HomeBrand Move !!โฆษณาฟื้นแล้ว! ไม่หวั่นโควิดคลัสเตอร์ใหม่ สินค้าแห่ทำตลาดซัมเมอร์ 1,300 แคมเปญ

โฆษณาฟื้นแล้ว! ไม่หวั่นโควิดคลัสเตอร์ใหม่ สินค้าแห่ทำตลาดซัมเมอร์ 1,300 แคมเปญ

แชร์ :

media spending tv

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

วิกฤติ COVID-19 ฉุดอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2563 ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เม็ดเงินอยู่ที่ 73,720 ล้านบาท -18% หลังเจอโควิดคลัสเตอร์ใหม่ สมุทรสาคร ตามต่อด้วยตลาดบางแค เริ่มเห็นชัดว่าคนไม่ตระหนกกับสถานการณ์และไม่กระทบระดับ “เมกะ เอฟเฟกต์” เหมือนระลอกแรก ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่เดือนมีนาคม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีข่าวการแพร่ระบาดของโควิดคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบางแค แต่ดูเหมือนสถานการณ์ความตื่นตระหนกของประชาชนจะมีไม่มากเท่าครั้งที่ผ่านๆ มา อาจเป็นเพราะความเคยชิน การทำใจยอมรับกับการระบาดในคลัสเตอร์ต่างๆ หรืออาจเป็นเพราะการปรับตัวในชีวิตประจำวันที่มีการป้องกันตัวเองจากการติดต่อจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งโฆษณา

เดือนมี.ค.เม็ดเงินฟื้นตัว ซัมเมอร์พุ่ง 1,300 แคมเปญ   

คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI) คาดการณ์วิกฤติโควิดหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน แม้อาจกินเวลามากกว่า 1 ปีก็ตาม แต่เริ่มเห็นสัญญาณต่างๆ ดีขึ้น ทำให้ MI คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปี 2564 เติบโต 5-10% เป็นอย่างน้อย ซึ่งก็มีโอกาสทำได้มากกว่านี้ คาดจบปีเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาน่าจะอยู่ที่ 79,600 ล้านบาท

สัญญาณโฆษณาฟื้นตัวเริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีสินค้าแบรนด์ใหม่ (New Brand) เปิดตัวทำตลาดใช้งบโฆษณาราว 32 แบรนด์ เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 27 แบรนด์ ส่วนหนึ่งเชื่อมั่นในสถานการณ์โควิดว่าสามารถควบคุมได้ และเม็ดเงินอั้นมาจากเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

ตั้งแต่เดือนมีนาคม พบว่านักการตลาดต่างเร่งทำแคมเปญสินค้าซัมเมอร์กว่า 1,300 แคมเปญ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเกิดโควิดปีก่อนที่มีจำนวน 1,200 แคมเปญ แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิดที่มีราว 1,400 แคมเปญในช่วงซัมเมอร์

MI media spending 2021

5 อุตสาหกรรมเด่น ดันเม็ดเงินโฆษณา

ปี 2564 มี 5 อุตสาหกรรมหลักที่จะช่วยผลักดันเม็ดเงินโฆษณา ดังนี้

1.กลุ่มยานยนต์ หลังจากปีก่อนหดตัว 20% จากโควิด ปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว จากมีผู้เล่นรายใหม่ค่ายจีนเข้ามาทำตลาด รวมทั้งกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทุกค่ายตื่นตัว และการจัดงานอีเวนท์ใหญ่ มอเตอร์โชว์ ในวันที่ 24 มีนาคม – 4 เมษายน 2564 ที่อิมแพ็ค คาดว่าการใช้งบโฆษณาจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นก่อน ปีนี้อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท +15% จากปีก่อนอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท

2.เครื่องดื่ม ปีนี้ยังมีกระแสแรงจากการเปิดตัวเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชั่นนอล ทั้งน้ำดื่มวิตามิน เครื่องดื่มวิตามินซี รวมทั้งเครื่องดื่มกลุ่มกัญชง ที่จะเข้ามาทำตลาดในครึ่งปีหลัง

