HomeBrand Move !!เปิดสูตร Music Solution “จีเอ็มเอ็ม” บริหารศิลปินฝ่าคลื่น Disruption ปั้นงานปีละ 1,000 โชว์

เปิดสูตร Music Solution “จีเอ็มเอ็ม” บริหารศิลปินฝ่าคลื่น Disruption ปั้นงานปีละ 1,000 โชว์

แชร์ :

Photo Credit : Facebook GMM Grammy Official

อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเจอกระแส Digital Disruption กระหน่ำซัดเป็นกลุ่มแรกๆ หลังการปรับตัวตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางการไปต่อเริ่มชัดว่าวันนี้ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ทำรายได้ทดแทน Physical Product ได้แล้ว ตอกย้ำการยืนอยู่บน Core Business เดิมของ GMM Grammy กับการโฟกัสธุรกิจเพลงที่ยังทำรายได้หลักและต่อยอดสู่ Music Solution กวาดรายได้ทุกทิศทางโดยมี “ศิลปิน” เป็นแกนกลาง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง Media Landscape ในประเทศไทย “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ในฐานะ Entertainment Business เริ่มต้นจาก “ค่ายเพลง” และยังเป็นธุรกิจที่ทำมาถึงปัจจุบันกว่า 37 ปี แม้จะขยายธุรกิจคอนเทนท์ไปอีกหลากหลาย แต่ธุรกิจเพลงยังคงทำรายได้หลักให้แกรมมี่ และ“ไม่เคยขาดทุน” 

ปี 2562 แกรมมี่มีรายได้ 6,640 ล้านบาท ธุรกิจเพลง ครองสัดส่วน 60% กว่า 4,000 ล้านบาท สร้างโอกาสหารายได้จากทุกช่องทาง ทั้งการจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical Product) ดิจิทัล มิวสิค, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, โชว์บิซ, การบริหารศิลปิน และธุรกิจอื่นๆ

เฟซบุ๊กเพจ BU Online Workshop โดย ผศ.ดร.ศศิประภา พันธนาเสวี รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดเสวนาออนไลน์เวิร์กช็อป How to ฝ่า…Opportunity Series :บริหารศิลปินนักร้องอย่างไรให้ฟินทั้งแฟนคลับจับใจสปอนเซอร์ ร่วมพูดคุยกับ ดร.สรัญ ฐิตะวสันต์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จํากัด (มหาชน) ที่ได้มาเล่ากระบวนการสร้างศิลปิน กลยุทธ์ในการบริหารจัดการศิลปินทุกแง่มุม รวมทั้งการใช้ช่องทางเผยแพร่ผลงานในยุค Media Landscape เปลี่ยนไป และแนวทางการทำธุรกิจบันเทิงในยุคโควิด

Photo Credit : Facebook GMM Grammy Official

“ศิลปิน” อาชีพในฝัน “เกิดง่าย” แต่ยืนระยะยาวยาก  

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ศิลปินนักร้อง” เป็นอาชีพในฝันของหลายคน ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ในการก้าวสู่อาชีพศิลปิน เพราะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ทั้งการแต่งเพลง ร้องเพลง ทำมิวสิควิดีโอ ช่องทางการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์  ทำให้ทุกคนสามารถแจ้งเกิดเป็นศิลปินได้ และมีโอกาสดังชั่วข้ามคืน

กระบวนการสร้างศิลปินในยุคนี้จึง “แจ้งเกิดง่าย” แต่การประสบความสำเร็จ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ยังเป็นความท้าทาย ที่ต้องบริหารจัดการอย่างเป็นกระบวนการ มีที่ปรึกษาวาง Roadmap เพื่อให้ศิลปินยืนระยะยาวได้ ขยับ Career Path เริ่มจากศิลปินที่มีเพลงฮิต 1 เพลง กลายเป็น 10 เพลง มีผู้ติดตามใน Social Media จากหลักหมื่นเป็นหลักแสน ก้าวสู่ศิลปินที่มีผู้ติดตามหลักล้าน ต่อยอดสร้างโอกาสทำงานในทุกแพลตฟอร์ม บริหาร Asset ที่มีอยู่สร้างรายได้ทุกช่องทาง

“คนที่สนใจอยากเป็นศิลปิน แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้เข้าสู่วงการได้ง่าย แต่ค่ายเพลงเปรียบเป็นพาร์ทเนอร์ ทำให้อาชีพศิลปิน ยืนระยะอยู่ได้นาน”

