HomeBrand Move !!กว่าจะเป็น Flash Group ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย บทเรียนธุรกิจ ‘คมสันต์ ลี’ ต้อง ‘ผิดให้มากที่สุดและแก้ไขให้เร็วที่สุด’

กว่าจะเป็น Flash Group ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย บทเรียนธุรกิจ ‘คมสันต์ ลี’ ต้อง ‘ผิดให้มากที่สุดและแก้ไขให้เร็วที่สุด’

แชร์ :

Flash Express _ceo

ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช

ธุรกิจขนส่งพัสดุมูลค่า “แสนล้านบาท” มีรายใหญ่ “ไปรษณีย์ไทยและเคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เปิดบริการมานานครองตลาดอยู่ก่อน แต่ในช่วง 5 ปีหลัง การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ดึง “รายใหม่” เข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น หนึ่งในดาวเด่นต้องยกให้ Flash Express ที่ก่อตั้งในปี 2560 โดย “คมสันต์ ลี” ขณะนั้นวัย 26 ปี เขาใช้เวลา 4 ปี สร้าง Flash Group ก้าวสู่ตำแหน่งยูนิคอร์นตัวแรกของไทย ปัจจุบันมีธุรกิจในเครือ 11 บริษัท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อาณาจักร Flash Group มีพนักงานกว่า 50,000 คน นอกจากประเทศไทย ได้ขยายธุรกิจขนส่งพัสดุไปยังต่างประเทศที่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาว ด้วยเป้าหมายผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรของอาเซียน

วันนี้ Flash Group มาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็น fairy tale วงการสตาร์ทอัปของประเทศไทยก็ว่าได้

ตามดูเส้นทาง “กว่าจะเป็นยูนิคอร์น” ของชายหนุ่มจากดอยวาวี จังหวัดเชียงราย  “คมสันต์ ลี” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวการก่อตั้ง Flash Group และก้าวต่อไปหลังจากนี้ บนเวที Inclusive Growth Days empowered by OR

บทเรียนธุรกิจ “ผิดให้มาก-แก้ไขให้เร็ว”

นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจขนส่งพัสดุ Flash Express จากการส่งของหลัก 1,000 ชิ้นต่อวัน มาวันนี้กว่า 1,000,000 ชิ้นต่อวัน ตลอดเส้นทาง 5 ปีของแฟลช คุณคมสันต์ เล่าว่าสิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญให้ก้าวมาถึงวันนี้ คือ “ผิดให้มากที่สุดและแก้ไขให้เร็วที่สุด” เพราะเวลาของสตาร์ทอัปไม่ได้มีเยอะ ทรัพยากรมีจำกัด ทั้งเรื่องเงินทุน และอื่น ๆ จึงต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้เร็ว แม้จะมีความผิดเกิดขึ้น แต่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีเวลาเพียงพอกับการทำงานต่อไป

“หลายครั้งในช่วงเริ่มต้นของสตาร์ทอัป เราทำ 100 โครงการ อาจสำเร็จแค่ 1 โครงการ หรือบางครั้งแทบมองไม่เห็นปลายทางว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ แต่สุดท้ายเมื่อธุรกิจเกิดได้จริง ก็มาจากการแก้ไขปัญหาสิ่งเล็ก ๆ ทีละอย่าง เมื่อมารวมกันก็กลายเป็นภาพใหญ่ ทำธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงได้เหมือนความฝันและความตั้งใจในการสร้าง Flash ขึ้นมา”

flash quote

อีกบทเรียนสำคัญคือ ต้องมี Plan B เสมอ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาต่าง ๆ และทำให้ธุรกิจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่าง Flash มีความตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าจะเป็นผู้ให้บริการ “อีคอมเมิร์ซ” ครบวงจร กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องเปลี่ยนแผนมานับร้อยครั้ง บางครั้งเปลี่ยนกันแบบรายสัปดาห์

