สองบิ๊กคอร์ปอเรท บุญรอดฯ และ OR มองโอกาสใช้จุดแข็งขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม (Ready To Drink หรือ RTD) ประเดิมกลุ่มกาแฟ-ชาเขียว กับเป้าหมายรายได้ 1-2 ปีแรก 1,000 ล้านบาท
ความร่วมมือเป็นพันธมิตรของ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด หรือค่ายสิงห์ กับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ภายใต้บริษัท ดริ้ง เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด (Drink Enterprise) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ RTD ทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ
เดือนเมษายน 2566 ได้ฤกษ์เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์แรก คือ กาแฟขวดพร้อมดื่ม Cafe Amazon และชาเขียวพร้อมดื่ม “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที”
คุณภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บุญรอดฯ มีประสบการณ์และความชำนาญในการทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยาวนานก้าวสู่ปีที่ 90 มีแบรนด์สินค้าอันดับ 1 หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า โซดาสิงห์ สิงห์ เลมอน โซดา ฯลฯ มีจุดแข็งด้านการจัดจำหน่ายและการทำตลาดสินค้าแมส
ทิศทางของบริษัทร่วมทุนจะใช้จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรสร้างการเติบโตไปด้วยกัน เริ่มจาก 2 โปรดักท์แรก และในอนาคตจะมีโปรดักท์ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมอีก
คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าความร่วมมือผ่านบริษัทร่วมทุน Drink Enterprise ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังมีความร่วมมืออื่นๆ อีกในอนาคต ของทั้ง 2 บริษัทที่นำจุดแข็งมาทำงานร่วมกัน นำความแตกต่าง ของแต่ละธุรกิจมาเสริมซึ่งกันและกัน
โดย OR ได้พยายาม Diversify ธุรกิจ Non-oil ให้มากขึ้น ด้วยการต่อยอดแบรนด์ Cafe Amazon ที่ทำมา 20 ปี จากร้านกาแฟกว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศทั้งใน PTT Station และนอกปั๊ม ได้ขยายสู่กาแฟพร้อมดื่มแบรนด์ “อเมซอน” แบบขวด จำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ
ภายใต้ความร่วมมือกับบุญรอดฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม (กลุ่ม Lifestyle) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ OR ในการสร้างพันธมิตรเพื่อหาโอกาสขยายธุรกิจ (Strategic Alliance) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเครื่องดื่มของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม
Cafe Amazon ส่งกาแฟขวดชิงตลาดพรีเมี่ยม
คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่าสำหรับกาแฟขวด “อเมซอน” มี 3 รสชาติ ขนาด 200 มิลลิลิตร 1.อเมซอน แบล็ค ราคา 29 บาท 2. อเมซอน ลาเต้ ราคา 35 บาท 3.อเมซอน เอสเปรสโซ ราคา 35 บาท ทั้ง 3 สูตร เป็นเมนูขายดีที่สุดในร้าน Cafe Amazon โดยกาแฟขวดอเมซอน วางตำแหน่งเป็นกาแฟพร้อมดื่มกลุ่มพรีเมี่ยม (กลุ่มนี้ราคาตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป)
ปัจจุบันตลาดกาแฟสำเร็จรูป หรือกาแฟในบ้าน มีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นตลาดกาแฟพร้อมดื่มกลุ่มพรีเมี่ยม 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
กาแฟขวดอเมซอน มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนทำงานรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มที่ไม่มีเวลา ใช้ชีวิตเร่งรีบ แต่ใส่ใจการดื่มกาแฟคุณภาพหรือกาแฟสดในกลุ่มพรีเมี่ยม นี่คือโจทย์ที่ Cafe Amazon ใช้จุดแข็งที่สะสมมา 20 ปี พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ตอบโจทย์การเข้าถึงได้ง่าย ส่งต่อรสชาติจากกาแฟสดในร้านสู่กาแฟขวด เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคได้ทุกเวลา
