HomeBig FeaturedESGNIVERSE จักรวาลแห่งความยั่งยืน : แบรนด์แห่งความยั่งยืน

ESGNIVERSE จักรวาลแห่งความยั่งยืน : แบรนด์แห่งความยั่งยืน

ESGNIVERSE จักรวาลแห่งความยั่งยืน : แบรนด์แห่งความยั่งยืน ในวาระครบรอบ 11 ปี เว็บไซต์ Brand Buffet

แชร์ :


เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี เว็บไซต์ Brand Buffet ทีมงานได้คัดเลือกแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจในสังคมไทย และมีการดำเนินงานตามหลัก ESG จนกลายเป็น “จักรวาลแห่งความยั่งยืน”​ ESGNIVERSE โดยพยายามสร้างความหลากหลายทั้งในมิติของอุตสาหกรรม ตลอดจนโครงการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ด้วยหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจ และสังคม จะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่ จนพิสูจน์ชัดแล้วว่า

เรื่องของ ESG ไม่ใช่เรื่องของพรุ่งนี้ แต่คือวันนี้และเดี๋ยวนี้!!!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“สิงห์อาสา” สืบสานปณิธานหัวใจสิงห์

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ดำเนินการตามแนวทาง ESG ในทุกมิติ โดยโครงการที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก ก็คือ สิงห์อาสา จุดเริ่มต้นของ สิงห์อาสา มาจากการรวมตัวกันของพนักงาน ผู้บริหารบุญรอดฯ และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงเกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย จนวันนี้เป็นเครือข่ายอาสาสมัครดูแลสังคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปัจจุบันสิงห์อาสามีเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุด ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ เอกชน และมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ กระจายอยู่ในหลายจังหวัด ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีของสิงห์อาสา มีการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมมาโดยตลอดกว่า 3,000 ภารกิจ

จากปณิธานการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ด้วยความเชื่อว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ความยั่งยืนที่แท้จริงของสังคมต้องมาจากความเข้มแข็งของรากฐานที่ดี

ที่ผ่านมา “สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ดำเนินงานทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนระยะยาว ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม รวมไปถึงช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เช่น สร้างสรรค์ พัฒนาสังคม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลสุขภาพให้กับคนไทยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน การดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง ภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทยทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง ภัยหนาว อุทกภัย วาตภัย รวมถึงภารกิจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าทะเล ปลูกป่าโกงกาง เพื่อเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดภาวะโลกรวนที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และยังเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย

โดยสานต่อโครงการเดิมพร้อมเติมโครงการใหม่ให้สามารถช่วยแก้ไขและป้องกันครอบคลุมทุกปัญหา พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ภายใต้แนวคิด “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”

เมืองไทยประกันชีวิต ESG ที่สร้างรอยยิ้มและความสุข

เมืองไทยประกันชีวิต มุ่งมั่นที่จะยกระดับความสามารถในการตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยเชื่อว่าการบริหารงานที่ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุล ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ รวมถึงความรับผิดชอบและให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายนั้น จะนำมาสู่ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ในมิติสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาปรับปรุงขั้นตอน กระบวนการทำงาน และการให้บริการในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และส่งเสริมเรื่องของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับผู้บริหารและพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้ได้มากที่สุด

ในมิติสังคม บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมาโดยตลอด นอกจากการดูแลเรื่องความปลอดภัยและเรื่องสุขภาพอนามัยของพนักงานในองค์กรแล้ว บริษัทฯ ยังมีการปรับปรุงสวัสดิการสำหรับพนักงานและครอบครัว ส่งเสริมให้พนักงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมในการปรับตัวและเติบโตไปพร้อมองค์กรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการเข้าถึงให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความคุ้มครองที่สอดคล้องกับความต้องการในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม จัดอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การประกันชีวิต และการวางแผนเกษียณให้กับบุคคลทั่วไป อีกทั้ง ยังได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาของพนักงาน เพื่อปลูกฝังค่านิยมในการมีจิตสาธารณะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะองค์กรชั้นนำที่ดำเนินกิจการด้านธุรกิจประกันชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างมีความรับผิดชอบ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการประกันชีวิต เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และนำความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล Environmental Social and Governance (ESG) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุนของบริษัทฯ ทั้งหมดนี้ คือบทสรุปสำคัญของการดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG ของ ‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ที่หวังสร้างรอยยิ้มและความสุขให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน

