HomeInsightเขย่าบัลลังก์ ‘ชานมไข่มุก’ ​เมื่อกระแสนิยม ‘น้ำกล้วยปั่น’ กำลัง​มาแรงในตลาดญี่ปุ่น

เขย่าบัลลังก์ ‘ชานมไข่มุก’ ​เมื่อกระแสนิยม ‘น้ำกล้วยปั่น’ กำลัง​มาแรงในตลาดญี่ปุ่น

แชร์ :

หลายปีที่ผ่านมาชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าความนิยมของเครื่องดื่มประเภทนี้จะลดน้อยถอยลงไปในอนาคตอันใกล้นี้ หากแต่กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความต้องการเครื่องดื่มที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งในเรื่องของสุขภาพและรสชาติที่ถูกใจ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทำให้ในขณะนี้ตลาดญี่ปุ่นมีเครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมอย่างมาก จนหลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่า​ เครื่องดื่มมาแรงอย่าง “น้ำกล้วยปั่น” จะกลายเป็นผู้มาโค่นบัลลังก์ความนิยมของ “ชานมไข่มุก” ลงได้ในที่สุด

เหตุผลคนญี่ปุ่นนิยม “น้ำกล้วยปั่น” 

จากรายงาน Marketing Report From Tokyo March 2020 โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงโตเกียว ระบุเหตุผลที่ทำให้ “น้ำกล้วยปั่น”​ ขยับตำแหน่งมาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในตลาดญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ เนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

1. ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของกล้วยเอง ที่อุดมไปด้วยแม็กนีเซียม มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเต็มไปด้วยเส้นใยอาหาร​ ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี มีพลังงานสูงแต่แคลอรี่ต่ำ อยู่ท้องได้นาน รวมทั้งมีวิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยเสริมสร้างด้านความงามด้วย

2. กล้วยมีรสหวานในตัว จึงไม่ต้องพึ่งน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสหวานเมื่อนำมาทำเครื่องดื่ม

3. สามารถครีเอทเมนูที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้หลายๆ วิธี

4. การจัดแต่งเครื่องดื่มในหลายรูปแบบ เหมาะกับไลฟสไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชอบแชร์ภาพสวยๆ ผ่านโลกโซเชียล

5. สรรพคุณของเครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องของการนอนหลับและพักผ่อนได้ดีขึ้น จากแร่ธาตุและสารอาหารที่มีอยู่ในเครื่องดื่ม เช่น กาบา (Gaba), Theanine, Omithine และ Mono-glucosyl hesperin ที่มักถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์นมชนิดต่างๆ

เหตุผลดังกล่าวทำให้ “น้ำกล้วยปั่น” กลายเป็นเครื่องดื่มที่น่าจับตามองอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยพบว่า มีร้านน้ำกล้วยปั่น เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะร้านที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ร้าน “sonna banana” ซึ่งจุดเด่นของร้านอยู่ที่การจำหน่ายเมนูกล้วยปั่นต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด โดยไม่ใส่น้ำตาลและสารกันบูด และลูกค้าสามารถเลือกส่วนผสมและรสชาติได้ตามความต้องการ เช่น ใส่งาดำ ผงถั่วเหลืองบด (คินาโกะ) หรือผลไม้ตามฤดูกาล  รวมทั้ง คอร์นเฟล็ก มินท์ หรือแม้แต่ไข่มุก เป็น “กล้วยปั่นไข่มุก” แทน​ “ชานมไข่มุก”  ก็ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับความแตกต่างของเมนูกล้วยปั่นกับเครื่องดื่มอื่นๆ คือ ทางร้านจะแนะนำให้ลูกค้าดื่มทันทีหลังปั่นเสร็จ เพราะสินค้าจะมีอายุการดื่มที่ดีที่สุดในช่วง 20 นาทีหลังปั่นเสร็จ หากเลยไปแล้วเครื่องดื่มอาจจะเปลี่ยนสี และมีรสชาติเปลี่ยนไปได้ ​ซึ่งในปัจจุบัน​เมนูกล้วยปั่นนี้ เป็นที่นิยมตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่มองหาเครื่องดื่มผลไม้เพื่อสุขภาพ

สร้างมูลค่าเพิ่ม กล้วยไม่จำเป็นต้องถูก 

กระแสความนิยมของน้ำกล้วยปั่นที่กำลังมาแรงในญี่ปุ่นขณะนี้​สะท้อนว่า ความต้องการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ในกลุ่ม RTD หรือเครื่องดื่มพร้อมดื่มแต่เพียงอย่างเดียว แต่ชาวญี่ปุ่นเริ่มมองหาสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น จากที่เคยมองว่ากล้วยเป็นสินค้าราคาถูกไม่จำเป็นต้องซื้อกล้วยแพง  

นอกจากนี้ กล้วยยังเป็นผลไม้สดที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานมากที่สุด โดยพบว่า กล้วยที่จำหน่ายตามท้องตลาดในญี่ปุ่น 99% นำเข้าจากต่างประเทศ โดยปี 2018 ที่ผ่านมา มีการนำเข้ารวม 1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านเยน (ราว 3 หมื่นล้านบาท) และเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยที่ประมาณ 2 พันตัน  โดยที่ปริมาณการบริโภคกล้วยของชาวญี่ปุ่นนั้น ก็เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความนิยมดังกล่าว ยังทำให้เกษตรกรญี่ปุ่น หันมาเพาะปลูกกล้วยในประเทศพันธุ์ที่มีคุณภาพระดับพรีเมียมมากขึ้น  เช่น เกษตรกรในจังหวัด มิยาซากิ ที่สามารถวิจัยและผลิตกล้วยที่สามารถรับประทานทั้งเปลือก เพื่อป้อนให้ตลาดญี่ปุ่นที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นโอกาสสำหรับกล้วยไทย ที่ปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นน้อยอยู่ ให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้มากขึ้นจากความต้องการสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้

กระแสสุขภาพมาแรงในทุกตลาด 

ตลาดเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง ทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างสูงมากเช่นกัน โดยมูลค่าของ​ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ soft drink อาทิ น้ำเปล่า น้ำอัดลม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ นม เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ฯลฯ มีมูลค่า 5.18 ล้านล้านเยน ในปี 2018 ที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งด้านบรรจุภัณฑ์ และวัตถุประสงค์ของแต่ละสินค้า

ข้อมูลจาก​ Japan Soft Drink Association พบว่าปริมาณการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 185 ลิตรต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระแสรักสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก​ ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย จากส่วนประกอบทางเคมีของอาหารมากขึ้น เช่น สารเติมแต่งในอาหาร สารให้ความหวาน สารกันบูด เป็นต้น

โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสุขภาพหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และ โรคหัวใจ ทำให้ผู้บริโภคถอยห่างจากเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวาน โดยเฉพาะน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ จนทำให้เกิดกระแสความต้องการสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลและสินค้าที่ให้คุณค่า อาหารที่ได้จากธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงสินค้าที่ผ่านกระบวนการจัดเตรียมหรือผลิตน้อยที่สุด แต่สามารถบริโภคได้ทันทีและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบในปัจจุบันได้

Photo Credit : twitter : #sonnabanana


แชร์ :

You may also like