HomeBrand Move !!“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” บิ๊กแอร์เอเชียตอบหมด ตั๋วบุฟเฟต์-รีฟันด์ อุตสาหกรรมการบินฟื้นเมื่อไหร่

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” บิ๊กแอร์เอเชียตอบหมด ตั๋วบุฟเฟต์-รีฟันด์ อุตสาหกรรมการบินฟื้นเมื่อไหร่

แชร์ :

สถานการณ์ Covid-19 นับเป็นวิกฤติหนักสุดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก มาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศรวมทั้งไทยปิดน่านฟ้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน ธุรกิจสายการบิน กำลังกระทบหนักเพราะขาดรายได้  ปลายเดือนมิถุนายน  “แอร์เอเชีย” ต้องงัดโปรโมชั่นแรง “ตั๋วบินบุฟเฟต์” ออกมาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อหาเงินสดเข้ามาใช้จ่าย แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากลูกค้าถึงข้อจำกัดในการใช้งานว่ามีมากเหลือเกิน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กำลังเป็นกระแสฮอตโซเชียลอยู่ในขณะนี้กับโปรโมชั่น “ตั๋วบินบุฟเฟต์” (AirAsia Unlimited Pass) ของแอร์เอเชีย ที่ออกมาขายให้สมาชิก BIG 100,000 สิทธิ ราคา 2,999 บาท ใช้เดินทางในประเทศได้ไม่จำกัด ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่เมื่อลูกค้าเริ่มใช้สิทธิ ก็พบปัญหาว่า จองไม่ได้ ถูกเลื่อนไฟลต์ ยกเลิกไฟลต์  เคลียร์กับแชทบอท AVA ไม่ได้อีก สำหรับประเด็นเหล่านี้คงต้องให้หัวเรือใหญ่แอร์เอเชียมาตอบ

เคลียร์ปัญหาตั๋วบุฟเฟต์-รีฟันด์

คุณโจ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย บอกว่าที่มาของการออกโปรโมชั่นตั๋วบุฟเฟต์ บินไม่จำกัด เป็นการทำขึ้นมาครั้งแรก เพราะต้องการเช็คตลาดว่าหากโปรโมชั่นดีจริง จะช่วยให้การท่องเที่ยวจะอยู่ได้ไหมในยุคโควิดนี้ หลังจากเปิดตัวโปรโมชั่นออกมา ก็ทำตัวเลขได้ตามเป้าหมาย อีกประเด็นสำคัญธุรกิจต้องการกระแสเงินสดให้อยู่ต่อได้ในช่วงที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ปกติ ส่วนปัญหาผู้ใช้ตั๋วบินบุฟเฟต์ ที่พบหลักๆ

– กรณีจองไฟลต์เดียวกัน วันเดียวกัน แต่คนละเวลาไว้เผื่อเลือกการเดินทาง  เช่น เช้า กลางวัน เย็น ระบบจะล็อกทันที เพราะไม่ได้ตั้งใจเดินทาง แต่เป็นการจองหว่านเผื่อไว้หลายเวลา ซึ่งจะกระทบสิทธิคนอื่นที่ต้องการที่นั่ง เมื่อถูกล็อกก็จะจองขากลับไม่ได้ กรณีนี้สามารถ Unlock ได้โดยเข้าไปที่ระบบแชท AVA ด้วยการยกเลิกไฟลต์ไว้ที่จองไว้ก่อน แล้วทำการจองใหม่ ต้องขอบอกว่า “ตั๋วบุฟเฟ่ต์มีไว้ให้ใช้ ไม่ได้มีไว้ให้กั๊กที่นั่งคนอื่น”

– กรณีที่เกิดขึ้นได้ เช่น จองที่นั่งได้แล้ว ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ภาษีสนามบิน แต่ลูกค้าจ่ายไม่ทันกำหนด ระบบก็จะทำการล็อกบัญชีจึงทำการบินไม่ได้ บางส่วนก็ผิดพลาดด้วยตัวผู้โดยสารเองที่ยังไม่เข้าใจระบบใช้งานและเงื่อนไขต่างๆ แต่หากผิดพลาดที่ระบบก็จะทำการแก้ไข

– กรณีจองแล้วไฟลต์เลื่อนเวลาหรือดีเลย์ก็มีบ้าง ส่วนกรณีสายการบินยกเลิกไฟลต์ ไม่นับว่าเป็นการยกเลิกของผู้โดยสาร แต่สถานการณ์หลังจากปลดล็อกดาวน์เริ่มกลับมาบินอีกครั้ง ยังไม่มีกรณีสายการบินยกเลิกไฟลต์ เพราะช่วงนี้มีเที่ยวบินน้อยมาก ดังนั้นช่วงที่ไม่ใช่วันหยุดยาว ที่นั่งไม่เต็มอยู่แล้วเฉลี่ยมีผู้ใช้บริการ 80-90 ที่นั่งต่อไฟลต์ ยังเหลือที่วางอีกเป็น 100 ที่นั่ง จึงมีเพียงพอสำหรับตั๋วบินบุฟเฟต์