“แฟนคลับ” ชี้วัดความสำเร็จศิลปิน

วันนี้หากเห็นศิลปินตั้งแต่ยุค 90 ยังมีผลงานให้เห็น หรือ ศิลปินรุ่นใหม่ มีผลงานออกมาต่อเนื่อง นั่นมาจากโรดแมปเส้นทาง “อาชีพศิลปิน” เป็นสิ่งที่ค่ายเพลงได้วางกลยุทธ์ร่วมกับศิลปินเป็นระยะ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว 3-5 ปี เพื่อสุดท้ายแล้วมาดูว่าสิ่งที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายมีอะไรบ้าง เรียกว่าเป็นการเตรียมกระสุนไว้ปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออก ซิงเกิ้ลใหม่ ปล่อยมิวสิควิดีโอ งานพรีเซ็นเตอร์ งานโชว์ คอนเสิร์ต เพื่อให้แฟนคลับติดตามและเพิ่มฐานแฟนคลับจากผลงานใหม่ สิ่งที่สำคัญของการเป็นศิลปินก็คือ “ความต่อเนื่อง”

จำนวนแฟนคลับ(FC) ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลความสำเร็จของศิลปิน ที่สะท้อนจากผลงานที่ออกมาด้วย โดยต้องนำเป้าหมายเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นระยะ เพื่อดูผลว่าแต่ละช่วงได้รับ Feedback เป็นอย่างไร และปรับแก้ไขให้ได้ตามเป้าหมาย

ยุคนี้ศิลปินสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้ทั่วโลกจากดิจิทัลแพลตฟอร์ม ศิลปินเองก็ต้องบริหารแฟนคลับให้มีจำนวนมากขึ้น ศิลปินที่สามารถดูแลแฟนคลับได้ดี จะเป็น FC คุณภาพติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น และต้องทำให้แฟนคลับกลายเป็น “สาวก” (Advocate) ค่อยเป็นกระบอกเสียงให้ศิลปิน หากเกิดข่าวเชิงลบก็จะหาข้อมูลแก้ให้ ปัจจุบันเห็นได้ว่าแฟนคลับ พร้อมทุ่มเทให้ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ พอถึงวันเกิดก็จะเห็นว่ามีการซื้อป้ายโฆษณาอวยพร เพื่อแสดงออกถึงพลังสนับสนุนจากบรรดาแฟนคลับ

การจะได้ FC มาเป็นสาวก สิ่งที่ศิลปินต้องแสดงออกให้เห็นก่อน คือ ความเป็นตัวตน ความจริงใจ และการดูแลแฟนคลับ ตัวอย่าง ศิลปินแกรมมี่ ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นก็ เป๊ก ผลิตโชค เห็นได้ว่า “นุช” ของเป๊ก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คอยสนับสนุนและติดตามผลงานทุกด้านของเป๊ก

Photo Credit : Twitter @peckpalit

แก้โจทย์ Disrupt ด้วย Music Solution ปั้นงานปีละ 1,000 โชว์

ในอุตสาหกรรมเพลงตลอดช่วง 20 ปี ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เห็นการเปลี่ยนแปลงของกระแส Disruption มาตลอด หากย้อนไปยุค 90 ความสำเร็จของศิลปินดูได้ปรากฏการณ์ยอดขาย “ล้านตลับ” จาก เทป ซีดี  MP3 ปัจจุบันเป็น สตรีมมิ่งเซอร์วิส  Joox  Spotify  Apple Music สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนฟอร์แมทมาตลอด เป็นสิ่งที่ทั้งศิลปินและค่ายเพลงต้องปรับตัว

มาถึงวันนี้ธุรกิจของแกรมมี่ รายได้หลักก็ยังมาจาก Core Business คือ ธุรกิจเพลง โดยปรับเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์มแต่ละยุค ปัจจุบันช่องทางหลัก คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งการเติบโตของผู้ใช้สตรีมมิ่ง ทำให้รายได้เพลงเติบโตทุกปี ในปี 2019 อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก ทำรายได้จากสตรีมมิ่ง ชดเชย Physical Product ได้เรียบร้อยแล้ว

โมเดลธุรกิจเพลงของแกรมมี่เป็นรูปแบบ Music Solution โดยมีบริษัท Aratist ทำหน้าที่บริหารศิลปินครบวงจร ว่าด้วยศาสตร์ด้าน Artist Management ตั้งแต่การ Recruit and Development การคัดเลือกและพัฒนาศิลปิน ให้ขยับขึ้นไปแต่ละขั้นในทุกมิติ,  การบริหารรายได้ ให้ศิลปินมีรายได้สม่ำเสมอ จากทุกช่องทาง และด้านกฎหมาย ดูแลลิขสิทธิ์ชิ้นงานเพลงที่สร้างขึ้นมา

