HomeCOVID-19เผย Insight “พฤติกรรมคนไทย” 4 เจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไปจากโควิด-19 ที่แบรนด์ต้องรู้เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่

เผย Insight “พฤติกรรมคนไทย” 4 เจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไปจากโควิด-19 ที่แบรนด์ต้องรู้เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนมานี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองเพื่อให้ผู้คนกักตัวทำงานอยู่บ้าน ยังเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกมิติ ทั้งการใช้ชีวิต การเดินทาง การสั่งอาหาร ไปจนถึงการทำงาน การทำธุรกรรม และการจับจ่ายซื้อสินค้า จนกลายเป็นคำนิยามที่เรียกกันว่า New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ อีกทั้งบางอย่างยังมีแนวโน้มจะกลายเป็นพฤติกรรมถาวรแม้สถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้จะเริ่มดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องเรียนรู้ปัจจัยที่มีผลต่อความคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันวิถีชีวิตแบบใหม่

บริษัท ฟาร์อีสท์ เฟมไลน์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละเจเนอเรชั่นบนแพลตฟอร์มวิจัยออนไลน์ 1stCloud ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ The Wall V.2020 GENERATIONAL FACE-OFFS DURING THE PANDEMIC โดยสำรวจคนไทยทั้งชายและหญิงจำนวน 626 คน แบ่งเป็น Generation Z จำนวน 148 คน Generation Y จำนวน 186 คน Generation X จำนวน 127 คน และ Generation B จำนวน 165 คน เพื่อทำความเข้าใจถึงทัศนคติ จิตใจ และการยอมรับในวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคในแต่ละเจเนอเรชั่น รวมถึงวิถีปฏิบัติที่แบรนด์ควรปรับเพื่อตอบสนองทัศนคติที่เปลี่ยนไป โดยพบว่ากลุ่มที่กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ปรับตัวได้ดีที่สุดคือ กลุ่ม Generation X กลุ่มที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากที่สุด คือ กลุ่ม Generation Y ส่วนกลุ่ม Generation Z มีความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด -19 มากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่วิตกกังวลต่อการติดโรคน้อยที่สุด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมน้อยที่สุดคือกลุ่ม Baby Boomer

ปรับสู่การเรียนแบบ New Normal

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับกลุ่มคนใน 4 เจเนอเรชั่น โดยจะแบ่งออกเป็นช่วงวัย ดังนี้ Generation Z เป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วง 1992-2012 มีอายุตั้งแต่ 8-25 ปี ที่เกิดมาพร้อม Social Media ที่หลากหลายและเทคโนโลยีครบครันกว่า Generation อื่นๆ Generation Y ผู้ที่มีอายุระหว่าง 26-40 ปี Generation X อายุ 41-55 ปี เป็นเจเนอเรชั่นที่ถูกเลี้ยงดูด้วยทั้งพ่อและแม่ที่ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และ GENERATION BABY BOOMER ผู้ที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี

จากการสำรวจของฟาร์อีสท์ เฟมไลน์ ดีดีบี ครั้งนี้ พบว่า กว่า 72% ของ Gen Z คิดว่าการหยุดช่วงโควิด มีผลเชิงลบต่อการงาน และการเรียนของพวกเขาอย่างไรก็ตาม Gen Z มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี พวกเขายอมรับว่ามีความสุขในการทำงานหรือเรียนที่บ้าน (70%) อีกทั้งยังคิดว่าการเรียนการสอนแบบเดิมไม่จำเป็นอีกต่อไป (54%)

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มที่มีการวางแผนเรื่องการเรียนต่อในอนาคตทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ก็ทำให้แผนในการศึกษาต่อของ Gen นี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง Gen Z มีแผนในการศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก กว่า 83 % ของ Gen Z ตอบว่า เป้าหมายทางการศึกษา และการทำงานของพวกเขาเปลี่ยนไปหลังเกิดโรคระบาด อีกทั้งยังมีความคาดหวังว่า ถึงแม้สถานการณ์จะจบลงไปแล้ว แต่พวกเขายังอยากเรียนหรือทำงานที่บ้านต่อไป (59%)

ชีวิตติดบ้าน

นอกจากการเรียนและการทำงานต้องปรับเปลี่ยนแล้ว จากผลวิจัยพบว่า ภาพรวมชีวิตประจำวันของเด็ก Gen Z ในช่วงเกิดโรคระบาดยังเปลี่ยนไปเช่นกัน 78% ของ Gen Z ตอบว่าไม่มีปัญหาเรื่องการกักตัวอยู่บ้าน และชอบอยู่บ้านมากกว่าออกไปสังสรรค์นอกบ้าน พวกเขามีการปรับตัวที่ดีที่จะใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิมควบคู่ไปกับโรคระบาด พวกเขามีการใช้ Application ใหม่ๆ และสื่อ Social ต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ ทั้งยังลองทำอะไรใหม่ๆ ในช่วงกักตัวอีกด้วย โดยกิจกรรมที่สามารถลองทำระหว่างอยู่บ้าน เรียกว่าพวกเขาได้ทดลองหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารเองครั้งแรก การปลูกต้นไม้ การใช้ Social Platform ใหม่ๆ เช่น TikTok ซึ่งจากฐานข้อมูลผู้ใช้งานของ TikTok จะเห็นได้ว่า Gen Z ได้กลายเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักของ Application นี้เลยทีเดียว

