HomeBRAND HERITAGE4 เรื่องของ Balmuda ‘เตาติ๊ง’ สุดยอดปรารถนาของ เหล่าเชฟเฉพาะกิจ จากศิลปินร็อค สู่เจ้าของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า

4 เรื่องของ Balmuda ‘เตาติ๊ง’ สุดยอดปรารถนาของ เหล่าเชฟเฉพาะกิจ จากศิลปินร็อค สู่เจ้าของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า

แชร์ :


ในช่วงกักตัวโควิดเชื่อว่าหลายๆ บ้านก็ได้ไอเท็มใหม่ๆ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและปลดล็อคสกิลการทำอาหาร ปลุกความเป็นเชฟในตัวกันมากมาย วันนี้เราจะมาเล่าถึงเรื่องราวของสุดยอดเตาปิ้งขนมปังหรือที่เรียกกันว่า ‘เตาติ๊ง’ ตามเสียงเครื่องเมื่อปิ้งเสร็จ แบรนด์ Balmuda ที่เหมือนจะเป็นเตาปิ้งขนมปังธรรมดา ๆ แต่กำลังเป็นที่กล่าวขานในวงการเพราะสิ่งที่ได้ออกมาจากมันนั้นมีความมหัศจรรย์เหมือนเวทมนตร์ นั่นคือขนมปังปิ้งสุดแสนสมบูรณ์แบบ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รู้จักเตาติ๊ง Balmuda

Balmuda ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชานเมืองโตเกียวได้นำเครื่องใช้ในครัวธรรมดาๆ อย่างเครื่องปิ้งขนมปังมาเปลี่ยนให้เป็นอุปกรณ์สุดไฮเทค ด้วยการใช้ไอน้ำและวงจรความร้อนที่ถูกปรับมาเป็นอย่างดี จะเปลี่ยนขนมปังที่ซื้อจากร้านให้กลายเป็นของอร่อยที่มีกลิ่น รส และให้ความรู้สึกเหมือนโผล่ออกมาจากเตาอบของคนทำขนมปังอันหอมกรุ่น

เครื่องปิ้งขนมปังราคา 24,000 เยน (7,200 บาท) หรือเกือบ 5 เท่าของราคาเครื่องปกติในญี่ปุ่น (เครื่องปิ้งขนมปังขนาดเล็กที่มีประตูและถาดเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นแทนที่จะเป็นแบบป๊อปอัพแบบบ้านเรา) ส่วนราคาในประเทศไทยกระโดดไปถึงหลักหมื่น นอกจากนี้มีเงินอย่างเดียวยังซื้อไม่ได้ เพราะถ้าใครสนใจ ช่วงพีคๆ ต้องสั่งล่วงหน้าและรออย่างน้อยสามเดือนจากร้านค้าที่ขายพวกอุปกรณ์เก็ดเจ็ต จึงค่อนข้างเป็นที่นิยม แม้ว่าผู้ผลิตจะไม่ได้ลงโฆษณาใดๆ เลยนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2015 ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ไม่ธรรมดาเลยในประเทศที่เคยยั่วยวนผู้บริโภคด้วย Walkmans กล้องดิจิทัล และทีวีจอแบนมาก่อน

ความบังเอิญในวันฝนพรำ…

เจ้าเครื่องปิ้งนี้ถือกำเนิดเกินขึ้นในวันฝนตก ในขณะที่ Gen Terao ผู้ก่อตั้งบริษัทและกลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์กำลังปิกนิกและอุ่นขนมปังบนเตาย่าง และมันบังเอิญออกมาเป็นสุดยอดขนมปังแสนอร่อย หลังจากฝนหยุดตกพวกเขาพยายามปิ้งขนมปังแบบเดิมอีกครั้งให้ได้ แต่ไม่สำเร็จ จึงรู้ว่า “น้ำ” เป็นกุญแจสำคัญของขนมปังแสนอร่อยนั้น พวกเขาทดลองกับขนมปังอีกหลายพันชิ้นจนพบว่าเคล็ดลับอยู่ที่ “ไอน้ำ” ที่ดักจับความชื้นภายในขนมปังในขณะที่อุ่นด้วยอุณหภูมิต่ำ และเพิ่มความร้อนขึ้นในตอนท้ายทำให้มีผิวนอกที่กรอบกำลังดี นี่เองที่ทำให้เตาของ Balmuda ต้องใส่น้ำประมาณ 5 CC. ลงไปด้วย แล้วหลังจากนั้นก็เลือกว่าคุณกำลังจะอบขนมปังชนิดไหน ซึ่งก็เข้าใจได้ง่ายมาก เพราะมีไอคอนคิ้วท์ๆ อยู่ที่ตัวเตาเลย ก่อนจะตั้งเวลาแล้วก็รอชิมผลงานของตัวเองได้