การทำงานสตาร์ทอัปในช่วงก่อตั้งจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ดังนั้นจึงต้องพูดคุยและทำความเข้าใจกับทีมงานตั้งแต่วันแรกว่า “นี่ไม่ใช่หนทางที่ง่าย แต่เป็นหนทางที่ลำบากมาก” การเข้ามาร่วมงานจึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบัน Flash มีพนักงานในประเทศไทยและต่างประเทศกว่า 50,000 คน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกคนปรับตัวเปลี่ยนให้ทันตามเหตุการณ์

การเลือกเพื่อนร่วมงานของ Flash อาจไม่ใช่คนที่เก่งสุด แต่สิ่งสำคัญคือ “เป็นคนที่มีความฝันเหมือนเรามากที่สุด” เพราะช่วงเริ่มต้นทำสตาร์ทอัป สิ่งที่ยากที่สุดคือความอดทน ในสถานการณ์ที่ยังลำบาก ยังมีรายได้ไม่สูง ธุรกิจยังไม่มีคนรู้จัก เป็นช่วงเวลาที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้

สำหรับสตาร์ทอัป ความฝันเป็นสิ่งที่เราเชื่อ แต่คนอื่นยังไม่เชื่อ หน้าที่ของเรา คือทำให้คนที่มาจับมือร่วมเดินไปกับเรา เชื่อในความฝันเดียวกัน

 

แม้วันนี้ Flash Group จะได้ชื่อว่าเป็นยูนิคอร์นบริษัทแรกของไทย ด้วยมูลค่ากิจการกว่า 30,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ คุณคมสันต์ มักจะพูดกับคนในองค์กรเสมอว่า “การเป็นยูนิคอร์นวันนี้ไม่ได้ต่างกับวันที่เราเริ่มต้นธุรกิจ” เพราะยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องทำ ยังมีความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลารออยู่

“ในสมรภูมิธุรกิจขนส่ง เรายังยืนอยู่บนพื้นที่หน้าด่านของสงครามอยู่ทุกวัน ยังนอนไม่หลับ ต้องต่อสู้แข่งขันต่อไป และยังตื่นเต้นกับความฝันของเราในบทบาทอีคอมเมิร์ซครบวงจร ที่อาจเป็นจริงได้ในเร็ว ๆ นี้”

เริ่มต้นยุคแรกแบบ “อันธพาล”

เมื่อกลายเป็นซีอีโอระดับยูนิคอร์นที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ต้องเจอกับแรงกดดัน ทั้งจากนักลงทุน หุ้นส่วนธุรกิจ รวมทั้งลูกค้า

คุณคมสันต์ เปรียเทียบให้ฟังว่า “การรับแรงกดดันต่าง ๆ ก็เหมือนตอนที่เรายังไม่ได้ใส่รองเท้า จึงไม่กลัวว่าจะเจอฤดูฝนหรือฤดูแล้ง เพราะไม่ต้องกลัวรองเท้าสกปรก แต่เมื่อเริ่มมีรองเท้าใส่ ก็จะกังวลว่ารองเท้าจะเปียก จะสกปรกหรือเปล่า”

เหมือนกับช่วงเริ่มต้นสตาร์ทอัป กล้าลองผิดลองถูก จึงมีความสุขมากกว่าตอนเป็นยูนิคอร์น ที่อยู่บนความคาดหวังของหุ้นส่วนธุรกิจและลูกค้า แม้หลายคนจะบอกว่าบริษัทมีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ “การลืมว่าเราเป็นใคร ผ่านมาทางไหนและหาทิศทางไปไม่เจอ”

องค์กรก็เช่นกัน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “เราหยุดเปลี่ยนแปลง หรือไม่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง นี่จึงเป็นความท้าทายที่สุดในการบริหารองค์กรที่คนมองว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

Flash เริ่มต้นยุคแรกแบบ “อันธพาล” คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้องค์กรอยู่รอดให้ได้ ต้องเห็นพระอาทิตย์ในวันพรุ่งนี้ เมื่อมีเพื่อนร่วมงานมากขึ้น สิ่งสำคัญในยุคที่สอง คือ “กฎและกติกา” เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และยุคที่สามในปัจจุบันเริ่มต้นสร้าง Culture เริ่มมีวัฒนธรรมของตัวเอง (แม้หลายองค์กรเริ่มยุคแรกจากการมีวัฒนธรรมของตัวเองก่อน แต่ Flash เริ่มต้นจากทำให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้ก่อน เพราะอยู่ในสนามแข่งขันดุเดือด)

