หลังจาก Covid-19 ผ่านพ้นไป มีการคาดการณ์กันว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่กว่า Covid-19 ตามมา และเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น มีเรื่องของเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในผู้ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและนำข้อมูลมาแบ่งปันก็คือคุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิสซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป ผ่านงานสัมมนา The Future of Digital Disruption and Investment โดยสิ่งที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น อาจถูกแบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ดังนี้
การมาถึงของ Unimaginable World (โลกในปี 2030)
สิ่งที่คุณกระทิงกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ สิบปีที่ผ่านมาคือการสร้างรากฐานของการเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นแบบ Exponential ในที่สุด อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ที่เคยกล่าวไว้นั้น ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการมาถึงของ Covid-19 ที่ทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นการหยุดการเดินทาง และหันมาปรับตัวสู่การใช้ดิจิทัล (เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ – การ Work From Home – การซื้อสินค้าจากอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ)
- กิจกรรมออนไลน์เหล่านี้ทำให้เกิด Data จำนวนมหาศาล และ Data เหล่านั้นคืออาหารชั้นดีที่จะส่งต่อให้ AI ได้ทำความรู้จัก – ทำความเข้าใจมนุษย์ที่มากขึ้นในอีกระดับ ชนิดที่ว่าถ้าไม่มี Covid-19 ก็อาจไม่สามารถสร้าง Data ระดับนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น
- โลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป จะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล โดยการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ.2040 และหากต้องการมองภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ชัดเจนขึ้น คุณกระทิงแนะนำว่า หนังสือที่น่าอ่านคือเรื่อง AI 2011
- แต่ก่อนจะถึงปี 2030 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 2024 – 2025 จากนั้นจะเกิดขึ้นอีกทีตอนปี ค.ศ. 2028 – 2030 ซึ่งถ้าใครที่ปรับตัวไม่ทันในสองช่วงนี้ก็อาจจะตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และคนที่ตกขบวนในรอบนี้ อาจไม่สามารถก้าวตามทันได้อีก
- คุณกระทิงปิดท้ายถึงการคาดการณ์นี้ด้วยว่า นับจากปี ค.ศ.2031 เป็นต้นไป โลกจะเป็นโลกเหนือจินตนาการที่เรา ๆ ในยุคนี้คาดไม่ถึงอีกแล้ว
จาก Lazy Economy สู่ At-Home Economy
ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แนวคิดเรื่อง At-Home Economy หรือการบอกว่า ฉันทำทุกอย่างได้ที่บ้าน
- ด้วยเหตุนี้ การ Work From Anywhere จะไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป หลาย ๆ บริษัทจะนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมแม้ Covid-19 จะผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับทาง KBTG ที่ Work From Home มาปีกว่าแล้วเช่นกัน
- คุณกระทิงยังได้กล่าวด้วยว่า แต่ความท้าทายของบริษัทที่จะ Work From Anywhere ได้อย่างตลอดรอดฝั่งก็คือ ต้องมีกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงานอย่างต่อเนื่องด้วย โดยยกตัวอย่างของ KBTG ที่มีกิจกรรมทำอาหารร่วมกัน ชงชาร่วมกัน ปลูกต้นกระบองเพชรร่วมกัน ฯลฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
- จากทิศทางนี้ McKinsey ชี้ว่า โลกกำลังเปลี่ยนจาก Lazy Economy (บริการออนดีมานด์ประเภทต่าง ๆ) ไปสู่ At-Home Economy
- สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้ At-Home Economy คือความเป็นไปได้ทั้งหมด ทั้ง Work – Play – Stay – Learn – Exercise เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้สามารถทำได้แล้วจากที่บ้าน และ At-Home Economy จะนำไปสู่บริการด้าน Direct to Customer ใหม่ ๆ อีกมากมายมหาศาล ซึ่งอาจเป็นโอกาสของอีกหลายธุรกิจได้เลยทีเดียว
