HomeDigitalธุรกิจหุ่นยนต์เปลี่ยน Pepper ไม่ได้ไปต่อ สวนทางหุ่นยนต์บริการในจีนกำลังเติบโตแทนที่

ธุรกิจหุ่นยนต์เปลี่ยน Pepper ไม่ได้ไปต่อ สวนทางหุ่นยนต์บริการในจีนกำลังเติบโตแทนที่

แชร์ :

shutterstock_pepper robot softbank

หุ่นยนต์ Pepper

ธุรกิจหุ่นยนต์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดอาจเป็นการประกาศของแผนกโรโบติกส์ของซอฟต์แบงค์ กรุ๊ป (SoftBank Group) ที่ออกมายุติการผลิตหุ่นยนต์เปปเปอร์ (Pepper) แล้วหลังพบความต้องการลดลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากที่ Pepper เคยเป็นหุ่นยนต์แห่งความหวัง ว่าจะเข้ามาแทนที่พนักงานมนุษย์ตามห้างสรรพสินค้า หรือพิพิธภัณฑ์ในวันที่ประเทศต่าง ๆ ขาดแคลนแรงงาน แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่ค่อยดีต่อ Pepper เช่นกัน เนื่องจากทางเจ้าของเทคโนโลยีอย่าง SoftBank Group ได้ออกมาบอกว่า พบความต้องการหุ่นยนต์ Pepper ลดลง จึงทำให้ทางบริษัทต้องสั่งยุติการผลิตหุ่นยนต์ดังกล่าว พร้อมบอกว่า จะกลับมาผลิตอีกครั้งหากพบว่ามีความต้องการจากลูกค้ามากพอ

ส่วนหนึ่งที่นำไปสู่จุดนี้อาจมาจากการระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ห้างสรรพสินค้า – โรงแรม – สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ และจำกัดการเดินทาง และทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานหุ่นยนต์ต้อนรับอีกต่อไป

รายงานจาก Nikkei ระบุด้วยว่า โรงงานของ Foxconn ซึ่งเป็นผู้ผลิต Pepper ได้ยุติการผลิตไปตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่ผ่านมาแล้ว และยังมีสินค้าคงเหลือในสต็อกอยู่

ส่วนการทำตลาดหุ่นยนต์ Pepper นั้น หลังจากเริ่มวางขายอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2015 โดยเน้นเจาะกลุ่มห้างสรรพสินค้า หรืองานที่เน้นการต้อนรับผู้คน มาถึงปัจจุบัน ทางบริษัทได้เปลี่ยนแนวทาง เน้นไปที่การเช่าใช้สำหรับลูกค้าองค์กรแทน หรือหากผู้บริโภคทั่วไปต้องการซื้อไปใช้ส่วนตัวก็สามารถทำได้ในราคา 217,800 เยน

robot china Shanghai Jingwu1

หุ่นยนต์จากค่าย Shanghai Jingwu Intelligent Technology สำหรับให้บริการในโรงแรม

หุ่นยนต์บริการเติบโตสูงในจีน

แต่หากหันไปทางจีนแผ่นดินใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ปีที่ผ่านมา จีนจะเผชิญวิกฤติ Covid-19 เช่นกัน แต่ภาพของธุรกิจหุ่นยนต์กลับตรงกันข้าม เพราะกำลังเติบโตในทุก ๆ ภาคส่วน

เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะกำลังซื้อในจีนยังมีอยู่ และหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยเสริมทัพ – ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ความแตกต่างจึงมีเพียงแค่ หุ่นยนต์ที่กำลังเป็นที่ต้องการในจีนนั้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาท่าทางคล้ายมนุษย์อย่าง Pepper แต่ต้องมีฟังก์ชันที่รองรับกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ยกตัวอย่างธุรกิจโรงแรม สิ่งที่โรงแรมจีนต้องการคือหุ่นยนต์สำหรับช่วยงานบริการ เช่น นำสิ่งของต่าง ๆ ไปให้แขกถึงห้องพัก เสิร์ฟอาหาร คอยช่วยแนะนำเส้นทาง คอยดูแลความปลอดภัย หรือไม่ก็ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิของแขกที่เข้าพัก โดยปัจจุบันมีหุ่นยนต์บริการอยู่ตามโรงแรมประมาณ 1,000 แห่ง และคาดว่าจะขยายเพิ่มเป็น 3,500 แห่งภายในสิ้นปีนี้

นอกจากธุรกิจโรงแรมแล้ว ร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องการหุ่นยนต์ทำงานเช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างคือผลงานของ Keenon Robotics สตาร์ทอัพในเซี่ยงไฮ้ที่พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ และสามารถนำอาหารไปเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง โดยตอนนี้ หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารของบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ได้ราว 85%

shutterstock_keenon robotics

หุ่นยนต์จาก Keenon ขอบคุณภาพจาก shutterstock

สำหรับเป้าหมายของ Keenon Robotics ในปี 2021 พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะออกไปบุกต่างประเทศให้ได้อย่างน้อย 10 ประเทศ โดยตลาดเป้าหมายมีทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง  ที่สำคัญ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank Group และ Alibaba Group Holding ร่วมลงทุนกับพวกเขาด้วย

ทั้งนี้ ยอดขายของหุ่นยนต์บริการในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2020 ตลาดหุ่นยนต์ดังกล่าวมียอดขายสูงถึง 2,940 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 34% เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19

ส่วนบริษัท Keenon นั้น หุ่นยนต์ของพวกเขา สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 10,000 ตัวในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถูกจัดว่าเป็นยูนิคอร์นไปแล้วเรียบร้อย

Xiaomanlv alibaba robot delivery

หุ่นยนต์ขนส่ง Xiaomanlv (ขอบคุณภาพจากอาลีบาบา)

อีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตของหุ่นยนต์สูงคือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เห็นได้จากการที่อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ออกมาประกาศใช้หุ่นยนต์ส่งสินค้า 1,000 ตัว บริเวณมหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีนและชุมชนใกล้เคียง (ในระยะแรกเน้นไปที่เมืองใหญ่เช่น หังโจว เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง) ภายในปีหน้า

หุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า Xiaomanlv ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การขนส่งแบบ last-mile delivery สำหรับชุมชนและพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษาถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเถาเป่า – ทีมอลล์นั่นเอง

นอกจากนี้ อาลีบาบายังมีแผนจะพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับขนาดใหญ่เพื่อขยายระยะทางการส่งสินค้าไปยังบริเวณอื่น ๆ ด้วย

จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดหุ่นยนต์บริการของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2023 เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อหันมามองประเทศไทย ปี 2023 อาจเป็นปีที่ประเทศไทยก้าวข้ามจากวิกฤติ Covid-19 มาได้แล้วเรียบร้อย แต่ในวันเดียวกันนั้น ก็อาจเป็นวันที่ประเทศต่าง ๆ รอบตัวเราก้าวไปไกลจนเราตามไม่ทันแล้วก็เป็นได้

Source

Source

Source

Source

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

https://www.number24.co.th/


แชร์ :

You may also like