HomeBig FeaturedAWC ปรับโฉมยกแผง 4 ศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์-ตะวันนา” ชูเดสทิเนชั่นฮับค้าส่ง-ย้อนวันวาน-ร้านอาหาร

AWC ปรับโฉมยกแผง 4 ศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์-ตะวันนา” ชูเดสทิเนชั่นฮับค้าส่ง-ย้อนวันวาน-ร้านอาหาร

แชร์ :

AWC พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

ธุรกิจรีเทลหนึ่งในพอร์ตโฟลิโอสำคัญของ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ AWC ในเครือ ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ปัจจุบันมี 10 โครงการ พื้นที่เช่ากว่า 3.4 แสนตร.ม. ในสถานการณ์โควิด-19 หลายธุรกิจหยุดชะงัก แต่ AWC ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องทั้งโรงแรมและค้าปลีก ล่าสุดปรับโฉม 2 แบรนด์ศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์-ตะวันนา” ทุกสาขามากับคอนเซ็ปต์ใหม่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประเดิมเปิดโฉมใหม่ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ กับรูปแบบศูนย์ค้าส่ง AEC Trade Center-Pantip Wholesale Destination เป็นการปิดตำนาน “ห้างไอที” อายุ 36 ปี เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งอาคาร 5 ชั้น พื้นที่เช่า 30,000 ตร.ม.

คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแนวคิดของ AWC ในการพัฒนาศูนย์ค้าส่งครบวงจร เพราะเห็นช่องว่างในตลาด จากกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยหลายอุตสาหกรรม ยังไม่มีหน้าร้านขายสินค้าทำตลาดในประเทศ แต่มีโอกาสขายได้ทั้งกลุ่ม B2B ซื้อแบบ Big Lot หรือสั่งผลิตไปขายต่อ หรือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มาหาซื้อสินค้าไปจำหน่าย เมื่อเป็นการซื้อจำนวนมากก็ต้องการเห็นตัวอย่างสินค้าก่อนซื้อ “หน้าร้าน” จึงยังจำเป็น

กลุ่มสินค้าที่ AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์ ดึงเข้ามาเปิดพื้นที่หน้าร้าน เริ่มด้วย 14 กลุ่มสินค้า ทั้ง อาหาร เวลเนส  เคหะภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน เครื่องครัว ของเล่น ของชำรวย ของขวัญ  เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา สินค้าแฟชั่น และเครื่องประดับ

AWC pantip pratunum พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

หนุนทำเลทอง “ประตูน้ำ” สู่เดสทิเนชั่นค้าส่ง

การ Repositioning และ Rebranding พันธุ์ทิพย์ ใหม่ จากห้างไอที เป็นศูนย์ค้าส่ง เพราะวันนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้าไอทีเปลี่ยนไปแล้ว มีช่องทางการซื้อหลากหลาย การมาตึกคอม ที่เป็นแม่เหล็กดึงคนจึงลดบทบาทลงไป แต่ด้วยทำเลทอง “ประตูน้ำ” เป็นย่านค้าส่งสินค้าแฟชั่นระดับภูมิภาคที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว การเปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ เป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าหลากหลาย จะช่วยเสริมศักยภาพการเป็น Destination ศูนย์ค้าส่งกลางกรุงของประตูน้ำ มากขึ้นไปอีก

ไม่เพียงเท่านั้น AWC  ได้ความร่วมมือกับ Yiwu หรือ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน มาเปิดศูนย์นำเข้าและส่งออกที่ AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์  โดยจะมีศูนย์แสดงสินค้าคุณภาพคัดสรร “Yiwu Selection Thailand Showcase” เพื่อให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศได้มาเลือกสินค้าที่ไทย และยังเป็นช่องทางช่วยผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนผ่านเครือข่าย IC Mall ของอี้อู เป็นเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้ทำ Business Matching กับผู้ซื้อ

การปรับโฉมครั้งนี้ AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์ จะเป็น Destination ศูนย์ค้าส่งกลางเมืองเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ ช่วยผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะในภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และจีน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการจัดหาสินค้าของภูมิภาค (Sourcing Hub of the Region) ให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้าได้หาซื้อสินค้าหลากหลายในราคาต้นทาง พร้อมเครือข่ายออนไลน์เพื่อการค้า เปรียบเทียบราคา และการจัดส่ง แบบครบวงจร

นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์ ในรูปแบบของ O2O ให้กับผู้เช่าพื้นที่ค้าขายผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Phenixbox ที่จะเปิดตัวในต้นปีหน้า

AWC pantip pratunum พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

หลังโควิดต่างชาติเดินทางปกติ จับจ่ายสะพัด 5 พันล้าน/เดือน

โครงการ AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์ ได้ปรับพื้นที่เช่าร้านค้าในศูนย์การค้าให้เป็นพื้นที่ค้าส่งจำนวน 500 ร้านค้า  โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศจากหอการค้าในภูมิภาค สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ มีสมาชิกกว่า 100,000 ราย ได้สนับสนุนนโยบาย Regional Hub สินค้าส่งออกไทย ร่วมกับสมาคมต่างๆ 11 สมาคม นำผู้ประกอบการมาเปิดหน้าร้านที่ AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์ ราว 300 ร้านค้า ในช่วงเปิดตัว AWC ให้เช่าฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 6 เดือน

