HomeBrand Move !!บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะเปลี่ยนการแข่งขัน 5G ไทยอย่างไรหลัง 7 ม.ค. 2021

บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะเปลี่ยนการแข่งขัน 5G ไทยอย่างไรหลัง 7 ม.ค. 2021

แชร์ :

shutterstock_telecom

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอาจมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เพราะในอีกไม่นานนี้จะมีการจดทะเบียนควบรวมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กลายเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (National Telecom Public Company Limited : NT) ที่มาพร้อมสินทรัพย์ด้านเครือข่าย และพนักงานนับหมื่นคน เพื่อเข้าแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีสิ่งใดที่ต้องเปลี่ยนแปลง และสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากการควบกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นบ้าง เราได้รวบรวมมาฝากกันแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. หลังวันที่ 7 มกราคม 2021 จะไม่มี TOT-CAT อีกต่อไป

เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประกาศว่าจะมีการจดทะเบียนควบรวม TOT-CAT เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ทำให้สถานะความเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

2. สินทรัพย์ที่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ จะใช้แข่งขันในโลกโทรคมนาคมยุคต่อไปมีอะไรบ้าง

จากการเปิดเผยในงานแถลงข่าวที่มีขึ้นในวันนี้ คุณพุทธิพงษ์ระบุว่า สินทรัพย์ของบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ประกอบด้วย

  • – เสาโทรคมนาคมกว่า 25000 ต้นทั่วประเทศ
  • – ท่อร้อยสายใต้ดินระยะทางกว่า 4,600 กิโลเมตรทั่วประเทศ
  • – เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อทุกทวีปทั่วโลก
  • – คลื่นความถี่หลักในการให้บริการ 5G ทั้งสิ้น 6 ย่าน รวม 600MHz
  • – สายใยแก้วนำแสงกว่า 4 ล้านคอร์กิโลเมตร
  • – ดาต้าเซนเตอร์ 13 แห่งในทุกภูมิภาค
  • – ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ที่เข้าถึงทุกเลขหมายในโลก
  • – บุคลากรราวสองหมื่นคน

คุณพุทธิพงษ์ระบุด้วยว่า ภายหลังการควบรวมสำเร็จ จะส่งผลให้ NT มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด และเป็นการควบรัฐวิสาหกิจสองแห่งที่มีสินทรัพย์มากที่สุดของไทยด้วย

3. ทำไมการควบรวมกิจการถึงต้องเกิดขึ้นในช่วงนี้

คุณพุทธิพงษ์ ระบุในการแถลงข่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ขององค์กร โดยเฉพาะในช่วงหลังจากปี 2025 ที่สัมปทานจากภาครัฐจะหมดลง ประกอบกับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ที่รัฐบาลมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องควบกิจการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นปีหน้า และใช้โอกาสหลังจากนี้ในการเดินหน้าหาลูกค้าทันที

คุณพุทธิพงษ์กล่าวด้วยว่า หากไม่ดำเนินการควบกิจการให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสสูงที่ลูกค้าที่สนใจเทคโนโลยี 5G จะเลือกใช้บริการของคู่แข่งไปก่อนนั่นเอง

4. จะมีการเลย์ออฟพนักงานหรือไม่

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นคือเรื่องของบุคลากรที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะมีมากถึงสองหมื่นคน และโดยทั่วไปแล้ว หลังการควบกิจการ มักมีการเลย์ออฟพนักงานจำนวนหนึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนนี้ คุณพุทธิพงษ์เผยว่าได้รับปากกับสหภาพแรงงานไปแล้วว่า จะไม่มีการเลย์ออฟพนักงาน รวมถึงสวัสดิการที่แต่ละคนเคยได้รับจากต้นสังกัดเดิมก็จะยังคงเหมือนเดิม

5. ปรับโครงสร้างอย่างไร

การปรับโครงสร้าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน โดยคุณพุทธิพงษ์เผยว่า อาจแบ่งเป็นระยะ 3 เดือน ระยะ 6 เดือน เพื่อให้หน่วยงานมีพื้นที่และเวลาในการปรับเปลี่ยน รวมถึงเรื่องของผู้บริหารของทั้งสองบริษัท ก็จะให้พื้นที่และเวลาในการปรับเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าเดิมมีผู้บริหาร 10 คน จะถูกปรับให้เหลือ 5 คนในทันทีแน่นอน

อย่างไรก็ดี แผนกที่ต้องปรับโครงสร้างก่อนเป็นส่วนแรกคืองานด้านบัญชี ซึ่งหลังจากวันที่ 7 มกราคม ก็ควรเป็นบัญชีเดียวกัน ระบบเดียวกัน รายได้ที่เข้ามาก็ควรเข้ามาทางเดียวกัน

6. ตลาด 5G ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ อยู่ที่ไหน

หากพิจารณาจากความร่วมมือด้าน 5G ที่ผ่านมา จะพบว่า ในส่วนของ TOT มีการจับมือกับหลายภาคส่วน เช่น การแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร, การรักษาผู้ป่วยบนรถเคลื่อนที่กับโรงพยาบาลศิริราช, การพัฒนาหุ่นยนต์กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, การใช้คลื่น 5G กับระบบสายพานลำเลียงในโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเขตพื้นที่ EEC, การใช้ 5G กับหุ่นยนต์ในการผลิตดาวเทียมวงโคจรต่ำร่วมกับมิวสเปซ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวบนเวทีว่า อยู่ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ – การแพทย์, การศึกษา และอุตสาหกรรมการเกษตร

7. ข้อดีของการควบกิจการ TOT-CAT

นอกจากเรื่องของความชัดเจนของวิสัยทัศน์องค์กร อีกสิ่งที่จะเกิดตามมาอีกข้อหนึ่งก็คือ การลดการลงทุนที่ทับซ้อนกันระหว่าง TOT และ CAT ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองบริษัทจะได้นำสินทรัพย์ที่มี เช่น CAT มีจุดแข็งในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ และภาคพื้นดิน ส่วน TOT มีจุดแข็งด้านระบบสื่อสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความชำนาญอยู่ทั่วประเทศ มาสร้างโอกาสในการแข่งให้กับตนเองต่อไป

8. สิ่งที่อยากฝากบอกพนักงาน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

อยากขอร้องให้พนักงานไปเติมทักษะ เพราะต้องไปแข่งขันในโลกแบบใหม่ การแข่งขันแบบใหม่ อาจต้องไปฝึกอบรมต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่พอจะต้องทำตลาดก็มาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะบุคลากรไม่มีความพร้อม” คุณพุทธิพงษ์กล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like