HomeMediaปิดหนังสือพิมพ์ไปแล้ว 2 ไม่พอ! ‘บางกอกโพสต์’ ขายโรงพิมพ์บางนา-สำนักงานคลองเตย ‘จ่ายหนี้’

ปิดหนังสือพิมพ์ไปแล้ว 2 ไม่พอ! ‘บางกอกโพสต์’ ขายโรงพิมพ์บางนา-สำนักงานคลองเตย ‘จ่ายหนี้’

แชร์ :

ถือเป็นปีที่หนักหนาสาหัสของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และเครือบางกอกโพสต์ หลังจากสิ้นเดือน มี.ค.2562 ต้อง “ปิด” หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ  “โพสต์ทูเดย์และฟรีก็อปปี้ M2F”  จากปัญหาขาดทุนสะสมมาหลายปี  ยังไม่ทันสิ้นปีต้องประกาศขายทรัพย์สินโรงพิมพ์บางนาและอาคารสำนักงานคลองเตย คาดได้เงินราว 1,600 ล้านบาท เพื่อใช้หนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ต้องบอกว่าธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ยังอยู่ในภาวะ “ลำบาก” ท่ามกลางกระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” และยังเห็นความพยายามแก้ปัญหาของผู้ประกอบการสื่ออย่างต่อเนื่อง ปี 2562 มีความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาหนี้และภาวะ “ขาดทุน” ของ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST ตั้งแต่ต้นปี ด้วยการประกาศ “ปิด” หนังสือพิมพ์  2 ฉบับ คือ “โพสต์ทูเดย์” หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันอายุ 16 ปี และฟรีก็อปปี้ M2F อายุ 7 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการ “ลดค่าใช้จ่าย” โดยต้องเลิกจ้างพนักงานราว 200 คน หลังจากนั้นได้เดินหน้าสู่สื่อดิจิทัลเต็มตัว

ก่อนหน้านั้นในเดือน ก.ย. 2561 เครือบางกอกโพสต์ได้หยุดพิมพ์นิตยสาร Student Weekly หรือ S Weekly ไปก่อนแล้ว หลังตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2512 หรือมีอายุกว่า 49 ปี เดิมชื่อ “คาไลโดสโคป” (Kaleidoscope)

ขายโรงพิมพ์-ออฟฟิศ “ใช้หนี้”

วันนี้ (16 ธ.ค.2562)  คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  แจ้งมติคณะกรรมการ POST เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2562  ที่อนุมัติให้บริษัทขายทรัพย์สิน 1. ศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย ย่านบางนา ที่ประกอบด้วยที่ดิน 19 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรอุปกรณ์  มูลค่ารวม 424 – 509 ล้านบาท

และ 2. อาคารสำนักงาน ย่านคลองเตย อายุ 13 ปี ที่ประกอบด้วย ที่ดิน  7 ไร่ 64 ตารางวา อาคารสำนักงาน มูลค่ารวม 1,175 ล้านบาท

ประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ รวม 1,599  – 1,684  ล้านบาทคาดจำหน่ายทรัพย์สินได้ในระยะเวลา 1 ปี  หลังจากขายได้แล้ว จะเจรจากับผู้ซื้อเพื่อขอ “เช่า” พื้นที่อาคารสำนักงานคลองเตยในราคาที่เหมาะสมต่อไป

หลังขายทรัพย์สินโรงพิมพ์และอาคารสำนักงานแล้ว ยังประกอบธุรกิจเช่นเดิม  โดยเห็นว่าสามารถจ้างบริษัทภายนอกผลิตหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ แทนได้  การขายทรัพย์สินทั้ง 2 รายการจะทำให้มี “กระแสเงินสด” เพิ่มขึ้น  เป็น Cash Company  แต่เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินส่วนใหญ่จะนำไป “จ่ายหนี้”  ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ POST ยังมีมติให้กู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์  จำนวน 120 ล้านบาท มาใช้เสริมสภาพคล่องระหว่างรอจำหน่ายทรัพย์สิน

แบกขาดทุนอ่วม

การที่ POST ต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินดังกล่าว เพราะ “ขาดสภาพคล่อง” จากปัญหา “ขาดทุน” สะสมต่อเนื่องหลายปี  สาเหตุก็มาจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป  จากสื่อสิ่งพิมพ์ไปเป็นสื่อออนไลน์ รวมถึงการ ชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้งบโฆษณาสื่อ สิ่งพิมพ์ลดลงอย่างหนัก

หากย้อนดูผลประกอบการของ POST พบว่า “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้สื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณา ยกเว้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทั้งสื่อรูปแบบหนังสือพิมพ์และสื่อดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสื่อหลักของเครือที่ยังมี “กำไร”

  • ปี 2558 รายได้ 2,211 ล้านบาท ขาดทุน 251 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 1,865 ล้านบาท ขาดทุน 215 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 1,365 ล้านบาท ขาดทุน 358 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 1,230  ล้านบาท ขาดทุน 167 ล้านบาท
  • ปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) รายได้ 607 ล้านบาท ขาดทุน  341 ล้านบาท

แชร์ :

You may also like