HomeBrand Move !!‘เวิร์คพอยท์’ เลิกทีวีช้อปปิ้ง! ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Media เจาะกลุ่มแมส ชูโมเดลร่วมทุน ‘เซ็ปเป้’ ลุยอาหาร-เครื่องดื่ม ยังมีพันธมิตรอีก 2-3 ดีล

‘เวิร์คพอยท์’ เลิกทีวีช้อปปิ้ง! ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Media เจาะกลุ่มแมส ชูโมเดลร่วมทุน ‘เซ็ปเป้’ ลุยอาหาร-เครื่องดื่ม ยังมีพันธมิตรอีก 2-3 ดีล

แชร์ :

workpoint cover

ปรากฏการณ์หลังเกิด “ทีวีดิจิทัล” ที่มีช่องทีวีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เวลาโฆษณาเหลือขาย บรรดาเจ้าของช่องจึงหาวิธีสร้างรายได้ใหม่ ด้วยการขายสินค้ารูปแบบ “ทีวีช้อปปิ้ง” มีทั้งลงทุนทำสินค้าขึ้นมาขายเอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสุขภาพและความงาม (Health&Beauty) และให้เจ้าของสินค้ามาเช่าเวลา จึงเห็นรายการประเภท “ขายของ” ในเกือบทุกช่องทีวีดิจิทัล

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้เป็นช่องที่มีเรตติ้งอยู่ในอันดับต้นๆ แต่ “เวิร์คพอยท์” ของเสี่ยตา ปัญญา นิรันดร์กุล ก็เข้าสู่ธุรกิจขายสินค้าสุขภาพและความงามเช่นกัน โดยเป็นการต่อยอดธุรกิจ จากรายการ Let Me In Thailand ที่ผลิตและออกอากาศทางเวิร์คพอยท์ จึงพัฒนาแบรนด์ Let Me In Beauty  ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าออกมาทำตลาดในเดือนกันยายน 2560 มีสินค้าจำหน่ายรวม 14 SKUs

นอกจากนี้ยังมีสินค้าฝากขาย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริม เครื่องใช้ในครัว เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ทำการตลาดและขายผ่านรายการ “ทีวีช้อปปิ้ง” ของเวิร์คพอยท์ รายการ Hello Shop ที่เปิดตัวในเดือนมกราคม 2562 รวมทั้งจับมือเป็นพันธมิตรกับ RS ให้เช่าเวลาสถานีทำรายการ Wellness Shop ขายสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามของ RS (ไลฟ์สตาร์) ช่วงปลายปี 2562

เลิกรายการทีวีช้อปปิ้ง-ยุติขายสินค้าสุขภาพความงาม

แม้รายการทีวีช้อปปิ้งจะสร้างรายได้ให้กับทีวีดิจิทัล ทั้งการขายสินค้าและปล่อยเช่าเวลาสถานี แต่หากมีรายการขายของจำนวนมากก็จะส่งผลต่อเรตติ้งช่องทีวีได้เช่นกัน

หลังจากเวิร์คพอยท์ ได้ลองทำรายการทีวีช้อปปิ้ง Hello Shop ของตัวเองในเดือนมกราคม 2562 ต่อมาในปีเดือนธันวาคม 2563 ก็ “เลิกทำรายการ” ตามแผนการปรับผังของสถานี รวมทั้งรายการ Wellness Shop ของ RS ก็ได้ “ยุติ “ออกอากาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ปัจจุบันในผังรายการของ “เวิร์คพอยท์” จึงไม่มีรายการทีวีช้อปปิ้งอีกแล้ว

ช่วงปลายปี 2564 “เวิร์คพอยท์” ได้ “เลิกกิจการ” ขายสินค้าสุขภาพและความงามแบรนด์ Let Me In Beauty และ MeVio รวมทั้งสินค้าขายฝากทั้งหมด

หากดูตามโครงสร้างธุรกิจเวิร์คพอยท์ มาจาก 4 ธุรกิจ โดยรายได้หลักจาก Media หรือขายเวลาโฆษณาทีวีและออนไลน์ มีสัดส่วน 80% และกลุ่ม Non-Media สัดส่วน 20% ที่ประกอบไปด้วย การรับจ้างจัดงาน, คอนเสิร์ตและละครเวที และขายสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น เช่าพื้นที่โรงละคร การจัดหานักแสดง

