HomeBig Featured10 เรื่องน่ารู้ “ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” ดูแลพอร์ตลงทุนเศรษฐี 5 ปี ต้องมี 1 ล้านล้านบาท

10 เรื่องน่ารู้ “ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” ดูแลพอร์ตลงทุนเศรษฐี 5 ปี ต้องมี 1 ล้านล้านบาท

แชร์ :

กลุ่มลูกค้ามั่งคั่งระดับสูงชาวไทย เป็นที่หมายตาของธุรกิจ Wealth Management หรือ Private Banking ทั้งไทยและต่างประเทศ จากรายงานปี 2019 มูลค่าความมั่งคั่งของกลุ่มนี้อยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท เติบโตทุกปีเฉลี่ย 10% เป็นกลุ่มที่มองโอกาสการลงทุนไม่เฉพาะตลาดเงินตลาดทุนในไทย แต่สนใจตัวเลือกในต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนสูง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากการเห็นดีมานด์การลงทุนในตลาดต่างประเทศของกลุ่ม Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และกลุ่มธนาคารจูเลียส แบร์ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศทั่วโลก จึงได้จับมือร่วมทุนเปิด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท ​ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล เปิดตัวเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2019 เพื่อให้บริการดูแลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนของกลุ่มเศรษฐี

ส่วน Outlook กลุ่มลูกค้ามั่งคั่งระดับสูงและแผนธุรกิจของ SCB Julius Baer ปีนี้ คุณลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ได้เปิดสำนักงานแห่งแรกในเมืองไทย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนสุขุมวิท พร้อมอัพเดท 10 เรื่องน่ารู้ของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ให้ฟัง

คุณลลิตภัทร ธรณวิกรัย

1. ดูแลลูกค้าเศรษฐีสินทรัพย์เริ่มต้น 100 ล้าน  

นิยามของผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals : HNWIs) หมายถึงบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุน  (Asset Under Management : AUM)  เช่น บัญชีกองทุนรวม บัญชีหลักทรัพย์ หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น (ไม่รวมบัญชีเงินฝากและที่อยู่อาศัยประจำ) ตั้งแต่ 50 ล้านบาท หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนผู้มีความมั่งคั่งพิเศษ (Ultra High Net Worth Individuals : UHNWIs)  หมายถึงบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับกลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง ที่จะเป็นลูกค้าของ  SCB Julius Baer กำหนดสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาทขึ้นไป

2. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงชาวไทยมีสินทรัพย์รวม 10 ล้านล้านบาท

จากรายงาน Wealth Report Thailand 2019 สรุปภาพรวมตลาด HNWIs และ UHNWIs ในเมืองไทย มีราย 13,000-14,000 ครอบครัว ถือครองสินทรัพย์รวม 10 ล้านล้านบาท  (ในจำนวนนี้มีเศรษฐีติดอันดับ Forbes ถือครองทรัพย์สินอยู่ 6 ล้านล้านบาท) เติบโตปีละ 10% แม้ปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 กลุ่ม Wealth ก็ยังลงทุนอยู่ แต่ปีนี้ทรัพย์สินคงอยู่ในภาวะทรงตัว

แต่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าจีดีพีโลก ปี 2021 จะกลับมาเติบโตได้ที่ 6.5% จากอัตราติดลบ 3% ในปี 2020

3. SCB Julius Baer วางเป้า 5 ปี ดูแลพอร์ต 1 ล้านล้านบาท ลูกค้า 1,000 ครอบครัว  

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปี (2020-2024) ของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์  วางเป้าหมายมีลูกค้า 1,000 ครอบครัว บริหารพอร์ตสินทรัพย์ลงทุน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของกลุ่มบุคคลผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงของประเทศไทย โดยปี 2020 น่าจะทำได้ 20,000-24,000 ล้านบาท

“คนรวยประเทศไทย เป็นที่สนใจของแบงก์ไทยและต่างชาติ อยู่บ้านก็มีคนวิ่งไปหา ลูกค้ากลุ่ม Wealth ปกติมีการลงทุนหลากหลาย เป็นลูกค้าแบงก์ บริษัทหลักทรัพย์ และแบงก์ต่างชาติ ขึ้นอยู่ว่าจะมั่นใจใช้บริการกับใคร”

4. เศรษฐีไทย สนใจ Wealth Planning ส่งต่อรุ่นลูก

ปัจจุบันกลุ่มคนรวย เมื่อครอบครัวมีเงินระดับหนึ่ง จะมีการทำเรื่อง Wealth Planning เพื่อวางแผนส่งต่อการลงทุนสินทรัพย์ให้รุ่นลูก รวมทั้งตระกูลใหญ่ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญครอบครัว” (Family Charter) จะกำหนด Wealth Planning เข้าไปด้วย  ในส่วนนี้เป็นเทรนด์ที่ SCB Julius Baer สามารถให้คำแนะนำการวางแผนจัดการลงทุนสินทรัพย์และแผนการส่งต่อของครอบครัวไปยังทายาท ซึ่งถือเป็น Core Value ของบริษัท

5. โฟกัสลงทุนต่างประเทศ 100% แนะพอร์ตผสมผสาน

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ให้บริการบริหารพอร์ตการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนต่างประเทศ 100% นักลงทุนไทยจะสามารถคัดสรรการลงทุนหลักทรัพย์เฉพาะเป็นรายตัว รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนจากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง

สัดส่วนการลงทุนที่แนะนำ คือ หุ้น (Equities) 51% พันธบัตร (Bonds) 40% ตลาดเงิน (Money Market) 5%  และการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternatives Investment) เช่น ทองคำ น้ำมัน 4%  มองว่าตลาดตราสารทุนมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดสินทรัพย์ปลอดภัย โดยภูมิภาคที่เน้นการลงทุน คือ สหรัฐอเมริกาและจีน “ลูกค้าที่เราดูแลอยู่ พอร์ตการลงทุนเป็นบวก 80-90%”

Photo Credit : shutterstock

6. การลงทุนเกมมาราธอน อย่ามองระยะสั้น

รูปแบบการลงทุน Wealth Management  ถือเป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอน ระยะยาว เพราะไม่ได้สู้กันที่ตัวเลขผลตอบแทนในวันนี้  จะเห็นได้ว่าแต่ละบริษัทไม่พูดเรื่องผลตอบแทนแบบรายปี หรือใครบริหารดีกว่าใคร เพราะแต่ละปีจะมีปีที่ดีและไม่ดี  แต่การบริหารจะดูที่ค่ากลาง  5-7 ปี หรือ 10 ปี การดูความสำเร็จของธุรกิจ Wealth Management จึงดูที่การเติบโตของพอร์ตการลงทุนลูกค้ารายปี  หากลงทุนเพิ่มขึ้นนั่นก็หมายถึง เทรนด์ที่ดี

แนวทางการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ไม่ได้เสี่ยงกว่าการลงทุนในประเทศ เพราะการลงทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ หากไม่ต้องการความเสี่ยงสูง การลงทุนในต่างประเทศก็ต้องลงที่ตราสารหนี้ (Bonds) ธนาคารต่างประเทศ  พันธบัตรรัฐบาล หากรับความเสี่ยงได้สูงก็ลงทุนในหุ้น จะเห็นได้ว่าช่วงโควิด หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐ อย่าง apple  ยังเติบโตได้

7. จัดกองทัพ Relationship Manager 30 คนดูแลลูกค้า

การดูแลพอร์ตการลงทุนของลูกค้าจะมี ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (Relationship Manager – RM)  ที่ต้องผ่านการเทรนนิ่ง 6-12 เดือน ทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมโดยดูจากความต้องการผลตอบแทนการลงทุนของลูกค้า  ปีแรกมี RM 10 คน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 คน  โดย 1 คนจะดูแลลูกค้า 30 คน

ปีนี้ยังได้ปรับรูปแบบการดูแลลูกค้าแบบใหม่ที่เรียกว่า New Operating Rhythm – Single RM  แม้ว่าไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จะเน้นการลงทุนต่างประเทศ 100%  แต่ถ้าลูกค้ามีความต้องการที่จะลงทุนในประเทศ RM สามารถดูแลและให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของไทยพาณิชย์ได้

 8. วาง 3 แกนหลักธุรกิจ Wealth Management

การบริหารธุรกิจ Wealth Management  ของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ยึด 3 แกนหลัก

  • Expert Advisory ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ รวมถึงบริการหลากหลายและความสามารถด้านการบริหารความมั่งคั่งมาตรฐานระดับโลกของจูเลียส แบร์
  • Personal Touch บริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าคนไทย ด้วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ RM คนไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจตลาดเมืองไทย และเข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยด้วยกัน
  • Seamless Access การให้บริการผ่าน Open Product Platform เพื่อช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ทั่วโลก กำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้

9. จัดหลักสูตรเทรนนิ่งลงทุนกลุ่มทายาทเศรษฐี

พฤติกรรมของลูกค้า Wealth รุ่นพ่อแม่ มีความต้องการให้รุ่นลูก ได้เรียนรู้การจัดการการลงทุน  ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จึงเตรียมเปิดหลักสูตร Junior Executive Program ต้นปีหน้า โฟกัสกลุ่มทายาทรุ่นที่ 2 ของลูกค้า เพื่อปูพื้นฐานด้านการลงทุนและเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มทายาทให้เข้าใจถึงการบริหารความมั่งคั่งต่อจากพ่อแม่

เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (Client Relations) ให้การต้อนรับลูกค้ากลุ่ม Wealth

10. สำนักงานแห่งแรกในไทย โชว์คอนเซ็ปต์ Private Luxx

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ได้เปิดสำนักงานแห่งแรกในเมืองไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนสุขุมวิท ภายใต้คอนเซ็ปต์ Private Luxx” นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศไทยที่ตัวอาคารก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยสไตล์ยูเรเชีย เดิมเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างใหม่ ผสมผสานความโดดเด่นของธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย และสำนักงานจูเลียส แบร์ ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้าไว้ด้วยกัน  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง

ภายในอาคารมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้มีลักษณะกึ่งเรสซิเดนท์ ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ลูกค้าที่จะเข้ามายังสำนักงาน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ต้องทำการนัดหมายมาก่อน โดยมี RM เป็นผู้ดูแล

พูดได้ว่าลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการในสำนักงานไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ได้ ก็ต้องเป็นผู้มีความมั่งคั่งถือสินทรัพย์ระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป หากใครเข้ามาเช็คอินที่นี่ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเศรษฐีแน่นอน


แชร์ :

You may also like