HomeBrand Move !!พิษ Covid-19 ทำ “ราคาอาหารโลก” ปรับตัวสูงขึ้นครั้งประวัติศาสตร์

พิษ Covid-19 ทำ “ราคาอาหารโลก” ปรับตัวสูงขึ้นครั้งประวัติศาสตร์

แชร์ :

 

food price stall

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากเราต้องอยู่กับ Covid-19 มากว่าหนึ่งปี และสามารถผลิตวัคซีนออกมาได้แล้ว แต่ผลกระทบจาก Covid-19 ก็ยังไม่จบสิ้น และกำลังพัฒนาตัวเองต่อไปในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งปรากฏการณ์ล่าสุดก็คือการทำให้ “ราคาอาหารโลก” ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่นอกจากจะเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากงานที่นำระบบอัตโนมัติมาทำแทนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขายังต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้ออาหารรับประทานอีกด้วย

การปรับตัวของราคาอาหารเกิดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขพบว่า สินค้ากลุ่มข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำตาล เต้าหู้ ผัก ข้าวสาลี ฯลฯ มีการปรับราคาสูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวนี้ ทำให้มีรายงานว่า ครอบครัวในสหรัฐอเมริกาที่มีฐานะยากจนต้องใช้รายได้ราว 36% ในการซื้ออาหารรับประทาน ขณะที่ในประเทศไนจีเรีย ครอบครัวยากจนต้องใช้รายได้ราว 50% ในการซื้อหาอาหารเลยทีเดียว

ตัวอย่างราคาอาหารที่ปรับขึ้นในตอนนี้มีตั้งแต่ “เต้าหู้” และ “พริก” ในอินโดนีเซียที่แพงขึ้น 30% และหนึ่งเท่าตัวตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม หรือราคา “น้ำตาล” ในรัสเซียที่เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับเมื่อหนึ่งปีก่อน ส่วนในบราซิล ราคาถั่วแขกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้วเช่นกัน

container

สถานการณ์ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากนี้มีผลมาจากหลายปัจจัย และแต่ละภูมิภาคก็มีตัวแปรที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาเหนือนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งหากธุรกิจเปลี่ยนมาขนส่งโดยรถบรรทุกแทน ก็จะเจอกับปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นในที่สุด

ส่วนสถานการณ์ในอังกฤษก็จะต่างออกไป โดยปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลให้ราคาอาหารในอังกฤษสูงขึ้นคือการถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าต้องมีกระบวนการต่าง ๆ มากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น นำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกหนึ่งสาเหตุก็คือปัญหาสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลผลิตอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงความต้องการบริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้นำไปสู่ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 6 ปี

food market vegie price

ไม่ขึ้นราคาแต่ปรับไซส์ให้เล็กลง

การปรับตัวของธุรกิจอาหารในหลาย ๆ ประเทศเพื่อรับมือกับต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้มีการยกตัวอย่างการปรับตัวของอังกฤษเมื่อช่วงปี 2012- 2017 ที่ในตอนนั้นต้นทุนราคาอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างมากว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าถึง 2,529 รายการให้เล็กลง เพื่อให้พวกเขายังจำหน่ายได้ในราคาเท่าเดิม หรือแพงขึ้นนิดหน่อย

รัสเซียขึ้นภาษีส่งออก

ส่วนการรับมือต้นทุนอาหารพุ่งในยุค 2021 อาจจะต่างออกไป โดยประเทศอย่างรัสเซีย พบว่ามีการขึ้นภาษีส่งออกในสินค้ากลุ่มข้าวสาลี ที่รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลก เพื่อให้ผู้ผลิตลดการส่งออกอาหารไปขายต่างประเทศ จะได้รักษาราคาอาหารภายในประเทศเอาไว้ในระดับที่ประชาชนสามารถซื้อหาได้ นอกจากนั้น ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกของรัสเซียยังถูกสั่งห้ามขึ้นราคาผักอย่างมันฝรั่งและแครอทด้วย

food wheat price calculator

ด้านประเทศฝรั่งเศสพบว่า เน้นแนวทางพึ่งตนเอง ด้วยการเพิ่มการผลิตพืชที่ให้โปรตีนสูง เพื่อลดการนำเข้าถั่วเหลืองให้น้อยลง ส่วนประเทศสิงคโปร์ ก็เพิ่งมีข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติให้ขายเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บได้เป็นชาติแรกของโลก ซึ่งในจุดนี้เท่ากับช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอาหารภายในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก NielsenIQ ระบุว่า บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างลดการทำโปรโมชันลงถึง 20% เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น

