HomeBrand Move !!Euromonitor เจาะลึก 10 เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลก 2021 และคำแนะนำแบรนด์รับมือความเปลี่ยนแปลง

Euromonitor เจาะลึก 10 เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลก 2021 และคำแนะนำแบรนด์รับมือความเปลี่ยนแปลง

แชร์ :

Global Consumer Trends 2021

นับตั้งแต่ปี 2020 ต่อเนื่องมาถึงปี 2021 “COVID-19” ยังคงอยู่กับคนทั่วโลก การแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลกครั้งนี้ กลายเป็น “ตัวเร่ง” ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การใช้จ่าย การบริโภค สังคม และเศรษฐกิจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โดยที่หลายอย่าง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Euromonitor International รายงานผลสำรวจและวิจัย Top 10 Global Consumer Trends 2021 ฉายภาพ 10 เทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในปีนี้ พร้อมด้วยคำแนะนำให้กับภาคธุรกิจ – แบรนด์ ปรับตัวรองรับสิ่งปกติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

 

1. Build Back Better: ผู้บริโภคหวังให้โลกจะกลับมาดีขึ้น และอยากให้องค์กร – แบรนด์ เคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ ลดการใช้พลาสติก และความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทั่งเกิด COVID-19 การแพร่ระบาด และการให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วน กลายเป็นวาระสำคัญลำดับแรก

หลังจากผู้คนทั่วโลกเผชิญอยู่กับการแพร่ระบาดไวรัสมา 1 ปีเต็มของปี 2020 และต่อเนื่องมาถึงปี 2021 ผู้บริโภคคาดหวังว่าหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย หรือสิ้นสุดลงแล้วนั้น อยากให้องค์กร – แบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นหลักๆ ดังนี้

– การปกป้องสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

– ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น

– ส่งเสริมเป้าหมายความยั่งยืน ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มากกว่าจะโฟกัสแค่ผลประกอบการธุรกิจ

ผู้บริโภคเชื่อว่าจากเหตุการณ์ COVID-19 ยิ่งสร้างความตระหนักว่า เราทุกคนต้องการสภาพอากาศที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น จึงมุ่งหวังจะสร้างโลกให้ดีกว่าเดิม และมองหาแบรนด์ที่มีกระบวนการธุรกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำเสนอสินค้าที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น มีความยืดหยุ่น และเท่าเทียมกัน

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ธุรกิจจะ Reposition จากกลยุทธ์มุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียว ไปสู่ “Purpose-driven”

– ภายใต้แนวคิด Purpose-driven องค์กร – แบรนด์ให้ความสำคัญกับ “3Ps” ประกอบด้วย People, Planet และ Profits ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้แค่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เป็นองค์กร – แบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ

– พัฒนาปรับปรุงธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น สร้าง และรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) และสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน

Sustainability

 

2. Craving Convenience: เทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค

ก่อนเกิด COVID-19 “ความสะดวกสบาย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้ว กระทั่งการแพร่ระบาดไวรัส ทำให้ทั้งสังคมต้องรักษาระยะห่าง และจำกัดความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้จากเดิมที่ผู้บริโภคสามารถ Walk-in เข้าไปใช้บริการในร้านค้า ร้านอาหาร หรือการเข้าชมอีเว้นท์ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้เลย ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้จองคิวล่วงหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อผู้คนยังคงต้องการความสะดวกสบายเช่นเดิม ผู้บริโภคจึงหันไปพึ่งพาช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: COVID-19 เป็นตัวเร่งให้แบรนด์ นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ซึ่งช่วงเวลานี้ เป็นช่วงของการทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการกับลูกค้า เช่น  

– ใช้ระบบจองคิวดิจิทัล

– นำ QR Code มาให้บริการกับลูกค้า เพื่อเรียกดูเมนู หรือค้นหาสินค้าที่ต้องการในระหว่างรอคิวเข้าไปร้าน

– เทคโนโลยี Self-serve และ Touchless ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้บริการลูกค้า แบรนด์ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของวัย เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละ Generation ต้องการความสะดวกสบายที่แตกต่างกัน

คนอายุน้อย ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ มากกว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานจริงๆ มากกว่า

