HomeDigitalเปิดเบื้องหลัง ChatGPT สู่โลกการทำงานยุคใหม่ที่ Microsoft ขนานนามว่า “Prompt & Edit”

เปิดเบื้องหลัง ChatGPT สู่โลกการทำงานยุคใหม่ที่ Microsoft ขนานนามว่า “Prompt & Edit”

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีใหม่อย่างเป็นทางการ หลังผนวกความสามารถของ Generative – AI อย่าง ChatGPT ลงในหลายโปรดักท์ รวมถึง เสิร์ชเอนจิน Bing และเบราเซอร์ Microsoft Edge ด้านผู้บริหารเผยแนวทางของ Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft ในการนำ Generative – AI มาสร้างโลกการทำงานใหม่ หรือที่เรียกว่าเป็นยุค “Prompt & Edit” นั่นคือการส่งคำสั่งไปให้ AI และรับผลลัพธ์จาก AI กลับมาใช้งาน คาดใครที่ไม่ใช้อาจมี Productivity ถดถอย

โลกแห่งการทำงานยุคใหม่ในมุมของ Microsoft ประเทศไทยมีการเปิดเผยเมื่อวานที่ผ่านมา โดยคุณสรุจ ทิพเสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชั่นองค์กร  Microsoft ประเทศไทย ที่ระบุว่า จุดเริ่มต้นอาจเป็นความร่วมมือของ Microsoft กับ OpenAI ในฐานะทีมวิจัยระดับโลกด้าน AI อย่างใกล้ชิดเมื่อปี 2019 และนำไปสู่การพัฒนาโมเดล AI ยุคใหม่อย่าง Generative AI หรือที่ Microsoft เรียกชื่อภาษาไทยว่า “AI รู้สร้าง” จำนวน 3 ตัวที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ได้แก่ 

  • GPT (ปัจจุบันคือ GPT-3 เป็น AI ที่มีความเข้าใจในบริบทและสามารถสร้างข้อความได้เอง)
  • DALL-E เป็น AI สำหรับการสร้างภาพขึ้นตามคำสั่งของผู้ใช้งานที่มาจากการป้อนข้อความ โดยทำได้ทั้งภาพศิลปะ และภาพที่ดูสมจริง
  • Codex เป็น AI สำหรับช่วยนักพัฒนาในการสร้างและเขียนโค้ด ให้ทำได้รวดเร็วขึ้นด้วย Generative AI ทั้ง 3 ตัวที่กล่าวมาทาง Microsoft ระบุว่า มันไม่ใช่แค่เพียงเรียนรู้ แต่ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้จากความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ได้ด้วย
openai microsoft chatgpt

ความสามารถของ AI แต่ละตัวที่ OpenAI ร่วมพัฒนากับ Microsoft

3 ประเด็นความสามารถ ChatGPT

จากที่กล่าวมา ChatGPT คือการนำโมเดล GPT หนึ่งใน Generative AI ไปใช้ในวงกว้างและประสบความสำเร็จ ซึ่งความสามารถของ ChatGPT ที่คุณสรุจได้สรุปให้ฟังประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักได้แก่

  • การตอบสนองได้เหมือนกับมนุษย์
  • ความสามารถในการสร้าง Story หรือให้ไอเดียต่าง ๆ ได้จากข้อมูลที่รวบรวมมา
  • ความสามารถในการสรุปข้อมูล

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Microsoft เน้นย้ำคือเรื่องของ “ระยะเวลา” ที่ใช้ในการพัฒนา AI ดังกล่าว ซึ่งพบว่าไม่นานเลย โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างการประดิษฐ์หลอดไฟของโธมัส อัลวา เอดิสัน ในปี ค.ศ. 1879 และต้องใช้เวลาประมาณ 66 ปีจึงจะเกิดการใช้งานอย่างกว้างขวาง (ปี ค.ศ. 1945 หลอดไฟเพิ่งมียอดขายทะลุ 795 ล้านชิ้น) มาเปรียบเทียบกับ OpenAI ที่ใช้เวลาประมาณ 3.5 ปีในการทำงานร่วมกับ Microsoft และสามารถส่ง ChatGPT ออกสู่ตลาดได้

