HomeBrand Move !!เจาะธุรกิจเดรส เมื่อ “ArpanetGirl” ตั้งเป้าโตทะลุ 100 ล้านผ่าน Covid-19

เจาะธุรกิจเดรส เมื่อ “ArpanetGirl” ตั้งเป้าโตทะลุ 100 ล้านผ่าน Covid-19

แชร์ :

คุณจิรฉัตร พรมสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด

คุณจิรฉัตร พรมสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด

การสร้างธุรกิจในประเทศไทยเป็นเรื่องท้าทายเสมอมา โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยมีแบรนด์ใหญ่ ๆ เข้ามาจับจองพื้นที่เอาไว้แทบทุกวงการ แต่อาจไม่ใช่สำหรับแบรนด์ “อาร์พาเน็ตเกิร์ล” (ArpanetGirl) ชุดเดรสสำหรับเด็กผู้หญิงสัญชาติไทยอายุ 7 ปี ที่วันนี้เติบโตจนมียอดขายใกล้แตะร้อยล้านบาท และมีแผนจะขยายการเติบโตนี้ไปยังต่างแดนแล้วในปี 2022

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผู้ที่ออกมาเปิดเผยถึงเส้นทางการเติบโตนี้ได้ดีที่สุดหนีไม่พ้น คุณจิรฉัตร พรมสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด โดยเธอเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ล และมียอดขายเติบโตมาจนทุกวันนี้ เธอเป็นหนึ่งในคุณแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเลี้ยงลูกสาวอย่างเต็มตัว (ชื่อแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ลก็มาจากชื่อลูกสาว โดยคุณพ่อเป็นคนสายไอทีจึงตั้งชื่อลูกว่า Arpanet ซึ่งย่อมาจาก Advanced Research Projects Agency Network หน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำการศึกษาวิจัยด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มต้น)

arpanet girl

เมื่อต้องลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก คุณจิรฉัตรบอกว่า เธอได้มองหาอาชีพที่อยากทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูก และมองว่า เสื้อผ้าเด็กเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ เพราะพ่อแม่ยุคใหม่มีการใช้จ่ายสูงเพื่อลูกนั่นเอง

อาร์พาเน็ตเกิร์ลจึงเริ่มต้นจากเสื้อผ้าเด็กผู้หญิง โดยในยุคแรก เป็นการซื้อมาขายไป แต่เน้นที่ผ้าดี คุณภาพการตัดเย็บดี และขายในราคาไม่แพง เพื่อให้เป็นราคาที่พ่อแม่สามารถจับต้องได้

หลังจากนั้น เมื่อเริ่มมีฐานลูกค้า และเริ่มทราบความต้องการของตลาด รวมถึงมองเห็นว่า ยังมีช่องว่างบางอย่างที่ตลาดไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มพ่อแม่นักช้อปได้ เช่น การไม่มีเครื่องประดับผมที่เข้ากับชุด อาร์พาเน็ตเกิร์ลก็เริ่มขยับขยายมาสู่การจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าของตนเองในปีที่ 3 ของการทำธุรกิจ

arpanet girl 9

เบื้องหลังการออกแบบชุด

สร้างเรื่องราวให้เสื้อผ้า

ทั้งนี้ จุดเด่นของอาร์พาเน็ตเกิร์ลก็คือ การสร้างเรื่องราว สร้างคาแรคเตอร์ให้เสื้อผ้าเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ

“เราสร้างคาแรคเตอร์ให้เสื้อผ้า เพื่อให้เป็นเสื้อผ้าที่เด็กมีความสุขที่จะใส่ และแม่มีความสุขที่จะช้อป เช่น ทำชุดเป็นธีมต่าง ๆ ธีมสัตว์ มีแมวพ่อแม่ลูก ธีมดอกไม้ เพราะเรารู้ว่าแม่ชอบดอกไม้ ดังนั้นแม่ก็อยากซื้อชุดลูกให้แมทช์กับตัวเองเวลาไปเที่ยว หรือตอนที่ครัวซองฮิต ๆ เราก็มีชุดธีมครัวซอง มีเครื่องประดับเป็นครัวซองด้วย เป็นต้น”

ส่วนเทคนิคในการสร้างเรื่องราวให้กับชุดนั้น คุณจิรฉัตรเล่าว่า มีตั้งแต่พานางแบบตัวจิ๋วไปถ่ายกับร้านครัวซองชื่อดัง ซึ่งเป็นการช่วยแนะนำร้าน – เปิดตัวชุดในคราวเดียวกัน หรือชุดธีมต่างประเทศ (มีการหยิบ iconic ของประเทศนั้น ๆ มาทำชุด เช่น หอไอเฟล ประเทศฝรั่งเศส, หมีของกรุงลอนดอน) ก็มีการพานางแบบไปถ่ายแบบต่างประเทศด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น  ทางแบรนด์ยังมีการทำ Accessories อื่นๆ สำหรับเด็กที่เข้ากับธีมเสื้อผ้าออกมาด้วย เช่น โบว์ผูกผม ที่คาดผม กระเป๋าใบเล็ก ๆ หรือแม้แต่การ์ดคำศัพท์ ตุ๊กตากระดาษ บ้านตุ๊กตา ก็มีเช่นกัน

