HomeMediaปรับตัวให้รอดอย่างไร! เมื่อวงการสื่อมี 2 ทางเดิน ในยุค Digital Disruption “ไม่ปังก็พัง”

ปรับตัวให้รอดอย่างไร! เมื่อวงการสื่อมี 2 ทางเดิน ในยุค Digital Disruption “ไม่ปังก็พัง”

แชร์ :

“วงการสื่อ” จัดอยู่ในกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างหนักหน่วง สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ผู้ทรงอิทธิพล ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์  บทบาทลดลงเมื่อผู้คนหันไปเสพสื่อออนไลน์ ที่กลายมาเป็น “สื่อหลัก” แนวโน้มยังเป็น “ขาขึ้น” ยึดเม็ดเงินโฆษณาแซงหน้าสื่อเก่า ที่อยู่ในภาวะ “ถดถอย” คำถามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ “ทางรอด” ของอุตสาหกรรมและคนสื่อ อยู่ที่จุดใด?

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดสัมมนา “Digital Disruption ไม่ปัง ก็ พัง …. ทางรอดของคนวงการสื่อกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ”  เปิดมุมมองคนทำสื่อ ที่ต้องก้าวให้ข้ามคลื่นดิจิทัลถาโถม และอยู่รอดในยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน!

คุณสฤษฎ์เดช มฤคทัต บรรณาธิการข่าวดิจิทัล บางกอกโพสต์

“หนังสือพิมพ์” ต้องแข่งที่ความลึก

คุณสฤษฎ์เดช มฤคทัต บรรณาธิการข่าวดิจิทัล บางกอกโพสต์  กล่าวว่า Digital Disruption ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Change) ที่เกิดขึ้นมาตลอดกับอุตสาหกรรมสื่อ  แต่สิ่งที่แตกต่างจากอดีต คือ เดิมการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นพัฒนาการด้านผลิต ที่คนทำสื่อได้ประโยชน์  เช่น ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต คนทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องเข้าไปเขียนงานที่สำนักพิมพ์ เมื่อมีอินเทอร์เน็ตใช้  สามารถส่งข่าวจากที่ไหนก็ได้ เป็นความสะดวกทางด้านการผลิตสื่อ ที่ได้จากเทคโนโลยี

แต่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น เป็นสิ่งที่กระทบบุคคล จุดเปลี่ยนคือ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ที่ทำให้ทุกคนทำสื่อได้ และเลือกเสพสื่อได้เอง หน่วยงานต่างๆ มีช่องทางการสื่อสาร หรือ เผยแพร่ข่าวเองผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อัพเดทข่าวสารการเดินรถทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยที่สื่อไม่ต้องลงพื้นที่ไปทำข่าว  หรือ ธนาคาแห่งประเทศไทย  ใช้ Facebook Live แถลงข่าวและชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เป็นกระแสสังคม เรียกว่าเป็นยุคที่ “แหล่งข่าวให้ข่าวกับผู้เสพสื่อเองโดยตรง”

เดิมข่าวเร็ว คือ ข่าวดี  แต่มาในยุคนี้  แหล่งข่าวแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กเอง ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวได้โดยตรง สื่อหนังสือพิมพ์จึงไม่สามารถแข่งขันเรื่องความเร็วได้อีกต่อไป  วันนี้จุดขายเหลืออยู่อย่างเดียวคือ ความลึก เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วต่อยอดได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่า “หนังสือพิมพ์” สื่อที่มีอายุกว่า 70 ปี  กลุ่มที่เป็นลูกค้าประจำ คือ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังรับทั้งสื่อเก่าแต่ก็เลือกรับสื่อใหม่ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นกลุ่มผู้อ่านหลักคงไม่เติบโตและมีแต่จะลดลง  ขณะที่วัย อื่นๆ ส่วนใหญ่เสพข่าวสารผ่านออนไลน์  สิ่งที่สื่อหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว คือ การขยายตัวไปออนไลน์  สร้างฐานผู้อ่านให้กว้างขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงองค์กรที่อยู่มานาน หลายๆ แห่งก็ทำได้ “ยาก” เช่นกัน ทั้งฝั่งคนข่าวและฝ่ายขาย เพราะรายได้หลักของหนังสือพิมพ์วันนี้ยังมาจากฉบับกระดาษ ไม่ใช่ออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงของหนังสือพิมพ์จึงต้องใช้เวลา

