HomeReal Estate & Condoเปิดแผน “สิงห์ เอสเตท” ทุ่มซื้อ “นิคมอุตสาหกรรม” ต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรธุรกิจโรงไฟฟ้า

เปิดแผน “สิงห์ เอสเตท” ทุ่มซื้อ “นิคมอุตสาหกรรม” ต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรธุรกิจโรงไฟฟ้า

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กอปรกับความผันผวนที่ยากจะคาดเดามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การทำธุรกิจด้วยการพึ่งพิง Core Business เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันธุรกิจหลักเดิมยังดำเนินไปได้ แต่อนาคตหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ดังเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19  ใครจะรู้ว่าธุรกิจหลักที่ทำอยู่นั้นจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ “Diversify” จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เพราะจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในทุกสถานการณ์ (Resilient Business)

เช่นเดียวกับ “สิงห์ เอสเตท” (Singha Estate) หนึ่งในองค์กรที่ปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ด้วยการมองหา “โอกาส” ใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง และเสริมรายได้ให้ธุรกิจเดิมเติบโตต่อไป จนแตกไลน์ไปยังธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยการเข้าซื้อหุ้นจากโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม 3 แห่ง (อ่านต่อ) และวันนี้กำลังขยับตัวเองไปอีกขั้นสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แนวทางการขยายธุรกิจนิคมอุตสหกรรมของสิงห์ เอสเตทจะเป็นอย่างไร ตามมาดูกลยุทธ์ไปพร้อมๆ กัน

Diversify คำตอบของธุรกิจในยุค “ผันผวน” และ “เปลี่ยน” เร็ว

หากเอ่ยชื่อ “สิงห์ เอสเตท” เดิมทีคนส่วนใหญ่จะนึกถึงผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ รีสอร์ทและโรงแรม เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาณาจักรสิงห์ เอสเตทเติบโตมาถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไปมากมายโดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ทำให้ สิงห์ เอสเตท พยายาม Diversify ออกไปยังธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในทุกๆ สถานการณ์ ขณะเดียวกันต้องการต่อยอดธุรกิจเดิมให้เติบโต

สำหรับการ Diversify ของสิงห์ เอสเตท อาจจะแตกต่างไปจากองค์กรทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะแตกไลน์จากธุรกิจเดิมที่องค์กรถนัด แต่สิงห์ เอสเตท เลือกขยายไปยัง “น่านน้ำใหม่” เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้องค์กร ขณะเดียวกันธุรกิจใหม่ต้องสามารถเติมเต็มหรือส่งเสริมธุรกิจหลักเดิมที่ทำอยู่ให้เติบโตต่อไปได้ด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นโจทย์ค่อนข้างหิน เพราะแค่การมองหาธุรกิจใหม่ในสถานการณ์ตลาดเช่นนี้ ก็ยากแล้ว แต่ธุรกิจใหม่ยังต้องสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมให้เติบโตด้วย

แม้ว่าจะ “ยาก” และ “ท้าทาย” แต่ในทางกลับกัน หากสามารถทำได้ นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนแล้ว ยังจะสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันจากรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ สิงห์ เอสเตทเริ่มศึกษาธุรกิจใหม่ทันที จนพบว่า ธุรกิจที่จะสร้างโอกาสใหม่คือ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเพราะมองว่าพลังไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน อีกทั้งความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้านับวันสูงมากขึ้น สิงห์ เอสเตทจึงตัดสินใจลุยธุรกิจโรงไฟฟ้า ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าและความร้อนร่วมจำนวน 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู้ด วัลเลย์ ไทยแลนด์

โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สองและสาม เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์

ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจใหม่ จาก “โรงไฟฟ้า” สู่ “นิคมอุตสาหกรรม” 

หลังจากเข้าไปลงทุนธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่นาน สิงห์ เอสเตท ก็แตกไลน์สู่ “นิคมอุตสาหกรรม” ธุรกิจใหม่ตัวที่ 2 ต่อทันที ด้วยการลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นนิคมที่มีโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งตั้งอยู่ โดยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท แบ่งเป็น 510 ล้านบาทเป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่ใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เหตุผลที่ทำให้สิงห์ เอสเตท เข้าลงทุนในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท บอกว่า เกิดจากการมองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ขณะที่ภาคกลางของไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89% และคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังพบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยภาคกลางของไทยมีสัดส่วนการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563 ประกอบกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย ที่สำคัญ กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม จากปัจจัยข้างต้น ทำให้สิงห์ เอสเตท มั่นใจ และตัดสินใจลุยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

ปักธงรายได้โตยั่งยืน ตั้งเป้า 3 ปี โต 3 เท่า

คุณฐิติมา ยังบอกว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก ทั้งยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา

ดังนั้น หากผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า คุณฐิติมา เชื่อว่า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เพราะโดยทั่วไปนิคมอุตสาหกรรมคือ หนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ซึ่งการดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง และที่สำคัญ สิงห์ เอสเตท มีเป้าหมายดันรายได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดาให้เพิ่มเป็น 3 เท่า ภายใน 3 ปี หรือสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566


แชร์ :

You may also like