“ครัวซองต์คือที่สุด” Mark Oda ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเว็บไซต์และสื่อคอนเทนท์ในโตเกียวกล่าว เขาเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ซื้อเครื่องปิ้งขนมปังของ Balmuda  “ผมไม่สามารถกลับไปใช้เครื่องปิ้งขนมปัง 5,000 เยนได้แล้ว”

ไม่เป็นแล้วชาวร็อค… 

ไอเดียในการผลิตสุดยอดเครื่องปิ้งขนมปังนี้มาจาก Terao อดีตนักเรียนมัธยมปลายที่เรียนไม่จบแล้วออกมาใช้ชีวิตด้วยเงินประกันชีวิตหลังจากแม่ของเขาเสีย ที่จริงๆ แล้วควรจะเก็บไว้เป็นทุนในการเรียนมหาลัย เขาใช้มันไปกับการเดินป่าไปทั่วสเปน โมร็อกโก และแถบเมดิเตอร์เรเนียน กลับมาญี่ปุ่น เขาก็เป็นศิลปินวงร็อคอยู่นานถึง 9 ปี จนค้นพบว่าถนนสายดนตรีของเขาท่วงทำนองไม่ตรงกับจังหวะชีวิต เขาจึงเริ่มมองหาลู่ทางใหม่ สร้างความฝันการมีโรงงานเล็กๆ ที่ใครๆ ก็เดินเข้ามาหาเขาได้โดยที่ไม่ต้องนัดมาก่อน

“ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อผมท่านค่อนข้างเป็นคนแหกคอก แทนที่จะให้ผมดูทีวี ท่านกลับส่งนิยายของ เออร์เนส แฮมมิ่งเวย์ให้ผมอ่าน มันทำให้ตอนอายุ 17 ผมจึงออกไปเดินทางท่องเที่ยวทั่วเมดิเตอร์เรเนียน”

“ผมอ่านฟอร์บส์ตอนช่วงอยู่ในวงดนตรี” ชายวัย 42 ปีกล่าว “และเหมือนกับดนตรี ผมอยากสร้างสิ่งที่ผมชอบและดูว่ามีคนชอบสิ่งนั้นเหมือนกันมั้ย”

หลังจากนั้นโรงงานเล็ก ๆ ในท้องถิ่นก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2003 Terao เริ่มขาย “แท่นวางโน้ตบุ๊ก” ของตัวเองก่อนจะเริ่มขยายไลน์ผลิตไปสู่สินค้าอื่น โดยสินค้าที่แจ้งเกิดให้เขาจริงๆ ต้องย้อนกลับไปที่ “พัดลม” ในยุคเริ่มต้น เขาเล่าให้ฟังว่า โรงงานของเขามีพนักงานเพียง 3 คน กับหนี้อีก 30 ล้านเยน เขาต้องเดินสายไปที่ธนาคารหลายแห่ง แต่ธนาคารก็ล้วนแล้วแต่คิดว่าไอเดียของเขาเป็นไปไม่ได้ “ไม่มีใครซื้อพัดลมหรอก” ในที่สุด คนที่ให้เขายืมเงินก็คือ เจ้าของบริษัทมอเตอร์ที่ตั้งใจจะขายมอเตอร์ให้กับเขานั่นเอง “ผมให้คุณยืมเงิน คุณก็ไปตั้งใจทำเครื่อง Prototype ซะ” เจ้าหนี้กล่าวกับเขา ในที่สุดพัดลมของเขาก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเตาปิ้งขนมปัง มันแพงกว่าพัดลมแบบดั้งเดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกันอยู่มากกกกกก กล่าวคือ พัดลมของ Terao ตัวละ 30,000 เยน(แปดพันกว่าบาท) อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น มีดาราคนหนึ่งพูดในรายการทีวีซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้น ว่าพัดลมของ Balmuda เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เขาชื่นชอบมาก หลังจากนั้นพัดลมของ ของ Terao ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยขายได้ 10,000 ตัวในปี 2010 บวกกับรางวัลด้านการออกแบบอีกมากมาย