– พบว่าข้อมูลที่มีการแชร์ในสื่อออนไลน์กว่า 50% ไม่ใช่เรื่องจริง ตรงจุดนี้ได้ส่งให้ทนายไปดำเนินการตักเตือน แต่ไม่มีการฟ้องคดี โดยเฉพาะเคสที่ไปฟังคนอื่นมาและไม่ใช่ข้อมูลจริงแล้วนำมาโพสต์ในสื่อออนไลน์ แต่กรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของระบบจะดำเนินการแก้ไขให้ทุกเคส

– อีกเสียงสะท้อนที่เห็นเข้าไปคอมเมนต์บ่อยๆ ผ่านสื่อโซเชียลของแอร์เอเชีย คือกรณีการขอเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินที่ซื้อก่อนโควิดแต่ไม่ได้ใช้ตั๋วเดินทาง (Refund Ticket) กรณีนี้ คุณธรรศพลฐ์ ยอมรับว่าเรื่องนี้คงทำช้าสักหน่อย เพราะมีเป็น 100,000 ราย คงต้องทยอยคืน ซึ่งทำได้ไม่ถึงหลัก 10,000 รายต่อเดือน  เพราะการจองมีหลายรูปแบบ อย่างการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต เมื่อสายการบินคืนแล้ว ฝั่งบัตรเครดิตก็ต้องใช้เวลาอีกเดือนกว่าจะคืนเงินผู้จอง อีกเรื่องก็ติดปัญหาเงินสดในมือด้วย คาดว่าจะคืนได้ครบหมดภายใน 6 เดือน

โควิดสะเทือนหนักรอบ 17 ปี

มาฟังมุมมองสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินกันบ้าง คุณธรรศพลฐ์  บอกว่านี่ถือเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบกับไทยแอร์เอเชียมากที่สุด นับตั้งแต่เปิดมาเป็นปีที่ 17 ซึ่งก็ผ่านวิกฤติมาหลากหลายรูปแบบ สถานการณ์ที่ต้องจอดเครื่องบินนานสุดก่อนหน้านี้เพียงแค่ 3 วัน ขณะนั้นมีเครื่องบิน 20 ลำ  ปัจจุบันมี 63 ลำ จอดไม่ได้บินมาเกือบ 3 เดือนแล้ว และสถานการณ์กลับมาบินปกติก็ยังไม่แน่นอน

หลังมาตรการปลดล็อกให้ทำการบินในประเทศได้เฟสแรก ใช้เครื่องบิน 5 ลำ จากนั้นเฟสสองเพิ่มเป็น 15 ลำ  เดือนกรกฎาคมบินอยู่ 25 ลำ ปกติแต่ละเที่ยวบินมี 180 ที่นั่ง ก่อนโควิดวันธรรมดาเคยขายได้ 130-150 ที่นั่ง วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดยาวเกือบเต็ม 170-180 ที่นั่ง แต่ปัจจุบันเฉลี่ยแต่ละไฟลต์อยู่ที่ 80-90 ที่นั่ง

กลุ่มที่เดินทาง 50% เป็นข้าราชการทุกหน่วยงานที่ต้องเดินทางไปดูแลงานในแต่ละจังหวัด หลังจากช่วงโควิดไม่สามารถเดินทางได้กลุ่มนี้เดินทางไปเช้าเย็นกลับ อีก 50% เป็นกลุ่มที่เดินทางปกติ  ส่วนนักท่องเที่ยวยังมีไม่มากนัก คงต้องรอดูมาตรการรัฐที่จะออกมากระตุ้นผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน

“โควิดเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกคาดไม่ถึงว่าจะรุนแรงหนักมาก ต้องหยุดบินหลายเดือน และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะได้กลับมาบินอีกเมื่อไหร่  วิกฤติครั้งนี้ยืนยันว่าเกิดอีก 10 ชาติก็ไม่อยากทำแล้วธุรกิจสายการบิน ไม่ได้พูดเล่นแต่พูดจริงๆ”

เหตุที่คิดแบบนั้นเพราะธุรกิจการบินใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่กำไรอยู่ที่ราว 5-8%  เพราะเครื่องบิน 1 ลำ เท่ากับอาคารสูง 1 ตึก บุคลากรนักบินและวิศวกรการบินเป็นอาชีพที่ติดท็อปเทนค่าตัวแพง  ต้นทุนสูงสุดคือค่าน้ำมันราว 30%  ด้วยต้นทุนขนาดนี้กำไรจึงไม่ถึง 10% แต่มีความเสี่ยงหลายด้าน และที่สาหัสมากกับโรคระบาดโควิด

แต่มาถึงวันนี้ก็ลงทุนทำสายการบินมา 17 ปีแล้ว  มีเครื่องบิน 63 ลำ มี 2 สายการบินแอร์เอเชีย และ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เครื่องใหญ่ 400 ที่นั่งบินต่างประเทศ มีพนักงานทั้งหมด  8,000 คน ก็ยังต้องทำธุรกิจสายการบินต่อไป