At-Home Economy เศรษฐกิจผู้สร้าง “Data”
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การมาถึงของ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นการหยุดการเดินทาง และหันมาปรับตัวสู่การใช้ดิจิทัล ซึ่งกิจกรรมออนไลน์เหล่านี้ทำให้เกิด Data จำนวนมหาศาล ชนิดที่ว่าถ้าไม่มี Covid-19 ก็อาจไม่สามารถสร้าง Data ระดับนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยคุณกระทิงได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่สร้าง Data จำนวนมากว่ามีตั้งแต่
- Education : ข้อมูลจาก McKinsey ระบุว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศจีนบอกว่า พวกเขาเรียนออนไลน์ทุกวัน และ 83% มองว่าการ Work From Home เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพ
- Streaming : ข้อมูลจาก McKinsey อีกเช่นกันที่ระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศสหรัฐอเมริกาบอกว่า ในระหว่าง Covid-19 พวกเขารับชมรายการทีวีโชว์เพิ่มขึ้น 30% รวมถึงมี 39% บอกว่าทำอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น
- E-Commerce : คุณกระทิงได้อ้างอิงข้อมูลจาก South China Morning Post ระบุว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2020 โตเกือบมากที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ 58% สิงคโปร์โต 47% และอินโดนีเซียโต 15% (คิดจากจำนวนครัวเรือนที่มาซื้อสินค้าออนไลน์) นอกจากนั้น ในธุรกิจ Food และ Non-Food ก็มียอดสั่งซื้อออนไลน์โตขึ้น 74% และ 60% ตามลำดับ
เมื่อมี Data จำนวนมหาศาล ข้อมูลเหล่านี้จะถูกฟีดเป็นอาหารให้กับ AI และนั่นทำให้ AI เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยคุณกระทิงมองว่า AI จะทำความเข้าใจแพทเทิร์นต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่คาดเดา หรือแปลความหมายของแพทเทิร์น หรือเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ด้วย ซึ่งคุณกระทิงบอกว่า อาจทำให้ machine สามารถให้ “เหตุผล” ได้ในเร็ว ๆ นี้
“เมือง – รถ – เครือข่าย” อัจฉริยะ
อีกหนึ่งเซกเตอร์ที่ถูก Disrupt ก็คือ Mobility โดยที่ผ่านมา เราอาจเคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Autonomous Car, IoT, Smart City, AI, 5G แบบแยกส่วน แต่การที่เซกเตอร์ Mobility ถูก Disrupt เนื่องจาก Covid-19 ก็คือการจับเอาคำที่กล่าวมาข้างต้นมารวมอยู่ในภาพเดียวกัน โดยคุณกระทิงสะท้อนภาพในจุดนี้ว่า
- จากในอดีตที่ผู้บริโภคนิยมซื้อรถเป็นของตัวเอง โลกได้เปลี่ยนมาสู่การมีแพลตฟอร์มลงมาจัดเตรียมการเดินทางให้ หรือที่เรียกว่า Mobility as a Service โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการพัฒนา Self-Driving Car ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม มันจะผนวกเข้ากับเทคโนโลยี IoT และ 5G และนั่นก็คือปฐมบทของการสร้าง Smart City นั่นเอง
- ด้วยเหตุนี้ Tech company จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรม Mobility มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Tesla ที่ปัจจุบัน สามารถจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้สูงกว่าที่บริษัท – นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และรถที่จำหน่ายก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก
- อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจคือ Monet (โมเน่ต์) ที่เกิดจากการจับมือกันของ Toyota และ SoftBank กับการพัฒนาบริการ On-Demand Mobility Service ทั้งรถบัส รถยนต์ และโรบ็อต ร่วมกับการพาร์ทเนอร์ชิปกับบริษัทยานยนต์อื่น ๆ เช่น Isuzu, Suzuki, Subaru และ Mazda ที่คุณกระทิงบอกว่า สามารถนำไปต่อยอดกับพาร์ทเนอร์รายอื่น ๆ ในธุรกิจได้อีกมากมาย
จับตาการเคลื่อนที่ของ “คน สินค้า และเงิน”