ในส่วนของด้านการเงิน Gen Z มีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และกลุ่มที่แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย จากผลวิจัยพบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษาของ Gen Z เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางการเงินน้อย เพราะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง แต่สำหรับ First Jobber สถานการณ์โควิดกลายเป็น 9/11 ของ Gen นี้เลยทีเดียว จากผลการวิจัยพบว่า 78% ของเด็ก Gen Z รู้สึกว่าชีวิตลำบาก และรายได้ลดลงอย่างมากในช่วงโรคระบาด พวกเขาใช้เงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ทั้งยังมีความคิดจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็นการเก็บเงินสดแทน โดยมีสัดส่วนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับ Generation อื่น ตลอดจนพยายามลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยมีความสนใจเลือกสินค้าลดราคา หรือเลือกซื้อเฉพาะที่มี Promotion อย่างไรก็ตามปัจจัยในการเลือกสินค้าของพวกเขา ก็ยังคงคำนึงถึงคุณภาพเป็นอันดับแรก มากกว่าจำนวน หรือกระแสนิยม

Green Teen

Gen Z เป็นเจเนอเรชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับ Gen อื่น แทบจะเรียกได้ว่าเป็น Gen เปลี่ยนโลกกันเลยทีเดียว โดย 96% ของ Gen Z ตอบว่าพวกเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังคำนึงถึงการร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีการติดตามเพจที่ส่งเสริมให้สังคมทำดี หรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น แต่ที่น่าสนใจคือ กว่า 81% ของ Gen Z ยอมจ่ายเพื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่า และยังมีเป้าหมายในชีวิตที่จะได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดกว่าทุก Generation

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อความกังวลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ช่วงอายุของ Gen Z ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่ต้องไปโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้พวกเขายังมีความกังวลในเรื่องการติดโรคสูงกว่า Gen อื่นๆ โดยกว่า 39% ของ Gen Z คิดว่าตนเองภูมิต้านทานต่ำติดเชื้อง่าย ซึ่งหากมีวัคซีนป้องกันโควิดเกิดขึ้น พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะไปฉีดทันที

ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาตอบว่า ค่อนข้างวิตกกังวลเรื่องสุขภาพจนจิตตกไปจนถึงซึมเศร้าในบางครั้งสูงถึง 42% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองรองจาก Gen Y พวกเขายังคิดอีกว่า ตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 28% นอกจากนี้ Gen Z ยังเป็น Generation ที่มีการไปพบจิตแพทย์ทั้งก่อนและหลังเกิดโรคระบาดสูงกว่าทุกเจเนอเรชัน

The Mutator มนุษย์กลายพันธุ์

ผลวิจัยยังพบว่า Gen Z มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน Lifestyle และพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี Gen Z สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว อาศัยความสามารถในการเข้าถึงทางเทคโนโลยีมาต่อยอดเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ และทักษะในการเอาตัวรอดได้ จึงเปรียบเสมือน GENERATION MUTATOR หรือเจเนอเรชันมนุษย์กลายพันธุ์ที่พร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์ที่จะมัดใจ Gen Z ได้นั้น จะต้องมีแบรนด์คอนเทนต์ที่ดี สามารถอ้างอิงได้ผ่านการรีวิวหรือ Influencer ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการให้คอนเทนต์ในเชิงบันเทิงเพื่อไม่ให้ภาวะวิตกกังวลที่มีอยู่แล้วรุนแรงยิ่งขึ้น มีการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในระดับปัจเจกบุคคลเพื่อให้ Gen Z สามารถต่อยอดหรือแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ และที่คาดไม่ได้คือการสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่า สร้าง Brand Love ผ่าน Green Marketing หรือการมอบประโยชน์กลับคืนสู่สังคม ที่จะทำให้ Gen Z ชื่นชมและจงรักภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

ไม่ว่าจะสูงแค่ไหน ก็ไปถึง

จากการศึกษาด้านทัศนคติของคนกลุ่มนี้พบว่า Gen Y ค่อนข้างพึ่งพาตัวเองสูง มีความมั่นใจด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มุ่งมั่นต่อความท้าทาย และมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดย 88% ของคนกลุ่มนี้เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า “ฉันสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย” และ 75% เห็นด้วยกับประโยคที่กล่าวว่า “ฉันชอบเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ที่แปลกใหม่/ไม่เคยเจอ”

ความมุ่งทะเยอทะยานเพื่อสร้างความอิสระเสรีให้กับชีวิตของตัวเอง คือสิ่งที่ Gen Y มองหาและให้ความสำคัญ นัยยะเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาผ่านคำตอบถึงความปรารถนาที่สำคัญของชีวิตที่ปรากฏว่า ทรัพย์สินเงินทองมีค่าคะแนนสูงสุด คือ 49.6% เป็นนายตัวเอง 28.8% และการได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆ 26.4% ในขณะที่การใช้ชีวิตเพื่อสังคม/สิ่งแวดล้อมถูกให้ความสำคัญน้อยสุดเพียง 15.2% ความรักความอิสระและมองหาช่องทางที่จะสร้างความอิสระทางการเงินให้ตนเอง เราจึงเห็นยุคที่ “ไลฟ์โค้ชล้นเมือง” โดยคอร์สฝึกทักษะชีวิตผุดกันเป็นดอกเห็ดมากมาย เพื่อตอบโจทย์คนวัยทำงานปัจจุบันจำนวนมากมองหานั่นเอง