“ผมไม่ค่อยชอบแอร์คอนดิชั่นเนอร์เท่าไหร่ ผมชื่นชอบลมธรรมชาติมากกว่า ขณะที่พอไปเปิดพัดลมที่มีอยู่ท้องตลาด มันมีเสียงดังน่ารำคาญ ลมที่พัดออกมาก็ไม่ค่อยเย็น ผมจึงตัดสินใจทำพัดลมขึ้นมาเอง” Gen Terao เล่าถึงแรงบันดาลใจของผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้กับเขา ด้วยคุณสมบัติลมที่พัดออกมาเย็นสบายเป็นธรรมชาติ

ก่อนจะมีสินค้าอื่น ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะ เครื่องเพิ่มความชื้น และผลิตภัณฑ์ในบ้านอื่น ๆ กระทั่ง ปี 2014 ที่ Terao หันมาสนใจอาหาร เขาให้เหตุผลว่าเพราะ “การกินเป็นประสบการณ์ที่เคลื่อนไหวได้” เขาจึงตัดสินใจทำเครื่องปิ้งขนมปังขึ้นมา

ขายดี-โดนใจ เพราะขนมปัง 5,000 แผ่น 

“ผู้บริโภคชอบเก็ดเจ็ตที่ทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวของมันได้ดีที่สุด” Hiromi Yamaguchi นักวิเคราะห์จาก Euromonitor ในโตเกียวกล่าวถึงกระแสความนิยมของเตา Balmuda “ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ต่างกำลังพยายามขายผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นมากเกินไปและไม่ค่อยมีคนใช้” เขาพูดถึงอินไซต์ของผู้ใช้งาน

กระแสเจ้าเครื่องอบขนมปังแบรนด์นี้ โด่งดังมากในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มานานนับปีแล้ว ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลบุกตลาดไปที่ “สหรัฐอเมริกา” รวมทั้งในประเทศไทย ช่วง Lockdown ที่ผู้คนหันมาแสวงหากิจกรรมทำ เพิ่มทักษะในตัวเองและคลายเหงา รวมทั้งสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ มาให้คนในครอบครัวได้ชิม จุดเด่นของเตาติ๊ง Balnuda ก็คือ เรื่องของผลลัพธ์ที่ออกมาอร่อยกว่าการทำด้วยเครื่องปิ้งแบรนด์อื่น

ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จอยู่ที่การคิดค้นนาน 6 เดือน ทีมวิศวกรใส่ใจแม้กระทั่ง “เสียงติ๊ง” ปรัชญาการออกแบบของ Balmuda ก็คือ ต้องโดนทั้ง 5 ประสาทสัมผัส รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส และกว่าสินค้าจะออกมาวางจำหน่ายจริง ทีมงานปิ้งขนมปังไปแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 แผ่น

“ดีไซน์” ที่เรียบง่าย หัวใจสำคัญอีกอย่าง ที่ทำให้ Balmuda โดนใจคนรุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Balmuda ไม่ใช่แค่โดดเด่นเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ดี เพราะแม้แต่เครื่องครัวยุคใหม่ ยังทำต้องทำหน้าที่ “เฟอร์นิเจอร์” ประดับบ้านไปในตัว ยิ่งพื้นที่ “บ้าน” ของคนรุ่นใหม่มีขนาดเล็กลง มองเห็นอุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในสายตา ข้าวของเครื่องใช้จึงต้องถูกออกแบบมาให้ “โชว์” ได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่น่าสนใจของ Balmuda แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มียอดขายมูลค่ามากกว่า 9 พันล้านเยน

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like