“หากเราได้ผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายจากยุคอันธพาลมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ยุคกฎกติกา ก็จะเข้าสู่ยุค Culture ได้ง่ายขึ้น เพราะวันนี้ไม่ได้มีธุรกิจแค่ในประเทศไทย แต่ได้ขยายไปมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และเตรียมขยายอีกหลายประเทศ ทำให้มีเพื่อนร่วมงานจำนวนมาก จึงต้องสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน”

Flash CEO 2

2 เรื่องสำคัญ อนาคตของ Flash

การเริ่มต้นสตาร์ทอัป สิ่งที่ยากที่สุดคือ “การขาดโอกาส” จึงมองหาคนที่จะให้โอกาสเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ในช่วงที่เริ่ม Scale ธุรกิจ สิ่งที่ยากที่สุดคือ “เราจะเลือกโอกาสอะไร” เพราะโอกาสวิ่งเข้ามาเต็มไปหมด ในจังหวะนี้ จะขยายธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่ ก็จะมีเข้ามาให้เลือก

แต่หลักการสำคัญต้องเตือนใจตลอดเวลา คือ “เรากำลังเดินไปสู่ความฝันเดิมของเราหรือเปล่า” เพราะเมื่อไหร่ที่โอกาสเข้ามาแล้ว “เราหลุดโฟกัส” สิ่งนั้นจะทำให้องค์กรไม่ได้เดินตามทิศทางที่วางไว้ตั้งแต่แรก

วันนี้สิ่งที่ Flash กำลังทำมีอยู่ 2 เรื่อง

1. ทำตามความฝันเดิม คือ เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซดีขึ้น ช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์แข่งขันได้ Flash จะทำสิ่งนั้น

2. การขยายไปต่างประเทศ ทำให้ Flash เป็นผู้ให้บริการครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วที่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาว

การบริหารธุรกิจสไตล์ “คมสันต์ ลี”

องค์กรที่ประสบความสำเร็จจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งยูนิคอร์นในเวลา 4 ปี อย่าง Flash สิ่งสำคัญที่มาจุดนี้ได้คือ แนวคิดการบริหารของ “ผู้นำ” องค์กร

คุณคมสันต์ เชื่อว่าแต่ละองค์กรมีโอกาสแตกต่างกัน แต่โอกาสจะมากขึ้นหรือน้อยลง ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” ว่าจะเห็นโอกาสหรือนำพาองค์กรไปถึงจุดที่มีโอกาสได้หรือไม่

“ผมจบปริญญาตรีราชภัฎ มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ไม่เคยมีโอกาสทำงานใหญ่ขนาดนี้มาก่อน จึงมีความกังวลว่า ผมกำลังเป็นตัวถ่วงองค์กรหรือเปล่า หรือมีคนที่เหมาะสมกว่าผม ที่จะนำพาองค์กรนี้ไปได้ดีกว่าหรือเปล่า แต่เมื่อเดินทางมาถึงวันนี้ เราเรียนรู้ว่าถ้าให้คนอื่นมาทำก็ไม่ง่าย เพราะทุกบาดแผลที่ผมมี ทำให้แข็งแรงขึ้น จนกลายเป็นวันนี้ ที่ Flash เติบโตและผมก็เติบโตไปพร้อมองค์กร”

การเป็น “ผู้นำ” สิ่งสำคัญคือไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดเปลี่ยนแปลง  ความรู้และความสามารถไม่ได้สำคัญไปกว่า “ใจ” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและพัฒนาองค์กร พร้อมกระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานมีค่านิยม Love Your Job เพราะหากรักในงานที่ทำ เพื่อพัฒนาตัวเองและองค์กรเติบโต ก็จะมีความสุขในการทำงานและอยากทำในสิ่งที่รัก ไม่ต้องรู้สึกว่าทำเพราะความจำเป็น

