HomeDigitalฟังกันชัด ๆ YouTuber 2020 คอนเทนต์แบบใด เข้าข่าย “Made for Kids”

ฟังกันชัด ๆ YouTuber 2020 คอนเทนต์แบบใด เข้าข่าย “Made for Kids”

แชร์ :

นับเป็นความท้าทายอีกข้อของบรรดาครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ที่วันนี้ การสร้างคอนเทนต์วิดีโออาจไม่ได้สร้างจาก Passion เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป หากแต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อาจเผลอเข้ามากดติดตามเพียงเพราะความน่าสนใจของคอนเทนต์ด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยปัญหานี้เกิดจากรูปแบบของ YouTube ที่เปิดให้ผู้มีแอคเคาน์ของ Google สามารถสร้างแชนแนลเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบของตัวเองได้ และเจ้าของแชนแนลก็สามารถทำเงินจาก YouTube ได้ด้วยการยินยอมให้ YouTube นำเสนอโฆษณาตามพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพียงแต่ว่าในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายตัวหนึ่งชื่อ COPPA (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) ซึ่งระบุให้เว็บไซต์หรือบริการออนไลน์ใด ๆ ก็ตามต้องมีการแจ้งรูปแบบการเก็บข้อมูล และขออนุญาตจากผู้ปกครองในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีเสียก่อน แถมข้อกฎหมายนี้ยังรวมไปถึงบรรดา Advertising Network ต่าง ๆ ที่มาขอเชื่อมข้อมูลว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย

น่าเสียดายที่ YouTube และ Google มีการละเมิดกฎหมายนี้ โดย FTC (Federal Trade Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการเก็บข้อมูลของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี รวมถึงมีการติดตามการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของเด็ก “โดยปราศจากการยินยอมจากผู้ปกครอง” ซึ่งทาง FTC ระบุว่า YouTube ทำเงินได้นับล้านเหรียญสหรัฐจากการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการยิงโฆษณา

แม้ว่าคำโต้แย้งจาก YouTube คือการบอกว่า การสมัครเข้าใช้งานแอคเคาน์ออนไลน์ของ Google และ YouTube นั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่ความจริงข้อนี้ก็ถูกตีตกเมื่อมีหลักฐานว่าแบรนด์ของเล่นอย่าง Mattel ออกมาเผยความจริงว่า บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 6 – 11 ปีได้จาก YouTube แถมมีประสิทธิภาพกว่าทีวีอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่แบรนด์ Cartoon Network ก็ไม่ยอมแพ้ กับการโฆษณาให้ YouTube ว่าเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งที่เด็ก ๆ เข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุด

ทั้งหมดนี้ Google และ YouTube จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ และต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงต้องหามาตรการเพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย COPPA ด้วย

Ro อินฟลูเอนเซอร์ วัย 13 ปี จากช่อง Love Ro-Ra

โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ประกอบด้วย

1. การเพิ่มช่องทางให้เจ้าของแชนแนลบน YouTube ต้องระบุว่า คอนเทนต์ที่อัปโหลดขึ้นบน YouTube นี้ “Directed to Children” หรือไม่ (เป็นคำที่ COPPA กำหนด) วลีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ทั้ง YouTube และเจ้าของช่องเข้าใจตรงกันว่า หากอยู่ในหมวด Directed to children ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย COPPA อย่างเคร่งครัด

2. ส่วนวิธีพิจารณาว่า คอนเทนต์ใดเข้าข่าย Directed to Children หรือไม่นั้น ทาง FTC ระบุว่ามีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

– หัวข้อของคอนเทนต์
– ภาพที่ปรากฏในคอนเทนต์
– มีการใช้ตัวการ์ตูน หรือกิจกรรมสำหรับเด็กมาดึงดูดหรือไม่
– เป็นคลิปเพลง หรือคลิปเสียงหรือไม่
– อายุของผู้ดำเนินรายการ
– มีการปรากฏตัวของคนดังที่เด็ก ๆ สนใจ หรือเซเลปรุ่นจิ๋วในคลิปหรือไม่
– ภาษาที่ใช้ในคลิป หรือเอกลักษณ์อื่น ๆ ของคลิป
– มีการโฆษณาหรือโปรโมทบนคลิปที่เจตนาพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กหรือไม่

ทั้งนี้ หากคอนเทนต์ที่อัปโหลดขึ้นไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของผู้ใหญ่ เช่น การท่องเที่ยว การบริหารเงิน การปรับปรุงบ้าน แม้จะมีการนำอนิเมชันมาใช้ หรือปรับสีให้สดใส ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าข่าย Directed to Children และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย COPPA เสมอไป