เงินเดือนที่ใช่กับงานที่ทำได้สำคัญกว่า

Passion เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากในปัจจุบัน แต่ถ้าต้องชั่งน้ำหนักเลือกกันจริงๆ 3 อันดับแรกของปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเลือกอาชีพใน 1-2 ปีข้างหน้าของคนกลุ่ม Gen Y กลับเป็นเรื่องของ “สร้างรายได้ที่พึงพอใจ” (85.4%) “ความถนัดและสามารถทำได้ดี” (82.5%) และ “ความก้าวหน้าในงาน ได้พัฒนาตัวเอง” (81.7%) ซึ่งได้คะแนนมากกว่าเรื่องความชอบในเนื้องาน (77.4%) ขณะที่เรื่อง “บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป” กลายเป็นปัจจัยที่ Gen Y ให้ความสำคัญน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ (36.5%) นอกจากงานหลักแล้ว Gen Y ส่วนใหญ่มีรายได้เสริม โดยมีเพียง 13% เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองยังไม่มีแผนในการหารายได้เสริมใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยงานที่ได้รับความนิยมหรือสนใจสูงสุดกว่า 50.4% คือการขายของออนไลน์ รองลงมาคือลงทุนเล่นหุ้น 34.3% และ รับงานนอกบริษัท 24.1%

อนาคตก็ต้องมั่นคง แต่กิเลสก็ต้องระงับด้วยการซื้อ

เพราะกลุ่ม Gen Y เป็นประชากรในวัยทำงานทั้งหมดที่มองหาความมั่นคงในอนาคตให้กับตัวเองและครอบครัว ในการตัดสินใจด้านการเงินจึงเชื่อตนเองมากที่สุด (63%) และเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ Gen Y เชื่อถือในผู้เชี่ยวชาญบนอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆอีกด้วย (26%)

เรื่องการวางแผนทางการเงินในอนาคต Gen Y มีวัตถุประสงค์หลักในการออมเงิน/ลงทุน คือ เพื่อเพิ่มรายได้ (70.3%), วางแผนตอนเกษียณ (58.6%) และลดหย่อนภาษี (35.2%) ทั้งนี้สลากออมทรัพย์ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ Gen Y ลงทุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนกลุ่มเจนเนอเรชันอื่น คือ 43.8% ตามมาด้วยการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 16.8% ซึ่งสอดคล้องกับนิสัยของคนเจนเนอเรชันนี้ที่มองหาความเติบโตมั่นคง แต่ก็อยากที่จะท้าทาย มีโอกาสได้ “รู้สึกลุ้น” อยู่บ้าง แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นก็มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นในกลุ่มคน Gen Y เป็นอย่างมาก โดย 80.4% ระบุว่าได้วางแผนเปลี่ยนมาเก็บเงินสดแทน เพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์เหตุการณ์โรคระบาด

ซื้อก่อนจ่ายทีหลังสบายใจกว่า
แม้จะมองไกลถึงอนาคตที่มั่นคงปลอดภัย แต่ Gen Y ยังอยากใช้ชีวิตวันนี้เต็มที่ตามใจ Generation นี้เป็นเพียงเจเนอเรชันเดียวที่มีอัตราส่วนการเป็น “หนี้บัตรเครดิต” (29.9%) มากกว่าหนี้ประเภทอื่น เช่น การผ่อนบ้าน (28%) อีกทั้งส่วนใหญ่ได้ยอมรับว่า ตนเองมีปัญหาในการจัดการค่าใช้จ่ายส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 Gen Y ยังมีความมั่นใจว่าตัวเองสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติถึง 47.3% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเจนเนอเรชันอื่นๆ

ผลวิจัยยังพบว่า อายุในการหยุดทำงานประจำ หรือการเกษียณ กลุ่ม Gen Y ที่ต้องการเกษียณก่อนอายุ 60 มีถึง 36% ซึ่งสูงกว่าเจเนอเรชันอื่นๆ และส่วนใหญ่มีการวางแผนไว้บ้างแล้ว อาทิ ออมเงินในเงินฝากหรือลงทุนทอง 58%, วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง 43%, มองหา/ลงทุนธุรกิจของตัวเอง 37% และวางแผนจัดการหนี้สินปัจจุบัน/ไม่หาหนี้สิ้นเพิ่ม 36% ส่วนการวางแผนชีวิตบั้นปลาย มี Gen Y เพียง 8.8% เท่านั้นที่ยังไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกเจนเนอเรชันอีกด้วย

เงินซื้อสุขภาพไม่ได้ แต่อาจซื้อทางลัดได้

เนื่องจากกลุ่มคน Gen Y เป็นวัยทำงาน และมีภาระหน้าที่ต่างๆ มากมายที่ต้องจัดการ เพราะฉะนั้น แม้ว่าเงินจะซื้อสุขภาพที่ดีไม่ได้ แต่ก็อาจซื้อทางลัดได้ ดังนั้น Gen Y จึงมีแนวโน้มเป็น Short-cut seeker ที่มักมองหาตัวช่วยสู่สุขภาพดี เลือกดูแลตัวเองการรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการพักผ่อนให้เพียงพอ และเมื่อเทียบกับกลุ่มเจนเนอเรชันอื่นพบว่ากลุ่ม Gen Y มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอน้อยที่สุดอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมที่ Gen Y สนใจก่อนสถานการณ์โรคระบาด หลักๆ คือ “การออกนอกบ้าน” ไม่ว่าจะไปช้อปปิ้งหรือท่องเที่ยว มากกว่าใช้เวลากับครอบครัวหรือทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคม แต่ในช่วงโควิด-19 ที่มีการล็อคดาวน์ออกไปไหนไม่ได้ จึงทำให้ Gen Y หันมาให้ความสำคัญกับการได้อยู่กับตัวเอง (Me Time) มากขึ้นผ่านกิจกรรมยอดฮิตอย่างทำอาหาร (78%) และปลูกต้นไม้ (67%) ซึ่งในระหว่างนี้มีถึง 12% ที่ได้ลองทำอาหารเป็นครั้งแรกอีกด้วย และเมื่อถามถึงอนาคต มีถึง 97% ที่ยังอยากทำแบบนี้ต่อเนื่องต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวนั้นเรียกได้ว่า “เข้าเส้น” เห็นได้จาก 40% ที่ยังมีการขอไปเที่ยวนอกบ้านแม้กระทั่งช่วงล็อคดาวน์

เที่ยวได้ไม่ง้อทัวร์ แต่ก็กลัวพ่อแม่ลำบาก

ผลวิจัยพบว่า ภาพรวม Gen Y ยังเลือกการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองเป็นหลักอยู่ที่ 82% แต่น่าสนใจว่าในตัวเลือก “ไปเที่ยวกับบริษัททัวร์” กลุ่ม Gen Y กลับเป็นผู้ที่เลือกตอบสูงสุด (18%) เมื่อเทียบกับทุกเจนเนอเรชั่น ซึ่งเมื่อดูความสอดคล้องของข้อมูลเพื่อนร่วมการเดินทางแล้ว ผู้ที่ Gen Y ไปเที่ยวด้วยสูงสุด ก็คือพ่อแม่นั่นเอง (38%)

ด้านการเลือกปัจจัยในการท่องเที่ยวพบว่า 3 อันดับแรกที่ Gen Y ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ “ค่าใช้จ่าย” (70%) , เดินทางสะดวกสบาย (63%), และความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว (45%) นอกจากนี้เรื่อง “กิจกรรมตรงความสนใจ” แม้จะไม่ใช่ปัจจัยในอันดับต้นๆ แต่เมื่อเทียบกับเจนเนอเรชั่นอื่นๆ แล้ว Gen Y ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยมีกิจกรรมที่สนใจสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์โรคระบาดที่ส่งผลโดยตรงกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แม้กลุ่มคน Gen Y จะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยแต่ก็ยังโหยหาการท่องเที่ยวที่ห่างหายไปนาน ดังนั้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19  ปัจจัยที่ Gen Y ใช้พิจารณาการเลือกใช้บริการท่องเที่ยวจึงเน้นที่มาตรการความสะอาดที่ชัดเจนของสถานที่ท่องเที่ยว/ที่พัก ถึง 91.2% ตามด้วยเรื่องของโปรโมชั่นพิเศษ และคะแนนรีวิวสูง 83.2% เท่ากัน เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยเรื่องความยืดหยุ่นด้านการจอง/คืนเงิน ไม่ได้เป็นปัจจัยโดดเด่นมากนัก จากการสัมภาษณ์ตัวแทน Gen Y ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถเจรจากับทางโรงแรมเพื่อยกเลิกในสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ จึงไม่ค่อยกังวล

Right price is the right prize
ด้านการจับจ่ายซื้อของ สิ่งที่กลุ่มคน Gen Y ให้ความสำคัญมากที่สุดถึง 92% คือ การซื้อสินค้าตามความเหมาะสมของคุณภาพราคามากกว่าเลือกซื้อจากแบรนด์สินค้า และมีถึง 89% ระบุว่า ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่นเท่านั้น อีกทั้งจากการสัมภาษณ์พบว่า Gen Y ให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อมูลแบรนด์ ดูรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อที่หน้าชั้นวางสินค้า หรือพิจารณาคำแนะนำจาก Facebook Group ที่มีความน่าเชื่อถืออีกด้วย

แต่เมื่อเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ที่มีคุณภาพ ช่องทางการจำหน่าย และราคาใกล้เคียงกัน ประเด็นเรื่องแบรนด์ “สินค้า/บริการเป็นที่รู้จัก (Well Known)” กลับได้รับคะแนนสูงสุดถึง 79% ตามด้วย “เป็นที่นิยม (Popular)” 55% ดังนั้น แม้ Gen Y จะไม่ใช่ Brand Loyalist และพร้อมเปลี่ยนใจไปตามราคาหรือดีลสุดคุ้ม แต่เรื่องของ Branding ยังเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรู้สึกคุ้มค่าในเชิงคุณภาพ

ด้านการซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ธุรกิจ E-Commerce มีการเติบโตเป็นอย่างมาก กลุ่ม Gen Y ก็มีการช็อปปิ้งหลากหลาย หลายคนเลือกซื้อสินค้าที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะซื้อทางออนไลน์มาก่อนเป็นครั้งแรกในช่วงสถานการณ์นี้ ซึ่งกลุ่มสินค้ายอดนิยมที่สุด คือ “อุปกรณ์ทำอาหาร” 47%, อุปกรณ์ทำสวน/ต้นไม้ 32% จะเห็นได้ว่าล้วนมีความสอดคล้องกับกิจกรรมสุดฮิตของคน Gen Y ในช่วงล็อคดาวน์นั่นเอง