ดังผลวิจัยพบว่า 68% ของผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ชอบที่จะพูดคุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์มากกว่า เพราะฉะนั้นการส่งมอบประสบการณ์ความสะดวก แบรนด์ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของช่วงวัยด้วยเช่นกัน

Restaurant Reserve Technology

 

3. Outdoor Oasis: ผู้บริโภคต้องการพื้นที่พักผ่อนกลางแจ้ง และธรรมชาติ

เมื่อคนทั่วโลกเจอภัยคุกคามด้านสุขภาพ ทั้งยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง และต้องทำงานรูปแบบ Remote Working ทำให้หลังสถานการณ์ Pandemic หนึ่งในความปรารถนาของผู้คน คือ ต้องการใช้ชีวิตในพื้นที่ Outdoor หรือ Open Air ไม่ว่าจะทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ และพักผ่อน เพื่อฟื้นฟู หรือผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ

นอกจากนี้คาดการณ์ว่าต่อไปการทำงานระยะไกล (Remote Working) กลายเป็นวิถีปกติใหม่ และการวิจัยนี้ยังพบ Insights ว่า

– ผู้บริโภคบางคนมีความคิดจะย้ายออกจากเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ไปยังต่างจังหวัดที่เงียบ สงบ และชุมชนในพื้นที่ชนบทมีมลพิษน้อยกว่าในเมือง จึงมองว่าด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ

– คนที่อยากย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด มองว่าการย้ายจากสังคมเมืองที่มีค่าครองชีพสูง ไปยังต่างจังหวัด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้

outdoor workout

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ธุรกิจ หรือแบรนด์ควรนำเสนอประสบการณ์พื้นที่การพักผ่อนกลางแจ้งให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการให้บริการส่วน Indoor เช่น

– คอนเสิร์ตแบบ Open Air

– เทศกาลกลางแจ้ง

– ธุรกิจร้านอาหาร และคาเฟ่ ให้บริการ Outdoor Restaurant/Café รูปแบบใหม่ เช่น ทำร้านกาแฟคอนเซ็ปต์แคมป์ปิ้ง

– โรงภาพยนตร์รูปแบบ Drive-in Cinema

– สตูดิโอฟิตเนส เปิดคลาสออกกำลังกายรูปแบบ Open Air

– สถานที่พัก มีพื้นที่สำหรับตั้งแคมป์ พร้อมก้บมีอุปกรณ์แคมป์ปิ้งให้เช่า ซึ่งปัจจุบันเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม

การนำเสนอพื้นที่พักผ่อน หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ แบบ Open Air จะช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ พร้อมไปกับการรักษาฐานลูกค้าเก่า ที่เดิมทีมีแต่บริการ Indoor แต่เมื่อมีบริการรูปแบบ Outdoor เพิ่มเข้ามา จะสร้างความสนใจให้กับลูกค้าเดิม มาใช้บริการต่อเนื่อง

Outdoor Cafe (Kamaboko Coffee Camp)

ปัจจุบันในกรุงเทพฯ เร่ิมมีร้านอาหาร และคาเฟ่ คอนเซ็ปต์ Café Camp ที่เปิดให้บริการรูปแบบ Outdoor เช่น “Kamaboko Coffee Camp” ร้านอาหาร และคาเฟ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ (Photo Credit: Facebook Kamaboko Coffee Camp)

 

4. Phygital Reality: การผสานระหว่าง Physical & Digital World

Phygital Reality คือ Physical + Digital หมายถึงการผสานความสามารถทางดิจิทัล และทางกายภาพ (Physical) เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าทำงาน เรียน ซื้อของ เล่น ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น

– การประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์

– เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

– เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) สร้างพฤติกรรมใหม่ผู้บริโภค ทั้งการทำงาน การเรียน ออกกำลังกาย​​ ช้อปปิ้ง และการเข้าสังคม

ทุกวันนี้ผู้คนพึ่งพาอุปกรณ์ดิจิทัล – แพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งอยู่ในบ้าน และออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจว่ากิจกรรม หรือสิ่งที่กำลังอยู่ จะอยู่บนดิจิทัล หรือ Physical เพราะพวกเขาไม่ได้แยกสองโลกออกจากกัน แต่มองว่ามันคือหนึ่งเดียวกัน

