HomeInsightสรุปมุมมองอาเซียนต่อผลกระทบโควิด คนไทยกังวล “รายได้หด-เงินออมหาย” เศรษฐกิจฟื้นรั้งท้ายภูมิภาค

สรุปมุมมองอาเซียนต่อผลกระทบโควิด คนไทยกังวล “รายได้หด-เงินออมหาย” เศรษฐกิจฟื้นรั้งท้ายภูมิภาค

แชร์ :

Ipsos survey

ทั่วโลกอยู่กับ COVID-19 มาปีกว่า สถานการณ์ปีนี้ก็ยังไม่แน่นอน จากการระบาดซ้ำระลอกใหม่ พิษโควิดส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือน พฤติกรรมการใช้จ่าย กิจกรรมไลฟ์สไตล์ ความกังวลและความต้องการการดูแลจากรัฐ วันนี้คนอาเซียนรวมทั้งไทย เปลี่ยนแปลงอย่างไรนับตั้งแต่เกิดโควิด มาอัปเดททุกมุมมองจากผลวิจัยล่าสุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อิปซอสส์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดผู้บริโภคได้เปิดเผยข้อมูลวิจัยชุดล่าสุดเรื่อง  “วิถีชีวิตท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน

โดยรายงานวิจัยชุดนี้สำรวจผู้บริโภคที่อยู่ในการระบาดโควิด 3 ครั้งในช่วงเวลาดังนี้ ครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน 2563 ครั้งที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ 2564  (ในประเทศไทย คือช่วงหลังโควิดระลอกแรกและระลอก 2) จากกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ประเทศละ 500 คน ได้แก่ สิงคโปร์  มาเลเซีย อินโดนีเซีย  ประเทศไทย  ฟิลิปปินส์  และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 3,000 คน สำหรับการศึกษาในแต่ละครั้ง

คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และ คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด อิปซอสส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าข้อมูลวิจัยชุดนี้อิปซอสส์แสดงให้เห็นภาพรวมของผลกระทบจากโควิด-19 และเปิดเผยความเห็นของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน พฤติกรรมการใช้จ่าย ไลฟ์สไตล์ และความกังวลของผู้คนในอาเซียน รวมไปถึงความต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความหวังที่แทบทุกคนต่างรอคอย

ipsos covid income

“เงินออม” คนไทยลดลงมากสุดในอาเซียน

รายงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นและความกังวลต่อสถานการณ์โดยรวมโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งพบสัดส่วนความกังวลของผู้คนในระดับสูงของการแพร่ระบาดของทั้ง 3 ครั้งในการสำรวจ

โดยอัตราความกังวลโดยรวมของคนไทยกับทั้ง 3 ครั้ง พบว่ามีสัดส่วนที่  83% (พ.ค.2563) 77% (ก.ย.2563)  78% (ก.พ.2564) ซึ่งมีระดับความกังวลที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ (ยังไม่สำรวจระลอก 3)

รายได้ครัวเรือนและเงินออม เป็นประเด็นที่ผู้คนได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ การสำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คนอินโดนีเซียมีรายได้ครัวเรือนลดลงในระดับต่ำสุดจากทั้ง 6 ประเทศอาเซียน คือ ลดลงในอัตรา 82%  ขณะที่ไทย ตามมาที่อัตรา 80%

ในส่วนของเงินออมพบว่าคนไทยมีเงินออมลดลงโดยเฉพาะหลังการระบาดช่วงต้นปีนี้  คนไทย 80% บอกว่ามีเงินออมลดลง ซึ่งลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งอาเซียนที่อยู่ที่ 70%

Enviro_consumer trend

หวั่นล็อกดาวน์ซ้ำ

ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศรวมทั้งไทย ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เห็นได้ว่าขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงระบาดใหม่ระลอก 3

จากการสำรวจผู้คนในอาเซียนว่าหากรัฐบาลนำมามาตรการ “ล็อกดาวน์” กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อระงับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในอนาคต มีความกังวลต่อที่อาจเกิดขึ้นในระดับใด และเป็นกังวลว่าจะส่งผลต่อรายได้หรือไม่

พบว่าความกังวลของคนไทยในคำถามดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้นความกังวลยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการสำรวจล่าสุด ในอัตรา 83% (สูงกว่าการสำรวจ 2 ครั้งในปี 2563)

วิตกเศรษฐกิจไทยฟื้นรั้งท้ายอาเซียน

หลังจากทั่วโลกต้องอยู่กับโควิด-19 มาแล้วกว่า 1 ปี พบว่า ผู้คนในอาเซียนยังระวังเรื่องการใช้จ่ายต่อไป การสำรวจช่วงต้นปีนี้ ให้มองแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต คนทั้งภูมิภาคอาเซียน รู้สึกดีกับเศรษฐกิจในประเทศของตน ในอัตราเฉลี่ย 30% ส่วนประเทศไทย มีอัตราต่ำสุดในกลุ่ม 6 ประเทศที่ทำการสำรวจ อยู่ที่ 11% ถือว่าเป็นอัตราต่ำลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในปีที่ผ่านมา

หากถามถึงแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้คนในภูมิภาค 42% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศตนจะดีขึ้น เมื่อดูแต่ละประเทศอันดับ 1 อินโดนีเซีย  76%  อันดับ 2 ฟิลิปปินส์  49% อันดับ 3 สิงคโปร์  37% อันดับ 4 เวียดนาม  35% และไทย อันดับ 5 รองสุดท้าย ในอัตรา  30% ส่วนอันดับสุดท้าย อันดับ 6 ประเทศมาเลเซีย 24% สำหรับไทยก็ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน

ipsos covid income

ลดใช้จ่ายสินค้ามูลค่าสูง “บ้าน-รถ”

ด้านพฤติกรรมใช้จ่ายในช่วงต้นปีนี้ พบว่าผู้คนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับจำนวนเงินที่ใช้และไม่ใช้จ่ายกับของชิ้นใหญ่ๆ เช่น บ้าน รถยนต์ หรือแม้แต่การลองใช้สินค้าใหม่ๆ  นอกจากนี้พบว่าคนไทยหันมากักตุนอาหารและของใช้ส่วนตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี (ช่วงระบาดระลอก2 คลัสเตอร์สมุทรสาคร)

จากสถิติผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนต่อกิจกรรมด้านการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย ในช่วงต้นปีนี้ ดังนี้

  • 79% ให้ความสำคัญกับจำนวนเงินที่ใช้ช้อปปิ้ง (อาเซียน 81%)
  • 74% ไปห้างน้อยลง เพราะมาตรการ Social distancing (อาเซียน 72%)
  • 35% กักตุนอาหารและของใช้ส่วนตัว (อาเซียน 29%)
  • 8%   ซื้อสินค้าและเลือกใช้แบรนด์ที่ปกติจะไม่ซื้อเลย (อาเซียน 4%)
  • 19% เลือกซื้อสินค้าในครัวเรือนที่มีราคาแพงกว่าปกติที่เคยซื้อ (อาเซียน 43%)

โดยภาพรวมพบว่าผู้คนอาเซียนกว่า 67% ยังไม่มั่นใจที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ อย่างบ้านหรือรถ โดยเลือกจ่ายสิ่งที่จำเป็นกว่าก่อน  ส่วนการใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นจะถูกระงับไว้ก่อนเช่นกัน

อีกทั้งยังเลือกใช้จ่ายกับ การทำอาหารในบ้าน 42%  ซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 36%  ซื้อของใช้ส่วนบุคคล 27%  ท่องเที่ยว 20%  เสื้อผ้า 15%  ภัตตาคาร-ร้านอาหาร 12%  งานประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม 11%

ipsos covid shop online

ติดหนึบพฤติกรรมช้อปออนไลน์

สถานการณ์โควิดปีก่อน หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อหยุดเชื้อ ทำให้กิจกรรมบนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่น อีคอมเมิร์ซ การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด และสตรีมมิ่ง

“โควิดทำให้นิสัยคนเปลี่ยนไป กลายเป็นว่ากิจกรรมบางอย่างทำมากขึ้นกว่าช่วงปกติก่อนเกิดโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดีย ซื้อของออนไลน์ ใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดเมื่อไปซื้อของในห้าง รับชมสตรีมมิ่ง สัดส่วนสูงขึ้น”

  • 83% บอกว่าช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
  • 86% ใช้ Cashless Payment ในร้านค้าปลีก
  • 57% ช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
  • 54% ใช้ Cashless Payment มากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

vaccine covid19 england

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงระบาดใหม่ ประชากรทั้งไทยและในภูมิภาคต้องการเห็นมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาช่วยเหลือดังนี้ การคุ้มครองอาชีพการงาน 18% ควบคุมราคาสินค้า 15% ปกป้องผู้คนจากภัยจากโควิด 50%  และออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับครัวเรือน 18%

ส่วนมุมมองของคนไทย พบว่าเรื่องที่ต้องการให้รัฐช่วยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือ ปกป้องทุกคนจากภัยจากโควิด 38% และต้องการให้รัฐออกมาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน 33%

โดยมองว่า “วัคซีน” ก็ยังเป็นความหวังที่ผู้คนต่างรอคอย ค่าเฉลี่ยของคนทั้งอาเซียนอยู่ที่ 41% ตั้งใจที่จะรับวัคซีนทันทีเมื่อมีโอกาส 38% ตั้งใจที่รับ มีเพียง 14% ที่อาจจะไม่รับ และอีก 7% ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน

ประเทศไทยพบสัดส่วนความตั้งใจรับวัคซีนในทันทีที่อัตรา 35% ตั้งใจรับ 43% อาจจะไม่รับ 15% และปฏิเสธการรับวัคซีนที่อัตรา 7%  ซึ่งก็เกิดจากความกังวล “ผลข้างเคียง” ของวัคซีน

ดังนั้น การได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ทันเวลา มีจำนวนเพียงพอ และการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้แผนการฉีดวัคซีนให้คนไทยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดในครั้งนี้

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like