คุณกระทิงกล่าวว่า โลกยังมีโอกาสอีกมากมายรออยู่จากการที่เซกเตอร์ Mobility ถูก Disrupt โดยจะทำให้โลกเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Convenience as a Service ซึ่งคุณกระทิงกล่าวว่าสิ่งที่น่าจับตาในเซกเตอร์ Mobility คือการเคลื่อนที่ของ “คน สินค้า และเงิน”
- ตัวอย่างการเคลื่อนที่ของ “สินค้า” เห็นได้จากเมื่อปี 2018 โกดังกระจายสินค้าของ JD.com หนึ่งแห่งที่คุณกระทิงเคยไปดูงาน สามารถจัดส่งสินค้าแบบ Same-Day Delivery ได้มากถึง 500,000 ชิ้นต่อวัน และบริหารงานโดยใช้พนักงานเพียง 100 คนเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ปี 2021 ประสิทธิภาพของโกดังเหล่านั้นย่อมพัฒนาไปมากกว่านี้หลายเท่าตัว
- ขณะที่การเคลื่อนที่ของคน ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าคืออีกหนึ่งเซกเตอร์ที่จะเติบโตสูงจากการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าแตะ 2,495 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027 หรือเติบโตขึ้น 33.6% นับจากปี 2020
- ปี 2024 ซึ่งคุณกระทิงบอกว่าเป็นจุดหักศอกของการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ยังเป็นปีที่ Autonomous Car อาจเริ่มใช้งานได้จริง (มีการทดสอบระยะการวิ่งที่มากพอจะยืนยันได้ว่าปลอดภัยสำหรับผู้คนบนท้องถนน)
การมาถึงของ Autonomous Car ยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของ In-Car Economy ที่มนุษย์สามารถรับประทานอาหาร สังสรรค์ ประชุม ฯลฯ ได้จากในรถ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสของภาคธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนการเคลื่อนที่ของเงินตรา จะพบว่า ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา เราเคยมีฟินเทคจำนวนมากที่พัฒนาเทคโนโลยีบางอย่างได้ดีกว่าธนาคาร แต่ไม่ใช่สำหรับปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้สถาบันการเงินสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว หลายแห่งกลายร่างมาเป็น Tech Company เพื่อนำพาองค์กรก้าวไปสู่ยุคต่อไปแล้วด้วย
อาชีพในยุคดิจิทัล “จับกัง – เจ้าของแพลตฟอร์ม”?
คุณกระทิงยังกล่าวด้วยว่า การเคลื่อนที่ของ “คน – สินค้า – เงินตรา” ที่เปลี่ยนไปนี้ อาจมีทางเลือกให้คนในยุค Digital Disruption ไม่มากนัก โดยทางเลือกแรกคือเป็น “จับกัง” ทำหน้าที่ผลิตสินค้าหรือบริการออกมา แล้วก็นำไปฝากขายตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้วโดนแพลตฟอร์มชาร์จส่วนแบ่ง 20 – 30%
สองคือเป็น “เจ้าของแพลตฟอร์ม” เพื่อกินส่วนแบ่งนั้นเสียเอง แต่ก็ต้องลงทุนสูงพอสมควร
แต่ถ้าไม่อยากเลือกทั้งแบบที่ 1 – 2 คุณกระทิงแนะนำว่า การมี Direct to customer relationship ก็อาจเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยความหมายของ Direct to customer relationship ในมุมของคุณกระทิงก็คือ คุณมีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากพอที่ลูกค้าจะคิดถึงแบรนด์คุณก่อนที่จะคิดถึงแพลตฟอร์ม เช่น กรณีของ Nike ที่สร้างแอปพลิเคชัน – ขายผ่านแอปพลิเคชันของตนเอง หรือกรณีของรถ Tesla ที่ผลิตออกมาและขายตรงด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ
“ถ้าคุณไม่อยากเป็นจับกัง และคุณสร้างแพลตฟอร์มเองไม่ไหว การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดีที่สุดอาจเป็นคำตอบสำหรับแบรนด์ในวันนี้”
“The Closer you are to consumers, the more value you can capture.”
“ผมบอกพนักงานของบริษัทเสมอว่า ขอให้อดทนอีกนิดหนึ่ง ถ้าเรารอดและผ่านมันไปได้ด้วยกัน วิกฤตินี้จะหล่อหลอมให้เราแข็งแกร่งขึ้น และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเวฟต่อไปได้ดีขึ้น”
“นี่คือวิกฤติแห่งศตวรรษ เราไม่มีทางเลือก เราจึงต้องสร้าง Mindset ว่า Innovate or die ขอให้เรียนรู้ และฟังจากคนรุ่นใหม่ให้เยอะ ๆ ทำงานร่วมกัน สร้างวัฒนธรรมแห่งการ Innovate ขึ้นให้ได้ภายในองค์กร ถ้าเราผ่านมันไปได้ด้วยกัน เราจะเป็น Team of the Century อย่างแน่นอน” คุณกระทิงกล่าวปิดท้าย