ปัจจุบันธุรกิจเพลงของแกรมมี่ นอกจากผลงานเพลง ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ยังต่อยอดหารายได้จากหลากหลายช่องทางจากการบริหารศิลปิน ทั้งงานแสดงดนตรี งานโชว์ในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผับบาร์  ร้านอาหาร งานจัดเลี้ยงลูกค้า งานของหน่วยงานราชการ เรียกว่าเป็นเงินเดือนหลักของศิลปิน ที่จะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน นอกจากนี้ยังมี คอนเสิร์ตขายบัตรทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ และมิวสิคเฟสติวัล ประจำปี Big Mountain แต่ละปีแกรมมี่จัดงานกว่า 1,000 โชว์

อีกทั้งยังต่อยอดการบริหารศิลปินด้วยการทำ สินค้าเมอร์เชนไดส์ เพื่อเป็นโอกาสในการทำรายได้อีกช่องทาง เพราะศิลปินมีส่วนอย่างมากในการสร้างสรรค์สินค้าขึ้นมาจากตัวตนของพวกเขาเอง เป็นสินค้าที่แฟนคลับน่าจะชื่นชอบและพร้อมสนับสนุน อีกรายได้สำคัญมาจากสปอนเซอร์ชิป การโปรโมทสินค้า โดยใช้พลังศิลปินและเพลงมาขับเคลื่อนแบรนด์ เรื่องภาพลักษณ์และยอดขาย

เห็นได้ว่าบิสซิเนส โมเดล เพลงของแกรมมี่บริหารจัดการแบบครบวงจร หาโอกาสสร้างรายได้จากทุกช่องทาง นั่นทำให้ ธุรกิจเพลง ยังเป็นรายได้หลักที่เติบโต

Photo Credit : Facebook GMM Grammy Official

ธุรกิจเพลงยุค New Normal ฝ่าวิกฤติโควิด

ในยุคที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจเพลงก็ไม่ต่างกัน เพราะกิจกรรมบันเทิงที่ต้องมีการรวมตัวของกลุ่มคนยังทำได้ยากในยุค New Normal จากการต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) หลังจากภาครัฐปลดล็อกดาวน์ หลายค่ายบันเทิงรวมทั้งแกรมมี่ ก็เริ่มปรับตัวทำ คอนเสิร์ตออนไลน์ ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของทั้งค่ายเพลงและศิลปิน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม เริ่มทำคอนเสิร์ตออนไลน์กับแพลตฟอร์ม VLIVE ของเกาหลีใต้ ที่มีลูกเล่น AR Technology ผู้ชมสามารถแสดงตัวตนบนหน้าจอที่อยู่บนเวที พร้อมส่งคอมเมนต์สดๆ ระหว่างการแสดง และทักทายพูดคุยได้แบบเรียลไทม์ผ่าน Virtual Meeting สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรกนี้มีผู้ชมเอนเกจด้วยการกดส่งหัวใจกว่า 300 ล้านครั้ง เรียกว่าผลออกมาดีเกินคาด

หลังจากนี้สามารถนำรูปแบบ Virtual Concert  ไปต่อยอดจัดต่อเนื่อง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ชมในต่างจังหวัดหรือคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศทั่วโลก เชื่อว่าหลังจบโควิดแล้วน่าจะมีโอกาสทำออนไลน์ คอนเสิร์ต ได้ต่อเนื่อง

ทิศทางอุตสาหกรรมเพลงในยุค Now Normal ธุรกิจเพลงและบันเทิง ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ตราบใดที่ยังมีแฟนคลับสนับสนุน ติดตามผลงาน และคนทั่วโลกยังเสพความบันเทิงและเสียงเพลง เรียกว่าเป็น Organic Demand เพราะจากการวิจัยระดับโลก 90% คนฟังเพลงทุกวัน ไม่ว่าจะฟังทางตรงหรือทางอ้อม “เพลง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกระแส Disruption หรือวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากค่ายเพลงปรับตัวได้เร็ว โอกาสทางธุรกิจก็เกิดขึ้นได้เสมอและอุตสาหกรรมเพลงยังไปต่อได้


แชร์ :

You may also like