HomeBig Featuredเปิดบริการแล้ว MAMA Station สาขาต้นแบบเมนู ‘มาม่า’ เล็งขายแฟรนไชส์ หนุนสร้างเจ้าของกิจการร้านอาหาร

เปิดบริการแล้ว MAMA Station สาขาต้นแบบเมนู ‘มาม่า’ เล็งขายแฟรนไชส์ หนุนสร้างเจ้าของกิจการร้านอาหาร

แชร์ :


หลังเปิดตัวโมเดล MAMA Shop ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ เดือนมิถุนายน 2565 เป็นรูปแบบร้านอาหารขายเมนูเส้นจากผลิตภัณฑ์ “มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเป็นความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจใหม่ “ร้านอาหาร” รวมทั้งสร้าง Brand Awareness แบรนด์ “มาม่า” ให้ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่รู้จักมากขึ้น สร้างการรับรู้ว่า “มาม่า” ไม่ใช่แค่สินค้าซอง แต่ทำเป็นเมนูได้หลากหลาย และท้ายสุดกับการสร้างผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการผ่านโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา “มาม่า” ได้เริ่มทดลองเปิดร้านต้นแบบ MAMA Station aroi (มาม่า สเตชั่น อร่อย) สาขาแรกที่โครงการ HappyHub คอร์ทแบดมินตัน ย่านลาดพร้าว ล่าสุดเปิดตัว MAMA Station สาขา 2 ที่โครงการ มินิมอลล์ เพชรเกษม 98

khun Pan Mama

คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์

เปิดโมเดลร้านต้นแบบ “มาม่า”ให้ใช้แบรนด์ พันธมิตรลงทุน

คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ “มาม่า” บอกกับ Brand Buffet ว่าการต่อยอดโมเดล MAMA Shop ที่เปิดตัวในงานสหกรุ๊ปแฟร์ปีก่อน ได้เปลี่ยนแบรนด์ใหม่มาเป็น MAMA Station (มาม่า สเตชั่น) ทดลองเปิดร้านต้นแบบไปแล้ว 2 สาขา

ร้านโมเดลต้นแบบนี้เป็นการคัดเลือกพาร์ทเนอร์ ผู้สนใจลงทุน ที่มีความพร้อมเรื่องทำเลและเงินลงทุน เพื่อทดลองเปิดให้บริการ ซึ่งใช้เงินลงทุนของพาร์ทเนอร์ทั้งหมด โดยมาม่าทำสัญญาให้ใช้แบรนด์ “มาม่า” มาเป็นส่วนประกอบในร้านอาหาร

ถือเป็นพัฒนาร้านต้นแบบที่ win win ทุกฝ่าย ฝั่งพาร์ทเนอร์ผู้ลงทุนได้เปิดร้านอาหาร ใช้จุดขายจากเมนูมาม่าและได้เป็นเจ้าของกิจการ ส่วนบริษัทไม่ต้องลงทุนทำร้านเอง แต่จะตรวจสอบคุณภาพทุกสาขา โดยต้องได้มาตรฐานของมาม่า คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ความสะอาด อาหารรสชาติดี ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ทุกสาขาต้องทำให้ได้เหมือนกัน

สำหรับร้านต้นแบบที่เปิดไปแล้ว 2 สาขา จะตกแต่งร้านแตกต่างกัน แต่ยังคงเอกลักษณ์แบรนด์ “มาม่า” ส่วนเมนูอาหารมาม่า สามารถสร้างสรรค์ได้แตกต่างกันตามทำเลและกลุ่มลูกค้า

อย่างสาขาแรกร้าน “มาม่า สเตชั่น อร่อย” ลาดพร้าว มีเมนูมาม่า รสชาติต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลัก มีท็อปปิ้ง ให้เลือกใส่ เช่น ลูกชิ้น เต้าหู้ปลา ปูอัด เบคอน หมูบด ชีส ผักต่างๆ ไข่ต้ม ราคาเริ่มต้น 69 บาท รวมทั้งมีเมนูติ่มซําขายคู่กันชุดละ 49 บาท

credit photo : youtube: Ball and his toys Channel

เช่นเดียวกับสาขา 2 ร้าน MAMA Station เพชรเกษม 98 ที่ใช้ “มาม่า” มารังสรรค์เมนูหลากหลายรูปแบบ สไตล์อาหารไทย กับเมนู มาม่าหมูสับทรงเครื่อง, มาม่าต้มยำทรงเครื่อง, มาม่าต้มยำทะเลน้ำข้น, มาม่าผัดไข่เค็มแห้ง หรือสไตล์อาหารเกาหลี มาม่าฮอทโคเรียนผัดแห้ง, มาม่าหม้อไฟเกาหลี ราคาเริ่มต้น 49 บาท รวมทั้งมีของกินเล่น ไก่ทอดมาม่าจานละ 39 บาท