สำหรับกาแฟขวดอเมซอน จะวางขายในช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ โดยในช่วง 3 เดือนแรก วางขายในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทั่วประเทศกว่า 13,000 สาขา (โดยมีร้าน 7-Eleven ที่อยู่ใน PTT Station กว่า 2,000 สาขา) เริ่มวันที่ 10 เมษายนนี้ ตั้งเป้าหมายยอดขายปี 2566 อยู่ที่ 8 ล้านขวด
“สิงห์” หวนคืนตลาดชาเขียวในรอบ 15 ปี
คุณธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่าสำหรับชาเขียวพร้อมดื่ม “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที” (HARU Cold Brew Green Tea) เปิดตัวด้วย 2 รสชาติ ได้แก่ สูตรปราศจากน้ำตาล (Natural) และ สูตรหวานน้อย (Mild Sweet) ในรูปแบบขวด PET ขนาด 440 มิลลิลิตร ราคา 30 บาท ช่วง 3 เดือนแรกจำหน่ายผ่าน 7-Eleven จากนั้นขยายไปทุกช่องทางค้าปลีก
ชาเขียว “ฮารุ” วางตำแหน่งอยู่ในกลุ่มพรีเมี่ยม ที่มีกระบวนการสกัดชา ผ่านกรรมวิธี Cold Brew ที่ให้ความสำคัญด้านอุณภูมิและเวลาสกัดนานกว่าชาทั่วไป 2 เท่า เพื่อสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์จากชาเขียวพร้อมดื่มรายอื่นในตลาด เน้นเจาะคนรุ่นใหม่ รักสุขภาพ รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ไปคาเฟ่ มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ
การเปิดตัว “ฮารุ” ครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาทำตลาดชาเขียวอีกครั้งในรอบ 15 ปีของสิงห์ ย้อนไปเมื่อปี 2548 เคยทำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเป็นครั้งแรกด้วยแบรนด์ “โมชิ” (Moshi Green Tea) แต่สภาพตลาดในช่วง 2 ปีหลังจากนั้นหดตัวต่อเนื่องราว 20-30% ทำให้ “โมชิ” ไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร จึงหยุดทำตลาดในปี 2550
ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา “สิงห์” ยังไม่ละความพยายามที่จะทำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มอีกครั้ง แต่มองว่า “โอกาสและเทรนด์” ยังไม่เป็นใจมากนัก จึงหันไปพัฒนาต้นน้ำก่อนด้วยการทำ “ไร่สิงห์ ปาร์ค เชียงราย” เพื่อรอโอกาสที่เหมาะสม
กระทั่งปีที่ผ่านมาได้ร่วมทุนกับ OR เพื่อทำตลาด RTD และเปิดตัวชาเขียว “ฮารุ” ปีนี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมูลค่า 13,864 ล้านบาท เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากเทรนด์สุขภาพมาแรง โดยเซกเมนต์พรีเมี่ยมที่มีสัดส่วนอยู่ราว 10-20% หรือมีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท
โดยวางเป้าหมายยอดขาย “ฮารุ” ไว้ที่ 10 ล้านขวดในสิ้นปีนี้ มองว่า “ฮารุ” จะเข้ามาช่วยเสริมแกร่งธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ให้กับค่ายสิงห์ ต่อจากแบรนด์น้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า โซดาสิงห์ และสิงห์ เลมอน โซดา ที่ครองความเป็นผู้นำในตลาดขณะนี้ ปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้มาจากเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ราว 20%
ภายใต้บริษัทร่วมทุน “ดริ้ง เอนเทอร์ไพรซ์” ของ OR และบุญรอดฯ ที่ถือเป็นบริษัทระดับบิ๊กทั้งคู่ เรียกว่าเป็นการจับคู่พันธมิตร 1+1 มากกว่า 2 โดยวางแผนจะพัฒนาสินค้า RTD ที่ใช้จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรออกมาทำตลาดต่อเนื่อง วางเป้าหมาย 1-2 ปีแรก จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม
- สิงห์ หวนคืนสังเวียน “ชาเขียวพร้อมดื่ม” ในรอบ 15 ปี ส่ง ‘ฮารุ’ Cold Brew Green Tea สู้ศึกตลาดชาพรีเมี่ยม
- Cafe Amazon ต่อยอดแบรนด์จากร้านสู่ ‘อเมซอนขวด’ ชิงตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้าน ขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ ขายในร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศ