HomeBrand Move !!‘แฟลช เอ็กซ์เพรส’ โชว์รายได้ 17,000 ล้าน เปิด 2 บริการใหม่ ส่งของชิ้นใหญ่ถึงหน้าบ้าน-รับประกันเวลาจัดส่ง

‘แฟลช เอ็กซ์เพรส’ โชว์รายได้ 17,000 ล้าน เปิด 2 บริการใหม่ ส่งของชิ้นใหญ่ถึงหน้าบ้าน-รับประกันเวลาจัดส่ง

แชร์ :

Flash ex cover

สตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” รายแรกของไทย Flash Express ประกาศรายได้ปี 2564 ที่ตัวเลข  17,000 ล้านบาท ยอดพัสดุทั้งปี  600 ล้านชิ้น เติบโต “เท่าตัว” จากปี 2563 ที่มียอด 300 ล้านชิ้น แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปีนี้ยังเติบโตตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ที่สำคัญไม่ได้เลือกซื้อแค่สินค้าในกลุ่มที่มีขนาดเล็ก เช่น แฟชั่น เสื้อผ้า สินค้า Gadget เท่านั้น แต่สินค้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดูได้จาก 3 อันดับสินค้าเติบโตสูงบนแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ออนไลน์

1. สินค้าประเภทของใช้สัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ฟิตเนส เติบโต 71%  

2. เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เติบโต 63%

3. ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เติบโต 55% 

Flash Bulky ecom

กลุ่มสินค้าเหล่านี้เติบโตมาจากปัจจัยมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดเข้าสู่ปีที่ 3 ผู้คนต้องใช้ชีวิตทำงานและอยู่บ้านมากขึ้น จึงต้องการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นและแคมเปญ กระตุ้นการซื้อสินค้าของแบรนด์และอีมาร์เก็ตเพลสต่างๆ

เปิดบริการรับส่งสินค้าชิ้นใหญ่ถึงหน้าบ้าน

หลังจาก “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เปิดตัวเข้าสู่ธุรกิจขนส่งพัสดุเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยจุดขาย ” เข้ารับฟรีถึงที่และให้บริการไม่มีวันหยุด”  ปัจจุบันผู้เล่นในตลาดขนส่งทุกรายต่างใช้คอนเซ็ปต์นี้เช่นกัน

“ความท้าทายของเรา คือ ต้องมองหาสิ่งที่แตกต่าง แก้ pain point ให้ผู้บริโภค พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน” คุณคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าว 

จากปัจจัยนี้ แฟลช เอ็กซ์เพรส ได้เห็นแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มสินค้าชิ้นใหญ่ที่มียอดขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่การส่งสินค้ากลุ่มนี้ ยังมีข้อจำกัดให้ผู้ส่ง ต้องไปส่งที่สาขาร้านของบริษัทขนส่ง และผู้รับก็ต้องมารับที่สาขาเช่นกัน แม้มีบริษัทขนส่งให้บริการส่งสินค้าชิ้นใหญ่ แต่ทุกรายเพิ่งเริ่มทำตลาด และยังไม่มีรายใดเป็นเจ้าตลาดนี้

Flash Bulky ecom 2

ในจุดนี้ แฟลช เอ็กซ์เพรส จึงนำมาพัฒนาเป็นบริการใหม่  “Flash Bulky” บริการส่งพัสดุขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 5 กิโลกรัม  สูงสุด 100 กิโลกรัม (ขนาดของพัสดุรวมกันทั้ง 3 ด้าน สูงไม่เกิน 400 เซนติเมตร  ความยาวแต่ละด้านไม่เกิน 160 เซนติเมตร)

นอกจากนี้ยังคงคอนเซ็ปต์เข้ารับบริการฟรีถึงที่ (Door to Door Services) พร้อมเปิดให้บริการ 365 วันไม่มีวันหยุด ในอัตราค่าบริการเริ่มต้นเพียง 50 บาท โดยพร้อมให้บริการทั่วประเทศ ด้วยคลังสินค้า 20 แห่ง และจุดกระจายสินค้า 400 สาขา

อีกบริการที่แฟลช เอ็กซ์เพรส เปิดตัวทำตลาดในปีนี้ เป็นบริการเสริมที่มีชื่อว่า Speed Guarantee รับประกันเวลาจัดส่งภายใน 2 วัน หากส่งไม่ถึงตามเวลา จะจัดส่งฟรีและคืนเงิน เป็นบริการที่ออกมาตอบสนองพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องการให้สินค้าถึงมือผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว

การขยายบริการใหม่ทั้ง Flash Bulky และ Speed Guarantee จะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้แฟลช เอ็กซ์เพรสในปีนี้ แม้อัตราการเติบโตไม่มากเหมือนช่วง 4 ปีที่เพิ่งเข้าตลาด จากภาวะการแข่งขันสูงขึ้น

Flash Bulky ecom 3

ปีนี้ขยายเพิ่ม 4 ประเทศอาเซียน

สำหรับทิศทางธุรกิจของแฟลช กรุ๊ป ในปี 2565 วางแผนขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะขยายเพิ่มอีก 4 ประเทศ เริ่มไตรมาสแรกที่ มาเลเซีย โดยปีที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการ สปป.ลาวและฟิลิปปินส์ 

หลังจากเข้าไปให้บริการขนส่งในประเทศต่างๆ  ในกลุ่มอาเซียนแล้ว จะเริ่มจากบริการขนส่งพัสดุในประเทศนั้นๆ  และระยะต่อไปเป็นบริการส่งพัสดุข้ามประเทศในกลุ่มที่มีแฟลช เอ็กซ์เพรส ให้บริการ ปัจจุบันเริ่มให้บริการส่งสินค้าข้ามประเทศระหว่างไทยและลาว

ปัจจุบันแฟลช เอ็กซ์เพรส มีพนักงานกว่า 35,000 คน มีจุดรับส่งพัสดุในประเทศไทยมากกว่า 15,000 แห่ง ประกอบด้วย Flash Shop ,Flash Home และจุด Drop Off ที่ร่วมกับกลุ่มพาร์ทเนอร์หลักอย่าง Cafe Amazon, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT, ศูนย์การค้าบิ๊กซี ,The Living OS และห้างธนพิริยะ (NTP) เป็นต้น

Flash Express revenue 2021

ปี 2564 ทำรายได้ 17,000 ล้านบาท มียอดจัดส่งพัสดุรวม 600 ล้านชิ้น ปีนี้มีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่มีอยู่ 40 แห่งทั่วประเทศ มีแผนขยายพื้นที่เพื่อรองรับกับปริมาณสินค้าในแต่ละวันที่มีมากกว่า 2 ล้านชิ้น  รวมทั้งแผนลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติม เพื่อให้บริการครบวงจร

แม้ธุรกิจขนส่งพัสดุยังมีโอกาสเติบโตได้จากเทรนด์อีคอมเมิร์ซขยายตัวสูง แต่ก็เป็นตลาดที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาต่อเนื่อง มีผู้ประกอบการเดิมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์  มีกลุ่มที่ปรับโครงสร้างดึงผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาเสริมทัพขยายธุรกิจ

แน่นอนว่า “ทุกราย” ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและรายได้ ดังนั้นการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุก็ยังต้องเจอกับ “สงครามราคา” กันต่อไป


แชร์ :

You may also like