HomeDTACโรงเรียนไม่ปลอดภัย-ไม่ยอมรับเรื่องเพศ “ดีแทค” เปิดหลักสูตรออนไลน์เน้นความหลากหลายทางเพศ ลด Cyberbullying

โรงเรียนไม่ปลอดภัย-ไม่ยอมรับเรื่องเพศ “ดีแทค” เปิดหลักสูตรออนไลน์เน้นความหลากหลายทางเพศ ลด Cyberbullying

แชร์ :

คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ จับมือพันธมิตร เปิดหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ตอบโจทย์สังคมที่ต้องการเห็นโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ท่ามกลางกระแสข่าวการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยสิ่งที่นำไปสู่หลักสูตรออนไลน์ดังกล่าวมาจากงานวิจัยหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยเรื่อง การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเมื่อปี 2018 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค ที่พบว่า 91% จากกลุ่มตัวอย่าง 1,606 คนเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขั้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก โดยกลุ่ม “LGBT” มักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนหญิงและชาย

นอกจากนั้น ดีแทคยังมีการทำสำรวจข้อมูลบนโลกโซเชียลร่วมกับ Wisesight ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2018 – ตุลาคม 2019 ซึ่งพบว่า แค่ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมไทยก็มีการบูลลี่กันบนโลกออนไลน์อีกกว่า 700,000 ข้อความ โดย 10 หัวข้อที่มีการ Bully กัน เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่

  1. รูปลักษณ์ 36.4%
  2. เพศ 31.8%
  3. ความคิด/ทัศนคติ 10.2%
  4. เชื้อชาติ 6.8%
  5. ศาสนา 4.4%
  6. บุคลิกและลักษณะนิสัย 4%
  7. รสนิยมความชอบส่วนตัว 2.4%
  8. ไม่เฉพาะเจาะจง 2%
  9. ฐานะทางการเงิน 1.7%
  10. ครอบครัว 0.3%

แถมการ Bully นั้น พบว่า 33% เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา โดยแบ่งออกเป็นระดับชั้นอนุบาล 2,007 ข้อความ, ประถม 9,125 ข้อความ, มัธยม 11,441 ข้อความ และมหาวิทยาลัย 8,404 ข้อความ ซึ่งเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความการ Bully มากที่สุด รองลงมาคือ ครู-อาจารย์ และพ่อแม่ และการ Bully นั้นนำไปสู่การเกิดของคำใหม่ ๆ มากมาย เช่น ตลาดล่าง หน้าหัก ต่ำตม หน้าปลอม สลิ่ม ฯลฯ ด้วย

โดยจากผลการวิจัย เด็กนักเรียน 33.8% ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์

ห้องเรียนครูล้ำ ทำอะไรได้บ้าง

โดยแพลตฟอร์มห้องเรียนครูล้ำจะเป็นที่บรรจุเนื้อหาหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” ซึ่งจะพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2021 ครูที่ผ่านการอบรมในคอร์สดังกล่าวจะได้รับประกาศนียบัตร และสามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดในสถานศึกษาของตัวเองได้

สำหรับเนื้อหาของหลักสูตรการเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ SOGIESC นั่นคือ

  • Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์
  • Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
  • Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน
  • Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย

คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขาก่อน”

“หลักสูตรดังกล่าวช่วยให้ครูเข้าใจคอนเซ็ปต์ของคำว่า ความหลากหลาย และเมื่อเข้าใจ ก็จะสามารถหยุดการกลั่นแกล้งรังแกกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณอรอุมากล่าวปิดท้าย

สำหรับพันธมิตรของดีแทค Safe Internet ครั้งนี้ประกอบด้วยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 


แชร์ :

You may also like