ตลอดระยะเวลา 68 ปีของ “ตลาดยิ่งเจริญ” อาณาจักรตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ของตระกูล “ธรรมวัฒนะ” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ร้านค้ากว่า 1,500 ร้าน ครบครันทั้งอาหารสด แห้ง สินค้าอุปโภค-บริโภค ไปจนถึงพลาซ่า 24 ชั่วโมงขนาดใหญ่ ทั้งหมดทำให้ตลาดยิ่งเจริญครองความยิ่งใหญ่ในย่านสะพานใหม่ หรือกรุงเทพโซนเหนือ มายาวนาน
หลังในปี 2558 ตลาดยิ่งเจริญถูกเปลี่ยนมือมาถึง 2 ทายาทแห่งตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ได้แก่ “ดร. ณฤมล ธรรมวัฒนะ” ในฐานะประธานกรรมการบริหารตลาดยิ่งเจริญ และ “คุณคณึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ” เข้าบริหารจัดการตลาดสดขนาดใหญ่ ย่านสะพานใหม่ ดอนเมืองแห่งนี้ให้เติบโตมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ล่าสุด “ตลาดยิ่งเจริญ” ถูกส่งต่อสู่ทายาทรุ่นที่ 3 อย่าง “คุณอริย ธรรมวัฒนะ” บุตรชาย นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และ “นางกัญจนิดา ตันติสุนทร” บุตรสาวของนางณฤมล ธรรมวัฒนะ
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่แค่การเปลี่ยนมือการบริหารงานสู่ผู้นำเจนใหม่ หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ของ “ตลาดยิ่งเจริญ” ที่มากกว่าตลาดสด ด้วยการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “Yingcharoen Together” ยิ่งเจริญไปด้วยกัน ศูนย์กลางชุมชนที่เชื่อมโยง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ที่เดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆภายในตลาดให้เติบโตไปร่วมกับชุมชน
ล่าสุดกับการประกาศเปิดตัว “ยิ่งเจริญ สแควร์” รีเทลแบบผสมผสานสมัยใหม่ ตัวอาคารสุดทันสมัย 4 ชั้น บนพื้นที่ 30 ไร่ แน่นอนว่าการประกาศเปิดตัวดังกล่าวถูกจับตามอง เพราะด้วยภาพที่เปลี่ยนไป จากตลาดสด สู่รูปแบบ “รีเทล” สมัยใหม่ ท่ามกลางชุมชนขนาดใหญ่ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกรุงเทพมหานครตอนเหนือ บนพื้นที่ติดถนนพหลโยธิน ติดทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อมสถานีสะพานใหม่ N20 นับว่ามีความน่าสนใจและถูกจับตามองอยู่ไม่น้อย
BrandBuffet พาทำความรู้จัก “ยิ่งเจริญ สแควร์” รีเทลแบบผสมผสานแห่งแรกที่ “ตลาดยิ่งเจริญ” ต่อยอดสู่การค้ารูปแบบใหม่ ที่ทางค่ายหมายมั่นปั้นมือให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ใจกลางสะพานใหม่ รองรับการขยายตัวของชุมชน เมือง อีกทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในกรุงเทพฯ โซนเหนือ ที่ครบครันทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงสินค้ามากมาย
อาคารสูง 4 ชั้น เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว
สำหรับ “ยิ่งเจริญ สแควร์” ถือเป็นโครงการใหม่ของที่ตั้งอยู่ติด “ตลาดยิ่งเจริญ” ประกอบด้วยตัวอาคาร 4 ชั้น มีพื้นกว่า 16,000 ตารางเมตร รองรับผู้ประกอบการ และร้านอาหารนานาชาติ ตัวอาคารนี้แวดล้อมด้วยธรรมชาติ และโครงการ “คิดจากคลอง” ที่ฟื้นฟูสภาพคลองลำผักชี พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2565 นี้ โดยเปิดจองพื้นที่แล้ววันนี้
การเปิดตัวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจากรากฐานตลาดคือศูนย์กลางชุมชน โดยวางให้เป็น “สะพานใหม่ แลนด์มาร์ค” หรือแลนด์มาร์คแหล่งใหม่ ใจกลางชุมชนสะพานใหม่-ดอนเมือง ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาองค์กรอย่างมีส่วนร่วม รับผิดชอบ และยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม-ชุมชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนชาวสะพานใหม่-กรุงเทพ ฯ ตอนเหนือ ตอบโจทย์ชุมชนในย่าน อาทิ การจัดการพื้นที่ส่วนกลาง และบริการร้านค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะแก่การพักผ่อน (Common Area) การจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์
ตัวอาคารตั้งอยู่บนทำเลการเดินทางสะดวก (บริเวณตลาดยิ่งเจริญเดิม) ติดกับถนนพหลโยธิน และเชื่อมกับสถานีสะพานใหม่ (N20) รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว และใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติและฐานทัพอากาศดอนเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีปทุม ราชภัฎพระนคร เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินรถโดยสารสาธารณะในถนนสายหลัก และสายรอง แวดล้อมด้วยชุมชนขนาดใหญ่ และชุมชนขยาย คอนโดกว่า 3,500 ยูนิต
ภายในบริเวณมีการเพิ่มพื้นที่กิจกรรม พักผ่อน ส่งเสริม และพัฒนาตลาดให้มีคุณภาพควบคู่กับการพัฒนาหรือขยายตัวของชุมชน พร้อมทั้งยังอนุรักษ์ตลาดให้อยู่คู่สังคมไทย ถือเป็นวิถีไทย วิถีโลก ควบคู่กับการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สานต่อโครงการ “คิดจากคลอง” โครงการต้นแบบของชาวบางเขน เพื่อฟื้นฟูสภาพคลองลำผักชี (ตลาดยิ่งเจริญ) ด้วยนวัตกรรมอ็อกซิเดชั่นชีวภาพ อันเป็นการการพัฒนาสิ่งแวดล้อม คลองสวย น้ำใส สังคมน่าอยู่ มุ่งสู่สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน
ขณะเดียวกันยังมาพร้อมแนวคิดการพัฒนาศูนย์จัดการขยะเหลือศูนย์ร่วมกับเขตบางเขน กทม. จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิดขยะคือทอง เพื่อการเรียนรู้ชุมชนที่สร้างสรรค์ และยั่งยืน นอกจากนี้ต่อยอดการแบ่งปันร่วมกับสังคม เพื่อสนับสนุนทุนทรัพย์แด่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ในการจัดโครงการ “ยิ่งส่ง ยิ่งสุข เพื่อโรงพยาบาลพ่อ”
หวังเพิ่มแม่เหล็กใหม่ ให้ “ตลาดยิ่งเจริญ” เดิม
นอกจากนี้การเปิดตัวดังกล่าวยังเป็นการเติมแม็กเนตให้ “ตลาดยิ่งเจริญ” เดิมซึ่งถือเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความคึกคัก หลากหลายมากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่า มีคนเข้ามาจับจ่ายซื้อของในตลาดสดจำนวนประมาณ 25,000 คน ต่อวัน มีรถเข้ามาใช้บริการราว 7,000 – 8,000 คัน ในวันปกติ และในเทศกาลสำคัญไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ต่อวัน
ภายในตลาดประกอบด้วยร้านค้ากว่า 1,500 ร้าน แบ่งสินค้าออกเป็น 15 กลุ่ม ได้แก่ 1.เนื้อสัตว์ 2.ปลา และของทะเล 3.ผัก 4.สินค้าชำ 5.อาหารแปรรูป 6.อาหารสำเร็จรูป 7.เครื่องดื่ม 8.สินค้าทานเล่น ขนม 9.ผลไม้ 10.ดอกไม้ 11.เครื่องแต่งกาย 12.อุปกรณ์เครื่องใช้ 13.อุปกรณ์ไอที 14.บริการ 15. อื่นๆ