อย่างไรก็ดี กรณีของหลาย ๆ แบรนด์ที่มาใช้แชนแนลบน YouTube เพื่อนำเสนอคอนเทนต์สำหรับเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็ผสมการขายของเล่นไปด้วยอย่างเนียน ๆ เช่น ของ Mattel ที่นำเสนอช่อง Barbie ผ่านคีย์เวิร์ด Barbie Doll และ Malibu Dreamhouse ก็จะเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฏหมาย COPPA เป็นต้น

(ดูตัวอย่างของแบรนด์ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย COPPA ได้จากลิงค์นี้ หน้า 10 – 14)

3. ถ้าเข้าข่ายกฎหมาย COPPA สิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อไปก็คือ

  • ต้องระบุอย่างชัดเจนว่า จะมีการเก็บข้อมูลอะไรบ้างจากเด็กที่อายุไม่ถึง 13 ปี
  • ต้องระบุลิงค์ไปยังนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวให้เห็นอย่างชัดเจน และต้องอ่านง่าย เข้าใจได้ง่าย ห้ามเขียนให้สับสนวกไปวนมา มีการบอกอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลที่เก็บไปนั้น เก็บอะไรบ้าง และเก็บไปเพื่ออะไร จะนำไปใช้อย่างไร แชร์กับ Third Party รายอื่น ๆ หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องบอกประเภทของธุรกิจที่แชร์ข้อมูลให้มาด้วย เช่น แชร์กับ Advertising Networks เป็นต้น
  • ต้องแจ้งสิทธิของผู้ปกครองให้ทราบด้วยว่า ผู้ปกครองสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ว่า ลูกของตัวเองแชร์ข้อมูลอะไรไปบ้าง รวมถึงสามารถสั่งให้แพลตฟอร์ม “ลบข้อมูลของลูก” หรือห้ามไม่ให้มีการเก็บข้อมูล หรือห้ามไม่ให้มีการแชร์ข้อมูลไปยัง Third Party ต่าง ๆ ได้

4. แต่ทั้งหมดนี้ เป็นแค่การแจ้งให้ทราบเบื้องต้นเฉย ๆ แพลตฟอร์มจะเริ่มเก็บข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้ปกครอง” อนุญาตเท่านั้น

ส่วนการอนุญาตจากผู้ปกครองที่กฎหมาย COPPA ยอมรับนั้น อาจเป็น

– การลงนามผ่านฟอร์มต่าง ๆ
– การยืนยันโดยใชับัตรเครดิต บัตรเดบิท หรือระบบการชำระเงินอื่น ๆ
– ยืนยันผ่านโทรศัพท์ (และต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายในการโทร) โดยมีพนักงานที่ได้รับการอบรมมาเฉพาะทางเป็นผู้รับสาย
– ยืนยันผ่านบริการ VDO Conference โดยมีพนักงานที่ได้รับการอบรมมาเฉพาะทางเป็นผู้รับสาย
– ยืนยันผ่านเอกสารที่ราชการออกให้ เช่นใบขับขี่ที่มีภาพถ่ายของผู้ปกครองอยู่ในนั้น

สามารถตรวจสอบรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจใช้ได้เพิ่มเติมจากลิงค์นี้

5. แพลตฟอร์มต้องให้สิทธิผู้ปกครองในการเข้าถึงข้อมูลลูก รวมถึงต้องทำตามหากผู้ปกครองร้องขอให้ลบข้อมูลของเด็กออกจากระบบ หรือหากผู้ปกครองไม่ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลลูกต่อบุคคลที่สามก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

6. ต้องปกป้องข้อมูลของเด็กอย่างระมัดระวังที่สุด

แม้ว่าการปกป้องที่ดีที่สุดก็คือการเก็บมาให้น้อยที่สุด แต่สำหรับบริษัทที่ปฏิบัติตามไม่ได้ขนาดนั้น กฎหมาย COPPA ก็ระบุให้ต้องเก็บเท่าที่ใช้งานจริง ไม่เก็บนานเกินจนไม่มีเหตุผล หรือหากจะแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลที่สามก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถดูแลข้อมูลได้อย่างปลอดภัยมาก ๆ เช่นกัน

ส่วนอีกเรื่องที่หลายคนสนใจไม่แพ้กันก็คือค่าปรับ โดย FTC ระบุว่า สำหรับค่าปรับสูงสุดสำหรับกรณีละเมิดกฎหมาย COPPA นี้คือ 42,530 เหรียญสหรัฐ แต่สุดท้ายแล้วจะปรับเป็นจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เช่น สถานะทางการเงินของบริษัท, ผลกระทบจากการจ่ายค่าปรับจะทำให้ธุรกิจยังอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ ฯลฯ นอกจากนี้ FTC ยังเผยด้วยว่า อยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และเปิดรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ เพิ่มเติม จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2019 นี้ด้วย ใครอยากเข้าไปเยี่ยมชมสามารถเข้าไปได้จากลิงค์นี้

แต่สำหรับคนที่ยังอาจมีข้อสงสัยเพิ่มเติม FTC แนะนำว่าให้ปรึกษานักกฎหมายค่ะ

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like