“มิตรผล” เปลี่ยนของเหลือทิ้งทางการเกษตร สู่ความยั่งยืนเพื่อโลก

กลุ่มมิตรผล เป็นองค์กรที่อยู่ในภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงจึงเป็นประโยชน์ต่อหลายกลุ่มคน นั่นทำให้ “มิตรผล” ยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภาคเกษตรให้มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม โดยภาคเกษตรนอกจากจะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของผู้คนแล้ว ยังสามารถต่อยอดสู่การผลิตพลังงานสีเขียว (Green Energy) ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย มาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าชีวมวล สร้างความสว่างไสวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการนำกากน้ำตาลมาต่อยอดเป็นเอทานอล เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเครื่องบินชีวภาพ (Biojet Fuel) เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based) ที่ตอบรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคยุคใหม่ที่เริ่มมองหาวัตถุดิบจาก Bio-based ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีฐานจาก Petroleum-based เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ในปีที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลได้ปล่อยหนังโฆษณา “ศูนย์ที่ไม่สูญเปล่า” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา Climate Change ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ความร่วมมือของทุกคนเพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น จะนำไปสู่อนาคตที่ไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน โดยกลุ่มมิตรผลประกาศเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เรียกได้ว่า ดำเนินงานตามแนวทาง ESG ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริงเลยทีเดียว 

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี”

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี’ โดยองค์กร ที่ยึดหลักด้าน ESG มาเป็นแนวทางการบริหารงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโครงการบ้าน ภายใต้แนวคิด Sustainable architecture หรือสถาปัตยกรรมยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีแก่ลูกค้า รวมถึงให้ความสำคัญต่อสังคม พนักงาน คู่ค้า และผู้ถือหุ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็น National Property Company

ซึ่งทั้งนี้ ‘ลลิล พร็อพเพอร์ตี้’ ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมการอยู่ร่วมกันแบบ ‘ยั่งยืนและมีความสุข’ ภายใต้แนวคิด 3Rs ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้) ลดการใช้น้ำด้วยการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ 2 ระบบ ช่วยลดการใช้น้ำที่เกินความจำเป็น ลดการใช้ไฟโดยใช้หลอดไฟ LED และนำระบบ Solar Cell มาใช้ในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังใช้หลังคาที่มีฉนวนกันความร้อน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในคลับเฮาส์ ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ยังมีการใช้กระจกเขียวตัดแสงและสีสะท้อนความร้อน ซึ่งจะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร และช่วยลดค่าไฟฟ้าเกินความจำเป็น Reuse (การใช้ซ้ำ) ภายในโครงการได้มีการติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำ โดยนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ดูแลสวนส่วนกลาง พร้อมมีการตั้งเวลาเปิด-ปิด ในการรดน้ำต้นไม้ และ Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) มีการใช้วัสดุทดแทนวัสดุธรรมชาติ อาทิ การใช้กระเบื้องลายหินอ่อนที่เป็นหินสังเคราะห์ เพื่อให้ความรู้สึกที่ทดแทนวัสดุที่เป็นหินอ่อนแท้จากธรรมชาติ 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางสีเขียว หรือ Green Space ที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายในโครงการให้มีความสดชื่นและร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ที่มีสีสันสดใสมองแล้วสบายตา ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายในวันพักผ่อน เพิ่มความประทับใจในการอยู่อาศัยภายในโครงการ โดยสวนมีการออกแบบให้มีความงดงามในสไตล์โพรวองซ์ (Provence) ซึ่งจำลองมาจากประเทศฝรั่งเศส ในแบบฉบับ French Colonial Style และประยุกต์ใช้ต้นไม้ที่มีในประเทศไทย เน้นไม้ยืนต้นที่จะช่วยฟอกอากาศในบริเวณโดยรอบ จนกลายเป็น Developer ที่ถ่ายทอดแนวคิด ESG ทั้งการออกแบบโครงการ มาสู่การใช้งานจริง ทำให้เกิดประสบการณ์ การอยู่อาศัยแบบใหม่ ที่ตรงใจผู้บริโภค