หรือแม้แต่กลุ่มเด็ก ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ก็มองว่าสิ่งของทุกอย่างนั้น มีเทคโนโลยีด้วยเสมอ อย่างของเล่น ก็ยังมีเทคโนโลยีโต้ตอบอัตโนมัติ (Interactive Technology) และเมื่อผู้บริโภคคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตขึ้น “Phygital Reality” จะกลายเป็นสิ่งปกติใหม่

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: นำเสนอประสบการณ์ Phygital เพื่อสร้างยอดขาย และเข้าถึง Data ได้มากขึ้น

– ปัจจุบันร้านค้า Brick-and-mortar เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาให้บริการกับลูกค้าแล้ว เพื่อทำให้การมาที่ร้าน มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผสานประสบการณ์ดิจิทัล เข้ากับบริการออฟไลน์ เช่น ระบบจองผ่านมือถือ QR Code เมนู และชำระค่าสินค้า-บริการแบบไร้สัมผัส ติดตั้งเทคโนโลยีห้องลองชุดแบบเสมือนจริง เพื่อลดการสัมผัส และลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

– ภาคธุรกิจ นำเสนอ Solution เสมือนจริง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น ใช้เทคโนโลยี VR ส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยว แบรนด์ใช้เทคโนโลยี AI ที่เรียนรู้พฤติกรรม ความชอบ ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน ช่วยในการขาย และส่งมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคล เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว ที่ Personalize เฉพาะบุคคล

Augmented Reality (AR)

เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ถูกนำมาใช้เพื่อจำลองการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งบ้าน

 

5. Playing with Time: ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ตอบโจทย์เวลาที่ยืดหยุ่น

ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะชีวิตการทำงาน ดูแลครอบครัว รับ-ส่งลูกที่โรงเรียน และชีวิตส่วนตัว

ด้วยความที่ในแต่ละวัน เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย และต้องจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำ นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคคาดหวังให้ภาคธุรกิจ หรือแบรนด์ สามารถตอบสนอง “ความยืดหยุ่นด้านเวลา”

จากเดิมที่ภาคธุรกิจ กำหนดช่วงเวลาการให้บริการ เช่น บางองค์กร หรือบางกลุ่มธุรกิจเปิดให้บริการ เฉพาะ 9-to-5 (9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น) ในวันทำงานเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคอยากให้ภาคธุรกิจ หรือแบรนด์ปรับเวลาการให้บริการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สะท้อนได้จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า

51% ของผู้บริโภคต้องการเป็นผู้เลือกเวลาด้วยตัวเอง

46% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ Virtual Experience

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้เป็นวัฒนธรรมการให้บริการ 24 ชั่วโมง

เมื่อคนเราทุกวันนี้มีกิจกรรมในชีวิตมากมาย และต้องการเป็นผู้กำหนด หรือเลือกเวลาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการดำเนินธุรกิจ ด้วยวัฒนธรรมการให้บริการ 24 ชั่วโมง จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเวลาได้ตามตารางชีวิตของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การให้บริการ 24 ชั่วโมงในที่นี้ ไม่ได้หมายความหากเป็นร้านค้าที่เปิด Physical Shop ต้องเปิดหน้าร้านตลอด 24 ชั่วโมง แต่ให้ใช้ข้อดีของระบบออนไลน์ เข้ามาให้บริการ เช่น เปิดช่องทางออนไลน์ มีระบบรองรับคำสั่งซื้อ และการตอบกลับ ซึ่งแบรนด์ที่สามารถให้บริการผู้บริโภคได้ 24 ชั่วโมง ย่อมเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจมีรายได้มากขึ้น

24 Hours Service

 

6. Restless and Rebellious: หลายประเทศเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่นทางการเมือง และหลังปลดล็อคดาวน์ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ กระหน่ำช้อป

ผู้บริโภคหลายคนรู้สึกไม่ไว้วางใจในความเป็นผู้นำ และรัฐบาลของประเทศตัวเอง ก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นทางการเมือง

– ในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 17% ของชาวอเมริกันที่เชื่อมั่นในรัฐบาล

– ในชิลี มีเพียง 5% ที่เชื่อมั่นในรัฐบาล

– เกิดการประท้วงรัฐบาลในหลายเมือง เช่น ปารีส ของฝรั่งเศส ซานติอาโก ที่ชิลี พอร์ตแลนด์ สหรัฐฯ และฮ่องกง

– เยาวชนไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับระบบการเมือง โดยเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

– ความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง นำไปสู่การประท้วง จลาจล และการคว่ำบาตร

– Social Media กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปลอม หรือการให้ข้อมูลผิดๆ

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รัฐบาลต้องดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการ Lockdown กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิด Mindset “ME-First” คือ ผู้บริโภคต้องการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน (Need) และความต้องการที่มากขึ้น (Want) ของตัวเอง ดังนั้น หลังจากถูกจำกัดการใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้านเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อปลด Lockdown ผู้บริโภคบางส่วนออกมาจับจ่าย เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หรือที่เรียกว่า “Revenge Shopping” (การช้อปปิ้งแก้แค้น) ซึ่งการใช้จ่ายในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่สามารถใช้จ่ายได้ เช่น

– ผู้บริโภคจีนพากันช้อปปิ้งแบรนด์หรู หลังปลด Lockdown อย่างแบรนด์หรูจากฝรั่งเศส “Hermès” ที่กวางโจว ภายในวันเดียว ทำยอดขายมากถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ผู้บริโภคมองหากิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เช่น ปาร์ตี้ผิดกฎหมาย การพนันออนไลน์ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์​ในราคาจับต้องได้ อาหารสำเร็จรูป และวิดีโอเกม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ดังผลวิจัยพบว่า 34% ของผู้บริโภคเล่นวิดีโอเกมออนไลน์ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารอยู่รอบตัวผู้บริโภคมากมาย องค์กร หรือแบรนด์ต้องแน่ใจได้ว่าการสื่อสาร หรือการทำการตลาดของแบรนด์ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง อยู่บนความจริง เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังข้อมูลถูกต้อง

political movement

 

7. Safety Obsessed: ผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพ – สุขอนามัย เร่งสังคมเข้าสู่ยุค Touchless – Cashless

นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และสุขอนามัยเพิ่มขึ้น โดยคนพยายามหลีกเลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในที่สาธารณะ

ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Safety Obsessed” คือ ความเคลื่อนไหวด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่ผู้บริโภคกลัวการติดเชื้อ และตระหนักต่อสุขภาพมากขึ้น ส่งผลต่อ Demand กลุ่มสินค้าบางประเภท และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คือ

– ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Hygiene มีความต้องการเพิ่มขึ้น

– ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีไร้การสัมผัส (Touchless Technology) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ กลายเป็นเรื่องปกติ เช่น ชำระเงินด้วย e-Wallet

– การใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เวลาออกนอกบ้าน กลายเป็นนิสัยติดตัวไปแล้ว

– ผู้บริโภครู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในอนาคต

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ความปลอดภัย และสุขภาพ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างแรก ดังนั้นองค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ ควรพัฒนานวัตกรรม หรือฟังก์ชั่นสินค้า – บริการที่ตอบโจทย์ด้านสุขอนามัย

ขณะเดียวการให้บริการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จะลดลง ทำให้รูปแบบร้านค้าที่ลูกค้าบริการตัวเอง และอีคอมเมิร์ซ จะได้รับความนิยมในวงกว้างขึ้น และผู้บริโภคจะพิจารณาเลือกแบรนด์ ที่ปลอดภัย และมีภาพลักษณ์เชื่อถือได้

Touchless - Cashless

 

8. Shaken and Stirred: ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ – สร้างสมดุลให้ชีวิต – ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ 

COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน และเป็นบททดสอบทางด้านจิตใจ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาด และความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจ

“การมีสุขภาพจิตที่ดี” จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีสุขภาพดี แต่ผลจากการแพร่ระบาดไวรัส นำมาซึ่งความเครียด ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การว่างงาน ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความโดดเดี่ยว และความต้องการบทบาทใหม่ – ทักษะใหม่ในชีวิต

ดังนั้น ผู้บริโภคจึงพยายามหาทางออกให้กับตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิต หางานอดิเรกใหม่ๆ ในโลกที่ต้องเว้นระยะห่าง รวมไปถึงการลงทุนเรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อปรับตัวรับอนาคตที่กำลังจะมา โดยมีผลวิจัยพบว่า