“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดได้สื่อสารกับพนักงานตลอดเวลาว่าจะไม่ตกงาน ทุกคนยังมีงานทำ แต่วิกฤตินี้ใช้เวลานาน จึงขอลดเงินเดือนพนักงาน เพราะยังไม่สามารถบินได้ปกติ ทุกคนก็เข้าใจสถานการณ์ดี”

เหตุผลที่ไทยแอร์เอเชียไม่ปลดคนในวิกฤตินี้ เพราะกลุ่มที่เงินเดือนสูงค่าชดเชยเลิกจ้างก็สูงด้วย ที่สำคัญเครื่องบินยังอยู่ครบ 63 ลำ ไม่สามารถคืนได้  เมื่อรัฐเปิดให้บินปกติ หากคนออกต้องรับคนใหม่และต้องทำเทรนนิ่งตามโปรแกรม เพราะนักบินใช้เวลาเทรนนิ่ง 3 เดือน  ลูกเรือและช่าง 2 เดือน  แต่หากรักษาคนไว้เมื่อสถานการณ์ปกติก็พร้อมให้บริการได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยธุรกิจสายการบินก่อนตอนนี้ คือ พิจารณาให้ซอฟต์โลน ตามที่ขอไว้

ลุ้นเปิดบินต่างประเทศ ต.ค.นี้

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39 ล้านคน  ทำรายได้ 2 ล้านล้านบาท เมื่อเกิดโควิด คาดการณ์กันว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะเหลือ 8 ล้านคน  ถึงขณะนี้เข้ามาแล้ว 6 ล้านคน  ช่วงที่เหลือจากนี้น่าจะได้อีก 2 ล้านคน ด้วยตัวเลขนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบทั้งระบบ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินหายไป 80%

หลังจากรัฐบาลเตรียมผ่อนผันให้ชาวต่างชาติ  4 กลุ่ม เดินทางเข้ามาได้ คือ 1.กลุ่มที่เข้ามาร่วมงานแสดงสินค้า 2. กองถ่ายทำภาพยนตร์ 3. กลุ่มที่เข้ามาตามโครงการ Medical & Wellness Program เพื่อเข้ารับบริการทางสุขภาพ และ 4.กลุ่มผู้ถือบัตร Thailand Elite Card  โดยปฏิบัติตามแนวทางเบื้องต้นการกักตัวใน Alternative State Quarantine โดยกลุ่ม Medical & Wellness Program หลังจากเข้ามาพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลครบ 14 วันแล้ว สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อไปในพื้นที่ที่รัฐกำหนดไว้ร่วมกับชุมชน

มาตรการดังกล่าวถือว่าเข้ามาช่วยทำให้สายการบินเริ่มเปิดเส้นทางบินต่างประเทศได้บ้าง แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือการท่องเที่ยวรูปแบบ Travel Bubble ที่จะช่วยดึงคนเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะหลายเมืองจากประเทศจีน ที่ไม่มีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นได้ในเดือนตุลาคม

มาถึงวันนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีทั้งมาตรการรัฐเปิดให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มๆ  เริ่มศึกษาทำ Travel Bubble  กับหลายประเทศ เชื่อว่าเดือนมกราคมปีหน้าเริ่มจะเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวได้  เพราะประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดีด้านการควบคุมการแพร่ระบาด และไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศมา 2 เดือนแล้ว  เชื่อว่าจะเป็นจุดแข็งดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ และการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม

ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยววันนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจฟื้นตัว ธุรกิจการบินเลิกแข่งขันราคาเหมือนในอดีต กำหนดราคาที่เหมาะสมให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ รวมทั้งจับมือกันลดต้นทุน ขณะนี้ไทยแอร์เอเชียก็กำลังคุยอยู่กับ 2-3 สายการบิน เพื่อลดต้นทุนหลังบ้านร่วมกัน แม้ว่าวิกฤติโควิดจะผ่านไป แต่ก็อาจมีวิกฤติใหม่ขึ้นมาอีก และไม่มีใครอยาก “บาดเจ็บ” แบบนี้อีกแล้ว

การทำธุรกิจในยุคนี้อยู่คนเดียวอาจไม่รอด ต้องจับมือร่วมกันทำงาน  เดือนสิงหาคม แอร์เอเชีย จะเปิดเส้นทางบินใหม่ เชียงใหม่-หัวหิน  และอุดรธานี-หัวหิน โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ทั้งโรงแรม ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว  เพื่อจัดแคมเปญโปรโมชั่นร่วมกันให้ส่วนลดกระตุ้นท่องเที่ยวและรอดไปด้วยกัน เพราะวันนี้ต้องอยู่กันเป็นทีม ช่วยเหลือกันเป็น Now Normal ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับจากนี้


แชร์ :

You may also like