openai microsoft chatgpt 02

ขอบคุณภาพจาก Microsoft

ฟังทิศทางของ Microsoft ใช้ Generative AI อย่างไรดี

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการประกาศเปิดตัวบริการใหม่ของ Microsoft อย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การนำ Generative AI ผนวกเข้ามาในเสิร์ชเอนจิน Bing ของทางค่าย และเบราเซอร์อย่าง Microsoft Edge เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นก้าวที่น่าสนใจมากของวงการเทคโนโลยี เพราะนั่นทำให้ความสามารถของเสิร์ชเอนจินอย่าง Bing เพิ่มขึ้นเหนือกว่าคู่แข่ง กับการสามารถสรุปเรื่องราวและตอบออกมาได้ในลักษณะคล้ายกับการคุยกับมนุษย์ (จะมี Link พาไปยังเว็บไซต์ที่อ้างอิงแทรกไว้ในบทความ) ไม่ใช่การแสดงผลที่ดึงมาเป็นเว็บไซต์ แล้วให้ผู้ใช้งานคลิกเข้าไปอ่านเองว่าตรงกับสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า โดยตัวอย่างความสามารถใหม่ของ Bing และ Edge มีตั้งแต่

  • การช่วยวางแผนเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ได้
  • การช่วยเปรียบเทียบ – เลือกซื้อสินค้า
  • ให้ช่วยสรุปเนื้อหาของบทความ หรือเอกสารที่เปิดอยู่ได้ (เช่น ไฟล์ PDF ที่มีข้อความยาว ๆ) แต่ต้องทำบนเบราเซอร์ Edge
  • สั่งให้ AI ร่างเนื้อหา หรือคิดไอเดียสำหรับโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย ตอบเมล ฯลฯ และสามารถกำหนดโทนของเนื้อหาได้ว่า ต้องการแนวไหน เช่น เนื้อหาแบบเป็นทางการ, ตื่นเต้น, เศร้า เป็นต้น
  • สั่งให้ AI เปรียบเทียบข้อมูลจากสองแหล่งแล้วสรุปความแตกต่างออกมาเป็นตาราง

ไม่เฉพาะ Bing และ Edge แต่ Microsoft ยังได้นำ Generative AI ไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น นำไปใส่ใน GitHub Copilot เพื่อช่วยเขียนสูตรการจัดการข้อมูลในแอป Power Apps การสร้างภาพวาด และภาพกราฟิกใน Microsoft Designer หรือการใช้ GPT ช่วยสรุปการประชุมอัตโนมัติใน Microsoft Teams Premium เป็นต้น

ส่วนในแง่ของภาคธุรกิจ Microsoft ประเทศไทยได้เปิดตัว Azure OpenAI อย่างเป็นทางการเมื่อ 17 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา โดยบริการนี้จะนำ 3 โมเดลใหญ่ของ OpenAI มาเปิดให้ใช้งานบนแพลตฟอร์มคลาวด์อย่าง Azure แทนการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลของตัวเอง โดยผู้บริหาร Microsoft ระบุว่า 5 ธุรกิจของไทยที่ให้ความสนใจบริการดังกล่าวมากที่สุดคือ สถาบันการเงิน, โทรคมนาคม, ธุรกิจเฮลแคร์, ภาคการผลิต – โรงงานอุตสาหกรรม และสตาร์ทอัพ หรือกลุ่ม Digital Natives นั่นเอง

openai microsoft chatgpt 03

Prompt & Edit โลกแห่งการทำงานยุคใหม่

คุณสรุจยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งการทำงานด้วยว่า ความสามารถของ Generative AI จะทำให้คนทำงานปรับตัวอีกครั้งสู่การทำงานแบบ Prompt & Edit หรือก็คือการส่งคำสั่งบางอย่างให้ AI ไปหาคำตอบ และนำกลับมา Edit ก่อนจะนำไปใช้งานจริง โดยความสำคัญของมนุษย์ในหน้าที่ดังกล่าวคือการเป็น Gatekeeper ที่ต้องตรวจสอบข้อมูลในรอบสุดท้ายก่อนเสมอ

“การมาถึงของ Generative AI ถือเป็น Area ใหม่ที่แต่ละธุรกิจต้องให้ความสำคัญ แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า โลกแห่งการทำงานตอนนี้ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity Boost) ให้มากขึ้น หรือก็คือการที่คนหนึ่งคนทำงานได้ Output มากขึ้น และการใช้ AI คือตัวเลือกดังกล่าว นักพัฒนาที่ใช้ AI ช่วยแก้ไขโค้ดสามารถทำงานได้เร็วกว่าคนที่ไม่ใช่ 10 เท่า ซึ่งในอนาคต คนทำงานในสาขาอื่น ๆ ก็เช่นกัน ดังนั้นความสามารถในการทำงานร่วมกับ AI เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในอนาคต และคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจมี Productivity ที่ถดถอยได้ในที่สุด” คุณสรุจกล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like