HomeDigitalอีริคสันแนะไทย ตลาด 5G ควรมีคลื่นหลากหลาย หากหวังการลงทุนจากต่างชาติ

อีริคสันแนะไทย ตลาด 5G ควรมีคลื่นหลากหลาย หากหวังการลงทุนจากต่างชาติ

แชร์ :

อีริคสัน (Ericsson) เผยภาพรวมการใช้ 5G ของไทยผ่านงาน Imagine Live Thailand 2023 พบมีความโดดเด่นด้าน Data Traffic ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การใช้งานเน็ตเวิร์ก 5G ให้เต็มประสิทธิภาพนั้น อาจตกเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในแง่ของคลื่นความถี่ที่อาจยังไม่แมทช์กับเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก ซึ่งทำให้เครือข่าย 5G ของไทยอาจไม่ต้องตาต้องใจนักลงทุน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณอิกอร์ มอเรล ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย เผยว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความไดนามิกสูง และมีผู้บริโภคที่เข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและใช้งานมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่ในแง่ของการใช้งาน และการลงทุนจากต่างชาติ พบว่า ไทยควรมีทางเลือกด้านคลื่นความถี่ที่มากกว่านี้ เพื่อให้เทคโนโลยีของต่างชาติสามารถนำมาปรับใช้ได้กับคลื่นความถี่ที่มีให้บริการในประเทศไทย

ขณะที่ในแง่ของการใช้งาน อีริคสันเผยว่า การใช้งานของไทยเน้นหนักในแง่ Data Traffic ส่วนสิงคโปร์นั้นมีการพัฒนาเน็ตเวิร์ก 5G ไปสู่การทำ 5G Slicing ที่สามารถเพิ่มประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้าได้อีกขั้น เช่นเดียวกับอินเดียที่นอกจากจะลงทุนเครือข่าย 5G อย่างหนักแล้ว ยังสามารถผลิตอุปกรณ์มือถือ 5G ได้ภายในประเทศ ทำให้การขยายตัวของ 5G เป็นไปอย่างรวดเร็ว และประชากรสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ในราคาถูก

Ericsson 5g

คาดคนไทยใช้ Data แตะ 80GB ต่อเดือนในปี 2568

จากข้อมูลของอีริคสัน ในช่วงสิ้นปี 2565 พบว่าเครือข่าย 5G ครอบคลุมมากกว่า 85% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ขณะที่ปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยนั้นก็ไม่ธรรมดา โดยในปี 2565 อยู่ที่ 32.7 กิกะไบต์ต่อเดือน และคาดว่า ภายในปี 2568 จะเติบโตเพิ่มเป็นเกือบ 80 กิกะไบต์ต่อเดือน

ส่วนในปี 2571 คาดว่าการใช้ Data จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า โดยคาดว่า 5G จะสามารถรองรับความต้องการประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของเครือข่ายได้

เปิดเคสสิงคโปร์ ใช้ 5G Slicing เพิ่มมูลค่าให้การแข่ง F1

คุณอิกอร์ยังได้แชร์ความสามารถของเน็ตเวิร์ก 5G ผ่าน Used Case ที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ กับการแข่งฟอร์มูล่าวันเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยผู้ให้บริการอย่าง SingTel ได้นำเทคโนโลยี 5G Slicing มาให้บริการกับลูกค้าให้สามารถเข้าถึง และรับชมการแข่งขันฟอร์มูล่าวันแบบ High Definition ได้ผ่านแอปพลิเคชัน CAST โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามารับชมในสนาม

อีกกรณีที่มีการยกตัวอย่างคือ Zoom ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านการประชุมออนไลน์ที่สามารถเพิ่มฟีเจอร์ประชุมแบบความละเอียดสูงให้กับลูกค้าที่ซื้อบริการระดับพรีเมียม เป็นต้น

นอกจากนั้น อีริคสันยังได้นำกรณีศึกษามากมายที่เกิดขึ้นแล้วกับการใช้งานเครือข่าย 5G เช่น ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม การทำ Digital Twin ฯลฯ และมองว่า หากสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เครือข่ายดังกล่าวสามารถเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้มากถึง 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ภายในปี  2030) โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรกคือ Manufacturing (25%), Automotive (13%), HealthCare (13%), Energy & Utilities (12%) และ Media & Entertainment (9%)

5G จะก้าวต่อไปในทิศทางใด

นอกจากจะมีเคสการใช้งาน 5G ที่นำมาแชร์อย่างต่อเนื่องจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องเตรียมพร้อมก็คือทิศทางที่ 5G ต้องก้าวต่อไป โดยอีริคสันพบว่า จะมีการนำ AI และ Machine Learning  เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น มาช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ราว 10 – 50% (เช่น ช่วงที่ยังไม่มีการใช้งานหนาแน่นก็ลดระดับการประมวลผลลง เมื่อเครือข่ายกลับมามีผู้ใช้งานจำนวนมากก็ค่อยกลับมาทำงานตามเดิม) และทำให้การบริหารจัดการเครือข่ายทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศไทย คุณอิกอร์มองว่า ความท้าทายหนึ่งคือการที่ยังไม่มีคลื่น  3.5GHz ให้บริการ โดยระบุว่า คลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่มีการใช้งานสูงมากในระดับโลก และนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรปต่างต้องการตัวเลือกที่หลากหลาย ซึ่งหากไทยมีเทคโนโลยีที่เข้ากันได้กับเทคโนโลยี 5G ที่บริษัทเหล่านั้นมี ก็อาจทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนเหล่านั้นเพิ่มขึ้นก็เป็นได้


แชร์ :

You may also like