โดยรายได้จากการขายสินค้าและบริการอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของรายได้เวิร์คพอยท์ ในปี 2561 รายได้อยู่ที่ 169 ล้านบาท, ปี 2562 รายได้ 216 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 220 ล้านบาท มาในปี 2564 รายได้ 69 ล้านบาท หรือลดลงไป 68% จากปีก่อนหน้า จากการ “เลิกธุรกิจ” ขายสินค้าสุขภาพและความงาม รวมทั้งสินค้าขายฝาก

workpoint sappe

ปรับกลยุทธ์ขยาย “ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม” เจาะตลาดแมส

การตัดสินใจ “ยุติ” ธุรกิจขายสินค้าสุขภาพและความงาม ของเวิร์คพอยท์ เนื่องจากการขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น (scale up) ทำได้ยาก เพราะมีทั้งเรื่องการผลิตสินค้า ช่องทางจำหน่าย การบริการจัดการสต๊อก ซึ่งไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเวิร์คพอยท์ ที่มีจุดแข็งด้านสื่อและการสร้างสรรค์คอนเทนต์

เช่นเดียวกับรายการทีวีช้อปปิ้ง ที่ต้องมีสินค้าหลากหลายมาจำหน่าย  รวมทั้งต้องดูแลบริหารจัดการสินค้ากลุ่มขายฝากในรายการ

แต่ธุรกิจ Non-Media ขายสินค้า ยังเป็นกลุ่มที่เวิร์คพอยท์ ต้องการพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้หลากหลาย

ปีที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์ จึงได้ทดลองโมเดลธุรกิจขายสินค้าใหม่ในกลุ่ม “อาหารและเครื่องดื่ม” นับเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ ด้วยการจับมือ Collaboration กับ “เซ็ปเป้” (Sappe) ผู้ผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นำคาแรคเตอร์ “ครูเพ็ญศรี” จากซิทคอมหกฉากครับจารย์ ของเวิร์คพอยท์ มาพัฒนาเป็นสินค้าลูกอมหนึบ ขยายเข้าสู่ตลาดลูกอมที่มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท

โดย “เซ็ปเป้” เป็นผู้ดูแลการผลิตและช่องทางการจำหน่ายสินค้า  ส่วน “เวิร์คพอยท์” ดูแลเรื่องการสื่อสารและการตลาดผ่านทุกช่องทางสื่อ ปีแรกทำยอดขายได้ราว 40 ล้านบาท

WOPE workpoint sappe

 

คุณธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK กล่าวว่าหลังเป็นพันธมิตรทำตลาดลูกอมครูเพ็ญศรี มาครบปี เวิร์คพอยท์ ได้ปรับโมเดลธุรกิจ Non-Media ใหม่ โดยใช้รูปแบบ “ร่วมทุน” กับพันธมิตรขยายธุรกิจขายสินค้า เริ่มจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท โวป จำกัด (WOPE Co.,Ltd.) โดย เซ็ปเป้ ถือหุ้น 60% และเวิร์คพอยท์ 40% มูลค่าการลงทุนรวม 50 ล้านบาท

“จุดแข็งของเวิร์คพอยท์ คือมีช่องทางสื่อสารครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยทั่วประเทศ การพัฒนาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จึงเหมาะกับฐานลูกค้าแมสของเวิร์คพอยท์”

ฝั่งเซ็ปเป้ คุณอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร SAPPE กล่าวว่าการเข้ามาทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับเวิร์คพอยท์ จะใช้ Character Asset ที่มีชื่อเสียงและผู้ชมรู้จักดีอยู่แล้วของเวิร์คพอยท์มาต่อยอด หรือสินค้าอาจจะมีการใส่ Creativity ที่มาจากทางเวิร์คพอยท์เข้าไปด้วย รวมถึงการใช้นักแสดงในสังกัดเวิร์คพอยท์มาสร้างความสนุก สร้างสีสันให้กับสินค้า เพิ่มความบันเทิงให้กับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เป็นการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Eatertainment คือให้ลูกค้าได้เสพความบันเทิงผ่านสินค้านวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยเซ็ปเป้

