่น ๆ เช่น Safer Message Requests บน Instagram ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ต้องส่งคำเชิญให้กับผู้ใช้อีกรายที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน จึงจะสามารถส่งข้อความถึงกันได้ โดยจำกัดการสื่อสารครั้งแรกให้แชทได้เพียงข้อความเดียว รวมถึงการแจ้งเตือนผู้ใช้อย่างจริงจังให้มีความระมัดระวังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่รู้จักบน Instagram, Messenger และ WhatsApp
สำหรับภาคธุรกิจ Meta ได้พัฒนาเครื่องมือการรายงานบัญชีที่อาจมีความน่าสงสัยเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงและการหลอกลวงซึ่งเครื่องมือเหล่านี้รวมไปถึง Brand Rights Protection เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถค้นหาและตรวจสอบเนื้อหาที่อาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างรวดเร็วและไม่ให้ผู้ประสงค์ร้ายนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในทางที่ละเมิด
เปิดความสำเร็จฟีเจอร์ซีเคียวริตี้ที่มี AI อยู่เบื้องหลัง
คุณยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้สกัดกั้นความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมรวมไปถึงตรวจจับและนำบัญชีปลอมลงได้กว่าหลายล้านบัญชีในแต่ละวัน ภายในไม่กี่นาทีหลังจากมิจฉาชีพสร้างบัญชีเหล่านั้นขึ้น ในไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ. 2567 เราได้ดำเนินการกับบัญชีปลอมถึง 1,400 ล้านบัญชี โดย 99.9% ถูกลบก่อนจะมีการรายงานเข้ามา และยังได้ลบบัญชีกว่า 408,000 บัญชีที่เชื่อมโยงกับการหลอกให้หลงรัก (Romance Scam) รวมถึงลบเพจและบัญชีที่มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงกว่า 116,000 รายการ”
นอกจากนี้ Meta ได้นำข้อกำหนดใหม่มาใช้ โดยให้ผู้ลงโฆษณารายใหม่ ต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมกับบัญชีโฆษณาก่อนที่จะมีการเผยแพร่โฆษณาใด ๆ เพื่อปกป้องชุมชนจากการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น ผู้โฆษณาใหม่ในกรณีนี้หมายถึงผู้ที่ยังไม่มีบัญชีโฆษณา เป็นบัญชีที่มีอายุน้อยกว่า 90 วันและไม่มีการใช้งบประมาณการลงโฆษณา และไม่ได้เชื่อมโยงกับบัญชีธุรกิจที่ได้รับการจัดการหรือยืนยันก่อนหน้านี้
สำหรับปี 2568 Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ก.ล.ต.) เพื่อจัดการฝึกอบรมร่วมเกี่ยวกับเครื่องมือปกป้องสิทธิ์แบรนด์ของ Meta เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน และร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในการจัดโรดโชว์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยออนไลน์และการต่อสู้กับภัยลวงโดยมีการจัดกิจกรรมในกว่า 32 จังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565
นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดตัวแคมเปญต่อต้านการหลอกลวง ‘Legit or Leg It’ ใน 7 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ ETDA ในประเทศไทย แคมเปญนี้ประกอบด้วยสื่อออนไลน์ที่จัดทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย และครีเอเตอร์ชาวไทยเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ทั่วไป รวมถึงวิธีการตรวจจับมิจฉาชีพออนไลน์ แคมเปญนี้มีการเข้าถึง (Reach) ทั้งหมด 224 ล้านครั้งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยครีเอเตอร์ชาวไทยมีส่วนสร้างการเข้าถึงในแคมเปญนี้กว่า 18.3 ล้านครั้ง
เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันการฉ้อโกงและหลอกลวง และรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยได้ที่ศูนย์ต่อต้านการหลอกลวงของ Meta ซึ่งมีให้บริการในภาษาไทยแล้วที่ https://about.meta.com/th/actions/safety/anti-scam/