“บางกอกโพสต์ เองมีความชัดเจนในการมุ่งสู่ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ต้องจับกลุ่มใหม่ 20-35 ปี เพื่อความยั่งยืนขององค์กร  ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษเลิกแข่งความเร็ว มาแข่งความลึก สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อชนะสื่ออื่นๆ ด้วยข้อมูล  วันนี้วงการสื่อ ยังขาดคนต่อยอดข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ข่าวแตกต่าง การคิดได้เหนือกว่า คือชนะ  คนสื่อต้องสะสมองค์ความรู้ มีความรอบลึก เพื่อทำให้องค์กรแข็งแกร่งและอยู่รอดได้”

ในยุค Digital Disruption หากถามว่า “สื่อเก่าจะตายหรือไม่” ทุกคนคงต้องกลับไปถามตัวเองว่ายังเสพสื่อเหล่านั้นอยู่ไหม  เพราะนั่นคือคำตอบ!!   

คุณปกรณ์ รัตนทรัพย์ศิริ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ MONO 29

แพลตฟอร์มเปลี่ยนไป แต่คอนเทนต์ “ทีวี” ยังอยู่

คุณปกรณ์ รัตนทรัพย์ศิริ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ MONO 29 มองว่าแม้ในยุคที่สื่อออนไลน์เฟื่องฟู  แต่ “ทีวี” ก็ยังสำคัญกับคนไทย เพราะเป็นความบันเทิงราคาถูก เป็นเพื่อนของสังคมสูงวัยที่ยังดูทีวีอยู่ เป็นแหล่งอัพเดทข้อมูลข่าวสาร แต่การขยายตัวของ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ต่างๆ  ทำให้พฤติกรรมผู้ชมทีวีเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องดูทีวีตามโปรแกรมที่กำหนด ปัจจุบันสามารถดู “ย้อนหลัง” ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ Content is king  คนไทยก็ยังดูคอนเทนต์จากทีวี และเลือกดูตามสิ่งที่ชอบ

ไม่ว่าจะยุคใด การปรับตัวขององค์กรและบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ  “โมโน” เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ Collaboration เปลี่ยนคู่แข่งให้มาเป็นพันธมิตร  เช่น โปรเจกต์  โมโน x แกรมมี่  โดยให้ แกรมมี่ ที่เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์ เป็นผู้ผลิตรายการป้อนให้แพลตฟอร์มต่างๆ ของกลุ่มโมโน เพราะแข่งขันกันไปก็อาจตายทั้งคู่ จึงหาจุดที่ทำงานร่วมกันแบบที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ win win ทุกฝ่าย น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า

“การปรับตัวไม่ว่าจะยุคไหน คนสำคัญที่สุด องค์กรที่ต้องปรับตัวในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ต้องมีความชัดเจน เรื่องเป้าหมายว่า 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจของเราจะอยู่ส่วนไหนของโลก และบุคลากรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา”

ยังมีความเชื่อว่าสื่อเก่าไม่ตาย แต่จะเปลี่ยน แพลตฟอร์มไปตามยุคตอบสนองผู้ชมที่ต้องการเสพคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ  จะเห็นได้ว่า  “โกดัก” ตาย แต่ “การถ่ายรูปยังอยู่” และถ่ายมากขึ้นด้วยจากความสะดวกของสมาร์ทโฟน  เช่นเดียวกัน จะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคมากขึ้น แต่ “คอนเทนต์” ก็ยังอยู่

คุณภัทรินทร์ เทวาภิภัทรภูวดล  โปรดิวเซอร์ เวิร์คพอยท์ทีวี

“ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” คือ “โอกาส” คนทำคอนเทนต์ 

คุณภัทรินทร์ เทวาภิภัทรภูวดล  โปรดิวเซอร์ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่เข้ามากระทบหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมสื่อ คนที่อยู่รอดได้ต้อง “คิดนอกกรอบ”  เพราะดิจิทัล แพลตฟอร์ม คือ “โอกาส” เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำให้คอนเทนทต์ที่จากเดิมอยู่แค่ในทีวี ไปอยู่ได้ในทุกที่ ทุกช่องทาง ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เน็ตฟลิกซ์

“เวิร์คพอยท์” วางตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์  King of Variety  ไม่ได้มองแค่ช่องทางทีวีเท่านั้น สิ่งที่ปรับตัวของสื่อทีวี คือนำคอนเทนต์ไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ชมเลือกดูจากช่องทางที่สะดวกของแต่ละคน

