HomeAutomobileจับตาธุรกิจสถานีชาร์จ EV เติบโตสูง รับอานิสงส์รถยนต์ไฟฟ้าโตแรง คาดปี 2573 ดันเม็ดเงินลงทุนพุ่ง 1.2 หมื่นล้าน

จับตาธุรกิจสถานีชาร์จ EV เติบโตสูง รับอานิสงส์รถยนต์ไฟฟ้าโตแรง คาดปี 2573 ดันเม็ดเงินลงทุนพุ่ง 1.2 หมื่นล้าน

แชร์ :

เมื่อ 5 ปีก่อน ถ้าพูดถึง “รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่” (Batter Electric Vehicle : BEV) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า รถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นตลาดใหม่มากและยังดูไกลตัวทุกคน เพราะในเวลานั้น จำนวนรถ BEV ในตลาดยังมีไม่มาก อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 37-69% เมื่อเทียบกับยานนต์สันดาปภายใน ทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และมียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อรถ BEV ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมาคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง “สถานีชาร์จ” ย่อมเติบโตตามไปด้วย เพราะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นของผู้ใช้รถ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนธุรกิจนี้กันอย่างคึกคัก แต่ปัจจุบันก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2573 ความต้องการใช้บริการสถานีชาร์จจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถานีชาร์จกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาททีเดียว

“สถานีชาร์จ” เพิ่มขึ้น แต่ “กระจุกตัว” และ “ไม่พอ” กับรถไฟฟ้าที่เติบโตก้าวกระโดด  

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมายอดขายรถ BEV ในไทยจะเติบโตก้าวกระโดด แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบในตลาดรถยนต์รวมที่จดทะเบียนใหม่ จะพบว่า ปัจจุบันสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะหลายคนยังกังวลเรื่อง สถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ที่ยังมีน้อย และใช้เวลาในการชาร์จไฟนาน แม้ที่ผ่านมาจะมีการติดตั้งจุดชาร์จเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 1,482 สถานี และมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้า 4,628 หัวชาร์จ (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.2566) แบ่งเป็นเครื่องอัดประจุแบบ AC Normal Charge (AC) ทั้งหมด 2,833 หัวชาร์จ และอีก 1,795 หัวชาร์จเป็นเครื่องอัดประจุแบบเร็ว (Fast Charger)

แต่สถานีชาร์จเหล่านั้นกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 41% และ 24% ของจำนวนสถานีทั้งหมด ขณะที่บางภูมิภาคยังขาดสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เช่น ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวของไทยอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 10 ครั้ง/เดือน

ดังนั้น หากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV เพิ่มขึ้นในอนาคต จะส่งผลให้ความต้องการใช้บริการสถานี และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยอดจดทะเบียนสะสมของ BEV จะเพิ่มขึ้น จาก 1.01 แสนคันในปี 2566 เป็น 1.29 ล้านคันในปี 2573 จากมาตรการอุดหนุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้นทุนการใช้งานที่มีแนวโน้มลดลงจากต้นทุนแบตเตอรี่ที่ลดลง โดยคาดว่าจาก 144,500 บาท/ปี ในปี 2563 จะลดลงเหลือเพียง 99,580 บาท/ปี ในปี 2573 ซึ่งต่ำกว่ายานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่จะอยู่ราว 109,000 บาท/ปี ซึ่งต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

จึงส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 10,294 หัวชาร์จ หรือ 5,147 เครื่อง จากปัจจุบัน เพื่อให้ทั่วถึงและครอบคลุมการใช้งาน

ขยายจุดชาร์จตามแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อเจาะลึกถึงตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า พบว่า จังหวัดที่ควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะกับความต้องการใช้บริการในปี 2573 คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา ขอนแก่น และอุบลราชธานี โดยควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทุกๆ ไม่เกิน 160 กิโลเมตร เนื่องจากระยะดังกล่าวเป็นระยะในการขับขี่ที่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยมีแนวโน้มที่จะใช้บริการอัดประจุไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ยังควรติดตั้งในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมาก และยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่มากนัก เพื่อรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ที่เดินทางท่องเที่ยว เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เชียงราย และสมุทรสงคราม