ในวันที่ใคร ๆ ก็มองว่า Flash ประสบความสำเร็จแล้ว แต่คุณคมสันต์ ย้ำว่า “วันนี้เรายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนิยามความสำเร็จของผม คือหยุดทำหรือขายกิจการเมื่อไหร่ นั่นคือประสบความสำเร็จ แต่เมื่อกิจการยังไม่หยุด ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ จึงต้องเรียนรู้และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง”

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจขนส่ง Flash Express ก้าวสู่ยูนิคอร์นมูลค่ากิจการกว่า 30,000 ล้านบาท คุณคมสันต์ ย้ำว่าเขาเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ เพราะมีโอกาสได้เล่าเรียนได้ศึกษาหาความรู้ แม้ว่าพ่อแม่หย่ากันตั้งแต่อายุ 13 ปี เติบโตมากับสถานรับเลี้ยงเด็ก ทำงานส่งตัวเองจนจบมหาวิทยาลัย หากวันนั้นเขาตัดสินใจไปทำงานไม่เรียนต่อ ก็คงไม่เดินทางมาถึงวันนี้

ดังนั้นอีกสิ่งที่เขาให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องการศึกษา หวังว่าเพื่อนร่วมงาน Flash กว่า 50,000 ชีวิต จะได้มีโอกาสดูแลครอบครัวและลูก ๆ ให้ได้ศึกษาและมีชีวิตที่ดีขึ้น และตัวเขาเองก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนส่วนเล็ก ๆ ของประเทศไทยด้านการศึกษา

วันนี้แม้ยังต้องทำงานหนัก แต่การทำงานที่ตื่นมาพร้อมกับความฝันของตัวเองและเพื่อนร่วมงานที่ต้องดูแลอีก 50,000 ชีวิต จึงเป็นความท้าทายที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป

Flash CEO 3

ประวัติ “คมสันต์ ลี”
– คุณพ่อเป็นนักธุรกิจ คุณแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาจีน เป็นพี่ชายคนโต มีน้อง 2 คน เกิดและเติบโตที่ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย พ่อแม่หย่ากันตอนอายุ 13 ปี

– จบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เกรดเฉลี่ย 3.30 (เกียรตินิยมอันดับ 2)

– ระหว่างเรียนเริ่มค้าขาย หาสินค้ามาขายให้ร้านอาหาร นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายให้นักศึกษาจีนที่เรียนมหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนก็ทำงานให้บริษัทคนจีน และเป็นครูสอนภาษาจีน

– หลังจบปริญญาตรี เริ่มทำงานซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวจีน ที่จังหวัดเชียงใหม่

– เห็นโอกาสธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโต ขณะที่บริษัทขนส่งมีรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงก่อตั้ง บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ในปี 2560 ขณะนั้นอายุ 26 ปี ใช้จุดขายค่าบริการเริ่มต้น 19 บาท (ต่ำสุดในเวลานั้น)

– จุดเริ่มต้นทำธุรกิจขนส่ง Flash Express  จากวัยเด็กเติบโตในต่างจังหวัด เห็นว่าสินค้าที่ซื้อมักราคาแพงกว่าพื้นที่ในเมือง แต่สินค้าที่ขายกลับได้ราคาถูกกว่าในเมือง มองว่าความไม่เท่าเทียมตรงนี้มาจากระบบโลจิสติกส์ เชื่อว่าอีคอมเมิร์ซจะมาเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ ทำให้ระบบการสื่อสารและโลจิสติกส์เข้าถึงทุกที่ จึงมีความฝันว่าอยากให้สังคมเมืองและชนบทมีโครงสร้างพื้นฐานเท่าเทียมกัน และวันนี้ Flash กำลังทำความฝันให้เกิดขึ้นจริง

คุณคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ขึ้นเวที Inclusive Growth Days empowered by OR ให้สัมภาษณ์พิเศษ “The Journey of Thailand’s 1st Unicorn กว่าจะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของเมืองไทย”  สัมภาษณ์โดย คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จํากัด ผู้ก่อตั้งเพจ Mission to the Moon

Flash Srichan

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like