HomePR Newsวสท. สร้างต้นแบบ “ตู้ความดันลบ” 2 แบบ ให้ รพ. ลดเสี่ยงแพทย์พยาบาล…รวมพลังฝ่าวิกฤติ COVID-19 [PR]

วสท. สร้างต้นแบบ “ตู้ความดันลบ” 2 แบบ ให้ รพ. ลดเสี่ยงแพทย์พยาบาล…รวมพลังฝ่าวิกฤติ COVID-19 [PR]

แชร์ :

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระดมพลังฝ่าวิกฤติไวรัส COVID-19  พัฒนานวัตกรรมต้นแบบ “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาล และรองรับผู้ป่วยติดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันใน 59 จังหวัด ทั้งนี้ วสท.ได้ส่งมอบตู้ความดันลบ 2 แบบแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แล้ว และจะส่งมอบให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพพบกและโรงพยาบาลอื่นๆในลำดับต่อๆไป  ประหยัดและประกอบติดตั้งได้เร็วภายใน 15 นาที มุ่งป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลและลดความเสี่ยงของบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประชาชนผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 กลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเมิ่อเร็วๆนี้ พล.ท.ชาญชัย ติกขะปัญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก รับมอบ”ตู้ความดันลบ พร้อมห้อง Ante room” จาก ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีทีมแพทย์ รพ.พระมงกุฏเกล้า ร่วมเป็นสักขีพยานในการทดสอบ และให้ประกอบตู้ความดันลบทั้งแบบที่ 1 และแบบที่ 2 จำนวนกว่า 88 ตู้ เพื่อนำไปใช้กับโรงพยาบาลในเครือกองทัพบกทั่วประเทศ นอกจากนี้ วสท.ยังได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยพลตรี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ และคณะแพทย์ ร่วมทดสอบสมรรถนะการใช้งานตามมาตรฐาน

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)  กล่าวว่า วสท.ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมที่มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา ได้จัดตั้ง ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 เพื่อรวมพลังวืศวกรและผู้เชี่ยวชาญนำองค์ความรู้มาสร้างสิ่งประดิษฐ์และการป้องกันบรรเทาภัยโควิด-19 ในปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยกำลังขาดแคลนห้องความดันลบ และสร้างไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จึงได้พัฒนาสร้าง “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” มุ่งใช้เป็นห้องอเนกประสงค์บรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใช้กับกลุ่มเสี่ยง การกักตัว และใช้ในบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ วสท.ได้ทำต้นแบบมาตรฐานตู้ความดันลบ และคู่มือผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วย ข้อควรระวัง แบบมาตรฐาน วิธีการประกอบ วิธีใช้งาน วิธีการบำรุงรักษาและอื่นๆ โดยแบบมาตรฐานนี้หน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนสามารถนำไปผลิตใช้เองได้

แนวคิดและประโยชน์การใช้งานตู้ความดันลบ 1.เพื่อใช้เป็นห้องแยกความดันลบทั่วไปที่สามารถให้คนนั่งได้ 3 ถึง 4 คน หรือหนึ่งเตียงในสถานพยาบาล  เคหะสถาน และอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ  2.เพื่อใช้ครอบเตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อทางอากาศ 3. เพื่อลดระยะห่างความปลอดภัยระหว่างเตียงผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าตรวจผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกันบุคคล 4.เสริมความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล 5.เพื่อใช้งานทั้งภายในอาคารและในที่ร่มภายนอกอาคาร 6. เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุภายในประเทศ และวัสดุที่เลือกใช้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย 7. เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับหน่วยงานราชการและเอกชนนำไปใช้ในการจัดซื้อต่อไป

คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรม ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสถานที่ โดยมี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ตู้ความดันลบขนาดเล็ก สำหรับ 1 เตียง หรือคนไข้นั่ง 3- 4 คน ตามระยะห่างความปลอดภัยต่อการแพร่เชื้อ ขนาดตู้ 1.30 x 2.60 x 2.20 เมตร เพียงพอที่จะใส่เตียงคนไข้ ความกว้าง ประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร และเสาน้ำเกลือสูง 2.10 เมตร ห้องมีน้ำหนักเบาและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ใช้ต้นทุนประมาณ 8,500 บาท หากต่อเป็น 2 ยูนิตโดยใช้เสากลางร่วมก็จะยิ่งลดต้นทุนให้ต่ำลงอีก

แบบที่ 2  ตู้ความดันลบขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย  ขนาด 1.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 ม.พร้อมพื้นที่ส่วนของแพทย์พยาบาลไว้ด้วย (Ante room) ด้านหน้าประตูเข้าห้องคนไข้ ขนาดความกว้าง 0.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 เมตร ตามมาตรฐานความสะอาด ลมจะไหลจากด้านนอกเข้าไปที่ห้อง Ante และไหลเข้าห้องคนไข้ พัดลมจะนำอากาศจากห้องคนไข้ไปทิ้งนอกอาคาร

สำหรับระบบโครงสร้างตู้ความดันลบ เป็นวัสดุภายในประเทศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซี, ข้องอ 90 องศา , ข้อต่อสามทาง , ข้อต่อท่อรูกันซึม , เกลียวเร่ง (Turnbuckle) , Clamp รัดสลิง , เกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน ตู้ความดันลบนี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลักคือความสะอาด และความดันห้อง ในส่วนความสะอาดของห้องจะมีการนำอากาศจากภายนอกห้องไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้อง โดยใช้ พัดลมดูดอากาศ ที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง(ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคารในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาให้สูงอย่างน้อย 3.00 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งจะต้องไมให้อากาศที่เจือจางนี้สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้ระบบท่อระบายอากาศทิ้งนี้หากไม่สามารถติดตั้งให้มีระยะห่างจากอาคาร 8.00 เมตร หรือทิ้งที่หลังคาสูง 3.00 เมตรได้ ก็สามารถดัดแปลงให้ใส่เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(HEPA) ทำการฆ่าเชื้อก่อนระบายทิ้งสู่บรรยากาศได้ สำหรับในส่วนความดันห้องจะรักษาระดับความดันลบภายในห้องให้น้อยกว่า 2.5 ปาสกาล(Pa) เทียบกับความดันอากาศบริเวณโดยรอบ  ส่วนระดับอุณหภูมิอากาศภายนอกและภายในห้องให้แตกต่างกันไม่เกินบวกลบ 2 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ผลการทดสอบสมรรถนะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน  มีดังนี้ 1.ความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศภายในห้องและภายนอกห้อง ก่อนเปิดและปิดพัดลม บวกลบไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ผลการตรวจวัด: ผ่านการทดสอบโดยวัดอุณหภูมิภายนอกและภายในห้องวัดได้  32.4 – 32.5 องศาเซลเซียสใกล้เคียงกัน 2.การตรวจวัดการรั่วของอากาศที่รอยต่อผนังห้อง ผ่านการทดสอบโดยค่าความเร็วลมอ่านได้ศูนย์ และควันธูปไม่ไหลเข้าห้อง 3. การตรวจวัดอัตราการไหลของอากาศเพื่อระบายอากาศภายในห้องไม่น้อยกว่า 12 ACH ผลการตรวจวัด: ผ่านการทดสอบอ่านค่าได้ 147.02 ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับ 19 ACH 4. การตรวจสอบความดันลบของห้องไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล (Pa) อ่านค่าความดันลบภายในห้องได้ 8 ถึง 12 Pa

ผู้ประสงค์จะรับแบบรายละเอียด ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ วสท.: www.eit.or.th หรือติดต่อได้ที่ คุณอรัญญา  ขาวสุวรรณ โทรศัพท์ 02-9356509, 081-914-0301  Email : aranya@eit.or.th

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ขอส่งกำลังใจให้บุคคลากรการแพทย์และประชาชนทุกภาคส่วน หลอมรวมพลังก้าวผ่านวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน…ด้วยความรักสามัคคี องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสังคม

 


แชร์ :

You may also like