3.สุขภาพและความงาม สถานการณ์โควิดทำให้สินค้ากลุ่มนี้ยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง และใช้เม็ดเงินโฆษณาทางทีวีและรายการประเภทโฮมช้อปปิ้งในอัตราสูงต่อเนื่อง

4.สื่อสารโทรคมนาคมและอุปกรณ์สื่อสาร จากการขยายเครือข่าย 5G ของทุกค่ายโทรคมนาคมที่ได้รับไลเซ่นส์จาก กสทช. มาแล้ว จะเริ่มทำตลาดในปีนี้ รวมทั้งอุปกรณ์มือถือรองรับ 5G จะเข้ามาทำตลาดมากขึ้นด้วย คาดมูลค่าโฆษณากลุ่มนี้อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท

5.อีมาร์เก็ตเพลส จากเทรนด์การเติบโตตลาดอีคอมเมิร์ซ ทั้ง Lazada Shopee JD Central ที่แข่งขันทำตลาดแย่งชิงลูกค้า จัดแคมเปญต่อเนื่องตลอดปี

CH3 sorayuth

Photo Credit : facebook เรื่องเล่าเช้านี้

ทีวีดิจิทัลช่องใหม่โกยเม็ดเงิน “สรยุทธ”คืนจอดันเรตติ้งช่อง 3

จากตัวเลขคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปีนี้ 79,600 ล้านบาท เติบโต 5-10% หากดูเม็ดเงินโฆษณา “รายสื่อ” กลุ่มทีวียังครองสัดส่วนสูงสุด ที่ 50% หรือราว 40,000 ล้านบาท -14%  แต่กลุ่มทีวีดิจิทัลช่องใหม่ โฆษณาเติบโต 21%  อย่าง โมโน29 เวิร์คพอยท์ทีวี ช่องวัน ไทยรัฐทีวี และ อมรินทร์ทีวี

ส่วนทีวีดิจิทัล ช่องเดิม อย่าง ช่อง 7 และ ช่อง 3 ซึ่งเป็นเป็นผู้นำเรตติ้งอันดับ 1 และ 2  ยังคงถูกแย่งงบโฆษณาจากช่องใหม่ แต่หลังจากคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรข่าวชื่อดัง ได้รับการพักโทษและเตรียมกลับมาทำรายการข่าวทางช่อง 3 อีกครั้ง ไม่ว่าคุณสรยุทธ จะจัดรายการข่าวช่วงใด  ก็จะส่งผลดีต่อเรตติ้งรายการข่าวช่อง 3 เพิ่มขึ้น และนักการตลาดก็มีมุมมองบวกต่อการวางแผนใช้งบโฆษณาในช่วงรายการข่าวของคุณสรยุทธ

ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาทีวี สัดส่วนหลัก 40-50% อยู่ที่ละคร เนื่องจากออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ ราคาโฆษณาสูง ส่วนรายการข่าวมีสัดส่วน 20% และที่เหลือเป็นกลุ่มรายการวาไรตี้ กีฬา

ส่วนสื่อออนไลน์ หรือดิจิทัล ปีนี้คาดมีมูลค่า 21,767 ล้านบาท  เติบโต 25.5% มีสัดส่วน 31.1%  หรือ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมโฆษณา

สื่อโฆษณานอกบ้าน มูลค่า 9,883 ล้านบาท สัดส่วน 10% กลับมาเติบโตได้ราว 3-4%

ส่วนสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ยังคงเป็นสื่อขาลงและมีแนวโน้มหดตัวต่อไป จากการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยี และพฤติกรรมการเสพสื่อผู้บริโภคอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ทิศทางการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อของนักการตลาดและแบรนด์ในปีนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับ 3 สื่อหลัก คือ ทีวี ออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน เป็นหลัก ขณะที่อุตสาหกรรมมีสัญญาณบวกชัดเจนของการกลับมาใช้งบโฆษณาตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป แต่ยังคงไม่เห็นมูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณากลับไปที่ “แสนล้านบาท” โดยอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 ที่จะกลับมาได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด

CEO MI Pawat

คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI)


แชร์ :

You may also like