Emerging Market ประเทศที่รัฐอาจช่วยได้ไม่มาก

ส่วนประเทศในกลุ่ม Emerging Market อาจเจอสถานการณ์ที่ต่างออกไป เพราะผู้บริโภคอาจไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากนัก และทำให้ประชาชนต้องลดการบริโภคอาหารลงแทน เนื่องจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วพอที่จะซื้ออาหารในราคาใหม่ได้ ยกตัวอย่างประเทศที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวเช่น อินโดนีเซีย ที่ในตอนนี้ ราคาพริกปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ส่วนในประเทศยากจนอย่างไนจีเรียนั้น ต้องถือว่าน่าเป็นห่วงทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศไนจีเรียที่ปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่ง ๆ ต้องจ่ายเงิน 50% ของรายได้ไปกับการซื้ออาหารรับประทาน

แต่ไม่ใช่เฉพาะประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบ ประเทศร่ำรวยเองก็หนีปัญหานี้ไม่พ้น ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่องค์กรไม่แสวงกำไรอย่าง the Trussell Trust ต้องมอบถุงอาหารให้กับเด็ก ๆ สูงถึง 2,600 ชุดต่อวันในช่วง 6 เดือนแรกของช่วง Pandemic หรือในสหรัฐอเมริกา การระบาดของ Covid-19 ทำให้ประชาชน 13.2 ล้านคนอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 35%

นอกจากนั้น ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริการะุบุว่า คนอเมริกันที่มีฐานะยากจนนั้น ต้องจ่ายเงิน 36% ของรายได้ไปกับการซื้ออาหารรับประทาน อีกทั้งคนกลุ่มนี้เผชิญความเสี่ยงในการถูกเลย์ออฟเนื่องจากมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ทำให้ความเครียดและความกดดันในครอบครัวอาจเพิ่มสูงขึ้นได้

shopping basket consumer spend food

จากชาร์ตดังกล่าว สะท้อนภาพรวมให้เห็นว่า ท่ามกลางราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้ ประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศยากจนอย่างไนจีเรีย เคนยา ซิมบับเว หรือแม้แต่ตุรกี อาร์เจนตินา บราซิล โดยจะเห็นว่า พวกเขาใช้รายได้เพียง 5 – 10% ก็สามารถซื้ออาหารรับประทานได้แล้ว ขณะที่ประเทศยากจนต้องใช้รายได้ราว 30 – 50% จึงจะสามารถซื้ออาหารรับประทานได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารในประเทศร่ำรวยมีซัพพลายเชนที่ซับซ้อน และมั่นคงมากกว่ากลุ่มประเทศยากจน ซึ่งเมื่อเจอกับการปิดพรมแดนในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ยังมีอาหารสำรองมากพอสำหรับการบริโภค จึงไม่ได้รับผลกระทบด้านราคามากนัก ขณะที่ประเทศยากจน การล็อกดาวน์อาจหมายถึงการไม่สามารถนำเข้าอาหารจากประเทศเพื่อนบ้านได้เลย ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวสูงขึ้นในที่สุด

แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ยังไม่จบ และกำลังเข้าสู่ช่วงวัดกึ๋นรัฐบาลของแต่ละประเทศว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้ประเทศฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ โดยอาจมีทั้งประเทศที่อยากส่งออกอาหารไปขายเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้จำนวนมาก แต่อาจต้องแลกกับสถานการณ์ขาดแคลนอาหารภายในประเทศ จนนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง กับประเทศที่ตัดสินใจจะช่วยประชาชนในประเทศก่อนด้วยการสำรองอาหารเอาไว้ให้เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยเอง ก็ต้องตัดสินใจหาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศด้วยเช่นกัน ส่วนพวกเขาจะเลือกเส้นทางเดินอย่างไร อีกไม่นานเราคงได้ทราบอย่างแน่นอน

Source

Source


แชร์ :

You may also like