บ้านตุ๊กตากระดาษ

บ้านตุ๊กตากระดาษ สินค้าพรีเมียมที่ทางแบรนด์ผลิตเพื่อแจกให้ลูกค้าฟรี

Covid-19 ชีวิตเปลี่ยน

สำหรับหลายธุรกิจ เชื่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน อาจทำให้บริษัทเขียนตำรา – คัมภีร์แห่งการปรับตัวได้กันเป็นเล่ม ๆ ในส่วนของอาร์พาเน็ตเกิร์ลก็เช่นกัน โดยในตอนนั้น คุณจิรฉัตรเล่าว่า เป็นเวลาเดียวกับที่ทางแบรนด์ตัดสินใจถอนตัวออกจากห้างสรรพสินค้าพอดี

“เราพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของเรามาจากช่องทางออนไลน์ เขาจะไปห้างก็ต่อเมื่อสินค้าบนออนไลน์หมด แต่สินค้าชิ้นนั้นยังมีที่ห้าง เราเลยตัดสินใจถอนตัวออกมาจากห้าง และปรับช่องทางการขายเป็นออนไลน์ 100% ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัว แต่เราซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ยังสามารถขายได้ต่อ และเราได้พัฒนาสินค้าเพิ่ม เช่น แมสก์สำหรับเด็ก ซึ่งสามารถทำยอดขายได้หลักล้านบาทเลยทีเดียว”

arpanet girl design.jpg

ทีมงานปรับตัวสู่ Work From Anywhere

นอกจากนั้น เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป (เช่น คนอาจไปเที่ยวไม่ได้ ต้องล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน มีการทำงานแบบ Work From Home) อาร์พาเน็ตเกิร์ลยังมีการออกแบบเสื้อผ้าสไตล์อื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อรองรับเทรนด์ที่คนอยู่กับบ้านมากขึ้น เช่น ชุดนอนพ่อแม่ลูก, เสื้อ, กระโปรง, ชุดเด็กผู้ชาย ฯลฯ เป็นต้น โดยปัจจุบัน ทางแบรนด์มีดีไซเนอร์ 5 คน และเป็นการทำงานที่อิงกับเทรนด์ Work From Anywhere เช่นกัน แถมหนึ่งในทีมดีไซเนอร์ของ ArpanetGirl ยังมีห้องทำงานอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเลยทีเดียว

“ส่วนหนึ่งเพราะพนักงานของเราคุ้นเคยกับการทำงานแบบออนไลน์ ในช่วง Covid-19 ระบาด เราก็ปรับตัวทำงานแบบ Work From Home ประชุมก็ทำผ่าน Zoom กันได้”

arpanet girl 5

รับฟังเสียงจากลูกค้า

ทั้งนี้ การถอนตัวออกจากห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ท่ามกลางมรสุม Covid-19 และประสบความสำเร็จได้นั้น คุณจิรฉัตรเผยว่า จริง ๆ แล้วมาจากการฟังเสียงของลูกค้า และนำมาปรับใช้

“เราพบว่า ผู้บริโภคทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะการซื้อของ ที่ผู้บริโภคจะยึดความสะดวกเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ซื้อ และเราพบว่า คนที่จะไปซื้อของเราที่ห้าง คือลูกค้าที่รู้จักเราจากช่องทางออนไลน์ จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจปรับช่องทางการขายเป็นออนไลน์ 100%”

“เมื่อตอนออกจากห้างแล้ว Covid-19 ระบาด ตอนนั้นเรากังวลว่าคนจะไม่ซื้อ แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย เขายังซื้ออยู่ ด้วยเหตุนี้ เราต้องรับฟังเสียงลูกค้า ว่าเขาแนะนำอะไร เขาอยากได้อะไร ดูว่าเขาชอบอะไร แล้วทำสิ่งเหล่านั้นออกมาให้เขา”

Road to 2022

เมื่อถามว่า ทิศทางต่อไปของอาร์พาเน็ตเกิร์ลคืออะไร คุณจิรฉัตรเผยว่า จะมีการเพิ่มแบรนด์ให้รองรับกลุ่มเด็กผู้ชาย – คุณพ่อมากขึ้น รวมถึงชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน ชุดนอนครอบครัว คาดิแกน Arpanet ส่วนแบรนด์ ArpanetGirl ก็จะยังคงอยู่ และเน้นกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบเหมือนเดิม

นอกจากนั้น ทางแบรนด์มีแผนจะขยายธุรกิจไปสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ช้อปปี้ – ลาซาด้าเพิ่มเติมด้วย และสุดท้ายคือการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ

Arpanet Girl

ส่วนแผนอีกข้อที่อาจมีประโยชน์ต่อธุรกิจอื่น ๆ ไม่แพ้กันก็คือการกระจายการผลิตด้วยการหาโรงงานอื่น ๆ เพิ่มเติม (ปัจจุบัน อาร์พาเน็ตเกิร์ลจ้างผลิตแบบ OEM) ซึ่งการมีหลาย ๆ โรงงานทำให้บริษัทเสี่ยงน้อยลง ในกรณีที่โรงงานต้องปิดตัวเนื่องจากพบคลัสเตอร์การระบาด โดยปัจจุบัน บริษัทมียอดขายต่อเดือนอยู่ที่ 5 – 6 ล้านบาท และมีรายได้เฉลี่ย 60 – 80 ล้านบาทต่อปี

ส่วนปี 2022 นั้น บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 100 ล้านบาท เนื่องจากพบว่าตลาดเสื้อผ้าเด็กมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติของบริษัทเองที่พบว่า ยอดสั่งซื้อในปี 2021 สูงกว่า 10,000 บาทต่อบิลแล้ว  และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2020 ที่ผ่านมาด้วยนั่นเอง


แชร์ :