“ช่วงเข้ามางานโปรดิวเซอร์ทีวีครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ก็ไม่รู้เช่นกันว่าใครดูทีวีอยู่บ้าง ชอบรายการแบบไหน แต่ก็เรียนรู้ทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ชมแต่ละช่วง ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนดูเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่เลือกสื่อ สถานที่ และเวลา ในการเสพทีวีอีกแล้ว”

การปรับตัวทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มได้ ต้องตามคนดูและดึงความสนใจผู้ชมอย่างรวดเร็ว หากเป็นเฟซบุ๊กก็ต้องทำให้ได้ใน 7 วินาทีแรก ส่วนทีวี ต้องอยู่ใน  7 นาทีแรกเช่นกันยึดเยื้อไม่ได้เหมือนในอดีต  เพราะผู้ชมมีทั้งสื่อและคอนเทนต์ให้เลือกเสพจำนวนมาก ความอดทนรอจึงลดลงไปเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นสื่อใด หรือองค์กรใดที่ต้องฝ่ากระแส Digital Disruption  บุคลากรมีส่วนสำคัญ การปรับตัวต้องเริ่มที่ “ตัวเอง”ก่อน  พยายามทำงานให้เป็นทุกอย่างเพื่อองค์กร เรียนรู้การทำงานด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในยุคโซเชียลมีเดียบูม เวิร์คพอยท์ ก็ได้ทดลองทำ Facebook Live Stream  เช่นกัน ซึ่งก็พบว่าทำให้มีคนติดตามดูทีวีเพิ่มขึ้น  ถือเป็นการปรับตัวเพื่อรู้จักพฤติกรรมคนดูในยุคใหม่ และเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

“วันนี้ทุกสื่อต้องหาตัวเองให้เจอ ใช้จุดแข็งของแต่ละสื่อทำคอนเทนต์ที่ผู้ชมชื่นชอบ มองแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นโอกาส  เพราะในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้  ทีวีต้องเป็นทางเลือกที่ดีให้ผู้ชม และคนทำงานต้องรู้จักแข่งกับตัวเอง ไม่มองใครเป็นคู่แข่ง  เรตติ้งทีวี ได้มา ณ เวลาหนึ่งแล้วก็จบไป  แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้ คือ คอนเทนต์ที่ดีที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่”

เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นหน้าที่ของคนทำงานต้องเรียนรู้และปรับตัว เพราะในที่สุดแล้วจะมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาอีก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” จึงเป็นทั้งผลกระทบและโอกาส อยู่ที่การปรับตัวของแต่ละคนว่าจะเลือกทางไหน

คุณโชกุล ศกุณต์ไชย  Influencer และ Content Creator ผู้บริหาร ทีวีพูล ออนไลน์

คนทำสื่อต้อง Unlearn และ Relearn ตลอดเวลา

คุณโชกุล ศกุณต์ไชย  Influencer และ Content Creator ผู้บริหาร ทีวีพูล ออนไลน์ ทายาทคุณพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย (ติ๋ม ทีวีพูล) บอกว่าการอยู่ในครอบครัวคนทำสื่อตั้งแต่นิตยสารเล่มจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น  เป็นยุคที่กำแพงการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้พังทลายลง  เกิดการแข่งขันข้ามอุตสาหกรรม และทุกคนเป็นสื่อได้หมด

ในอดีตสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ค่ายเพลง  เป็นธุรกิจที่ “ผูกขาด” โดยผู้ประกอบการไม่กี่ราย เพราะมีกำแพงเรื่องการลงทุนแพลตฟอร์ม แต่ปัจจุบันทุกคน ทุกอุสาหกรรม สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มในการผลิตสื่อได้เหมือนกันหมดด้วยต้นทุนที่ลดลง  ความแตกต่างจึงอยู่ที่ “คอนเทนต์”

“การทำสื่อในยุคนี้ จะเห็นการ collaborate  ทำงานข้ามธุรกิจกันมากขึ้น  เป็นการแข่งขันของปลาเร็ว ที่เห็นโอกาส”

การปรับตัวให้อยู่รอดได้ต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ Unlearn และ Relearn จะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์ม อย่าง เฟซบุ๊ก มีการปรับเทคโนโลยีและอัพเดทเครื่องมือใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่คนทำสื่อและคนที่ใช้แพลตฟอร์มต้องตามให้ทัน เพื่อเรียนรู้การใช้งาน ไปตามการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญของการปรับตัวคือ ต้องเริ่มต้นเดี๋ยวนี้!


แชร์ :

You may also like