เห็นได้ว่าทั้ง 2 สาขาที่เปิดให้บริการแล้วจะมีเมนูแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับไอเดียในการพัฒนาเมนูอาหารของพาร์ทเนอร์แต่ละราย แต่สิ่งที่ร้านต้นแบบทุกสาขาต้องทำเหมือนกัน คือ เมนูมาม่าต้องอร่อย

คุณวันปิติ – คุณเต็มสิน วัฒนพานิช Co-Founder ร้าน MAMA Station เพชรเกษม 98

ปีนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาของการทดลองเปิดร้านต้นแบบร่วมกับพาร์ทเนอร์อีก 4-5 สาขา หลังจากนี้จะทยอยเปิดอีกหลายทำเล เช่น ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต, พัฒนาการ โดยจะเลือกทำเลเปิดทั้ง สถาบันการศึกษา แหล่งท่องเที่ยว คอมมูนิตี้ มอลล์ ปั๊มน้ำมัน สวนสนุก สถานบันเทิง (ผับบาร์) รวมทั้งโมเดล Food Truck ที่จะใช้ชื่อ MAMA Station TO GO หลังจากเปิดบริการต้องใช้เวลาอีก 6-7 เดือน เพื่อดูยอดขายแต่ละสาขา และแนวทางการบริการต้นทุนที่เหมาะสม

นอกจากนี้จะทดลองโมเดลสาขาที่มาม่าเข้าไปร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ด้วย แต่จะไม่ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้พาร์ทเนอร์เป็นผู้บริหารร้านอาหารเอง โดยใช้ร้านอาหารมาม่า มาเป็นจุดขายให้ธุรกิจ เพื่อให้การเปิดร้าน MAMA Station มีหลากหลายรูปแบบ

อนาคตเล็งขายแฟรนไชส์สร้างเจ้าของกิจการ

การที่มาม่า เริ่มจากการใช้โมเดลหาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ มาเป็นผู้ลงทุนร้านต้นแบบ MAMA Station เป็นไปตามหลักคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ว่าด้วย 1.คิดใหญ่ 2.ทำเล็ก 3. Scale up ให้เร็ว

เราคิดภาพใหญ่ไว้เช่นกันว่า วันหนึ่งอยากให้มีร้าน MAMA Station กระจายอยู่ในทุกหัวเมือง แต่วันนี้ต้องพัฒนาโมเดลต้นแบบที่เหมาะสม ผู้ลงทุนต้องอยู่ได้และมีกำไร ก่อนที่จะไป Scale up ขายแฟรนไชส์ เพราะสิ่งสำคัญต้องทำให้คนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์เรา ได้มากกว่าเรา

แบรนด์ “มาม่า” อยู่มา 50 ปี เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง การทำร้านอาหาร MAMA Station ในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงต้องการคืนสิ่งที่ดีให้ผู้บริโภคและนักลงทุน

การเซ็ตธุรกิจใหม่ “ร้านอาหาร” จึงไม่ได้มองกำไรเป็นตัวตั้ง ทำให้ต้องทดลองโมเดลต้นแบบให้ชัดเจนทุกอย่าง รู้ต้นทุน รายได้ กำไร ต้องช่วยวิเคราะห์ทำเล ค่าเช่าพื้นที่ การลงทุนต่างๆ ให้นักลงทุน ด้วยว่ามีโอกาสทำกำไรได้หรือไม่ก่อนที่จะขายแฟรนไชส์ ไม่เช่นนั้นคนที่มาลงทุนแล้วทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมาย จะส่งผลกระทบกับแบรนด์ได้

ดังนั้นสิ่งที่จะให้กับคนซื้อแฟรนไชส์ MAMA Station ต้องได้มาตฐานร้านที่นำไปทำธุรกิจและได้กำไรมากกว่าที่เราได้ เพื่อให้เป็นอีกโมเดลธุรกิจทำให้เกิดเจ้าของกิจการและการจ้างงาน

โมเดล MAMA Station นอกจากเป็นการขยายธุรกิจใหม่ “ร้านอาหาร” ยังเป็นการสร้าง Brand Awareness “มาม่า” ให้ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่รู้จักมากขึ้น ได้ลองกินเมนูมาม่าในรูปแบบต่างๆ

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่ถูก Disrupt เพราะเป็นสินค้าราคาย่อมเยาที่เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม แต่แบรนด์อาจถูก Disrupt ได้ แม้ มาม่า จะเป็น Generic Name ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เราชะล่าใจไม่ได้ ต้องสื่อสารแบรนด์การสร้างรับรู้ให้คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง”

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like