SCG  เคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus

ตลอดระยะเวลาองค์กร 110 ปี “ปูนซีเมนต์ไทย” หรือ SCG  เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่เศรษฐกิจและสังคมไทย ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG 4 Plus “มุ่งสู่ Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ” ดังนี้

1. มุ่ง Net Zero : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 20% (เมื่อเทียบกับปี 2563) ภายในปี 2573 โดยปี 2565 SCG ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้พลังงานทางเลือก ปลูกต้นไม้

2. Go Green : ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice เป็น 67% ภายในปี 2573 และบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2593 เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. ย้ำร่วมมือ : สร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก ทำโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน การนำวัสดุและของเสียกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

4. Lean เหลื่อมล้ำ : ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 50,000 คน ในปี 2573 ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนและ SMEs เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นต้น

เมื่อคนทั่วโลกให้ความสนใจต่อการปรับเปลี่ยนมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG ได้พัฒนานวัตกรรมกรีน ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดโลก ในปี 2565 SCG Green Choice เติบโต 34%  ได้แก่ พลาสติกรักษ์โลก (Green Polymer) เติบโต 5 เท่า บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ รวมทั้งเทคโนโลยี CPAC Green Solution ที่ช่วยลดวัสดุก่อสร้างเหลือทิ้ง

CP กับ Heart – Health – Home 3 เสาหลักยั่งยืน

“เครือซีพี จะบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรทั้งภายในและภายนอกบนพื้นฐานของการมีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างรวดเร็วพร้อมกับการสร้างคุณค่าที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน”  เป็นคำกล่าวของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่บอกถึงพันธกิจร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขององค์กร 100 ปีแห่งนี้ ผ่าน 3 เรื่องที่เป็นหัวใจหลัก

1. Heart มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน การพัฒนาขีดความสามารถด้านทรัพยากรบุคคล การพัฒนาระบบการศึกษาที่จำเป็นสำหรับทุกคน

2. Health มุ่งสร้างสังคมที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการให้และสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคม ส่งเสริมสุขภาพที่ดี สนับสนุนรายได้ที่มั่นคงและอาชีพการงาน และสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่จำเป็น

3. Home มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม เครือซีพียังให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสำหรับวันนี้และในอนาคต

กสิกรไทย “สังคม-สิ่งแวดล้อม-ธรรมาภิบาล” ต้องยั่งยืน

อาจกล่าวได้ว่า ธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการเงินที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้าน ESG อย่างจริงจัง เห็นได้จากการเดินหน้าสร้างความยั่งยืนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก KBank ESG Strategy 2566 ที่ให้ความสำคัญใน 3 มิติ ทั้งใน “มิติสิ่งแวดล้อม” อย่างการปรับเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถ EV การติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน การประเมินก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของสินเชื่อธนาคาร และจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2573

หรือใน “มิติธรรมาภิบาล” ที่พิจารณาสินเชื่อตามหลัก ESG เพื่อให้มั่นใจว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2022 พบว่า มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้ กว่า 340,000 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนั้นใน “มิติสังคม” ก็พบว่ามีการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) แก่ลูกค้ารายเล็ก (Small-pocket Customers) ซึ่งข้อมูลในเดือนกันยายน 2022 พบว่าธนาคารมีการให้สินเชื่อลูกค้ารายเล็กเป็นจำนวนกว่า 500,000 ราย มูลค่าสินเชื่อกว่า 23,000 ล้านบาท และมีการให้ความรู้ทางการเงิน – ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า 10 ล้านรายอีกด้วย

จากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มธนาคารในระดับโลก และมีคะแนนในมิติธรรมาภิบาล/เศรษฐกิจ สูงที่สุดในโลกของกลุ่มธนาคารจากดัชนีชี้วัดความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ประจำปี 2022 โดยมีคะแนนสูงสุด 5% (Top 5%, S&P Global ESG Score 2022) เลยทีเดียว

เอไอเอส การดูแลความยั่งยืนในทุกมิติ

เอไอเอส ถือเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีการดำเนินงานในด้าน ESG อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวของเอไอเอสที่น่าสนใจ คือการจับมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อร่วมกันสร้างต้นแบบองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่การนำโครงข่ายอัจฉริยะ 5G มายกระดับกระบวนการทำงานสู่การเป็น Smart Operations และโรงงานอัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การการแบ่งปันองค์ความรู้การบริหารจัดการขยะ ทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติกใช้แล้ว ผ่านแพลตฟอร์มที่จะทำให้การสร้างการตระหนักรู้กับผู้บริโภค

นอกจากนั้น เรายังได้เห็นเอไอเอส ผลักดันเรื่องการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการสร้างการตระหนักรู้และขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ทั่วประเทศรวมกว่า 2,000 จุด รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย “อุ่นใจ CYBER” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ผ่านชุดการเรียนรู้เสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิทัล DQ (Digital Quotient) ครบทั้ง 8 ทักษะ และสร้างเครื่องมือคัดกรอง Content ที่ไม่เหมาะสมจากโลกดิจิทัลด้วย

อีกหนึ่งโปรเจ็คน่าสนใจคือการร่วมมือกับ SCG พัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นการขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีวางแผนการเดินทางอย่างแม่นยำ จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 35% ต่อปีเมื่อเทียบกับระบบเดิม สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (Net Zero 2050) ตามแนวทาง ESG 4 Plus ด้วย

การให้ความสำคัญกับงานด้าน ESG อย่างต่อเนื่องทำให้ เอไอเอส ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืน FTSE4Good Index Series และ ESG 100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จากฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) องค์กรจัดทำดัชนีในระดับสากลด้วยนั่นเอง

OR 2030 GOALS ด้วยแนวคิด 3Ps

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” ด้วยความเชื่อว่าธุรกิจแห่งอนาคต คือธุรกิจที่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมจะเติบโตไปด้วยกันพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

นโยบายด้าน ESG อยู่ภายใต้พันธกิจ OR 2030 GOALS ด้วยแนวคิด 3Ps (People – Planet – Performance) คือ ให้ความสำคัญกับสังคมชุมชน (People) เป้าหมายสร้างชุมชนให้น่าอยู่ 15,000 ชุมชน หรือกว่า 12 ล้านคน, สิ่งแวดล้อม (Planet) สร้างสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR  ให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 จากการดำเนินธุรกิจ, ผลการดำเนินงาน (Performance) เป้าหมายสร้างการเติบโตร่วมกันจากการสร้างอาชีพและกระจายความมั่งคั่งสู่คู่ค้าผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการ พนักงานและชุมชนกว่า 1 ล้านราย

ปีนี้ OR มุ่งเน้นการสร้างโอกาสภายใต้แนวคิด “Real RISE of Opportunity ร่วมสร้างโอกาส…เพื่อทุกการเติบโตอย่างแท้จริง” ตอกย้ำวิสัยทัศน์และแนวทางการสร้างอนาคตขององค์กรผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในแบบฉบับของ OR โดยร่วมสนับสนุนและสร้างโอกาสที่จะเติบโตเคียงข้างไปกับผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

S-SMALL โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก (Opportunities for Communities) ผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน

D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ (More Products and Services) ผ่านศักยภาพของ OR ที่จะเป็นแพลตฟอร์มในการกระจายโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายและครอบคลุม พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