– ก่อนการระบาดไวรัส 46% ของ Gen Z และ 50% ของ Gen Millennials ชอบใช้จ่ายไปกับประสบการณ์ใหม่ แต่สถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นข้อจำกัดการใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้ผู้บริโภคสนใจกิจกรรมในบ้าน ทำให้ยอดขายสินค้าด้านการศึกษา ของเล่น เกม และงานอดิเรกทั่วโลกเติบโตขึ้น

– งานศิลปะ และงานฝีมือ เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา และคอร์สเรียนออนไลน์ ได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคมองหาสินค้า และบริการที่ช่วยให้พัฒนาทักษะเฉพาะทาง

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: แบรนด์ควรนำเสนอสินค้า หรือบริการที่ช่วยพัฒนาทักษะ สนับสนุนการสร้างสมดุลชีวิต และมีความยืดหยุ่นด้านการเงินให้กับลูกค้า

Upskill - Reskill

 

9. Thoughtful Thrifters: เศรษฐกิจไม่แน่นอน ผู้บริโภคประหยัด และระมัดระวังการใช้จ่าย

ในขณะที่มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งใช้จ่ายหลังปลด Lockdown เพื่อตอบสนองความต้องการ และทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง มีผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยพิจารณาการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ รวมไปถึงลดการใช้จ่าย

เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอน ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในงาน และรายได้ครัวเรือนลดลง เป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย และต้องการสินค้าราคาไม่แพง

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: แบรนด์ควรนำเสนอสินค้าคุ้มค่าคุ้มราคา (Value for money) ตอบโจทย์ความสะดวก ขยายตลาดด้วยช่องทางออนไลน์ และมีบริการจัดส่ง Last-mile Delivery ที่รวดเร็ว หรือมีบริการเสริมเพิ่มเติม

นอกจากนี้ องค์กรหรือแบรนด์อาจขยายโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น ให้เช่าสินค้า โดยอยู่บนแกนของการทำสินค้าราคาเข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมทั้งขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดด้วย Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถ Tailor-made การทำโปรโมชั่นให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด แต่ละกลุ่มเป้าหมาย 

Shopping

 

10. Workplaces in New Spaces: ทำงานที่บ้าน กระทบต่อวิถีชีวิต – ตลาดเครื่องสำอาง และชุดทำงาน

การทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่แนวคิดใหม่ และมีมานานแล้ว แต่ปี 2020 ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้คนทำงานต้องเปลี่ยนบ้าน ให้กลายเป็นสถานที่ทำงานของตัวเอง และถึงแม้เวลานี้ มีการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว แต่ยังไม่ได้ 100% โดยหลายองค์กรใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างทำงานที่ออฟฟิศ​ กับที่บ้านควบคู่กัน เพื่อลดความหนาแน่นในองค์กร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Workplace เปลี่ยนเป็นที่บ้านของพนักงาน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน และชีวิตประจำวันหลายด้าน

– มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ในการช่วยให้ทำงานได้สะดวก และคล่องตัว

– ผู้บริโภคบางคนใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งสั่งซื้ออาหาร และเครื่องดื่มคุณภาพดี เพื่อให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเวลาไปรับประทานที่ร้าน ใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น

– กระทบต่อตลาดชุดทำงาน และตลาดเครื่องสำอาง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสวมใส่เสื้อผ้าลำลอง และแต่งหน้าน้อยลง หรือไม่แต่งเลย

นอกจากนี้พบว่าผู้บริโภคบางคนชอบทำงานที่บ้านมากกว่า เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้า ไม่ต้องแต่งตัว และไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ในขณะที่ผู้บริโภคบางคนมองว่า การทำงานอยู่บ้าน ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: องค์กรที่ใช้นโยบายการทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือสลับระหว่างทำงานที่ออฟฟิศ กับที่บ้าน ควรสนับสนุน Work-life Balance, โฟกัสที่ผลงาน และควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างกัน 

ในขณะที่สินค้าที่ตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน ต้อง Multifunction และมีขนาดกะทัดรัด เพื่อปรับเปลี่ยนบ้าน ให้เป็นที่ทำงาน และสินค้า – บริการที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการทำงาน จะได้การตอบรับจากตลาด

Work-Life Balance

 

 

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like