สร้างเม็ดเงินลงทุนแตะ 1.2 หมื่นล้าน ดัน 3 ธุรกิจเกี่ยวเนื่องโตพุ่ง

หากผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าของไทยขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ทาง Krungthai COMPASS คาดว่า จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจประมาณ 1.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านบาท ในปี 2565 เป็น 11,100 ล้านบาท ในปี 2573 ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสัดส่วนของผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอยู่ที่ 40% ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าวของทั่วโลก ยกเว้นจีน

ขณะเดียวกัน ยังสร้างรายได้ให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าเติบโตขึ้นไปด้วย โดย Krungthai COMPASS มองว่า มี 3 กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามความต้องการในปี 2573 คิดเป็นเม็ดเงินราว 13,360 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มนี้มากสุดราว 8.55 พันล้านบาท แบ่งเป็น 1.รายได้จากการจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 5.94 พันล้านบาท 2.รายได้จากการจัดจำหน่ายหม้อแปลง Main Distribution Board (ตู้ MDB) มิเตอร์ไฟฟ้า และสายดินราว 2.25 พันล้านบาท และ 3.รายได้จากการให้บริการติดตั้งหม้อแปลง ตู้ MDB และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ประมาณ 0.36 พันล้านบาท โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าเลือกใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 120 กิโลวัตต์

2.กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งงานโครงสร้าง โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการก่อสร้างฐานรากสำหรับรองรับโครงสร้างหลังคาและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งหลังคาให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าราว 2.57 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger 1 เครื่องต่อสถานี

3.กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลง และอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า โดยคาดว่าจะได้รับรายได้จากการขายให้กับผู้จัดจำหน่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าไปติดตั้งต่อราว 2.25 พันล้านบาท แบ่งเป็น 1.รายได้จากการขายหม้อแปลงราว 1.14 พันล้านบาท  2.รายได้จากการขายตู้ MDB มิเตอร์ไฟฟ้า และสายดิน ประมาณ 1.11 พันล้านบาท โดยการประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าแต่ละสถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้หม้อแปลง ตู้ MDB และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger อย่างละเครื่อง

แนะ 5 ข้อผู้ประกอบการควรรู้ก่อนบุกตลาด

จากเทรนด์และความต้องการใช้บริการสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก โดยผู้ประกอบการที่สนใจ Kungthai COMPASS แนะว่า ควรเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างโอกาสในการบุกตลาดอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้

1.ควรเลือกทำเลพื้นที่ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้าอาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม เนื่องจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยนิยมใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบกับผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสซื้อเครื่องอัดประจุไฟฟ้ามาใช้น้อย จึงมีแนวโน้มที่จะใช้บริการดังกล่าวในสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยควรเตรียมพื้นที่อย่างน้อย 2.4 x 5.0 เมตรต่อ 1 ช่องจอดรถ

2.ควรเลือกติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยนิยมใช้ระยะเวลาในการอัดประจุไฟฟ้าไม่เกิน 1 ชั่วโมง จึงเหมาะกับการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger

3.ควรเตรียมระบบไฟฟ้าขนาดแรงดันไฟฟ้า 380-416 โวลต์ 3 เฟส และสามารถรองรับได้ไม่ต่ำกว่า 45 kVA ต่อหัวชาร์จสำหรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบปกติด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternative Current หรือ AC Normal Charger) และไม่ต่ำกว่า 100 kVA สำหรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger

4.ควรขอใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงสถานที่ให้เหมาะกับการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ากับราชการส่วนท้องถิ่นในกรณีที่เจ้าของอาคารไม่ใช่ผู้ที่ดำเนินธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในกรณีที่เจ้าของอาคารดำเนินธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า

5.ควรขออนุญาตในการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า แต่ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า ในกรณีที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่เกิน 1,000 kVA

https://lin.ee/jv1JAk4


แชร์ :

You may also like