HomeMedia“ทีวี 3 ช่อง”เตรียมตัว! กสทช.เรียกแจงรายงานสด #กราดยิงโคราช ออกหลักเกณฑ์ใหม่เสนอข่าวภาวะวิกฤติ

“ทีวี 3 ช่อง”เตรียมตัว! กสทช.เรียกแจงรายงานสด #กราดยิงโคราช ออกหลักเกณฑ์ใหม่เสนอข่าวภาวะวิกฤติ

แชร์ :

ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กสทช.

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโคราช จนมีเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 ราย ในช่วงที่เกิดเหตุระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ.2563  สังคมมีข้อสังเกตถึงการทำงานของ “สื่อมวลชน” จากการรายงานสด ของสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 วันนี้ (11 ก.พ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญสถานีทีวีดิจิทัลทุกช่อง มาทำความเข้าใจเพื่อกำหนดแนวทางการนำเสนอข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน

พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ  และ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. กล่าวว่าในวันที่ 18 ก.พ.นี้  กสทช.จะเรียกทีวีดิจิทัล 3 ช่อง” เข้ามาชี้แจงการนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปรากฏว่าสื่อมวลชน “บางราย” ได้นำเสนอรายการข่าวด้วยรูปแบบการ “รายงานสด” (Live) สถานการณ์ และข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การรายงานข่าวแบบต่อเนื่อง การรายงานข่าวเหตุการณ์ซ้ำกันหลายครั้ง เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความตึงเครียดของสังคมและประชาชนในบริเวณโดยรอบ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ทีวีส่วนใหญ่รายงานข่าวเหตุการณ์โคราชปกติ แต่มีทีวีดิจิทัล 3 ช่อง  เข้าข่ายต้องมาชี้แจงตามการกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อของทั้ง 3 ช่องได้ หากพบมีความผิดตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีบทลงโทษจากเบาไปหนัก คือ เริ่มตั้งแต่ ตักเตือน, ปรับ, พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต  หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษ สามารถยืนฟ้องคดีศาลปกครองได้

“กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาเฉพาะหน้าจอทีวีเท่านั้น ไม่มีอำนาจดูแลสื่อออนไลน์ทุกช่องทางของทีวีดิจิทัล ที่มีการไลฟ์สด รวมทั้งเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ที่ไลฟ์สดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่กำกับดูแลของ กระทรวง DES  (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)”

ต้องยอมรับว่าในการนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์ในภาวะวิกฤติ  จำเป็นที่สื่อมวลชนต้องมีองค์ความรู้ในการพิจารณาคัดกรองข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สมควรแก่การนำเสนอ หากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวและข้อมูลโดยขาดองค์ความรู้ การนำเสนอข่าวนั้น อาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำให้ผู้กระทำความผิดรู้แผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้  นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็น “ฮีโร่” และอาจทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับเรื่องความรุนแรงเห็นเป็นเรื่องปกติ ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดและพฤติกรรมในระยะยาว

หลักเกณฑ์ใหม่เข้มบทลงโทษ

ในการเรียกทีวีดิจิทัลทุกช่องมาหารือกับ กสทช. วันนี้ ยังได้แจ้งกับ ทีวีดิจิทัล ว่า กำลังเตรียมจัดทำร่างหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติในการนำเสนข่าวในภาวะวิกฤติ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดทำแนวทางปฏิบัติ  เช่น กรมสุขภาพจิต, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพ เป็นต้น  โดยมีข้อเสนอว่าเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ ควรกำหนดให้ “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ” หรือ ทีวีพูล เป็นสถานีที่ทำหน้าที่รายงานแทน  คาดว่าร่างหลักเกณฑ์ฯ จะจัดทำแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์นี้  เพื่อให้เป็นแนวทางให้ช่องทีวี ใช้ปฏิบัติในการรายงานข่าวเมื่อเกิดเหตุวิกฤติต่างๆ

“หลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีมาตรการลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การระงับการออกอากาศรายการในทันทีที่เห็นว่ารายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดทำบทลงโทษด้านอื่น ๆ”


แชร์ :

You may also like