HomeBrand Move !!การพลิกฟื้น Japan Airlines ของ “คาซูโอะ อินาโมริ” บทเรียนที่การบินไทยอาจต้องเจริญรอยตาม

การพลิกฟื้น Japan Airlines ของ “คาซูโอะ อินาโมริ” บทเรียนที่การบินไทยอาจต้องเจริญรอยตาม

แชร์ :

ในวันที่ประเด็นเรื่องการบินไทยกำลังร้อนแรง ชื่อนักบริหารมือฉมังที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันดีอย่าง “คุณคาซูโอะ อินาโมริ” (Kazuo Inamori) ผู้พลิกฟื้นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นอย่าง “Japan Airlines” ให้กลับมายืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม ก็กลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นไม่แพ้กัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ของ Japan Airlines ก่อนที่จะนำไปสู่การล้มละลาย และการฟื้นฟูกิจการในปี 2010 นั้น เต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ผิดพลาด และทำให้บริษัทรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติต่าง ๆ ในเวลาต่อมาได้ยากขึ้น ยกตัวอย่างการตัดสินใจที่ผิดพลาดเช่น การลงทุนที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน อย่างการสร้างรีสอร์ทบนเกาะฮาวาย หรือการซื้อกิจการโรงแรม The Essex House ในแมนฮัตตันด้วยราคาสูงถึง 190 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เงินอีกราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐในการรีโนเวทโรงแรมแห่งนี้ (แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่องบการเงินของบริษัทขึ้นตัวแดง บริษัทก็ต้องขายทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้ทิ้งไปอยู่ดี และไม่มีการเปิดเผยมูลค่าว่าขายไปในราคาเท่าไร)

นอกจากการลงทุนที่ผิดพลาด Japan Airlines ยังเผชิญวิกฤติหนักอีกหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ 9/11 ตามมาด้วยสงครามในประเทศอิรัก ที่ทำให้ยอดผู้โดยสารลดฮวบ หรือการเจอโรคระบาด SARS ที่ทำให้สายการบินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขอนามัยเพิ่มขึ้น

แข่งลำบากนอกประเทศไม่พอ เพราะเมื่อผู้บริหาร Japan Airlines ตัดสินใจกลับมารุกตลาดในประเทศเพื่อหารายได้เพิ่ม เขาก็ตัดสินใจผิดพลาดอีกเช่นกัน

โดยตลาดการบินภายในประเทศญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ครึ่งหนึ่งถูกครอบครองโดยสายการบิน All Nippon Airways

เพื่อเอาชนะ All Nippon Airways แนวทางที่บอร์ดบริหารของ Japan Airlines เลือกใช้คือการควบรวมกิจการของสายการบินเบอร์สามอย่าง Japan Air System ซึ่งมีเส้นทางการบินระยะสั้นเข้ามา แต่นั่นกลายเป็นอีกหนึ่งหายนะของ Japan Airlines เพราะทั้งสองสายการบินต่างใช้เครื่องบินคนละประเภท ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน และตัวบุคลากรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ความผิดพลาดประการสุดท้ายที่นำไปสู่การล้มละลายของ Japan Airlines อย่างเป็นทางการ คือการเชื่อว่า บริษัทจะยังมี “รัฐบาลญี่ปุ่น” คอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ซึ่งความเชื่อนี้เห็นได้จากทีมบริหารของ Japan Airlines ที่ Wall Street Journal ชี้ว่าเต็มไปด้วยข้าราชการเกษียณอายุนั่งอยู่เต็มไปหมด ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลให้แน่นแฟ้น ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Japan Airlines ขอกู้เงินจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จนยอดหนี้พุ่งขึ้นจนเกือบเท่าทรัพย์สินที่บริษัทมี

แต่ดูเหมือนผู้บริหาร Japan Airlines ในขณะนั้นจะไม่ตระหนักถึงความน่าละอายข้อนี้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 ผู้บริหาร Japan Airlines ก็เลือกทำตามความเคยชินเดิม นั่นคือการขอกู้เงินจากรัฐบาล แต่คราวนี้ ผลที่ได้รับกลับตรงกันข้าม เพราะผู้คนเริ่มรับไม่ไหวกับความไม่มีประสิทธิภาพของสายการบินแห่งชาติรายนี้เอามาก ๆ แล้ว

Japan Airlines สายการบินที่คนญี่ปุ่นควรจะภาคภูมิใจจึงเดินทางมาถึงจุดต่ำสุดอย่างเป็นทางการ นั่นคือการยื่นล้มละลายและเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการในวันที่ 19 มกราคม 2010 ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังถูกถอดออกจากการซื้อขายในตลาดหุ้นโตเกียวไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2010 ด้วย

เพื่อพลิกฟื้น Japan Airlines ให้กลับคืนมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบหมายให้ Enterprise Turnaround Initiative Corporation หรือ ETIC เข้ากำกับดูแล โดย ETIC ได้ตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานไปมากถึง 15,700 คน หรือคิดเป็น 30% ของพนักงานทั้งหมด 47,000 คน ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนลงได้ประมาณ 30% ขณะที่หนี้บางส่วนก็ได้รับการเจรจาเพื่อยกเว้น

แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะดึง Japan Airlines กลับมาอยู่ดี หากวัฒนธรรมองค์กรยังไม่เปลี่ยนแปลง

คุณคาซูโอะ อินาโมริ (ขอบคุณภาพจาก Kyocera)

