HomeBrand Move !!ไม่มีช่องเองมันเสี่ยง! TV Direct งัดแผน ‘เจ้าของ’ ทีวีดิจิทัลอีกครั้ง ทั้งซื้อกิจการ-ถือหุ้นใหญ่

ไม่มีช่องเองมันเสี่ยง! TV Direct งัดแผน ‘เจ้าของ’ ทีวีดิจิทัลอีกครั้ง ทั้งซื้อกิจการ-ถือหุ้นใหญ่

แชร์ :

มูลค่าธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง ปี 2562 โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี สาเหตุอย่างที่รู้กันว่า “ทีวีดิจิทัล” ช่องทางหลักขายสินค้าปิดตัวไป 7 ช่อง  สะเทือนถึง “พระเจ้าจอร์จ” เจ้าพ่อโฮมช้อปปิ้ง TV Direct  ต้องปัดฝุ่นแผนซื้อกิจการทีวีดิจิทัลอีกครั้ง หลังปีก่อนล้มดีลช่องสปริงนิวส์ มองตลาดข้างหน้าไม่มีแพลตฟอร์มเองธุรกิจเสี่ยงแน่!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอยู่ในอาการคึกคัก มีทั้งผู้เล่นรายใหม่จากต่างประเทศ เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น แห่เข้ามาเปิดตัวธุรกิจในไทย  อีกปัจจัยสำคัญต้องยกให้การถือกำเนิดของช่องทีวีดิจิทัล  สื่อที่มีฐานผู้ชมกลุ่มเดียวกับธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง คือคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ทำให้ตลาดเติบโตปีละ 20-30% มาทุกปี

แต่หลังจากการปิดตัวของ 7 ช่องทีวีดิจิทัลในปี 2562  ตลาดทีวีโฮม ช้อปปิ้งออกอาการ “ร่วง” ทันที แม้ยังเห็นตัวเลขโตอยู่แต่ก็เพียง 7% เท่านั้น  ต่ำสุดในรอบ 10 ปี มูลค่าอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ปี 2563 แนวโน้มก็ยังไม่ดีนัก จากปัจจัยลบเศรษฐกิจกำลังซื้อชะลอตัว ผู้บริโภคระวังจับจ่าย ปีนี้ประเมินกันว่าโตได้ก็ไม่เกิน 2-3% เท่านั้น

 

คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ผู้ก่อตั้ง TV Direct

ทีวีไดเร็คอยู่มา 20 ปีอยากเป็นเจ้าของทีวีแล้ว

เจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง ทีวีโฮม ช้อปปิ้ง ที่อยู่ในตลาดมา 20 ปี “ทีวีไดเร็ค”  โดยผู้ก่อตั้ง  คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ  ปีนี้ได้เวลาเปลี่ยนแม่ทัพ รับศึกอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนทั้งสื่อทีวีและดิจิทัล ดิสรัปชั่น  แต่งตั้ง คุณธนะบุล มัทธุรนนท์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD คนใหม่ แต่เป็นลูกหม้อทีวีไดเร็ค  เริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2552

การเข้ามานั่งเป็นซีอีโอใหม่  คุณธนะบุล บอกว่าหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง  เพราะการไม่มี “ช่องทาง” ของตัวเองนั่นคือความเสี่ยง!  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปีที่ผ่านมา คือการปิดตัวของทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ซึ่ง “ทีวี” เป็นช่องทางสำคัญสร้างยอดขายสัดส่วน 90% ของทีวีไดเร็ค  ทำให้ปีที่ผ่านมารายได้จึงโตต่ำเช่นเดียวกับตลาด เพราะเดิมมีรายการขายสินค้าในทีวีดิจิทัลกว่า 10 ช่อง หลังมีช่องคืนใบอนุญาตปัจจุบันเหลือรายการอยู่ใน 7 ช่องเท่านั้น

“ปีก่อนทีวีดิจิทัลปิดไป 7 ช่อง วันนี้ยังได้ยินข่าวว่ามีผู้ประกอบการต้องการคืนช่องอีก 2-3 ราย ต้องถือเป็นความเสี่ยงของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งรวมทั้งเราด้วยหากมีช่องต้องปิดตัวอีก หมายถึงช่องทางที่หายไป  วันนี้ต้องถือว่าการไม่มีช่องทีวีดิจิทัล เป็นของตัวเองเป็นความเสี่ยง เพราะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หลายช่องก็ทำธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งของตัวเอง  รายอื่นจึงไม่สามารถเข้าไปเช่าเวลาทำรายการขายสินค้าได้”