กรณีศึกษาน่าสนใจด้านการตลาดและโฆษณาที่ตอบโจทย์คุณลักษณะของ Gen Y อาทิ การสร้างประสบการณ์ที่สามารถทำให้คน Gen Y ได้มีส่วนร่วมในรูปแบบใหม่ เช่น Drive-in Cinema ที่ต้องการแก้โจทย์ทางธุรกิจ และดึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะ Gen Y ที่แม้มีความระแวงระวังเรื่องโควิด-19 แต่ก็มีจิตใจที่ใฝ่หาความผ่อนคลาย อยากจะสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่ ท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตอบสนองความเป็น The Self-Challenger หรือด้านพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” ของ Gen Y ที่ทำให้การบริหารจัดการเงินเป็นเรื่องยากให้คนกลุ่มนี้ได้ช็อปอย่างที่ใจอยากด้วยให้บริการ Online Banking ที่มีระบบ A.I. แจ้งเตือนรายการที่มีแนวโน้มว่าจะลืมจ่าย

Less YOLO, More Security
แม้คน Gen Y จะเปี่ยมไปด้วยพลังของคนวัยทำงาน ที่มุ่งมั่นเพื่อสร้างความมั่นคง ท้าทายเพื่อสร้างความฝันมุ่งไปสู่อิสระเสรี กล้าลุย กล้าใช้จ่ายด้วยความมั่นใจ แต่จากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ชีวิตการงานของ Gen Y ก็จะมองหาความมั่นคงด้านรายได้มากขึ้น มากกว่าแค่เรื่อง Passion , พฤติกรรมการลงทุนที่เคยเน้นการเติบโตก็ชะลอตัวลง หันไปหาการเก็บเงินสดที่รู้สึกว่ามันแน่นอนไว้ใจได้มากกว่า เรื่องความคาดหวังจากแบรนด์ด้านราคาและโปรโมชั่นจะยิ่งท้าทายไปยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ Gen Y ที่เป็น The Self-Challenger แต่แบรนด์ต่างๆก็ต้องร่วม Challenge ไปกับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน จิตวิญญาณของ Gen X คือคนรักอิสระ รักที่จะเป็นตัวของตัวเอง แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์ และมักจะไม่ค่อยสนใจกฎหรือข้อกำหนดที่จำกัดอิสรภาพของตนสูง แต่ในอีกด้าน Gen X จะไม่ทำตัวเป็นภาระรวมถึงจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย โดยการสอบถามค่านิยมทางทัศนคติพบว่า 100% ของ Gen X เห็นด้วยว่าตนไม่ทำตัวเป็นภาระและตั้งใจจะช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะที่ 91.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen X เห็นด้วยว่าสถานบันเทิง/ขายสุราควรถูกปิดตลอดการแพร่ของโรคระบาด ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุก generation

อันดับหนึ่งคือสุขภาพ และความสุขในครอบครัว

ด้านเป้าหมายหรือชีวิตในอุดมคติ Gen X ไม่ได้มองว่าการประสบความสำเร็จด้านทรัพย์สินเงินทองมั่งคั่งคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต แต่สิ่งที่ให้คุณค่าความสำคัญมากกว่าคือ การมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ปราศจากโรคภัย การได้มีชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย พอเพียง รวมไปถึงประสบความสำเร็จด้านความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นสิ่งที่ gen X ให้ความสำคัญสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกเจเนอเรชัน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหนึ่งในผู้ตอบแบบสอบถามชาว Gen X ซึ่งเป็นแม่บ้านอายุ 42 ปี มีบุตร 2 คน ให้คำยืนยันในประเด็นนี้ว่า “ทุกวันนี้เราเองก็ไม่ได้อยากได้อะไร แค่อยากให้ครอบครัวมีความสุข ให้ลูกโตไปเป็นคนดี”

นอกจากนี้ Gen X ยังให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองและดูแลสุขภาพมาก มีการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอทุกปี และออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รักษารูปร่างและคงความอ่อนเยาว์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโรค เช่น โควิด-19 Gen X ยังมองว่าตนเองเป็นคนที่มีสุขภาพดีมาก และมีความเสี่ยงต่อการติดโรคต่ำ และยังสามารถดูแลสุขภาพทุกคนในครอบครัวช่วงโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุก generation

นอกจากวิธีดูแลสุขภาพร่างกายแบบ Active แล้ว Gen X ยังเป็น Generation ที่ซื้อประกันมากที่สุดด้วย จากผลวิจัยพบว่า 82.3% ซื้อประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตให้ตนเองและคนในครอบครัว และ 52.8% ซื้อประกันโควิด-19 ซึ่งทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม และเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มที่ซื้อประกันโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง รายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพทั่วไป และประกันอุบัติเหตุในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น

ปรับตัวเก่ง

โดยพื้นฐาน Generation X มองว่าตนประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน การทำงาน และมั่นใจในความสามารถของตัวเองที่จะดำเนินธุรกิจส่วนตัวสูง ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุก generation เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 Gen X จึงสามารถปรับตัว ปรับมุมมองรับสถานการณ์ได้ดี โดย 81.4% ของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen X เห็นด้วยว่าใช้เวลาอยู่บ้านช่วง WFH เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ 61.9% เห็นด้วยว่า WFH ทำให้ทำงาน/เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง โดย 71.7% ตอบว่ามีรายได้เสริมตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท  การออมเงินหรือลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆของ แต่ละ Generation