คุณอนันต์ ลาภสุขสถิต หัวหน้าคณะกลุ่มโฮลเซลล์ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ย้ำว่าในวันเปิดตัวโฉมใหม่ 26 พฤศจิกายนนี้  คาดว่าจะมีร้านค้ามาเปิดเต็มพื้นที่ 500 ร้านค้า กระจายอยู่ทั้งอาคาร 5 ชั้น  ส่วนผู้เช่าเดิมที่เป็นโซนร้านอาหารและร้านไอที ยังเหลืออยู่ราว 10%

ช่วงเปิดตัวในสถานการณ์โควิดที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เป็นปกติ การซื้อขายของคนไทยเองน่าจะมีเงินสะพัดราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท แต่หลังจากโควิดคลี่คลายไปแล้ว ต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อธุรกิจได้ การซื้อขายจะขยับเป็นเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท

AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์  ถือเป็นโมเดล “แฟลกชิพ” ของธุรกิจค้าส่ง หลังจากนี้จะนำพื้นที่โครงการเดิม “ตลาดต่อยอด” ย่านประตูน้ำพระอินทร์ มาพัฒนาเป็น AEC Trade Center ในต้นปี 2564 ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 160 ไร่ เป็นพื้นที่ขายกว่า 3 แสนตร.ม. โดยมีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ผู้ค้าสามารถใช้บริการได้

ปัจจุบัน AWC ยังมีพื้นที่อีกหลายแปลง ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจค้าส่งได้  โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก ที่จะมีผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้านมาหาซื้อสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศ ตามเป้าหมาย AWC ต้องการมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้าส่งให้ได้ 5% ของรายได้ ภายใน 5 ปี (2563-2567)

Pantip Ngamwongwan AWC พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน

ปรับโฉมยกแผงทุกสาขา “พันธุ์ทิพย์-ตะวันนา”

ไม่ใช่แค่การ Repositioning พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เท่านั้น แต่ คุณวัลลภา บอกว่า AWC ได้เตรียมปรับโฉมศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ทุกสาขา โดยอีก 2  สาขา เริ่มที่  พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 มีสินค้าและบริการแนวไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ไฮไลต์ตลาดนัดติดแอร์ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และตลาดเช่าพระเครื่อง

ด้วยทำเลที่ตั้งจึงมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าประเภทครอบครัว พนักงานบริษัท และนักศึกษา คอนเซ็ปต์ใหม่ จะปรับให้เป็นการ Destination เสน่ห์วันวาน เติมร้านค้าของเก่า ของโบราณ สินค้ามือสอง ซึ่งในตลาดศูนย์การค้ายังไม่มีคอนเซ็ปต์นี้  และสอดคล้องกับตลาดเช่าพระเครื่อง จุดต่างที่โดดเด่น

Pantip Chiangmai AWC พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่

อีกทำเลคือ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2547  ตั้งอยู่บนถนนช้างคลานศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและธุรกิจของเชียงใหม่ จากเดิมเน้นสินค้าไอที ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถาบันการเรียนรู้แบบบันเทิง (Edutainment) และบริการอื่น ๆ โฉมใหม่จะปรับเป็น F&B Destination” สไตล์ล้านนา เนื่องจากอยู่ย่านกลางเมืองและยังไม่มีศูนย์ฯ อื่นๆ ให้บริการคอนเซ็ปต์นี้  ซึ่งจะได้ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว

ส่วนแบรนด์ ตะวันนา บางกะปิ รูปแบบคอมมูนิตี้ มาร์เก็ต ที่เปิดให้บริการทั้งวันขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกในกรุงเทพฯ มีผู้ค้าปลีกกว่า 2,000 ราย  มีร้านค้าที่หลากหลาย เช่น ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม จะปรับคอนเซ็ปต์เป็น F&B Destination” สไตล์สตรีทฟู้ด ด้วยอาหารหลากหลาย

Tawanna Bangkrapi AWC ตะวันนา บางกะปิ

โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับ  “ครัวคุณต๋อย” ของไตรภพ ลิมปพัทธ์  ที่มีเครือข่ายร้านอาหารดังกว่า 2,000 ร้าน ดึงร้านดังกว่า 100 ร้าน ทั้งอาหารในตำนาน ตามเทศกาล เข้ามาเปิดให้บริการใน ตะวันนา บางกะปิ ซึ่งร้านเหล่านี้จะใช้เป็นพื้นที่ให้บริการส่งอาหาร Online Delivery ด้วย เริ่มให้บริการปลายปีนี้

การปรับโฉม Repositioning แบรนด์ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ทั้ง 3  สาขา จากจุดเด่นห้างไอที ที่ยืนตำแหน่งนี้มา 30 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์คู่ค้าและลูกค้าในยุคนี้


แชร์ :

You may also like