นันยางผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบยักษ์ใหญ่คาดการประกาศ “เปิดประเทศและเปิดเรียน” อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีผลให้ความต้องการชุดนักเรียน-รองเท้าเพิ่มสูง ชี้กำลังซื้ออาจเพิ่มทะลุ 2 เท่า หลังต้องเรียนออนไลน์หนีโควิดนาน 2 ปีเต็ม
ดร. จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ของนั
ผู้ปกครองเตรียมจับจ่าย
ดร.จักรพล กล่าวถึงสถานการณ์การจับจ่ายของผู้ปกครองรับเปิดเทอมด้วยว่า กลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกเรียนชั้นเด็กเล็ก และชั้นประถมศึกษาคือกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนชุดนักเรียนใหม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เด็กมีพัฒนาการร่างกายรวดเร็ว และจะเปลี่ยนขนาดรองเท้าให้ใหญ่ขึ้นอย่างต่ำปีละ 1 เบอร์
สำหรับภาพรวมตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนในปี 2565 นั้น ดร.จักรพล ให้ความเห็นว่า ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนโดยรวมจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่ผ่านมาตัวเลขมูลค่าตลาดรวมของรองเท้านักเรียนก่อนวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท พร้อมระบุว่า เฉพาะตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนนั้น นันยางครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 43% ในปัจจุบัน
อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่าจะขยายส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้นในปี 2565 เหตุเพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้เล่นในตลาดลดน้อยลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเพื่อรองรับกำลังซื้อหลังการเปิดประเทศไว้ในระยะยาว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ทุกช่วงเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ในทุกวัน
ด้านคุณชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า “ปัจจุบันรองเท้าผ้าใบของนันยางผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มหลักอย่างชัดเจน ประกอบด้วย
- กลุ่มเด็กนักเรียนที่กำลังซื้อมักจะเกิดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียน
- กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบในตัวสินค้า ซื้อสินค้าใช้งานตลอดทั้งปีต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกสายงานทุกอาชีพ
“เมื่อมีการเปิดประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ก็น่าจะส่งผลทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติ ผู้ประกอบการร้านค้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ใกล้เคียงเดิม ย่อมส่งผลให้ความต้องการรองเท้าผ้าใบในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน”
สต็อกสินค้ารับกำลังซื้อ
สำหรับนันยาง มีการเปิดเผยว่า ได้มีการวางแผนด้านกำลังผลิต – สต็อกสินค้าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2565 เป็นต้นไป โดยสต็อกสินค้าในปัจจุบันมีรองเท้าผ้าใบครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งรองเท้าผ้าใบนักเรียน เช่น รุ่น 205-S หรือนันยาง แฮฟ ฟัน (Nanyang Have Fun) แบบไม่ต้องผูกเชือก รวมถึง นันยาง ซาฟารี (Nanyang ZAFARI) ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย และนันยาง ซุปเปอร์ สตาร์ (Nanyang Super Star) รองเท้าผ้าใบราคาประหยัดเพียง 199 บาท ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้ปกครองในยุคค่าครองชีพพุ่ง
ทั้งนี้ การวางแผนเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ของนันยางในปี 2565 จำเป็นต้องพิจารณาถึงความต้องการสินค้าหรือความจำเป็นในการใช้สินค้าและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับควบคู่กันไป เพราะแน่นอนว่าในสภาวะเศรฐกิจที่ยังไม่มั่นคง การประหยัด การควบคุมค่าใช้จ่ายถือเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในยุคโควิด-19
เด็กเกิดน้อยลง ความท้าทายธุรกิจรองเท้านักเรียน
นอกจากนี้ ผู้บริหารนันยางยังเผยถึงความท้าทายของตลาดรองเท้านักเรียนในไทยด้วย โดย ดร.จักรพล กล่าวว่าส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของคนไทยที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง
“ความท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคืออัตราการลดลงของเด็กเกิดใหม่ ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลรุนแรงนัก เพราะตลาดรองเท้าผ้าใบยังคงมีขนาดที่ใหญ่ ทั้งยังมีพื้นที่ให้ขยายตลาดเพิ่มได้ในทุกมิติ ซึ่งทางออกของรองเท้าผ้าใบยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ขายได้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เช่น นักศึกษา คนทำงาน นักกีฬา หรือคนทั่วไปที่ชื่นชอบในแบรนด์สินค้านันยาง รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างกระแสทางการตลาดให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็ช่วยทำให้เกิดการขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างยิ่งขึ้น”