เนื่องด้วย Generation X อยู่ในวัยที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกที่ยังอยู่ในวัยเรียน หรือพ่อแม่ที่สูงวัย จึงเป็น generation ที่แบกรับภาระหนี้สิน ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ตอบว่ามีภาระหนี้สินอยู่สูงมากและกระจายอยู่ในเกือบทุกประเภท ภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของแต่ละ Generation

ถึงแม้จะมีแผนสำรองหรือช่องทางการหารายได้เสริมแล้ว Gen X ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 โดย 56.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้ เห็นด้วยว่ารายได้น้อยลงกว่าเดิม และ 14.2% ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐ และเมื่อให้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากผลกระทบของโควิด-19 กลุ่มนี้มองว่าตนมีระดับความสามารถในการชำระหนี้ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับ Generation อื่น

ปลอดภัยปุ๊บ เที่ยวปั๊บ

การท่องเที่ยว คือกิจกรรมยามว่างสุดโปรดปรานที่ทำเป็นประจำเป็นอันดับ 3 ของ Gen X รองจากการเล่นโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต, และการชมโทรทัศน์ ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมา Gen X มีการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด ทั้งต่างจังหวัด และไปต่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเป็น Generation ที่เห็นด้วยมากที่สุดต่อประโยคที่ว่าตนจะเดินทางนอกประเทศทันทีการแพร่ของโรคระบาดหมดไป

จากกิจกรรมยามว่างที่ทำเป็นประจำของ Gen X เห็นได้ว่าเป็น generation ที่ค่อนข้างอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือ TV ในช่วงโควิด-19 Gen X จึงเป็นกลุ่มที่โหลดใช้แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อความบันเทิงสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ สื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงที่เริ่มใช้/เล่นเป็นครั้งแรก ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละ Generation

ชอบทำบ้านให้เป็นบ้านมากขึ้น

เป็น Generation ที่ค่อนข้างอยู่ติดบ้าน โดย 71.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้ เห็นด้วยว่าตนชอบอยู่บ้าน มากกว่าออกไปสังสรรค์นอกบ้าน และ 80.2% ของ Gen X ไม่มีความคิดวางแผนย้ายที่อยู่อาศัย ส่วนด้านการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ครั้งแรกของเจเนอเรชันนี้ที่เกิดขึ้นในช่วง Work from Home จึงเน้นไปทางอุปกรณ์เสริมความสุข สร้างสรรค์งานอดิเรกเวลาอยู่บ้าน เช่น อุปกรณ์ทำอาหาร เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ทำสวน/ต้นไม้ และสินค้าประเภทที่ Gen X ซื้อออนไลน์เป็นครั้งแรกมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญแตกต่างจาก generation อื่น คือ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน 

เปิดซิงค์ช๊อปปิ้งออนไลน์

นอกจากนี้ Gen X ยังเป็นเจเนอชั่นที่ซื้อสินค้าอาหารสดผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ และผ่านแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารสด เป็นครั้งแรกมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุก Generation โดย 28% ซื้อสินค้าผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ เช่น 7-11, Tops, Tesco 21% แอพพลิเคชั่นร้านค้า เช่น 1112 และ 16% แอพสั่งอาหารสด เช่น Freshket, Happy Fresh

เลือกแบรนด์ที่คุณค่า และภาพลักษณ์

พฤติกรรมการซื้อสินค้าของ Gen X จะเลือกของที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่า Generation อื่นๆ และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 Gen X ยังให้การสนับสนุนแบรนด์ที่ให้ประโยชน์บุคลากรทางการแพทย์  และหันมาสนใจสินค้า local brand มากขึ้นด้วย

ดังนั้น แบรนด์ที่จะเข้าไปอยู่ในใจ Gen X คือแบรนด์ที่ทำให้ชีวิตของชาว Gen X มีชีวิตชีวา และมีชีวิตที่มีความหมายต่อตนและครอบครัวมากขึ้น เช่น IKEA ที่เปลี่ยน catalogue สินค้าเป็นเหมือนสมุดระบายสีให้เด็กๆ ในบ้านสนุกกับการระบายสี และเป็นการแบ่งเบาภาระพ่อแม่ไปในตัวด้วย หรือ Pornhub ที่เปิดโอกาสให้ SMEs ขายต้นไม้ อุปกรณ์ตกแต่งรถ ตกแต่งบ้าน เข้ามาโฆษณาขายสินค้าออนไลน์ได้ฟรี เป็นต้น

สุขนี้ พี่สร้าง

จากผลการศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างของ BABY BOOMER พบว่า คนกลุ่มวัยนี้มีทัศนคติในการดำเนินชีวิตเพื่อการทำงานเป็นหลัก เคารพกฎกติกาเหมือนเป็นวัฒนะธรรมในการใช้ชีวิต ทำให้ 96% ของคนกลุ่มนี้ชอบทำในสิ่งที่มีการจัดการแบบเป็นระบบ มีขั้นตอนแน่ชัด ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ Gen Z (93.3%) / Gen Y (94.7%) / Gen X (95.3%) ทั้งยังเป็นกลุ่มวัยที่มีความอดทนสูง พยายามคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง ผ่านภาวะการแข่งขัน การเสี่ยง การสร้างความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว มีสัดส่วนของการออมในรูปแบบเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์สูงที่สุด มากถึง 93.1% และ 19.1% ตามลำดับ และเป็นกลุ่มวัยที่ไม่มีหนี้สินใดเลยสูงสุดถึง 48.9% ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความอิสระทางการเงินที่พร้อมมีความสุขกับการใช้ชีวิต ทำให้พบว่า 87% ของกลุ่มวัยนี้ รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองในปัจจุบัน สูงกว่าทุก Gen

สายกรีนตัวแม่

การก้าวสู่วัยที่มีเวลาว่างมากมาย ขณะที่ลูกหลานมักออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน กิจกรรมหลักของกลุ่ม BABY BOOMER จึงเป็นกิจกรรมการดูโทรทัศน์ที่สูงถึง 88.7% และจากการว่างของคนวัยเดียวกัน ทำให้กิจกรรมการได้ไปพูดคุยโทรศัพท์กับเพื่อนๆ 87.9% การไปพบปะเพื่อนๆ  67.7%  และการไปทำบุญทางศาสนา 64.9% มีสัดส่วนสูงที่สุดกว่ากลุ่มคนในวัยอื่นๆ ในส่วนชองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนวัย BABY BOOMER ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จากการวิจัยพบว่า 98.5% ของคนกลุ่มนี้ เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก สูงที่สุดกว่าทุก GEN นับได้ว่าคนวัยนี้เป็น สายกรีนตัวแม่ เปย์หนัก รักษ์สิ่งแวดล้อม   

แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า มีเพียง 67% ของคนกลุ่มวัยนี้เท่านั้น ที่ตรวจสุขภาพร่างกาย สม่ำเสมอทุกปี ต่ำกว่าในทุก GEN เนื่องจากคนวัยนี้มองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพราะตนเองไม่ได้เจ็บป่วยเป็นอะไร และปัจจุบันไม่ได้ทำงานหาเงินมาทั้งชีวิต เพื่อใช้ไปหาพบแพทย์เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น 60.3% ของคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่ปรารถนาจะออกกำลังกาย ต่ำที่สุดเนื่องสภาพร่างกายปัจจุบันที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เหมาะสำหรับการดูแลสุขภาพในรูปแบบนี้ ตรงกันข้ามคนวัยนี้เน้นการดูแลสุขภาพในลักษณะของการระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยการล้างมือ การทำความสะอาดที่สูงถึง 93.9% และทานอาหารถูกสุขลักษณะทุกมื้อ 89.3% สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุก GEN ดังนั้น สุขภาพสำหรับคนวัยนี้ จะเป็นในลักษณะของการกินดี มีสุข มากกว่าการออกกำลังกาย หรือการไปตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

เบื่อนัก มักเหงา

จากผลการวิจัยพบว่า BABY BOOMER เป็นกลุ่มที่รู้สึกเหงาได้ง่าย และมีความกังวลว่าตนเองจะกลายเป็นคนไม่มีคุณค่า กลัวการถูกตัดขาดของจากสังคมปัจจุบัน ถ้าหยุดทำงาน ทำให้เป็นกลุ่มวัยเดียวที่มองว่า อายุเฉลี่ยในการหยุดการทำงานประจำ ควรอยู่ที่ประมาณ 64 ปี ไม่ใช่แค่ 60 ปี คนวัยนี้รู้สึกว่าตนเองยังคงทำงานต่อได้ ผนวกกับความกลัวลึกๆ ที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในใจในเรื่องของการกลัวความเหงา กลัวการที่ตนเองจะกลายเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งจะทำให้คุณค่าในชีวิตของตนเองหมดไป

ผลกระทบจากโควิด-19 อะไรก็เกิดขึ้นได้

จากการต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 การใช้ชีวิตภายใต้เคอร์ฟิว และการต้องกักตัวอยู่ในบ้าน พบว่า 99.2% ของ BABY BOMER ยึดมั่นทำตามกฏและข้อแนะนำทุกอย่างของภาครัฐอย่างเคร่งครัดสูงที่สุดกว่าทุก Generation นำไปสู่พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่พบปะผู้คนที่สูงที่สุดเช่นกันถึง 93.9% และการพกพาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ 84.7% จากการดูแลตัวเองเป็นอย่างดีและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในทุกด้านทำให้ BABY BOOMER เชื่อว่าตนเองมีความเสี่ยงน้อยมากในการติดโรคโควิด19 เพียง 24% เท่านั้น ต่ำกว่า Generation อื่นๆ ส่งผลให้ถึงแม้จะมีวัคซีนโรคโควิคออกผลิตออกมาแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นวัคซีนที่เป็นที่แพร่หลาย ได้รับการรับรอง คนกลุ่มนี้ก็จะยังไม่ไปรับวัคซีนในทันที สูงถึง 54.2% เพราะเกรงว่า อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพของตนในปัจจุบันได้

ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้ชีวิต เป็นที่ยอมรับว่าการใช้ชีวิตรูปแบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 จึงทำให้ BABY BOOMER ได้มีโอกาสลองใช้บริการออนไลน์เป็นครั้งแรก เช่น Grab Taxi 28.6% สูงกว่าวัยอื่นๆ รวมถึงการสั่งอุปกรณ์ทำสวน ปลูกต้นไม้ 75% ที่เป็นกิจกรรมที่คนวัยนี้ชื่นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น โควิด-19 ยังส่งผลให้มุมมองเรื่องการทำรายได้เสริม เปลี่ยนไปจากเดิมที่มองว่าไม่จำเป็นมีรายได้เสริมที่ 74.6% ลดลงมาอยู่ที่ 62.6%