สินค้ากลุ่มต่อไปที่จะออกในช่วงปลายปีนี้ คือ “กาแฟสำเร็จรูป” ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท  เซ็ปเป้มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยจะพัฒนาแบรนด์ใหม่มาทำตลาด หน้าที่ของเซ็ปเป้ จะดูแลเรื่องนวัตกรรมสินค้าตลอดทั้ง Supply Chain กระจายสินค้าในประเทศและกลุ่ม CLMV

โดยตั้งเป้ายอดขายบริษัทโวป ในปี 2566 ไว้ที่ 200 ล้านบาท จากกลุ่มลูกอมครูเพ็ญศรี สินค้าใหม่กาแฟสำเร็จรูป และอีก 1 กลุ่มสินค้าที่จะออกมาช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

workpoint sappe pensri

โมเดลใหม่กลุ่ม Non-Media เน้นร่วมทุน 

ปัจจุบันรายได้เวิร์คพอยท์มาจากธุรกิจมีเดียขายเวลาโฆษณาทีวีและออนไลน์ 80% คุณสุรการ ศิริโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารการเงินการลงทุน เวิร์คพอยท์ บอกว่าการร่วมทุนพัฒนสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มโดยเป็นเจ้าของแบรนด์เอง จะสร้างโอกาสในการหารายได้ในกลุ่ม Non-Media  ได้เพิ่มขึ้น และเป็นสินค้าที่เหมาะกับเวิร์คพอยท์ที่มีฐานผู้ชมกลุ่มแมส ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้

อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่สื่อโฆษณาทีวีเวิร์คพอยท์ ที่ปัจจุบันมีอัตราการใช้เวลาโฆษณาอยู่ที่ 50-60% ให้เพิ่มขึ้นได้อีกไม่ต่ำกว่า 5%  

หลังจากร่วมทุนกับเซ็ปเป้แล้ว เวิร์คพอยท์ยังมีแผนร่วมทุนขยายธุรกิจ Non-Media ในกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรอีก 2-3 ดีล ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจาโดยหนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจ Wholesale  โดยแต่ละดีลเวิร์คพอยท์จะเข้าไปร่วมทุนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 25% มีงบลงทุนอยู่ในมือราว 800 ล้านบาท หากสรุปแผนร่วมทุนได้ ปี 2566 กลุ่มธุรกิจขายสินค้าจะสร้างรายได้ราว 300-400 ล้านบาท  วางเป้าหมายให้รายได้ธุรกิจขายสินค้ามีสัดส่วนราว 10%

การขยายธุรกิจกลุ่ม Non-Media เป็นการใช้จุดแข็งธุรกิจสื่อเวิร์คพอยท์มาต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อโอกาสทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจทีวี หลังโควิดคลี่คลายไตรมาส 4 จะเปิดตัวรายการใหม่ลงผังเพิ่มขึ้น เช่น 10 fight 10  ปัจจุบันรายการทำเรตติ้งสูงสุด คือ The Wall Song ร้องข้ามกำแพง ขายโฆษณาได้เต็ม 100%  ราคา rate card  นาทีละ 200,000 บาท

นอกจากนี้เตรียมจัด “อีเวนต์” คอนเสิร์ต 2 งาน ส่วนในปีหน้าจะกลับมาจัดปกติ มีคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี 2-3 งาน คาดว่าจะทำรายได้อีเวนต์อยู่ที่ 200 ล้านบาท

“เวิร์คพอยท์” เคยทำรายได้และกำไรสูงสุดใน ปี 2560 ด้วยรายได้ 3,864 ล้านบาท กำไรสุทธิ 904 ล้านบาท เป็นปีที่รายการ The Mask Singer ซีซัน 1 ได้รับความนิยมสูงสุด ในช่วงโควิด กำไรลดลงเหลือ 159 ล้านบาท

หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายรวมทั้งการขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Non-Media  เวิร์คพอยท์ วางเป้าหมายกำไรกลับมาอยู่ที่ระดับปกติ 300-400 ล้านบาทต่อปี

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like