HomeCOVID-19ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฟันธง 9 ธุรกิจ ที่ยังได้ไปต่อหลัง Covid-19 คลี่คลาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฟันธง 9 ธุรกิจ ที่ยังได้ไปต่อหลัง Covid-19 คลี่คลาย

แชร์ :

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ได้ทิ้งความบอบช้ำทางเศรษฐกิจไว้อย่างมากมาย ในยามนี้ถึงหลายธุรกิจจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่ต้องปรับรูปแบบให้สอดรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ขณะเดียวกันบางธุรกิจยังคงฟื้นตันได้ระดับหนึ่งและมีอีกหลายธุรกิจที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิม เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบใหม่ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โลกธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 จึงมีความท้าทายอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การปรับตัวให้ตอบโจทย์กับ New Normal เท่านั้น แต่ยังต้องวางหมากธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนหากโควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบ และนี่คือ 9 แนวโน้มธุรกิจที่จะได้ไปต่อหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พร้อมกับความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด จนเริ่มมีมาตรการคลายล็อกทั้งในไทยและหลายประเทศ นับเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่างๆ จากความต้องการของผู้บริโภคที่เคยถูกจำกัดในช่วงก่อนการคลายล็อกดาวน์ ขณะที่ธุรกิจทั่วไปยังคงอยู่ในภาวะการใช้กำลังผลิตที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือรายได้ของธุรกิจที่ปรับลดลงจากเดิม ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิม เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยท้าทายสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้

1.ภาวะกำลังซื้อที่ชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 6 ซึ่งส่งผลต่อปัญหาการว่างงาน ทำให้ประชาชนต้องระมัดระวังและลดการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

2.ความเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ แม้ปัจจุบันจะเริ่มควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แต่เมื่อพิจารณาจากบทเรียนในต่างประเทศที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่งผลให้ภาครัฐค่อนข้างระมัดระวังในการผ่อนคลายมาตรการ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่ประชาชนก็ค่อนข้างระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังเป็นสิ่งจำเป็น จนกว่าจะมีวัคซีนที่ควบคุมการระบาดได้

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากมาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีบางธุรกิจบางกลุ่มที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่สอคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกหรือเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ โดยได้แบ่งประเภทธุรกิจที่จะฟื้นตัวและไปต่อได้ออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1.กลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตใหม่

  • ธุรกิจร้านอาหาร

คาดว่าบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่จะยังคงได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากลูกค้าที่เริ่มคุ้นชินกับระบบดังกล่าว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารถึงที่พักอาจเติบโตร้อยละ 19-21 ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมอาจหดตัวร้อยละ 9.7-10.6 อย่างไรก็ตาม หลังคลายล็อกคาดว่ายอดขายช่องทางเดลิเวอรี่ รวมถึงการซื้อกลับไปทานที่บ้าน อาจจะปรับลดลงหากเทียบกับช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มยังคงต้องการบรรยากาศของการใช้บริการที่ร้าน โดยคาดว่าร้านอาหาร ที่ให้บริการแบบเปิดโล่งน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าที่เน้นความปลอดภัย ธุรกิจจึงต้องบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความสมดุล ทั้งในส่วนออนไลน์ เดลิเวอรี่ และช่องทางหน้าร้าน รวมถึงออกแบบเมนูอาหารที่เน้นความสะอาด มีรสชาติดี และราคาย่อมเยา ตลอดจนบริหารการสร้างเครือข่ายการจัดส่งสินค้ากับพันธมิตร ในพื้นที่ ในกรณีที่บางพื้นที่อาจไม่มีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสั่งและจัดส่งสินค้า

  • ธุรกิจค้าปลีก

ผู้บริโภคยังคงนิยมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้บางส่วนจะเริ่มกลับมาใช้บริการช่องทางหน้าร้านมากขึ้น แต่พฤติกรรมอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะจะวางแผนใช้เวลาไม่นาน มีเป้าหมายในการใช้จ่ายที่แน่นอน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการดึงให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนอื่น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 ยอดขายค้าปลีกออนไลน์หรือ E-Commerce อาจเติบโตร้อยละ 8-10 ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมอาจหดตัวร้อยละ 5-8

  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ผู้บริโภคยังตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าประเภทยา สมุนไพร อาหาร/เครื่องดื่มเสริมสุขภาพ รวมถึงเครื่องออกกำลังกายในบ้าน ส่วนธุรกิจที่ให้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) คาดว่าจะยังคงได้รับความนิยม แม้ว่าข้อจำกัดของการเดินทางไปพบแพทย์จะลดลง แต่ผู้บริโภคบางส่วนยังคงกังวลถึงความปลอดภัย รวมถึงอาจมีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวด้วย

  • ธุรกิจที่สนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ

โดยเฉพาะเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกต่อการทำงานหรือเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ อาทิ แอพพลิเคชั่นช่วยทำงานจากที่บ้าน การอบรมเรียนรู้ผ่านออนไลน์ การประชุมออนไลน์ ระบบจัดเก็บข้อมูล บริการคลาวด์เซอร์วิส โซลูชั่นต่างๆ รวมถึงเครื่องจักร/ระบบอัตโนมัติ ที่ช่วยลดการพึ่งพาแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

