HomeBrand Move !!เบื้องหลังดีลยาว 9 เดือนของ “สิงห์” ซื้อร้านสเต็ก “ซานตาเฟ่” เคมีตรงกัน – ราคาเหมาะสม

เบื้องหลังดีลยาว 9 เดือนของ “สิงห์” ซื้อร้านสเต็ก “ซานตาเฟ่” เคมีตรงกัน – ราคาเหมาะสม

แชร์ :


ถือเป็นอีกดีลที่ตอกย้ำการขยายเสาหลัก “ธุรกิจอาหาร” ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่  เมื่อ “ฟู้ด แฟคเตอร์” บริษัทในเครือ เข้าถือหุ้นใหญ่ในเคที เรสทัวรองท์” เจ้าของธุรกิจ “ซานตา เฟ่ สเต็ก” ด้วยสัดส่วนหุ้น 88% มูลค่าเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ขณะที่เจ้าของเดิมเหลือเพียง 12% พ่วงด้วยตำแหน่งและอำนาจในการบริหารงานต่ออีก 3 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เบื้องหลังดีล “กินเวลา 9 เดือน” 

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจในปี 1990 จนถึงปัจจุบัน “ซานตาเฟ่ สเต็ก” มีจำนวน 117 สาขาในไทย และ 1 สาขาในประเทศกัมพูชา ในจำนวนนี้ มีสาขาที่ เคที เรสทัวรองท์ เป็นเจ้าของเองกว่า 50% แต่นอกจากซานตาเฟ่ สเต็กแล้ว ยังมีธุรกิจร้านอาหารอีสานในชื่อ “เหม็ง นัวนัว” ที่สิ้นปีนี้จะเปิดให้บริการให้ครบ 7 สาขา 

คุณสุรชัย ชาญอนุเดช ผู้ก่อตั้งซานตาเฟ่ สเต็ก และซีอีโอ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด เล่าถึงเบื้องหลังดีลนี้ว่า ขณะนั้นเป็นช่วงที่กองทุนที่ถือหุ้นใหญ่ของเคทีฯ ได้ถอนตัวออกไปพอดี  แต่ก็ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนกว่า 50 บริษัทที่สนใจร่วมทุน โดยมี PWC เป็นตัวกลางจัดหาให้ แต่ ฟู้ด แฟคเตอร์ในเครือบุญรอดฯ เป็นบริษัทที่คุยแล้วรู้สึกว่า เคมีตรงกัน มากที่สุด 

“หลังจากคุยกัน 2-3 ครั้งในช่วงเวลา 9 เดือน เห็นว่า เคมีเราตรงกัน แถมราคาก็เหมาะสม แต่สิ่งที่เราจะได้จากทางฟู้ด แฟคเตอร์ คือเรื่องของอินฟราสทัคเจอร์ ระบบโลจิสติกส์ โรงงานผลิต การทำ R&D รวมถึงการมีวัฒนธรรมองค์กรแบบไทย จากความเป็นองค์กรอายุ 86 ปีของทางกลุ่มสิงห์ ทำให้รู้สึกอุ่นใจ และเชื่อว่าด้วยศักยภาพของฟู้ด แฟคเตอร์ จะสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้เร็วและยั่งยืน” คุณสุรชัยกล่าว

ซื้อ “สเต็ก” เสริมพอร์ตธุรกิจอาหาร

ส่วนที่ว่าทำไม ฟู้ด แฟคเตอร์ จึงสนใจร้านสเต็ก? กระทั่งมาลงตัวที่ “ซานตาเฟ่” เพราะสเต็กเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทย ที่ยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และมีคู่แข่งรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีโอกาสขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน  ซึ่งซานตาเฟ่ ได้เข้าไปบุกตลาดกัมพูชาแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอาหารในไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยังเป็น “ดาวรุ่ง” เติบโตในทุกเซ็กเมนต์ จากปัจจัยการเกิดสังคมเมือง ทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารนอกบ้าน หรือเดลิเวอรี่มากขึ้น และการเติบโตของร้านอาหารที่ให้บริการอาหารระดับราคาปานกลาง ซึ่งเป็นที่นิยมในลูกค้ากลุ่มเพื่อนและกลุ่มครอบครัว คาดว่าจะเติบโต 15% ในอีก 3 ปีข้างหน้า 

ปัจจุบัน “ซานตาเฟ่ สเต็ก” มีลูกค้าหลักเป็น “กลุ่มครอบครัว” ด้วยสัดส่วนถึง 40% รองลงมาคือคนทำงาน 30% และนักเรียน 30% การได้ธุรกิจสเต็กมาอยู่ในมือจะช่วยเสริมความแข็งแรง และสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจอาหาร หลังจากก่อนหน้ามีร้านฟาร์มดีไซน์ ร้านเบเกอรี่ชื่อดังจากฮอกไกโด, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji และ EST.33 

ลงทุนต่อเนื่อง หวังปั้น “Product Champion”

คุณปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

ขณะเดียวกันเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของบุญรอดฯ ที่ต้องการ diversify ธุรกิจหลักกลุ่มเครื่องดื่ม อย่างเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา หลังมีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ประกอบด้วย 6 เสาหลัก ได้แก่ 1.การผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา (บุญรอดบริวเวอรี่) 2.การผลิตขวดแก้ว (บีซีจี กรุ๊ป) 3. ธุรกิจการค้าในภูมิภาค (สิงห์ เอเชียโฮลดิ้ง) 4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (สิงห์ เอสเตท) 5.ธุรกิจซัพพลายเชน (บุญรอดซัพพลายเชน) และ 6.ธุรกิจอาหาร (ฟู้ด แฟคเตอร์)

 ฟู้ด แฟคเตอร์ภายใต้การนำทัพของ คุณปิติ ภิรมย์ภักดีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด จึง Spin-off ตัวเองออกมาจากบริษัทแม่ แยกการบริหารงานอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความคล่องตัว โดยที่บุญรอดฯ ยังคงสนับสนุนเรื่องเงินลงทุน

สิ่งที่คุณปิติทำ คือ การ Restructure องค์กรใหม่ โดยนำทุกธุรกิจด้านอาหารที่กระจัดกระจายอยู่มานานกว่า 10 ปี ให้มารวมอยู่ใน ฟู้ด แฟคเตอร์ เพื่อสามารถกำหนดทิศทางการบริหารและการดำเนินงานได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) 2. กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) 3. กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail)

รวมถึงการมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการลงทุนใหม่ๆ จะพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบุญรอดฯ โดยจะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับการเข้าไปซื้อกิจการ รวมถึงการเข้าไปร่วมทุนพัฒนาธุรกิจ และสินค้าใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อผลิตสินค้าที่อยู่ในระดับ “Product Champion” เทียบเท่าซอสต๊อด และสาหร่ายมาชิตะ ให้ได้มากกว่า 25 รายการ ภายใน 5 ปี 

หลังจากใช้เงินก้อนแรกปิดดีลกับทางเคที เรสทัวร์รองท์ ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ฟู้ด แฟคเตอร์ ตั้งเป้าหมายภาพรวมจะต้องมีร้านอาหารเพิ่มอีก 50 สาขา ภายใน 2-3 ปี  แต่ถ้าหากมีดีลขนาดใหญ่ที่การเจรจาลงตัว และสามารถเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจได้ ก็พร้อมจะนำเสนอต่อบอร์ดให้มีการระดมทุน หรือกู้ยืมเงินจากบริษัทแม่ 

ขยายสาขาใหม่ ดันเป้าปีหน้า 2,000 ล้านบาท

หลัง “ซานตาเฟ่” เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารของ ฟู้ด แฟคเตอร์แล้ว ตั้งเป้าขยายสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 20 สาขา เป็นสาขาที่ลงทุนเอง  10 สาขา และแฟรนไชส์ 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดขนาดใหญ่ พื้นที่ 90-120 ตร.ม. รวมทั้งรีโนเวทสาขาเก่า ส่วนที่ประเทศกัมพูชา มีแผนที่จะเพิ่มอีก 1 สาขาในปี 2020

ปีหน้าบริษัทคาดการณ์รายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีนี้รายได้อยู่ที่  1,850 ล้านบาท

ใช้หน้าร้านทดลอง-พัฒนาเมนูใหม่ 

การเข้ามาของฟู้ด แฟคเตอร์ มาพร้อมกับแผนการเพิ่มจุดขายในการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม ซึ่งหากไปที่ร้านซานตาเฟ่ สเต็ก จะเห็นว่าตอนนี้เปลี่ยนจากแบรนด์อื่นมาใช้ของบริษัทในเครือบุญรอดฯ เรียบร้อยแล้ว เช่น น้ำดื่ม เบียร์

หลังจากนี้บริษัทจะร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับกลุ่มบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด เพราะฟู้ด แฟคเตอร์มี Food Innovation Center ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัย พร้อมสำหรับการพัฒนาเมนู และผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับร้านซานตาเฟ่ สเต็ก และเหม็ง นัวนัว โดยใช้หน้าร้านเป็นพื้นที่ทดลองเมนูใหม่

ที่จะได้เห็นเลยคือ ซอสต๊อด ที่จะเข้าไปอยู่ในบางเมนู และบางสาขา หลังจากถูกใช้เป็นส่วนประกอบจานอาหารที่ร้าน EST.33 ก่อนหน้านี้

ในอนาคต ฟู้ด แฟคเตอร์ ต้องการสร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร โดยได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ ครัวกลาง (Central Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) หลังจากธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร, กลุ่ม Food innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่ม Bevchain logistics ในการบริหารจัดการและการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น

ภายใน 3 ปี ฟู้ด แฟคเตอร์ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ธุรกิจอาหาร 4,000 ล้านบาท และหากรวมธุรกิจซัพพลายเชนด้วยเชื่อว่าจะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้รวมกันราวๆ 4,500 ล้านบาท ไม่ถึง 5% ของรายได้ทั้งหมด


แชร์ :

You may also like