ทั้งนี้ จากกรณีศึกษาความสำเร็จของ TELEKOM BRAND PLATFOM ภายใต้ชื้อแคมเปญ GENERATON #NOW เป็นเสมือนข้อพิสูจน์สำคัญที่ทำให้เห็น  Insight ของเจนนี้ว่า BABY BOOMER มีความโดดเดี่ยว มีความเหงา และอยากมี HAPPY QUALITY TIME กับลูกหลานให้ได้มากที่สุด แม้จะมีอุปสรรคของการรู้สึกไม่คุ้นเคยกับสังคมออนไลน์เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะ GAME ซึ่งเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นสมัยนี้ชื่นชอบ จนทำให้ขาดโอกาสการได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน

โจทย์สำคัญของแคมเปญนี้ จึงเป็นรูปแบบปรับเปลี่ยน SENIOR CLUBE TO SENIOR GEMMER CLUB เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป โดย GAMER EXPERT รวมถึงลูกหลาน ร่วมเล่นเกมกับ BABY BOOMER เพื่อสร้างประสบการณ์ ความสนุก ความสุขไปด้วยกันในรูปแบบการ TEAM UP จนทำให้เกมต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับ BABY BOOMER อีกต่อไป ซึ่งแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมจากสังคมเป็นอย่างยิ่งในการสร้างการเชื่องต่อของคนในGENERATION ที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน

จากผลการวิจัยในครั้งนี้อนุมานได้ว่า ตราบใดที่แบรนด์สามารถทำให้ BABY BOOMER รู้สึกว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ “ยุ่งยาก” และ “ซับซ้อน” จนเกินไป และคนรุ่น BABY BOOMER ยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าเสมอต่อครอบครัวและสังคม สิ่งเหล่านี้จะทำให้ BABY BOOMER พร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับแบรนด์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เปลี่ยนไปในทุกวัน รวมถึงมองว่าการมีความสุข ณ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่รูปแบบความสุขของคนวัยนี้ จะอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ  ความมั่งคง ปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความรู้สึกของการมีกันและกัน และมีคุณค่าที่สามารถทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคมในปัจจุบันและอยู่ได้อย่างมีคุวามสุข

ในยุคที่ไม่เหมือนเดิม แบรนด์ต้องเข้าใจ Insight ผู้บริโภคแต่ละเจเนอเรชั่น

ต้องบอกว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ทุกกลุ่มมีประสบการณ์ร่วมในการถูกล็อคดาวน์เหมือนกัน แต่มีการตอบสนองต่อสถานการณ์แตกต่างกันทั้งในเรื่องความรู้สึกและการแสดงออกทางพฤติกรรม ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละเจเนอเรชั่นถือเป็นสิ่งสำคัญของแบรนด์ในยุคปัจจุบัน เพราะสามารถนำข้อมูลมาศึกษาและกำหนดบทบาทแบรนด์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างในแต่ละเจเนอเรชันให้มากขึ้น เช่น จากการเรียนรู้อินไซต์และพฤติกรรมที่แตกต่างไปของแต่ละเจน พบว่า ถ้าแบรนด์ต้องการสื่อสารกับ Gen Z ควรให้ข้อมูลคอนเทนต์ออนไลน์ที่ดี เอื้อประโยชน์ เอนเทอร์เทน และมีการทำ Green Marketing

ขณะที่การสื่อสารกับ Gen Y ที่เป็นนักท้าทายตนเอง แบรนด์ต้องกล้าหาญที่จะพูดตรง แตกต่าง เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ทำอะไรใหม่ๆ มีประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุ้มค่า ซึ่งกลุ่มนี้หลังคลายล็อคดาวน์ก็ตอบว่าจะไม่รีรอ และจะออกหาประสบการณ์โดยการเที่ยวในประเทศก่อนทันทีแต่จะเลือกสถานที่พักที่ให้ความมั่นใจเรื่องความสะอาดมีอนามัย เช่นเดียวกับกลุ่ม Gen X ที่เป็นนักปรับตัวที่เก่งที่สุด เนื่องจากผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง จึงรู้จักเอาตัวรอดโดยให้ความสำคัญต่อสิ่งที่มีคุณค่า มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สูง การตอกย้ำคุณค่า ภาพลักษณ์ ความมีชื่อเสียงของแบรนด์กับกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาพร้อมที่ Trade Up ซื้อสินค้าราคาแพงแต่มีคุณค่ามากขึ้น เช่น สินค้าทำความสะอาดที่มีราคาสูง ฆ่าเชื้อโรคได้แต่ปลอดภัยต่อร่างกายมากขึ้น

ท้ายสุดเมื่อแบรนด์ต้องการสื่อสารกับ Baby Boomer ผู้รักชีวิตที่สุข สะดวกสบาย มั่นคง ปลอดภัย แบรนด์ควรการันตีว่ามีความเชื่อมโยงกับคุณค่าเหล่านี้ และช่วยเชื่อมต่อเจนนี้กับครอบครัวและโลกปัจจุบันได้อย่างมีคุณค่า ไม่โดดเดี่ยว จะยิ่งทำให้แบรนด์นั้นกลายเป็นแบรนด์ทางเลือกสำหรับคนเจนนี้มากขึ้นไปด้วย


แชร์ :

You may also like