เงินพร้อม “พันล้าน” ลงทุนทีวีดิจิทัล

หลังจากเดือน ก.ย. 2561 ทีวีไดเร็ค ประกาศแผนลงทุน  1,080 ล้านบาท เพื่อซื้อเข้าถือหุ้นใหญ่ 90.1%  ในทีวีดิจิทัลช่อง “สปริงนิวส์” เพื่อใช้เป็นช่องทางขายสินค้าทีวีโฮม ช้อปปิ้ง  แต่ดีลนี้ต้องล้มไปในที่สุด เมื่อปี 2562 สปริงนิวส์  เลือกเส้นทาง “คืนช่อง” และรับเงินชดเชยกับ กสทช. แทน

เมื่อสภาพตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้ง ลูกค้ากลุ่มใหญ่ อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งก็คือกลุ่มที่อยู่กับสื่อทีวีดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้ ทีวีไดเร็ค ต้องกลับมาศึกษาการเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลอีกครั้ง เพราะยังมีโอกาสอยู่เมื่อยังมีผู้ประกอกการต้องการคืนช่องอีก 2-3 ราย  อีกทั้งยังเป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ

“ยอมรับว่ามีการพูดคุยกับทีวีดิจิทัล 1 ราย เพื่อเข้าไปซื้อกิจการทั้งช่อง หรือถือหุ้นใหญ่ แต่ทั้งหมดต้องรอบอร์ดพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อรูปแบบไหน  วันนี้เรามีความพร้อมเรื่องเงินทุน  เพราะแต่ละปีใช้เงินซื้อแอร์ไทม์ช่องทีวีดิจิทัลกว่า 1,000 ล้านบาท สามารถนำมาใช้ลงทุนเป็นเจ้าของช่องแทนได้”

นอกจากศึกษาการลงทุนเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลแล้ว ปีนี้ได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในช่องทีวีดาวเทียม อีก 3 ช่อง  จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3 ช่อง  เพราะยังเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายทีวีโฮมช้อปปิ้ง จำนวนมากและเป็นช่องทางที่สร้างยอดขายได้ดี

คุณธนะบุล มัทธุรนนท์ ซีอีโอ TV Direct

 วางตัวเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้า-บริการ

ปัจจุบันบิสสิเนส โมเดล ของทีวีไดเร็ค เป็นรูปแบบ Omni Channel  ขายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในหลากหลายช่องทางทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม  คอลล์เซ็นเตอร์มีฐานลูกค้า 6 ล้านคน ร้านค้าปลีก (TVD Shop) 40 สาขา แคตตาล็อก รวมทั้งช่องทางออนไลน์และมาร์เก็ตเพลส  ที่เติบโตสูงกว่า 30% ต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่เปลี่ยนมาเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ปี 2563 ตั้งเป้ายอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ 10-15% ของยอดขายรวม และอีก 3 ปี เพิ่มเป็น 15-20%

การทำธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะมองว่า “ทีวีไดเร็ค” เป็นช่องทางการขายสินค้าไม่กี่ประเภท หลักๆ คือ  เครื่องออกกำลังกาย สินค้าแฟชั่น กลุ่มบิวตี้ เครื่องครัวของใช้ภายในบ้าน  แต่การทำธุรกิจหลังจากวางตำแหน่งให้ ทีวีไดเร็ค เป็นแพลตฟอร์มทั้ง สินค้าและเซอร์วิส ที่อยู่ในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน  คือ เมื่อคิดจะซื้อหรือใช้บริการอะไร ก็ต้องมาที่แพลตฟอร์มทีวีไดเร็ค  กลุ่มเซอร์วิสเริ่มจากบริการแพ็คเกจห้องพักโรงแรม

อีกภารกิจของซีอีโอใหม่ คือ การบริหารองค์กร ในปี 2563 วางแผนปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ภายใต้โมเดล Lean Strategy เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อนในฝ่ายโอเปอเรชั่น และเพิ่มศักยภาพการบริหารต้นทุน ซึ่งก็ยอมรับว่าจำเป็นต้องลดพนักงานลงจำนวนหนึ่ง จากปัจจุบันที่มีราว 1,400 คน

ในฝั่งรายได้พบว่าปี 2561  ทีวีไดเร็คมีรายได้ 3,995 ล้านบาท  กำไร 57 ล้านบาท  ส่วนปี 2562 รายได้ 4,450 ล้านบาท  ขณะที่ปีนี้ยังมองโอกาสโตได้ 7%

“เป้าหมายหลักในฐานะซีอีโอคนใหม่ คือการทำให้ทีวีไดเร็ค มีกำไรสูงกว่าปีที่ผ่านมา”


แชร์ :

You may also like