HomeDTACวิธีพลิก Data สู้ Covid-19 สไตล์ดีแทค เมื่อผู้ใช้เมินเมืองกรุง-มุ่ง Work From Home

วิธีพลิก Data สู้ Covid-19 สไตล์ดีแทค เมื่อผู้ใช้เมินเมืองกรุง-มุ่ง Work From Home

แชร์ :

ย้อนอดีตไปสัก 2 – 3 ปีก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลายคนคงยังจำได้ดีถึงกระแส Digital Disruption ที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งเราจะได้เห็นแบรนด์จำนวนมากที่ลงทุนใน BigData และหวังจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากวันนั้นจนถึงวันที่โลกถูกพายุ Covid-19 ซัดเข้าอย่างจัง เรื่องของ Data กลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงบ่อยขึ้น โดยก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของ Grab Financial ที่ใช้ Data ในมือออกแคมเปญช่วยเหลือพาร์ทเนอร์ร่วมขับ และร้านค้าในแพลตฟอร์มที่ประสบปัญหา เช่นเดียวกับดีแทคที่ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา Data ที่ดีแทคมีก็ทำให้แบรนด์สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มได้อย่างน่าสนใจ

โดยสิ่งที่ดีแทคพบหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศไทยก็คือ

  • ปริมาณการใช้ Data ที่เพิ่มขึ้น 44% ต่อคนในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2020
  • โดยพื้นที่ที่มีการใช้งาน Data ที่เพิ่มขึ้นนี้ หลัก ๆ มาจากต่างจังหวัด หรือก็คือ เกิดการเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวที่ค่อนข้างสูงมากจากพิษ Covid-19
  • อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีแทคพบอีกข้อที่ไม่ต่างจาก Grab Financial เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปมากแล้ว แต่คนเหล่านี้ก็ยังไม่กลับมา อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คนจำนวนมากเลือกเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด มากกว่าการเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯ ในฐานะคนว่างงาน
  • ดีแทคยังพบอีกด้วยว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันใช้โทรศัพท์มือถือนานขึ้น เฉลี่ยแล้วจะเปลี่ยนเครื่องทุก ๆ 36 เดือน
  • ส่วนการใช้งานระบบเติมเงินพบว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ซึ่ง Data ที่กล่าวมานี้นำไปสู่การตัดสินใจหลาย ๆ อย่างที่แตกต่าง นั่นคือ

ติดตั้ง Massive Mimo และระบบ 4G-TDD เพิ่ม

คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ปัจจุบัน 76% ของลูกค้าดีแทคนั้นใช้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 4G-TDD ดังนั้น เพื่อรองรับการใช้งาน Data ที่เพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะแอปพลิเคชันสำหรับ Work From Home อย่าง Microsoft Teams และ Zoom) ดีแทคจึงตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐานให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 นี้

จัดแคมเปญออนไลน์รับพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงล็อกดาวน์

จากตัวเลขผู้ใช้งานที่เดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็คือร้านอาหารที่ขาดรายได้ และหลาย ๆ รายก็พร้อมจะปิดตัว ในจุดนี้ ดีแทคมีการจัดแคมเปญ #Saveสตรีทฟู้ด โดยจับมือกับแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง Get, FoodPanda, Skootar มอบส่วนลดร้านดังในตำนานให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารกัน ซึ่งคุณฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยว่ามียอดการใช้บริการมากกว่า 100,000 ครั้งเลยทีเดียว

ไม่เฉพาะแคมเปญ #Saveสตรีทฟู้ด แต่ด้วย Data ที่ดีแทคมี จึงมีการเปิดตัวแพกเกจต่าง ๆ ที่คาดว่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค Covid-19 เช่น แพกเกจอินเทอร์เน็ตทั้งแบบฟรี และแบบคิดราคาย่อมเยา ทั้งในแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน, คูปองส่วนลดสำหรับช่วยค่ายา รวมถึงการทำประกันสุขภาพร่วมด้วย

ปรับตัวสู่การทำงานแบบยืดหยุ่น

ปัจจุบัน ออฟฟิศของดีแทคอนุญาตให้พนักงานกว่า 95% ทำงานแบบยืดหยุ่น คือจะสลับกันเข้าออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์ หรือในวันที่จำเป็นเท่านั้น โดยคุณชารัดให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เป็นการทำงานแบบ Tight-Loose-Tight นั่นคือ ดีแทคให้ความชัดเจนในเรื่องความคาดหวังถึงผลที่จะได้รับ (Tight) แต่ยืดหยุ่นในวิธีการที่พนักงานจะใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Loose) และชัดเจนในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบ (Tight) ซึ่งมองว่าการบริหารในลักษณะดังกล่าวจะทำให้พนักงานรู้สึกมีอิสระในการตัดสินใจ และมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น

ขยายการทำงานสู่ระบบออโตเมชัน

เพื่อรองรับการทำงานในโลกยุคต่อไป ผู้บริหารดีแทคเผยว่าได้เตรียมจัดการแข่งขัน Botathon หรือการพัฒนาระบบออโตเมชันสำหรับเข้ามาช่วยงาน โดยมีจุดหมายเพื่อย่นระยะเวลาในการทำงาน ทำให้สามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทีมผู้ชนะจะมีโอกาสพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยของตัวเอง การแข่งขันดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

ส่วนในเรื่องการลงทุนเครือข่าย 5G นั้น ดีแทคเผยว่า ได้เดินหน้าติดตั้งสถานีฐาน 5G คลื่น 26GHz ในพื้นที่ที่กำหนดให้เปิดบริการ (เริ่มเมื่อไตรมาส 2) และคลื่น 700MHz (อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจาก กสทช.) ในแบบ Use Case สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในโครงการ EEC เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 เช่น กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ, บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่ เป็นต้น

แน่นอนว่าครึ่งปีหลังของปี 2020 ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ รวมถึงดีแทค และสิ่งที่คุณชารัดกล่าวทิ้งท้ายก็คือสิ่งที่บริษัทจะยึดถือต่อไป นั่นคือการบอกว่า บริษัทจะเน้นการส่งมอบบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายของดีแทคได้ทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง


แชร์ :

You may also like