ด้วยเหตุนี้ ETIC จึงได้เลือกผู้บริหารมือฉมัง อย่างคุณคาซูโอะ อินาโมริ (Kazuo Inamori) ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera Corp และ KDDI ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่นเข้ามาบริหาร โดยมีคุณเซย์จิ มาเอฮาระ (Seiji Maehara) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นในขณะนั้น เดินทางไปพบเขาที่สำนักงานใหญ่ของ Kyocera เพื่อเชิญให้มารับตำแหน่งบริหารด้วยตัวเอง

เมื่อก้าวเข้ามาใน Japan Airlines หนึ่งในประโยคที่คุณ Inamori กล่าว ก็คือการบอกว่า “ถ้าผู้บริหาร (Japan Airlines) ยังมี Mindset เช่นนี้ เชื่อว่าพวกเขาจะไม่สามารถบริหารได้แม้แต่ร้านขายของชำ” โดยผู้บริหารคนหนึ่งของ Japan Airlines บอกว่า ฟังแล้วเหมือนถูกทุบเข้าที่หัวเลยทีเดียว

ขณะที่ตัวคุณ Inamori เริ่มต้นทำกับ Japan Airlines ก็คือการปฏิเสธที่จะรับเงินเดือน ซึ่งถือเป็นการซื้อใจพนักงานได้อย่างดี

ผู้บริหารมีหน้าที่ทำให้พนักงานมีความสุข

ความจริงข้อหนึ่งของ Japan Airlines ในขณะนั้นคือ พนักงานขาดความภาคภูมิใจในองค์กรอย่างรุนแรง เมื่อขาดสิ่งนี้ พวกเขาก็ทำงานแบบซังกะตาย ไร้ความตั้งใจที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น

คุณ Inamori เห็นถึงความจริงข้อนี้ จึงเข้าบริหาร Japan Airlines ด้วยหลักคิดที่ว่า “หน้าที่ของผู้บริหารคือการทำให้พนักงานในองค์กรมีความสุข”

แต่การทำให้พนักงานในองค์กรมีความสุขไม่ใช่การสปอยล์พวกเขาจนเท้าไม่ติดดิน ตรงกันข้าม พนักงานของ Japan Airlines น่าจะทำงานหนักกว่าเดิมเสียอีก แต่เป็นการทำงานหนักที่มีความสุข และภูมิใจที่ได้ทำงานเหล่านั้น ความลับในข้อนี้ทำได้โดยการเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานทีละน้อย เช่น การสอนให้พนักงานรู้จักถ่อมตน รู้จักเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบ คิดถึงประโยชน์สาธารณะก่อนคิดถึงประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้พนักงานของ Japan Airlines กลับมาเป็นทีมงานที่ภาคภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในงานที่ทำ และยอมทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ชื่อของ Japan Airlines กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรก ๆ เคยมีผู้ทักท้วงว่าแนวทางของเขาอาจไม่ใช่แนวทางที่ผู้ถือหุ้นพอใจ แต่คุณ Inamori อธิบายว่า จริง ๆ แล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ควรกังวลเรื่องนี้ เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข พวกเขาก็จะตั้งใจทำงานได้ดีขึ้น และนำไปสู่รายได้ที่มากขึ้นขององค์กรในท้ายที่สุดเอง

“ถ้าคุณอยากได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ก็ต้องดูแลแม่ไก่ให้ดี ไม่ใช่เอาแต่ก่นด่าแม่ไก่ หรือฆ่ามันทิ้ง” คุณ Inamori กล่าว

นอกจากเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานแล้ว คุณ Inamori ยังเข้ามาปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดประเภทเครื่องบินที่บริษัทมีจาก 7 ประเภทเหลือแค่ 4 ประเภท, ยกเลิกเส้นทางการบินต่างประเทศที่ไม่ทำกำไรลงประมาณ 20% หรือการแชร์ไฟล์ทกับสายการบินต่างชาติ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร

ปี 2011 แม้จะเป็นปีที่ญี่ปุ่นต้องชอกช้ำจากวิกฤติสึนามิและโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในฟุกุชิม่า แต่ก็เป็นปีที่สายการบิน Japan Airlines กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยในหกเดือนแรกของการดำเนินงาน Japan Airlines กลับมามีกำไรสุทธิ 97,000 ล้านเยน ก่อนจะทำกำไรได้ถึง 191,574 ล้านเยนในปี 2012

การกลับมาของ Japan Airlines ภายใต้การนำของคุณ Inamori ยังได้รับการยกย่องจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบินอย่าง the Centre for Asia Pacific Aviation ให้เป็นสายการบินแห่งปีในเวลาต่อมา อีกทั้งยังสามารถกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นโตเกียวได้อีกครั้งภายในปีเดียวกันด้วย โดยมูลค่าในการ IPO นั้นสูงถึง 663,000 ล้านเยน ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นรองแค่ Facebook ที่ IPO ในปีเดียวกันเลยทีเดียว

Japan Airlines ยังซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น เปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ เช่น อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาด้วย

แม้ว่างบการเงินของ Japan Airlines ในปัจจุบันอาจไม่โดดเด่นเท่ายุคที่คุณ Inamori บริหาร แต่เรื่องราวการพลิกฟื้น Japan Airlines และแนวคิดเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานภายใต้การนำของคุณ Kazuo Inamori  ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีจากการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้เช่นกัน เพราะอย่างน้อย ก็ทำให้เห็นว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงสร้างกำลังใจให้แม่ไก่ และให้หลักคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตนั้น ได้แตกหน่อออกผลเป็นประโยชน์ที่สาธารณะสามารถเก็บเกี่ยวได้ร่วมกัน รวมถึงยังทำให้บริษัทได้รับไข่ไก่คุณภาพเป็นการตอบแทนในท้ายที่สุดด้วยนั่นเอง

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like