Go-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด (Low Carbon Business Areas) ผ่านการส่งเสริมธุรกิจทุกประเภทของ OR ให้เป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 มุ่งสู่การบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593

ไทยยูเนี่ยนประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030

เพราะว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่กับท้องทะเลเป็นหลัก นั่นทำให้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นพิเศษ จนประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 เพื่อช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ด้วยการดูแลคนและโลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ ระบบนิเวศที่สำคัญตกอยู่ในความเสี่ยง  ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกกว่า 600 ล้านคนพึ่งพามหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารและใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา 

ไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงสถานการณ์และความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงตั้งงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 2565 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ไปถึงปี 2573 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล โดยกำหนดเป็นพันธกิจทั้งสิ้น 11 ประการ เช่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593, จะจัดการขยะพลาสติก 1,500 ตันไม่ให้ปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล

“ไปรษณีย์ไทย” ขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดยั่งยืน

องค์กร 140 ปี “ไปรษณีย์ไทย” หน่วยงานด้านการสื่อสารและขนส่งของชาติที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถือเป็นต้นแบบใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการตลาดอย่างสร้างสรรค์

หนึ่งในผลงานโดดเด่นด้าน ESG ของ “ไปรษณีย์ไทย” การันตีด้วยรางวัล MARKETING AWARD OF THAILAND ระดับ Gold ประเภท Sustainable Marketing จากแคมเปญ “ไปรษณีย์ reBOX” แผนการตลาดที่มีความยั่งยืน และสามารถนำนวัตกรรมหรือแนวคิดด้านการตลาดมาพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์องค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

แคมเปญ “ไปรษณีย์ reBOX” ได้ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP รณรงค์ให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองในการจัดการกล่อง/ ซองที่ไม่ใช้แล้วจำนวนมากจากการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เปลี่ยนขยะบรรจุภัณฑ์ให้กลับมามีคุณค่าแก่สังคมอีกครั้ง อีกทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการลดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในปี 2563 สามารถรวมกล่อง/ซอง ที่ไม่ใช้แล้วได้กว่า 300,000 กิโลกรัม รีไซเคิลเป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้มอบให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศได้ถึง 224 ชุด และยังสามารถแปรรูปเป็นเตียงสนามกระดาษ รวมทั้งเปลี่ยนเป็น “กล่อง BOX บุญ” บรรจุหน้ากากอนามัยทางการแพทย์กว่า 400,000 ชิ้น มอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเพื่อใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19

“ไปรษณีย์ reBOX” เป็นแคมเปญที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนในการร่วมกันลดปัญหาขยะของคนในสังคมที่ได้รับความร่วมมือมากขึ้นทุกปี

GC ผู้นำที่เน้นสร้างพันธมิตร ESG 

GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) มุ่งมั่นและให้ความสำคัญ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ผ่านแนวคิด GC Circular Living เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า โดยโครงการที่ใกล้ตัวผู้บริโภคคนไทย เช่น YOUเทิร์น แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร แล้วนำขยะเหล่านั้นมา Upcycling อย่างสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอีกครั้ง 

ความโดดเด่นของ GC ยังเป็นเรื่องของการจับมือกับพันธมิตรหลากลายภาคส่วน เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมในการทำให้เรื่อง ESG เข้าถึงผู้บริโภคในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น  ทำงานร่วมกับ AIS ในการต่อยอดพัฒนาด้านความยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2593 จนถึงความร่วมมือในวันนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านความยั่งยืนของทั้ง AIS และ GC ภายใต้โครงการ Green University ทิ้ง เทิร์น ให้โลกจำ” ขยายเครือข่าย ส่งต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลงไปสู่นิสิต -นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย 11 แห่ง นับว่าเป็นการดำเนินงานตามแนวทาง ESG ที่ชาญฉลาดใช้ภาคีและความเชี่ยวชาญของเครือข่ายมาเสริมแกร่งให้กิจกรรม ESG เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคย

Robinhood ซูเปอร์แอปสัญชาติไทยที่ตั้งใจช่วยคนตัวเล็ก

จุดตั้งต้นของ Robinhood คือการเปิดตัวในฐานะแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการ Food Delivery ในปี 2020 เพื่อช่วยร้านอาหารขนาดเล็กในไทยท่ามกลางการล็อกดาวน์จากโรคระบาด โดยมีจุดเด่นอย่างการไม่คิดค่า GP จากการจัดส่งอาหาร ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้หลายภาคส่วนของสังคมไทยได้รับประโยชน์มากมาย และมีเสียงขอบคุณเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก่อนจะตามมาด้วยการเปิดตัว Robinhood Travel อีกหนึ่งฟีเจอร์สำหรับจองโรงแรมโดยไม่คิดค่าคอมมิชชั่น เพื่อเป็นทางเลือกให้ธุรกิจโรงแรมนอกเหนือจากแพลตฟอร์ม OTA อื่น ๆ

น่าสนใจว่าแม้จะผ่านไปแล้ว 3 ปี และ Robinhood ได้ปรับสถานะตัวเองสู่การเป็น SuperApp โดยมีการเปิดตัวบริการอื่น ๆ ตามมา เช่น Mart, Express รวมถึงบริการล่าสุดอย่าง Robinhood Ride แต่พวกเขาก็ยังรักษาเอกลักษณ์ของการเป็นแอปเพื่อช่วยคนตัวเล็กไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนก็คือความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาให้บริการกับไรเดอร์ของแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของไรเดอร์ โดยเราเห็นความตั้งใจของ Robinhood ตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นกับการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่าง ๆ และการหาโมเดลด้านการเงินให้ไรเดอร์เข้าถึงได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้น พวกเขายังมีแผนเปิดตัวบริการ Robinhood Finance เพื่อให้สินเชื่อแก่ผู้ใช้บริการใน Ecosytem ของตนเองอีกด้วย (จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้)

ในวันที่โลกออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ ไม่น่าแปลกใจที่จะมีอีกหลายคนยังคงตั้งใจสนับสนุนช่องทางเล็ก ๆ ของ Robinhood ที่พวกเขารู้ดีว่ามีคนตัวเล็กอยู่

King Power ส่งเสริมศักยภาพคนไทย ต่อเนื่อง

จากความเชื่อว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ‘KING POWER’ จึงดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนและคนไทย ให้ได้ไปแสดงศักยภาพบนเวทีโลก ภายใต้ชื่อ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” เน้นสนับสนุนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกีฬา (SPORT POWER) ด้านดนตรี (MUSIC POWER) และด้านชุมชน (COMMUNITY POWER) นับตั้งแต่การก่อตั้งโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560

สิ่งที่ คิงเพาเวอร์ ทำเพื่อคนไทยเน้นความยั่งยืน ทั้งมิติของเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาไทย สร้างงานสร้างอาชีพ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ผ่านมามีกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมและแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการในชุมชนเพื่อยกระดับฝีมือ และความชำนาญไปสู่การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตราฐานและสร้างคุณค่ายิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งเกิดตลาดไปยังต่างประเทศ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล โดยร่วมกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ รังสรรค์สินค้าของที่ระลึกคอลเลกชั่นพิเศษที่ผลิตจากภูมิปัญญาของคนไทยไปจำหน่าย ณ ฟ็อกซ์เซส แฟนสโตร์ แอท คิง เพาเวอร์ สเตเดียม เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

และกิจกรรมที่ติดตาผู้คนในสังคมก็คือการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน และคนไทยในด้านกีฬาฟุตบอลให้ก้าวไกลสู่ระดับโลกในทุกมิติผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการ ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย ส่งมอบลูกฟุตบอลมาตรฐาน จำนวน 1 ล้านลูก ให้กับเยาวชนและชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาด้วยตนเอง และโครงการ 100 สนาม สร้างพลังเยาวชนไทย ดำเนินการจัดสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล และมิติทางสังคมก็มีการเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีใจรักดนตรี และมีความสามารถด้านดนตรีได้มีเวทีในการแสดง ผ่านจัดการประกวดวงดนตรีสากล The Power Band

