HomeHR & Manangementโลกการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือ 10 ทักษะ 2021 ที่ “คนทำงาน” ต้องมี ถ้าอยากมีงานทำ

โลกการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือ 10 ทักษะ 2021 ที่ “คนทำงาน” ต้องมี ถ้าอยากมีงานทำ

แชร์ :

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ “ตลาดแรงงาน” ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง เพราะแม้แต่อาชีพที่ถือว่ามั่นคง เป็นที่ต้องการของตลาด ยังต้องเผชิญกับคำว่า “ตกงาน” แบบไม่ทันตั้งตัว ทว่าปีนี้ตลาดแรงงานน่าจะ “ยากลำบาก” ยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ และคนที่อายุเลยเข้าเลข 3 ไปแล้ว การหางานใหม่ในช่วงเวลานี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เพราะโลกการทำงานหลังจากนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากความท้าทายของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และการระบาดของโควิด-19 จนทำให้ทุกองค์กรต้องการคนทำงานที่มีทักษะหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์โลกการทำงานที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้คนทำงานต้องปรับตัวตามให้ทัน เพราะลำพังการมีแค่ Hard Skills คงไม่เพียงพอสำหรับการทำงานอีกต่อไป ซึ่ง Brand Buffet ได้รวบรวมข้อมูลจาก Jobsdb และเว็บไซต์ Krungthai สรุปออกมาเป็น 10 ทักษะจำเป็นต่อการทำงานในปี 2021 ที่คนทำงานต้องมี หากต้องการเป็นที่ต้องการขององค์กร

1.การวิเคราะห์เชิงตรรกะ (Analytical Reasoning)

ทักษะความสามารถในการเชื่อมโยงตัวแปร การแตกแยกปัญหาใหญ่ออก และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด แก้ไข เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด กลายเป็นอีกทักษะที่หลายองค์กรต้องการและขาดไม่ได้ ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น องค์กรที่นำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์เชิงตรรกะ จะกลายเป็นผู้ที่แข็งแกร่งกว่าผู้แข่งขันรายอื่นๆ

2.ทักษะด้านการออกแบบเทคโนโลยี (Technology Design and programming)

ในปีนี้และอนาคตข้างหน้า ทักษะด้านการออกแบบเทคโนโลยี และการเขียนโปรแกรมยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ เพราะเป็นทักษะอาชีพที่จะคอยออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ใช้งานง่ายและลื่นไหลที่สุด รวมไปถึงออกแบบการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทั้งเว็บ แอปพลิเคชัน และโมบาย แอปพลิเคชั่น ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยว่า ดีไซน์นี้จะนำไปใช้งานจริงได้ไหม ดังนั้น ใครที่ยังไม่มีทักษะด้านนี้ก็ควรเรียนรู้เพิ่มเติม ส่วนใครที่มีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว ก็ต้องปรับปรุงให้ตรงใจผู้ใช้งานมากขึ้น

3.ศักยภาพในการแก้ปัญหา (Complex problem-solving)

การแก้ไขปัญหาอาจจะดูเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่ทักษะการแก้ปัญหาที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ การแก้ที่มีความซับซ้อนด้วยการใช้เหตุผล มีความเข้าใจในปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนได้ดี ซึ่งทักษะนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ที่มีมาใช้แก้ปัญหา ผ่านการประมวลข้อมูลเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

4.ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ทักษะความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในลำดับต้นๆ ของลิสต์ทักษะสำคัญที่นายจ้างต้องการ หากคุณมีความสามารถในการตระหนักรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ตนเอง และเพื่อนร่วมงานได้ดี จะทำให้สำรวจความซับซ้อนของการปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่ทำงานได้ดีขึ้น ยิ่งหากเป็นหัวหน้าทีมด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นมาก

5.ความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่า (Creativity and Initiative)

บริษัทจำนวนมากต้องการความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มที่นำมาต่อยอด ประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ และใช้งานได้จริงด้วย ซึ่งหลายบริษัทยืนยันว่า ทักษะนี้ยังคงโดดเด่นและเป็นที่ต้องการอยู่

6.ทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด (Resilience, stress tolerance and flexibility)

ทักษะความยืดหยุ่น รับมือกับความกดดันได้ดี ทักษะที่คนทำงาน Digital และ IT ต้องเพิ่มเข้ามานี้อาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้นชิน เพราะคนไอทีมักรับมือกับคอมพิวเตอร์ กับโค้ด หรือกับโปรแกรมเป็นหลัก แต่ต่อไปจะมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานของคุณมากขึ้น กอปรกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้จำต้องมีทักษะเหล่านี้เข้ามาเพิ่ม เพราะจะช่วยให้คุณสามารถปรับตัวรับมือกับความกดดันได้อย่างรวดเร็ว

7.ทักษะการเป็นผู้นำ (Leadership and social influence)

ทักษะการเป็นผู้นำและการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นทักษะในการบริหารจัดการทีมให้อยู่รอด มีประสิทธิภาพ เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ ทุ่มเทให้กับงาน ให้กับทีม และให้กับองค์กร และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับลูกทีมได้

8.การโน้มน้าวและเจรจาต่อรอง (Persuasion and negotiation)

นอกจากการมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์แล้ว ทักษะที่ต้องมีอีกอย่างเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือ การมีพนักงานที่มีทักษะการโน้มน้าวและเจรจาต่อรองลูกค้าได้ดี เพราะทักษะนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ เครื่องจักรยังไม่สามารถมาทดแทนได้ ดังนั้น พนักงานควรฝึกเทคนิคการเจรจาต่อรองให้ประสบผลสำเร็จ อย่างการเตรียมฝึกพูด วางแผนกลวิธีโน้มน้าวใจ สร้างความน่าเชื่อถือ แสดงข้อมูลให้มาก และเรียนรู้ที่จะปรับกลยุทธ์การเจรจาเฉพาะหน้าได้ทุกเมื่อด้วย

9.ทักษะการคิดเชิงบริการ (Service orientation)

ทักษะการคิดเชิงบริการ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเราไปเข้ารับการบริการ เราอยากให้เขาปฏิบัติกับเราเช่นไร เราก็ควรมีใจบริการเช่นนั้น

10.การตัดต่อวีดีโอ (Video production)

อีกหนึ่งทักษะที่บางคนอาจมองว่าเป็นงานอดิเรกเสียด้วยซ้ำ คือทักษะการตัดต่อ ตลอดจนการถ่ายทำวีดีโอให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดผู้บริโภค ปัจจุบันการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปของผู้ซื้อ จากข้อความ รูปภาพ เป็นภาพเคลื่อนไหว หรือเนื้อหาในรูปแบบวีดีโอ ทำให้วีดีโอกลายเป็นสื่อชิ้นสำคัญที่ธุรกิจกำลังให้ความสนใจ และทำให้ทักษะการตัดต่อวีดีโอ กลายเป็นที่ต้องการมากในตลาดเช่นกัน

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like