2.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์หลังมาตรการคลายล็อก

  • ธุรกิจท่องเที่ยวระยะใกล้

ความต้องการท่องเที่ยวหลังจากที่ถูกจำกัดการเดินทางเป็นเวลานาน ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและประคองธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวระยะใกล้ สถานที่พักตามธรรมชาติ โฮมสเตย์ จะได้รับความสนใจจากคนที่ยังห่วงด้านความปลอดภัย

  • ธุรกิจรถเช่า

ค่าใช้จ่ายเดินทางโดยสารสาธารณะทั้งทางบกและทางอากาศที่ปรับสูงขึ้นจากมาตรการเว้นระยะห่าง ประกอบกับความกังวลต่อความปลอดภัย กระตุ้นให้ผู้บริโภคบางส่วนเลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางแทน ซึ่งรวมถึงการเช่ารถ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจต้องมีความหลากหลายของประเภทรถที่ให้เช่าและยืดหยุ่นในการให้บริการตามความต้องการลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนคน ระยะทางการเดินทาง อาทิ รถเก๋ง รถตู้ รถเอสยูวี ที่ขนสัมภาระได้มาก รวมถึงการให้บริการด้านพนักงานขับรถเพื่อเป็นทางเลือก

  1. กลุ่มธุรกิจที่จับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการภาครัฐ
  • ธุรกิจค้าปัจจัยการผลิต

เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ที่เกษตรกรยังคงมีความจำเป็นต้องใช้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ธุรกิจอาจต้องนำเสนอปัจจัยการผลิตที่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ที่ราคาตกต่ำไปสู่พืชที่ยังมีความต้องการและมีราคาดี อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือผลไม้ เช่น ทุเรียน เป็นต้น

  • เครื่องจักรการเกษตร ที่รับจ้างตามไร่นา

คาดว่าจะได้รับความนิยม เพื่อทดแทนแรงงานท้องถิ่น/ แรงงานต่างด้าว เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาด รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายข้ามแดน ที่อาจมีอุปสรรคหากมีการระบาดรอบสอง

  • ปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ

เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว เนื่องจากสามารถใช้บริการได้ในราคาเริ่มต้นเพียง 5-10 บาท ขณะที่ปั๊มนำมันทั่วไปจะมีการกำหนดการใช้ขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้อาจต้องอาศัยการเลือกทำเลที่ใกล้แหล่งชุมชน หรือถนนในเส้นทางรอง เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้

ส่อง 3 เทคนิคปรับตัวรับทุกสถานการณ์

แม้บางธุรกิจจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยมีแนวทางดังนี้

1.กลยุทธ์รับมือกับกำลังซื้อที่ชะลอตัว

ธุรกิจอาจต้องนำเสนอโปรโมชั่นส่งเสริมการขายดึงดูดลูกค้าหลังจากที่ชะลอไป รวมถึงการปรับลดขนาดสินค้าหรือค่าบริการลงให้เหมาะสำหรับกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคา ขณะที่บางธุรกิจอาจต้องปรับรูปแบบการจำหน่ายมาเป็นการให้เช่าแทน อาทิ เครื่องจักรในการผลิต เครื่องออกกำลังกายในที่พักอาศัย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้หลากหลายประเภทภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

2.กลยุทธ์รับมือกับความกังวลด้านความปลอดภัยของลูกค้า

ธุรกิจต่างๆ ต้องแสดงหรือนำเสนอสินค้าหรือบริการที่สามารถสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความสะอาด ความปลอดภัย อาทิ ร้านอาหารต้องแสดงให้เห็นถึงการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง การจัดส่งถึงมือลูกค้า ขณะที่ธุรกิจโรงแรม ที่พัก อาจต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ห้องพัก ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ สปา ฟิตเนส รวมถึงอาจต้องลดการบริการอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ มาเป็นการเสิร์ฟอาหารในห้องพัก หรือจัดชุดอาหารเฉพาะคน หรือขยายเวลาเพื่อลดความหนาแน่นสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาจนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR Technology) มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้ทดลอง หรือเห็นสินค้า หรือบริการก่อนตัดสินใจซื้อ โดยไม่ต้องมาลองที่ร้านก่อน

3.กลยุทธ์รับมือกับการระบาดที่อาจกลับมาอีกรอบ

ธุรกิจอาจต้องมีการวางแผนบริหารสต็อกวัตถุดิบ โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ควรมองหาปัจจัยการผลิต เช่น เครื่องจักร แพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีการผลิตหรือการให้บริการ เพื่อลดต้นทุนหรือลดการพึ่งพาแรงงาน โดยเฉพาะแรงงาน ต่างด้าว หรือแรงงานต่างถิ่น ซึ่งในระยะข้างหน้า อาจมีอุปสรรคด้านการเคลื่อนย้าย หากโควิด-19 เกิดการระบาด รอบใหม่ หรือมีโรคระบาดรูปแบบใหม่เกิดขึ้น

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการหาพันธมิตรใหม่เพิ่มเติม ทั้งคู่ค้า ซัพพลายเออร์ เพื่อสำรองหรือทดแทนพันธมิตรเดิมที่อาจเลิกกิจการไปในช่วงการระบาด หรือพันธมิตรที่จะช่วยให้เจอช่องทางการตลาดใหม่ๆ  และประการสำคัญคือ การหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทางด้านการผลิตสินค้าหรือช่องทางตลาด เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ หรือกระจายความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like