ทรู-ดีแทค เมื่อ Better Together นำไปสู่นโยบาย ESG เข้มข้น

นอกจากดีลการควบกิจการระหว่างทรู-ดีแทคจะเป็นอีเวนท์ยิ่งใหญ่แห่งปี 2023 แล้ว เมื่อสองแบรนด์ผนึกกำลังกัน สังคมไทยก็ได้เห็นนโยบายด้าน ESG ที่เข้มข้นขึ้นด้วย โดยทรู – ดีแทคได้มีการประกาศเป้าหมายเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2030 และ Net zero ภายในปี 2050 และตั้งเป้าเป็นองค์กรจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ภายในปี 2030

แนวทางดังกล่าวมาจากข้อมูลที่ทรู-ดีแทคเปิดเผยก็คือ ปัจจุบัน โลกได้มีการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแล้ว 53.6 ล้านตัน และคาดว่าจะมีปริมาณแตะ 75 ล้านตันในปี 2030 อย่างไรก็ดี หากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้องก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการรีไซเคิลมือถือหนึ่งเครื่องช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.6 กิโลกรัม และถ้าหากรีไซเคิลมือถือ 1 ล้านเครื่องจะเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถ 1,368 คันเป็นเวลา 1 ปีเลยทีเดียว

ความชัดเจนของแผนงานดังกล่าวเห็นได้จากการเปิดตัวโครงการล่าสุดอย่าง “e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ” ที่มีพันธมิตรทั้งไทย – เทศ เข้าร่วมมากมาย เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ครบวงจร และเป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำสมาร์ทโฟนเก่า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เลิกใช้งาน มาทิ้งเพื่อให้ทางบริษัทนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โดยจะมีการตั้งกล่องรับขยะ e-Waste ที่ ทรูช้อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค รวม 154 สาขาทั่วประเทศด้วยนั่นเอง และผู้ที่นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง ณ จุดที่กำหนดไว้ ก็จะมีสิทธิพิเศษมอบให้มากมาย เช่น รับเครื่องดื่มฟรีที่ตู้เต่าบิน อัปไซส์เครื่องดื่มฟรีที่ทรูคอฟฟี่ เป็นต้น

Google ยักษ์ใหญ่ที่ส่งเสริม ESG ผ่านเทคโนโลยี

ชื่อ Google อาจเป็นที่รู้จักสำหรับใครหลายคนในฐานะบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งบางที เราอาจนึกภาพไม่ออกว่า นอกจากแสดงผลการค้นหาข้อมูลให้เราแล้ว พวกเขาทำอะไรกันอยู่บ้างในแง่ของ ESG แต่หากมองย้อนไปในอดีต จะพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับ Top4 ของสหรัฐอเมริการายนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากมาย เช่น การนำพลังงานหมุนเวียน 100% มาปรับใช้เป็นไฟฟ้าให้กับบริษัท หรือการนำชิ้นส่วนจากการรีไซเคิลมาใช้ในโปรดักท์ของ Google อย่าง Nest และ Pixel

นอกจากนั้น บนแอปพลิเคชัน Google Maps ยังมีข้อมูลจุดชาร์จรถ EV มากกว่า 200,000 แห่ง และในปี 2010 – 2021 ทางบริษัทเผยว่ามีการลงทุน 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโปรเจ็คพลังงานหมุนเวียนด้วย

ส่วนใครที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ Google Maps ยังสามารถแนะนำเที่ยวบินที่มี Carbon Footprint ต่ำได้ หรือในส่วนของ Google Earth Engine ก็พบว่ามีการแสดงข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นอยู่และระบบนิเวศของโลก ซึ่งช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถมองเห็นห่วงโซ่อุปทานของตนและเข้าใจถึงความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย


แชร์ :

You may also like